“ช่างศิลป์ถิ่นไทย วิถีร่วมสมัย” โชว์ฝีมือคนไทยอวดนานาชาติ
เป็นครั้งแรกของประเทศไทย กับการจัดแสดงนิทรรศการ “ช่างศิลป์ถิ่นไทย วิถีร่วมสมัย” เพื่อน้อมรำลึกพระมหากรุณาธิคุณ “สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง” เมื่อวันที่ 15-20 พ.ย.2565 ที่ผ่านมา ณ โถงชั้น 5 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (BACC)
การจัดงานในครั้งนี้ ดำเนินการโดยสถาบันช่างศิลป์ท้องถิ่น หน่วยงานในสังกัดธัชชา กระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ซึ่งได้รับการตอบรับมีผู้เข้าร่วมงานคับคั่ง
การขับเคลื่อนงานวิจัยของ “สถาบันช่างศิลป์ท้องถิ่น” ในทุกภูมิภาคครั้งนี้ ถือเป็นพลังความร่วมมือของ 17 มหาวิทยาลัย และ 12 วิทยาลัยชุมชน ครอบคลุมพื้นที่ 23 จังหวัด โดยสถาบันฯได้ประจักษ์ว่าช่างศิลป์ระดับฝีมือของแทบทุกจังหวัด ล้วนเป็นผลิตผลจากพระราชกรณียกิจการส่งเสริมศิลปาชีพของสมเด็จพระพันปีหลวง
กว่า 50 ปีที่ “สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิต์พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง” ทรงวิริยะอุตสาหะทุ่มเทกําลังพระวรกายและพระสติปัญญาประกอบพระราชกรณียกิจส่งเสริมศิลปาชีพ เพื่อดูแลประชาชนให้อยู่ดีมีสุข มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ทรงมีแนวพระราชดำริให้ประชาชนใช้ช่างฝีมือสร้างอาชีพเสริม กอปรกับสายพระเนตรยาวไกลในการอนุรักษ์ฟื้นฟู พัฒนา ส่งเสริมและสืบสานภูมิปัญญาพื้นบ้าน ทั้งยังทรงก่อตั้งมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ ทำให้งานศิลปาชีพขยายไปทุกภูมิภาคของประเทศ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
ครั้งแรกในไทย "80 กว่าผลงานหายาก" ของช่างศิลป์ท้องถิ่น จัดแสดง 15-20 พ.ย.นี้
sacit เผยได้ 25 ช่างฝีมืองานหัตถศิลป์ไทย พร้อมเชิดชูเป็นครูศิลป์ของแผ่นดิน
อัตลักษณ์แห่งสยาม-Crafts Bangkok 2021 สองงานช่างฝีมือระดับชาติ จัดพร้อมกัน
ถ่ายทอดวิถีช่างศิลป์ผ่านนิทรรศการ “ช่างศิลป์ถิ่นไทย วิถีร่วมสมัย”
ดร.สิริกร มณีรินทร์ ผู้อำนวยการสถาบันช่างศิลป์ท้องถิ่น เล่าว่า การจัดตั้งสถาบันช่างศิลป์ท้องถิ่น ทำให้ได้มีโอกาสไปกำกับติดตามงานและได้เห็นช่างศิลป์ในพื้นที่เกือบทุกจังหวัด ที่สมเด็จพระพันปีหลวงได้เสด็จฯเยี่ยมราษฎรและทรงงานในแต่ละพื้นที่ สิ่งที่สถาบันฯดำเนินการ มีทั้งการจัดทำแผนสำรวจสืบค้น เพื่อเป็นคลังข้อมูลความรู้ช่างศิลป์ในประเทศไทย ถอดองค์ความรู้ สร้างหลักสูตร ถ่ายทอดส่งต่อให้แก่เยาวชนรุ่นต่อไป
ขณะนี้ช่างศิลป์ส่วนใหญ่เป็นผู้สูงวัย จึงจำเป็นต้องส่งต่อความรู้ให้คนรุ่นใหม่ร่วมอนุรักษ์ และสร้างอาชีพให้แก่พวกเขา ขณะเดียวกันต้องทำให้ศิลปหัตถกรรม มีภาพลักษณ์ ผลิตภัณฑ์ที่ทันสมัย ตอบโจทย์คนรุ่นใหม่ นำวิทยาศาสตร์มาพัฒนาองค์ความรู้มรดกภูมิปัญญาดั่งเดิมให้มีมาตรฐานมากขึ้น ตามที่สมเด็จพระพันปีหลวงได้วางรากฐานเอาไว้
