คู่สมรสผู้นำเอเปคเยือนพิพิธภัณฑ์ศิลป์แผ่นดิน ชมงานประณีตศิลป์ชิ้นเอก
คณะคู่สมรสของผู้นำเขตเศรษฐกิจ "เอเปค" ซึ่งเข้าร่วมประชุม APEC 2022 Thailand เดินทางเยี่ยมชม “พิพิธภัณฑ์ศิลป์แผ่นดิน” โอกาสสำคัญเผยแพร่ศิลปะอันเป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของคนไทย พร้อมเฉลิมพระเกียรติและเผยแพร่พระราชกรณียกิจ สมเด็จพระพันปีหลวง
รองศาสตราจารย์ นราพร จันทร์โอชา ภริยานายกรัฐมนตรี นำคณะคู่สมรสของผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค เดินทางเยี่ยมชม พิพิธภัณฑ์ศิลป์แผ่นดิน ตำบลเกาะเกิด อำเภอบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เพื่อรับชมผลงานด้านศิลปหัตถกรรม และการแสดงโขน “ทศกัณฐ์และนางเบญจกาย” อันเป็นศิลปะขั้นสูงและทรงคุณค่าของไทย โดยมีคณะภริยารองนายกรัฐมนตรีและผู้บริหารพิพิธภัณฑ์ศิลป์แผ่นดิน ให้การต้อนรับเมื่อวันศุกร์ที่ 18 พฤศจิกายน 2565
สำหรับคณะคู่สมรสผู้นำฯ ซึ่งร่วมเดินทางไปชม "พิพิธภัณฑ์ศิลป์แผ่นดิน" ในครั้งนี้ ประกอบด้วย
- ศ.เผิง ลี่ หยวน ภริยาของ สีจิ้นผิง ประธานาธิบดี สาธารณรัฐประชาชนจีน
- นางอิเรียนา โจโค วิโดโด คู่สมรสหมายเลขหนึ่งของประธานาธิบดีสาธารณรัฐอินโดนีเซีย
- นางยูโกะ คิชิดะ ภริยานายกรัฐมนตรี ประเทศญี่ปุ่น
- นางลูอิส คาโช อาราเนตา-มาร์โคส สุภาพสตรีหมายเลขหนึ่งแห่งสาธารณรัฐฟิลิปปินส์
- นางโซเฟีย จาง ภริยานายมอร์ริส จาง ผู้ก่อตั้งบริษัท TSMC ผู้แทนจากจีนไทเป
- นายดักลาส เอ็มฮอฟฟ์ สามีคามาลา แฮร์ริส รองประธานาธิบดี สหรัฐอเมริกา
- นางเจิ่น เหวียต ทู ภริยาประธานาธิบดี สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม
พิพิธภัณฑ์ศิลป์แผ่นดิน คือ พิพิธภัณฑ์ที่รวบรวมผลงานของ “ช่างสถาบันสิริกิติ์” ที่ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงตั้งพระราชหฤทัยให้มีพิพิธภัณฑ์ที่รวบรวมผลงานตั้งแต่เริ่มทำในระยะแรกๆ จนถึงผลงานประณีตศิลป์ชิ้นเอก (Masterpiece) ที่ช่างสถาบันสิริกิติ์รังสรรค์อย่างพิถีพิถัน ด้วยสองมือลูกหลานชาวนาชาวไร่ผู้ยากจน ไม่มีแบบ ไม่มีพิมพ์ ไม่มีหุ่น
ผลงานบางชิ้นใช้เทคนิคที่มีรากฐานจากศิลปะไทยโบราณตั้งแต่สมัยอยุธยา และหลายชิ้นได้รับการสร้างสรรค์โดยใช้เทคนิคที่คิดค้นขึ้นเป็นครั้งแรกในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร
ภริยานายกรัฐมนตรีและคณะคู่สมรสผู้นำฯ ณ พิพิธภัณฑ์ศิลป์แผ่นดิน
