“ฟองน้ำผักตบชวา” ชู “เศรษฐกิจหมุนเวียน” จากคนรุ่นใหม่
คนรุ่นใหม่กับแนวคิด “เศรษฐกิจหมุนเวียน” ผลิต “ฟองน้ำผักตบชวา” แก้ปัญหาขยะฟองน้ำในครัวเรือนที่ใช้แล้วทิ้ง ผลงานจาก “โรงเรียนมาแตร์เดอีวิทยาลัย”
“ฟองน้ำที่ผลิตจากเส้นใยของผักตบชวา เป็นไอเดียที่เราใช้ตีโจทย์คิดนวัตกรรมเศรษฐกิจหมุนเวียน ทำ ฟองน้ำผักตบชวา
โดยมองจากปัญหาขยะฟองน้ำในครัวเรือนที่ใช้แล้วทิ้งเป็นจำนวนมาก ซึ่งส่วนใหญ่ไม่สามารถนำไปใช้งานต่อได้ เอามาจับคู่กับปัญหาผักตบชวาล้นคลองที่แพร่กระจายอย่างรวดเร็ว และทำให้เกิดปัญหาการสัญจรในแม่น้ำ และคูคลอง”
อภิชญา วงศ์เจริญวาณิชย์ (จีจี้) บัวบูชา ตัญฑโญภิญ (บัว) สิรินัดดา เอกชัย (โจดี้) และ ธนัชญา พานิชชีวะ (ธัญญ่า) อายุ 17 ปี จากโรงเรียนมาแตร์เดอีวิทยาลัย ซึ่งฟอร์มทีม TrillionX เข้าแข่งขันในโครงการประกวดนวัตกรรมเศรษฐกิจหมุนเวียน
ทีม TrillionX จากโรงเรียนมาแตร์เดอีวิทยาลัย
ทีม TrillionX คว้ารางวัลชนะเลิศ นำเส้นใยจากผักตบชวามาทำ ฟองน้ำผักตบชวา เล่าถึงที่มาของแนวคิด เศรษฐกิจหมุนเวียน ว่า
“เริ่มแรกมาจากช่วงปิดเทอม กลุ่มเราต้องการหาประสบการณ์การแข่งขันจึงหาโครงการประกวดมาเจอการแข่งขันแบบ Hackathon ของโครงการประกวดนวัตกรรมเศรษฐกิจหมุนเวียน โจทย์คือการสร้างความตระหนักรู้ถึงประเด็นรอบด้านของเศรษฐกิจหมุนเวียน
ที่น่าตื่นเต้นมากสุดคือ มีผู้เข้าแข่งขันมาจาก 6 ประเทศ ได้แก่ ไทย กัมพูชา อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม และมาเลเซีย มาเข้าร่วมเวิร์คช้อป ทำให้เราได้เห็นไอเดียของเพื่อน ๆ จากประเทศอื่นด้วย ซึ่งเก่งมาก
ผักตบชวาตามแม่น้ำลำคลอง (Cr. freepik.com)
นอกจากนี้ ยังมีเมนเทอร์มาให้คำแนะนำในการต่อยอดแนวคิดของเราให้สามารถแก้ปัญหาได้จริงอีกด้วย โดยเราลงแข่งในโครงการด้านเศรษฐกิจหมุนเวียนและนวัตกรรมทางสังคม (Circular Economy and Innovation)”
บัวบูชา เล่าธนัชญา เสริมว่า “จากที่เราไปศึกษาข้อมูลมา แต่ละครัวเรือนเปลี่ยนฟองน้ำล้างจานที่ใช้ในบ้าน ประมาณเดือนละ 2 ครั้ง ประเทศไทยมีครัวเรือนประมาณ 19 พันล้านครัวเรือน ซึ่งหมายความว่า ใช้ฟองน้ำพลาสติกประมาณ 4 พันล้านชิ้นในแต่ละเดือน
ซึ่งกลายเป็นขยะที่ไม่สามารถย่อยสลายได้ เนื่องจากฟองน้ำส่วนใหญ่ทำมาจากโฟมโพลียูรีเทน หรือยางโฟม หรือไมโครไฟเบอร์ เลยตั้งคำถามว่าถ้าเราเปลี่ยนวัสดุที่ใช้ทำเป็นอย่างอื่นมาทดแทนล่ะ…ก็เลยศึกษาเพิ่มเติมในเรื่องปัญหาของสิ่งแวดล้อมด้วย
ก้านและใบผักตบชวา
พบว่า ประเทศเรามีปัญหาผักตบชวาที่อยู่ตามแม่น้ำลำคลอง สร้างความเสียหายต่อระบบนิเวศ เพราะสามารถขยายพันธุ์ได้อย่างรวดเร็ว
ผักตบชวา 1 ต้น สามารถแพร่พันธุ์ได้ถึง 1,000 ต้น ในเวลา 1 เดือน ทำให้น้ำเน่าเสีย แหล่งน้ำตื้นเขิน และยังไปกีดขวางการไหลของน้ำ จนเกิดเป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของคนที่อาศัยอยู่ตามลุ่มน้ำ รวมถึงสัตว์น้ำอีกด้วย
เส้นใยผักตบชวาในงานหัตถกรรม (Cr. freepik.com)