การจัดงานนิทรรศการและเสวนาวิชาการ เรื่อง “ช่างศิลป์ถิ่นไทย วิถีร่วมสมัย” ในครั้งนี้ เป็นการน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ สมเด็จพระพันปีหลวง ถือเป็นการเดินตามรอยพระบาทพระองค์ท่าน โดยนิทรรศการที่นำมาแสดง เป็นการรวมผลงานครูช่างและศิษย์กว่า 80 ชิ้นจากทุกภูมิภาค
ทั้งงานจักสาน งานผ้า อาทิ ผ้าทอจวนตานีลายดั้งเดิม ผ้าทอลาวครั่งสุพรรณบุรี ผ้าทอลายทองอัตลักษณ์สุรินทร์ ผ้าทอขนแกะ งานแกะสลักไม้ เช่น กรงนกหัวจุก งานแสดงว่าว เป็นต้น ซึ่งผลงานหลายชิ้นหาชมได้ยากมาก ทั้งยังมีการนำผลงานวิจัยเกี่ยวกับงานศิลป์ต่าง ๆ ของมหาวิทยาลัย และวิทยาลัยชุมชน 18 แห่ง มาเผยแพร่ให้เกิดประโยชน์
ตำราการทอผ้า e-book เล่มแรกของไทย
นอกจากนั้น มีการเสวนาแนวทางการบูรณาการศาสตร์และวิทยาการด้านต่าง ๆ อาทิ ศาสตร์ด้านการออกแบบ ด้านเทคโนโลยีดิจิทัล และด้านวิทยาศาสตร์เพื่อสืบสานส่งต่อมรดกภูมิปัญญาของชาติให้ดํารงอยู่อย่างยั่งยืน โดยมีนายพลากร สุวรรณรัฐ องคมนตรี เป็นประธานในพิธีเปิดงาน”
ขณะที่ ดร.วุฒิไกร ศิริผล อาจารย์คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ร่วมให้ข้อมูลว่า ตนและคณะนักวิจัย มธ.ได้ทำโครงการศึกษางานช่างศิลป์ จ.อุทัยธานี และจ.ชัยนาท ร่วมกับวิทยาลัยชุมชน ซึ่งได้ทำหลักสูตรทอผ้า และตำราเกี่ยวกับการทอผ้าที่มาจากผลลัพธ์ของงานวิจัย โดยในขณะนี้ประเทศไทยมีตำราที่สอนเกี่ยวกับการทอผ้าน้อยมาก มีเพียง 1-2 เล่มเท่านั้น
การจัดทำตำราการทอผ้าในครั้งนี้ ได้ทำในลักษณะ e-book เล่มแรกของไทย พร้อมมุมมองของคนทอผ้าที่ไม่เคยสัมผัสที่ไหนมาก่อน งานนิทรรศการครั้งนี้จะเป็นเวทีแห่งการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และสัมผัสกับงานศิลป์ที่หาชมได้ยาก อย่างการทอผ้าของชาวชุมชนลาวครั่ง ซึ่งผู้ที่ชื่นชอบงานศิลปวัฒนธรรมการทอผ้า งานศิลป์ของไทย การจักสาน จะได้เห็นผลงานที่เกิดจากช่างศิลป์ท้องถิ่นที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์ และได้เห็นวิถีชีวิตของการทอผ้าพื้นเมือง รวมถึง e-book เกี่ยวกับการทอผ้าที่นำไปสู่การเพิ่มมูลค่า เชิงพาณิชย์ ทั้งยังคงอนุรักษ์ความเป็นพื้นบ้านท้องถิ่นของไทยอย่างแท้จริง
ด้าน ดร.กรกต อารมย์ดี นักออกแบบและเจ้าของแบรนด์ KORAKOT และในฐานะนักวิชาการ มหาวิทยาลัยศิลปากร มองว่า การจัดงานครั้งนี้เป็นการแสดงผลงานของช่างศิลป์ท้องถิ่นที่สามารถนำไปสู่เชิงพาณิชย์ได้จริง ในฐานะที่เป็นผู้ประกอบการมองว่าขณะนี้สินค้าหัตถกรรมของไทยสามารถสู้นานาชาติได้ และได้รับการยอมรับมากขึ้น
โดยเราต้องปรับขีดความสามารถของช่างศิลป์ท้องถิ่น ปรับผลิตภัณฑ์ของชุมชนให้มีความทันสมัย ซึ่งสถาบันช่างศิลป์ฯ ได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยและวิทยาลัยชุมชนทำเรื่องนี้มาตลอด
สถาบันช่างศิลป์ท้องถิ่น ได้รวบรวมผลงานและช่างศิลป์มืออาชีพมากมาย โดยผู้ที่สนใจสามารถเข้าดูทำเนียบช่างศิลป์ในหมวดหมู่ต่าง ๆ ได้ที่ https://thaiartisan.org/