"อุทัย เจียรศิริ" ฤาหัตถศิลป์ชั้นสูงอยู่เฉพาะบนหิ้ง
ครูศิลป์แผ่นดิน อุทัย เจียรศิริ เล่าจากประสบการณ์ งานฝีมือหัตถศิลป์ชั้นสูงเลี้ยงชีพได้แน่ แต่ช่างหัตถศิลป์ต้องรู้จักสร้างแบรนด์ ตอบชัดทำไม "เครืองถม" สามพันขายไม่ออก แต่คนพอใจสั่งทำราคาหลักหมื่นหลักล้าน
งานฝีมือชั้นสูงที่เป็นมรดกภูมิปัญญาจากบรรพบุรุษที่ได้รับการสืบทอดกันมาเป็นระยะเวลายาวนานนับร้อยปี ใช้เวลาและความละเอียดในการประดิดประดอย จนชิ้นงานมีความสวยงาม ล้ำค่า อย่างที่เรียกกันว่า งานหัตถศิลป์ชั้นสูง หรือ งานประณีตหัตถศิลป์ มักเป็นข้าวของเครื่องใช้ที่อยู่ห่างไกลจากชีวิตประจำวันของคนทั่วไป
แม้มีความงดงาม แต่รูปแบบที่มีประโยชน์ใช้สอยเฉพาะตัว เหมือนเป็นอุปสรรคขัดขวาง “ผลิตภัณฑ์เชิงช่างชั้นสูง” ให้จำกัดอยู่แค่งานอนุรักษ์ จำกัดทั้งจำนวนผู้ใช้และความแพร่หลาย
โดยเฉพาะ “เด็กรุ่นใหม่” ทั้งไม่ใช่ทั้งลูกค้า และขาดแรงจูงใจที่จะร่ำเรียนงานฝีมือด้านนี้เพื่อสืบทอดมรดกภูมิปัญญางานหัตถศิลป์ชั้นสูง
สถานการณ์ดังกล่าว เสี่ยงที่ ช่างหัตถศิลป์ จะไร้กำลังใจสร้างสรรค์งาน ไร้กำลังทรัพย์เลี้ยงชีพ เสี่ยงที่ “งานหัตถศิลป์ชั้นสูง” จะขาดผู้สืบทอดหรือไม่ ‘จุดประกาย’ คุยกับผู้สร้างงานหัตถศิลป์ชั้นสูงมาตลอดชีวิต อุทัย เจียรศิริ ครูศิลป์แผ่นดิน พ.ศ.2562 ประเภทเครื่องโลหะ (เครื่องถม และ งานคร่ำโบราณ) จังหวัดนนทบุรี ผู้สร้างแบรนด์หัตถศิลป์ชั้นสูงให้กับตนเองเป็นผลสำเร็จภายใต้ชื่อ "เครื่องถมครูอุทัย" ซึ่งงาน เครื่องถม และงาน คร่ำโบราณ เป็นสองงานหัตถศิลป์ไทยชั้นสูงที่เคยสูญหายไปแล้ว
รบกวนครูอุทัยอธิบายให้รู้จัก “เครื่องถม” กับ “งานคร่ำโบราณ” ในเบื้องต้นครับ
“ขอเริ่มจากงานคร่ำโบราณก่อนนะครับ เป็นงานที่สูญหายไปเนิ่นนานจนประเทศไทยไม่มีงานคร่ำแล้ว ยกเว้นแต่ในพิพิธภัณฑ์ ประมาณปี 2522 ผมมีโอกาสเข้าไปสอนงานเครื่องถมที่โรงฝึกศิลปาชีพในวังสวนจิตรลดา เป็นจังหวะที่สมเด็จพระพันปีหลวงทรงฟื้นฟูงานคร่ำ บังเอิญผมไปเจออาจารย์สมาน ไชยสุกุมาร (บุตรขุนสารพัดช่าง ข้าราชการกรมวังนอกในสมัยรัชกาลที่ 5 มีฝีมือและความเชี่ยวชาญในศิลปะงานคร่ำ) ท่านเป็นข้าราชบริพารในราชสำนัก อายุแปดสิบกว่าแล้ว ยังแข็งแรง มีความรู้เรื่องงานคร่ำโบราณ แต่ให้ท่านลงมือทำไม่ได้แล้ว สมเด็จฯ มีรับสั่งให้มาสอนเด็กศิลปาชีพในโรงฝึกสวนจิตรลดา ผมจึงมีโอกาสเรียนรู้งานคร่ำจากท่าน ซึ่งมีความใกล้เคียงกับงานเครื่องถม ใช้เครื่องมือชนิดเดียวกันได้
เครื่องถมทอง ฝีมือครูอุทัย เจียรศิริ (ภาพ : ศุกร์ภมร เฮงประภากร)