รองศาสตราจารย์ นราพร จันทร์โอชา ภริยานายกรัฐมนตรี กล่าวระหว่างการนำคณะคู่สมรสผู้นำฯ ชมพิพิธภัณฑ์ศิลป์แผ่นดิน ความว่า
“ในปี 2565 พร้อมกับการเป็นเจ้าภาพการจัดประชุมเอเปค ประเทศไทยได้มีการเฉลิมฉลองในวาระปีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 90 พรรษา สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง
การได้เชิญ คณะคู่สมรสผู้นำเอเปค เข้าเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ศิลป์แผ่นดิน จะเป็นโอกาสสำคัญที่ประเทศไทยจะได้เผยแพร่ศิลปะอันเป็นภูมิปัญญาของคนไทย พร้อมกับเฉลิมพระเกียรติและเผยแพร่พระราชกรณียกิจของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ ที่พระองค์ท่านทรงดำเนินเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนชาวไทยอย่างยั่งยืน
ซึ่งมีแนวทางที่สอดคล้องกับแนวคิดของการประชุมเอเปคในปีนี้ นั่นคือ เปิดกว้าง สร้างสัมพันธ์ เชื่อมโยงกันสู่สมดุล (Open. Connect. Balance)
โดยเฉพาะการสนับสนุนให้ชาวบ้านผู้ด้อยโอกาส ได้เปิดโลกทัศน์ด้วยการเรียนรู้ที่จะเป็นช่างฝีมือ เปรียบเหมือนการได้บุกเบิก โมเดลเศรษฐกิจ BCG ตามแนวคิดที่ประเทศไทยผลักดันในเวทีเอปคในปีนี้”
นางเจิ่น เหวียต ทู ชมฉากถมทอง เรื่องรามเกียรติ์
ผลงานศิลป์แผ่นดินที่คู่สมรสผู้นำฯ เข้าชม มีอาทิ ฉากถมทองเรื่อง “รามเกียรติ์” จากบทพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย
ช่างสถาบันสิริกิติ์ ผูกแบบรามเกียรติ์สำหรับทำถมเป็น 3 ฉาก ฉากละ 1 ตอน ฉากสำคัญโดดเด่นที่สุดเป็นฉากทศกัณฐ์ลงสวน ฉากลักสีดา และฉากจับม้าอุปการ
ฉากทศกัณฐ์ลงสวน เป็นการวางขบวนพยุหยาตราของทศกัณฐ์พร้อมหมู่สุรางคนิกร พลอสุรยักษ์ยาตรามา “สวนขวัญ” ที่พำนักของนางสีดา เข้าเกี้ยวพานางสีดา ฉากนี้จะได้ชมภาพพระมหาปราสาทอันวิจิตร ด้วยการจำหลักเงินบุดุนให้ลอยเด่นออกจากพื้น ทาทอง ซับแผ่นทองแดง บางแห่งให้เห็นหลากจากแบบเดิม จำหลักตัวภาพพระยายักษ์เกี้ยวนางสีดาอยู่ในปราสาท นอกจากนี้แล้วจะได้ชมภาพราชรถอันสง่างามดุจหลุดลอยเหมือนจริงในขบวนยาตราของทศกัณฐ์
ด้านขวาของฉากลงสวนเป็น ฉากลักสีดา ได้ชมตัวภาพที่จำหลักเงิน ทาทอง ทั้งพระใหญ่และพระน้อย นางสีดา ยังดารดาษด้วยหมู่พรรณไม้ บางแห่งก็ทิ้งเป็นเนื้อเงินถมดูงามแปลกตา และจะได้ชมนกสดายุรบทศกัณฐ์ขณะที่ลักสีดาบนรถ พระรามตามกวาง ซึ่งงามไม่แพ้รูปพระมหาปราสาทในฉากลงสวน
ฉากถมทอง เรื่องรามเกียรติ์ ตอนจับม้าอุปการ