จึงเป็นที่มาของการมิกซ์แอนด์แมทซ์ และเป็นไอเดียการพัฒนา ฟองน้ำจากเส้นใยของผักตบชวา ซึ่งเรานำ 2 ปัญหามาพัฒนาเป็นโซลูชั่นในการแก้ปัญหาในเวลาเดียวกัน
ทั้งสามารถลดขยะฟองน้ำ และขยะผักตบชวา อีกทั้งสามารถนำกลับมาใช้ประโยชน์ในครัวเรือน และสร้างรายได้เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจได้อีกทางหนึ่ง”
ฟองน้ำผักตบชวา
วิธีพัฒนา ฟองน้ำผักตบชวา : เริ่มจากเก็บรวบรวมผักตบชวาจากแม่น้ำคูคลองในท้องถิ่น จากนั้นนำไปล้างทำความสะอาด และคัดแยกเส้นใยจากรากผักตบชวา และลำต้น เลือกใช้ส่วนที่เป็นเส้นใยมาทำการผลิตฟองน้ำโดยกดทับเส้นใยให้แน่น และนำไปตากแห้งด้วยตู้อบแสงอาทิตย์
จากนั้นนำเส้นใยผักตบชวาที่ตากแห้งแล้ว มาวางซ้อนกันตามลายขวางจนได้ขนาดที่ต้องการ แล้วกดทับเส้นใยฟองน้ำด้วยเครื่องกด จนกลายเป็นก้อนฟองน้ำ ในขณะเดียวกัน เส้นใยอีกส่วนหนึ่งที่มาจากก้าน สามารถนำไปทำเป็นเส้นด้ายซึ่งจะมีความทนทานและสามารถย่อยสลายได้ นำด้ายที่ทำมาจากผักตบชวามาเย็บเก็บขอบฟองน้ำเพื่อให้ฟองน้ำแข็งแรง และบรรจุในบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และนำไปจำหน่ายได้ในครัวเรือน ร้านค้า และร้านอาหาร เป็นต้น
(Cr. freepik.com)
น้อง ๆ จากทีม TrillionX เสริมว่า
“สิ่งที่เราบอกว่ามันไกลตัว จริง ๆ แล้วมันใกล้ตัวมาก อยากให้ทุกคนเชื่อในตัวเอง ตอนแรกเราก็คิดว่าไอเดียเราอาจไม่ได้ดีมากมาย แต่จริง ๆ แค่คิดออกมาได้ และศึกษาหาข้อมูลเพิ่มเติมก็มีหนทางที่สามารถทำได้แล้ว อยากให้ทุกคนเชื่อในตัวเองว่า เราเป็นจุดเปลี่ยนแปลงได้
อยากให้ทุกคนร่วมมือกัน ยกตัวอย่างเช่น ฟองน้ำพลาสติก แค่ในเมืองไทยปีหนึ่งมีคนใช้ประมาณ 20 พันล้านคน ถือว่าเยอะมาก ถ้าเราทุกบ้านร่วมมือลดการใช้ฟองน้ำพลาสติกก็จะช่วยลดปริมาณขยะในประเทศได้มาก การกระทำเล็ก ๆ ก็สามารถยิ่งใหญ่ได้”
ยาช โลเฮีย
ยาช โลเฮีย ประธานคณะกรรมการด้านการดำเนินงานที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคม และการกำกับดูแล อินโดรามา เวนเจอร์ส กล่าวว่า
“โครงการประกวดนวัตกรรมเศรษฐกิจหมุนเวียน จัดขึ้นเป็นปีที่ 2 มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความตระหนักรู้ถึงประเด็นรอบด้านของเศรษฐกิจหมุนเวียน พร้อมทั้งช่วยพัฒนาทักษะให้กับนักนวัตกรรมรุ่นใหม่ในการพัฒนาโซลูชั่นที่ส่งผลกระทบเชิงบวกต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม
โดยอินโดรามา เวนเจอร์ส ร่วมจัดการแข่งขันกับพันธมิตรระดับนานาชาติ ได้แก่ ศูนย์ปฏิบัติการ SDG Lab แห่งวิทยาลัยโลกคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ระดับภูมิภาคว่าด้วยปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อความยั่งยืนของซีมีโอ (SEAMEO Regional Centre for Sufficiency Economy Philosophy for Sustainability) สำนักงานโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) และองค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (UNICEF)”