งานคร่ำต้องทำด้วยเหล็ก ใช้วัสดุอื่นไม่ได้ เพราะเหล็กมีเกสรเหล็กที่แข็ง เราสามารถเอาเส้นทองฝังลงไปได้ คือเราต้องสับเหล็กให้เป็นเกสร เหมือนเราทำหนามเตยขึ้นมาเพื่อให้ฝังเพชรได้
กรรมวิธีการทำสั้นมาก คือหนึ่ง-มีเหล็ก สอง-สับเหล็กให้เป็นเกสร (สับให้เป็นร่องลวดลายที่วางไว้) สาม-ลงเส้นทองที่รีดให้มีขนาดเท่าเส้นผมตามเกสรเหล็กที่เราสับไว้ เสร็จในสามขั้นตอน แต่ใช้เวลานานตรงการสับเหล็ก สับทิ้งไว้ก็ไม่ได้ เพราะสนิมจะขึ้น ทำให้ลงเส้นทองไม่ติด คร่ำหมายถึงสับเหล็กให้ร่อง
งานเครื่องถม เป็นงานอีกแขนงหนึ่ง ลักษณะการมาคล้ายกับงานคร่ำโบราณ คือเข้ามาในสมัยกรุงศรีอยุธยาที่มีการค้าขายกับต่างชาติ สืบทราบมาจากสิ่งที่กรมศิลปากรบันทึกไว้ด้วยการคาดคะเน ว่ามาจากจีน อินเดีย และยุโรป ส่งมาเป็นเครื่องบรรณาการ และมีช่างฝีมือเฟื่องฟูอยู่ที่นครศรีธรรมราช ดินแดนแห่งเครื่องถม
ถ้าสังเกต งานเครื่องถมใช้ในพิธีการต่างๆ ในราชสำนัก สมัยโบราณคนทั่วไปไม่ใช้เครื่องถม ยกเว้นเจ้าเมือง ขุนนาง เศรษฐี เพราะถือเป็นของสูง
ความละเอียดและความงดงามของลวดลายเครื่องถมครูอุทัย
เครื่องถมมี 3 ประเภท คือ ถมเงิน ถมทอง ถมตะทอง ขั้นตอนการทำเครื่องถมยุ่งยากมาก ปัจจุบันกระทรวงแรงงานทำเป็นมาตรฐานฝีมือแห่งชาติ มีขั้นตอนหลัก 13 ขั้นตอน
ถมเงิน ทำจากเงิน 95% กับส่วนผสมอื่นอีก 5% เพื่อให้เงินมีความแข็ง น้ำยาถมไม่มีขายในท้องตลาด ช่างต้องผสมทำขึ้นเอง สูตรใครสูตรมัน มีขั้นตอนที่เรียกว่า ‘เพราลาย’ คือขัดให้เป็นเงาเกลี้ยงสะอาด เพื่อให้เกิดรัศมีเมื่อโดนแสงไฟ นี่คือจุดเด่นของเครื่องถมเงิน
ถมทอง เราต้องซื้อทองคำแท่งมาตีหรือรีดให้บาง แล้วเปียกทอง กรรมวิธียุ่งยากมาก ต้องเลี้ยงทองคำด้วยปรอทให้เป็นของเหลว นำไปทาบนเครื่องถมที่เราทำลวดลายไว้เสร็จแล้ว ทองจะติดเฉพาะส่วนที่เป็นเงิน ที่เป็นยาถมดำๆ ทองจะไม่ติด เราใช้ความร้อนเป่า ปรอทเมื่อโดนความร้อนจะระเหิด เหลือแต่ทองคำติดอยู่ ทำสามครั้ง ความหนาทองคำจะเกิดขึ้น
โบราณขัดถมทองด้วยลูกประคำดีควายทุบเผาไฟใส่น้ำ ใช้ลูกปัดไชยาร้อยเป็นพวงชุบแล้วขัด ทำให้เครื่องถมเกิดความมันของเนื้อทอง
ถมตะทอง มีความยากขึ้นไปอีก ช่างต้องแต้มทองคำเป็นจุดให้ได้ สวยขึ้นไปอีก และอาจใส่ความหมายในลวดลาย เช่นบุษบกในวัดพระแก้ว ใช้ลายประจำยามลายเทพ”