ฉากด้านซ้ายผูกแบบเป็น ฉากจับม้าอุปการ ว่าด้วยพระฤๅษีวัชรมฤคประสิทธิ์ศิลป์ พระมงกุฎ-พระลบ สำแดงศิลป์ล้างพระยารังและจับม้าอุปการ จนถึงจับหนุมานสักประสาน ช่างถมได้จำหลักบุดุนเงินทาทอง ถมเงินบ้างจนตัวภาพนูนแจ่มชัดวิเศษกว่าแต่ก่อน
ความโดดเด่นงดงามของฉากถมทองนี้คือการใช้เทคนิคการหนุนดุนลาย ทั้งส่วนของตัวละครและฉากประกอบบรรยากาศพื้นหลัง เกิดเป็นภาพที่มีมิติสวยงาม เสมือนมีชีวิต
ภริยานายกรัฐมนตรีและคณะคู่สมรสผู้นำฯ กับฉากปักไหมน้อย เรื่อง "อิเหนา"
นอกจากนี้ยังมี ฉากปักไหมน้อย เรื่อง “อิเหนา” ซึ่งภริยานายกรัฐมนตรี และคณะคู่สมรสผู้นำฯ ยืนถ่ายภาพร่วมกันอยู่ด้านหน้าผลงานประณีตศิลป์ชิ้นเอกนี้
ฉากปักไหมน้อย เรื่อง “อิเหนา” ผูกแบบปักรวม 18 ตอน จากบทพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ซึ่งเป็นตอนที่นิยมร้องเล่นกันแพร่หลาย เป็นงานฝีมือการปักผ้าด้วยวิธีที่เรียกว่า “ปักซอย”
"ปักซอย" เป็นงานประณีตศิลป์ของไทยแต่โบราณที่มีความละเอียดอ่อน ช่างปักจะบรรจงปักเรียงด้วยเส้นไหมที่ละเอียดที่สุด ไล่ระดับสีและแสงเงาให้เกิดเป็นภาพที่มีมิติงดงาม รวมทั้งการปักหนุนด้วยไหมน้อยย้อมสี สอดดิ้นเลื่อมเงิน-ทอง ลูกปัดสี เพื่อหนุนตัวภาพให้นูนขึ้นอย่างสมจริง ซึ่งนิยมกันในสมัยรัชกาลที่ 5
ภาพบางส่วนจากฉากปักไหมน้อย เรื่อง “อิเหนา”
ผู้ชม ฉากปักไหมน้อย เรื่อง “อิเหนา” จะเห็นภาพพระมหาปราสาท ศาลบนเขาวิลิศมาหราอันวิจิตร ขบวนพยุหยาตรา หมู่นกไม้ โขดเขา ชลธารอันเจริญตาด้วยสีสันอันงดงามประณีต กรอบฉากปักเป็นรูปพระครุธพ่าห์ประกอบพระมหามงกุฎตอนกลางของกรอบทั้งบนและล่าง ด้วยเป็นการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย
อีกทั้งยังสร้างสรรค์ให้สอดคล้องกับโอกาสมหามงคลที่ สมเด็จพระพันปีหลวง ทรงเจริญพระชนมพรรษา 80 พรรษา เมื่อวันที่ 12 สิงหาคม 2555 ด้วยการปักภาพพญาราชหงส์สีต่างๆ รายด้วยรูปราชหงส์ สอดสีหงชาดบ้าง มอครามบ้าง และเขียว เหิรร่อนอยู่บนพื้นเถาเครือวัลย์ มาร่วมเฉลิมฉลองในโอกาสสำคัญครั้งนั้น
ฉากปักไหมน้อย เรื่อง “อิเหนา” มีขนาดความยาว 9.61 เมตร สูง 4.29 เมตร จำนวนช่างฝีมือ 143 คน
ระยะเวลาจัดทำ 4 ปี
มาดาม เผิง ลี่ หยวน
ดักลาส เอ็มฮอฟฟ์
ยูโกะ คิชิดะ
อิเรียนา โจโค วิโดโด
โซเฟีย จาง
พร้อมกันนี้ ภริยานายกรัฐมนตรี ได้เป็นผู้แทนมอบของที่ระลึกซึ่งได้รับพระราชทานจาก สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา แก่คณะคู่สมรสผู้นำฯ เป็นกระเป๋าผ้าไหมไทยคอลเลคชั่น ‘S’Craft: Craftsmanship‘ ทรงออกแบบเนื่องในวโรกาสเฉลิมฉลองพระชนมพรรษา 90 พรรษา สมเด็จพระพันปีหลวง
ผลงานการออกแบบผ้าไหมทอมือจากท้องถิ่นทั่วประเทศและมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพนี้ แสดงถึงพระราชประสงค์ที่จะสืบสานภูมิปัญญาผ้าไทยและสืบสานพระราชปณิธานของ สมเด็จพระพันปีหลวง ในการส่งเสริมผ้าทอไทยและใช้ประโยชน์จากผ้าไหมไทยในระดับโลก
โอกาสนี้ คณะคู่สมรสฯ ได้เยี่ยมชมการสาธิตการประดิษฐ์งานฝีมือและการทำขนมพื้นบ้าน อาทิ การร้อยพวงมาลัย การทำลูกชุบ และขนมเบื้อง
บุษบกจตุรมุขพิมาน
ภายหลังเสร็จสิ้นการเข้าเยี่ยมชมแล้ว ภริยานายกรัฐมนตรี เป็นเจ้าภาพเลี้ยงอาหารกลางวันแก่คณะคู่สมรสผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ณ โถงบุษบกจตุรมุขพิมาน
กลางโถงแห่งนี้จัดแสดง บุษบกจตุรมุขพิมาน งานจำหลักไม้สักทอง ปิดทอง ประดับคริสตัลและปีกแมลงทับ เครื่องประกอบรายละเอียดจำหลักไม้โมกมันและไม้อุโลก บนบุษบกประดิษฐานพระบรมราชสัญลักษณ์ประจำรัชกาลที่ 1-9 จัดทำโดยช่างสถาบันสิริกิติ์ จำนวน 113 คน ใช้เวลาจัดทำ 2 ปี 4 เดือน
บนโต๊ะอาหารได้จัดวางของที่ระลึกเป็น “ตลับถมเงินขนาดเล็ก” พร้อมคำอธิบายชิ้นงานที่แสดงถึงภูมิปัญญาด้านศิลปะในข้าวของเครื่องใช้ของคนไทยที่มีมาอย่างยาวนาน เพื่อมอบเป็นที่ระลึกแก่คณะคู่สมรสผู้นำฯ
พิพิธภัณฑ์ศิลป์แผ่นดิน จ.พระนครศรีอยุธยา
พิพิธภัณฑ์ศิลป์แผ่นดิน ยังมี "ผลงานชิ้นเอก" ซึ่งจัดทำขึ้นตามวาระสำคัญของแผ่นดิน และ "ผลงานของสถาบันสิริกิติ์’ ที่ช่างสถาบันสิริกิติ์จัดทำขึ้นฝึกฝีมือและอนุรักษ์ศิลปหัตถกรรมแบบโบราณ ให้ชมอีกหลายชิ้น อาทิ บุษบกมาลา, ตรีพิธพรรณบุษบก, พระที่นั่งพุดตานถมทอง, สัปคับพระคชาธาร, วานเรศบวรอาสน์, ฉากจำหลักไม้ ตำนานเพชรรัตน์, สุพรรณเภตรา, ตลับถมตะทองทรงผลฟักทองประดับเพชร, ผอบถมตะทองทรงไข่ ลายก้านขด ยอดปริกทองคำ, ผอบคร่ำเงินคร่ำทองทรงไข่ ตกแต่งพลอยนพเก้า, กระเป๋าราตรีถมตะทอง ทรงหอยงวงช้าง ลายดอกพุดตาน ใบเทศ
ผู้สนใจสามารถเข้าชม พิพิธภัณฑ์ศิลป์แผ่นดิน ได้ทุกวันพุธ-วันอาทิตย์ เปิดทำการ 09.45 - 15.30 น. (ปิดวันจันทร์และวันอังคาร) โทร.0 3535 2995 / 0 3535 5995 / 0 2283 9557
ตลับถมเงิน - ของที่ระลึกแด่คณะคู่สมรสผู้นำเอเปค
การแสดงโขน “ทศกัณฐ์และนางเบญจกาย”
สาธิตการทำลูกชุบ
การแสดงนาฏศิลป์ไทยต้อนรับคณะคู่สมรสผู้นำเอเปค
ที่มา : สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์, กระทรวงวัฒนธรรม, พิพิธภัณฑ์ศิลป์แผ่นดิน