ผลงานสำคัญที่สร้างความภาคภูมิใจให้ ครูอุทัย เจียรศิริ ได้แก่ การได้รับคัดเลือกจากกรมศิลปากรให้เป็นช่างผู้จัดสร้าง บุษบกถมทอง ทูลเกล้าฯ ถวาย “ในหลวงรัชกาลที่ 9” ในโอกาสทรงครองราชย์ครบ 72 ปี, สำนักนายกรัฐมนตรีคัดเลือกให้จัดทำ กระเป๋าราตรีถมทอง ทูลเกล้าถวายสมเด็จพระจักรพรรดินีมิจิโกะแห่งญี่ปุ่น, มีโอกาสทำ ไม้เท้าถมทอง ถวายสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ (ช่วง วรปุญโญ) เป็นอาทิ
ครูอุทัย เจียรศิริ : ครูศิลป์แผ่นดิน
งานศิลปกรรมไทยโบราณที่ทรงคุณค่าฝีมืองานช่างหัตถศิลป์ชั้นสูงแบบนี้ จะอยู่ร่วมสมัย ใช้งานจับต้องได้มากกว่าแค่งานอนุรักษ์ได้อย่างไร
“งานอนุรักษ์ยังใช้ได้อยู่ และยังคงมีความนิยมมาก แต่อยู่ในหมู่คนที่ไม่สนใจเรื่องเงินเดือน เก็บงานลักษณะนี้แบบไม่ลังเล เก็บไว้ให้ลูกหลานเป็นมรดก ผมได้รับการสั่งทำขันถมทอง 12 นิ้ว ราคาชุดหนึ่งเป็นล้าน สั่งทำสามชุดให้ลูกคนนั้นคนนี้
สำหรับลูกค้าที่มีเงินแต่ไม่บริโภคงานประเภทนี้ ช่างหัตถศิลป์ต้องมีวิธีคิดการออกแบบให้ใช้กับชีวิตประจำวันได้อย่างไร ดูสังคมยุคปัจจุบัน การออกงานราตรีถือกระเป๋าแบรนด์เนมใบละสามแสน-สี่แสน เครื่องถมเราทำด้วยทองคำ ถ้าไม่มีเพชร ก็ใบละสองแสนต้นๆ แล้ว
เปิดเว็บไซต์ดู เครื่องถมใบละสองแสน คนไม่ซื้อ ไม่เหมือนแบรนด์เนมที่คนรู้จักแล้ว ดังนั้นช่างฝีมือเครื่องถมต้องรู้จักสร้างแบรนด์ เล่าเรื่องให้คนรู้จักตัวตน ฝีมือ
ทุกวันนี้ งานเครื่องถมชิ้นละสามพันบาท ห้าพันบาท ขายไม่ได้ เพราะผู้บริโภคทั่วไปไม่บริโภคของพวกนี้ แต่จะขายได้ระดับแปดหมื่นหรือเป็นล้าน ถ้ามีฝีมือ
ประยุกต์เครื่องถมเข้ากับงานสลักดุน
จริงๆ งานเครื่องถมและงานคร่ำโบราณได้สูญหายไปแล้ว ช่างก็เลิกกันไป ไปเลี้ยงหมูไปทำอาชีพอื่น เพราะขายไม่ได้ แต่กลับมาได้เพราะ สมเด็จพระพันปีหลวง ทรงเปิดมูลนิธิศิลปาชีพ ทรงฟื้นฟูการทำเครื่องถมเล็กๆ น้อยๆ ก็เป็นสื่อที่ดี เป็นที่ต้องการของชนชั้นสูง ตลาดภายนอกเริ่มขยับ ช่างถมก็กลับมาทำ
ต่อมา งานเครื่องถมได้รับการเสพมากอีกครั้งสมัยพลเอกชาติชาย (ชุณหะวัณ) สั่งทำเครื่องถมเป็นของขวัญระดับรัฐบาลระหว่างประเทศ หน่วยงานรัฐก็มีส่วนช่วยช่างหัตถศิลป์ให้อยู่ได้
งานคร่ำราคาแพงกว่าเครื่องถมสามเท่า ผู้บริโภคน้อยมาก ยิ่งยุคปัจจุบันยิ่งน้อยมาก เพราะงานคร่ำโบราณดั้งเดิมใช้ทำศัสตราวุธ
ผมเป็นคนแรกในประเทศไทยที่สามารถผลิตงานคร่ำเป็นเครื่องประดับที่ใช้ได้ในชีวิตประจำวัน เราเอามาทำต่างหู คิดดูเหล็กสัมผัสกับเนื้อคน อยู่ด้วยกันไม่ได้ แต่เราหากรรมวิธีทำให้เหล็กเบาและบาง ใช้ฝีมือและสามารถนำทองคำมาปิดรอยเหล็กให้โชว์เฉพาะลวดลาย ผมลองผิดลองถูกอยู่นานมากกว่าจะทำออกมาได้ แต่ราคาค่อนข้างสูง ใช้กันพอสมควร ยังไม่แพร่หลายมาก แต่งานเครื่องถมนำมาทำเป็นเครื่องประดับได้ผล คนนิยมใช้"
ครูอุทัย เจียรศิริ ครูศิลป์แผ่นดินผู้ทำเครื่องถมมาตั้งแต่วัยรุ่น
หมายความว่าทุกวันนี้ “ช่างหัตถศิลป์เครื่องถม” เลี้ยงชีพด้วยงานฝีมือนี้ได้จริง
"ได้จริง แต่ต้องสร้างตัวเองก่อน สร้างฝีมือ สร้างความเชื่อถือ เพราะเครื่องถมเป็นของสูง ไม่เหมือนการซื้อทอง ซื้อร้านไหนก็ได้เพราะเป็นทองคำวันยังค่ำ แต่ซื้อเครื่องถมต้องดูฝีมือ ความเป็นมา ยุคนี้ดูไปถึงลวดลาย ว่าเข้ากับชะตาเจ้าของหรือไม่ด้วย ต้องศึกษากันอีกหลายอย่าง
ปัจจุบันมีหน่วยงานราชการสนับสนุนหลายโครงการ ศักดิ์สิทธิ์(sacit)โดยกระทรวงพาณิชย์ กรมพัฒนาชุมชนโดยกระทรวงมหาดไทย ยังมีกระทรวงแรงงาน กระทรวงอุตสาหกรรม มาส่งเสริมผู้ประกอบการพวกเราที่เป็นช่างหัตถศิลป์ เปิดตลาดโอท็อป งานคราฟต์ งานอัตลักษณ์สยาม จนช่างฝีมือได้มาขายของเอง ได้มาเจอผู้ซื้อโดยตรง เปิดช่องทางการตลาดให้ ซึ่งช่างฝีมือไม่เคยมีโอกาสแบบนี้มาก่อน"
ปัจจุบันงานเครื่องถม-งานคร่ำโบราณ มีผู้สืบทอดมากพอหรือยัง
"ปัจจุบันนี้พอไหม ไม่หรอกครับ การที่คนจะมาสืบทอดงานคร่ำ-งานถม มันยากมาก เราอาจต้องใช้ความคิดแบบ สมเด็จพระพันปีหลวง ท่านบอกว่า ‘ขาดทุนเท่ากับกำไร’ ท่านยอมเสียทุกอย่างเพื่อเอาวิชาให้คน ต้องจ้างคนมาเรียน เอาลูกชาวบ้านจากต่างจังหวัดมาเรียนให้มีความรู้ด้านนี้ ให้เงินเดือน ช่วยเหลือพ่อแม่ทางบ้านให้มีที่ทำกิน มีหลายคนในวังสวนจิตรลดาตอนนี้และประสบความสำเร็จ
การเรียนการสอนที่มีอยู่ตอนนี้ เป็นการเรียนเพื่อเรียนรู้ ยังไม่ใช่เรียนเพื่อเป็นช่างประกอบอาชีพ ผมกำลังคุยกับผู้ใหญ่หลายท่าน นำงานถมงานคร่ำลงในหลักสูตรของมหาวิทยาลัยต่างๆ เพราะบางมหาวิทยาลัยยังไม่มีหลักสูตร ครูบางท่านมีความรู้ส่วนตัว แต่ไม่มีหลักสูตร
เราอยากให้เผยแพร่ในสถาบันการศึกษา แล้วนักศึกษาจบออกมา อย่างพวกทำเพชรทำจิวเวลรี่พอจบออกมา ทำงานได้เลย สร้างแบรนด์ของตัวเองได้เลย แต่เครื่องถมไม่มี ยกเว้นเป็นคนที่มาจากครอบครัวทำเครื่องถมอยู่แล้ว หรือคนใจรักจริงๆ ที่นครศรีธรรมราชมีบ้าง ยิ่งกรุงเทพฯ ไม่มีเลย ยกเว้นคนภาคใต้มาทำงานกรุงเทพฯ ภาคเหนือภาคอีสานไม่มี เชียงใหม่มี แต่สืบไปสืบมาคือคนนครศรีธรรมราช กาญจนบุรีมี..ก็คนนครฯ ไปทำ
ถ้าไม่มีการเรียนการสอนเป็นหลักสูตร ไม่เฉพาะ เครื่องถม งานคร่ำโบราณ หรือแม้แต่งานหัตถศิลป์ชั้นสูงประเภทอื่นก็จะไม่เผยแพร่ ขาดผู้สืบทอดที่จะมีความคิดสร้างสรรค์ใหม่ๆ"
* * * * * * * * *
หมายเหตุ : ภาพโดย ศุกร์ภมร เฮงประภากร