คีตศิลป์แห่งนครศรีธรรมราช เปิดโลกหัตถศิลป์เมืองคอนผ่านงานร้องรำทำเพลง
สัมผัสสุนทรียะงานฝีมือช่างศิลป์ปักษ์ใต้แบบฉบับเมืองคอน ภายในงานนิทรรศการ ‘ร้องรำทำเพลง : คีตศิลป์แห่งนครศรีธรรมราช’ ณ เรือนโบราณ อายุ 100 ปี ของนครศรีธรรมราช
Keypoints:
- นิทรรศการเผยแพร่ความรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่นผ่าน ‘งานช่างหัตถศิลป์’ จากวิถีชีวิตอันเป็นเอกลักษณ์ของ ‘นครศรีธรรมราช’ ในมุมมองที่แตกต่างออกไปจากเดิม
- แนวคิดการออกแบบตัว ‘หนังตะลุง’ มักมีพื้นฐานมาจาก ‘วิถีชีวิต’ และ ‘เหตุการณ์สำคัญของชาวใต้’
- โอกาสสำคัญ ชม ‘เทริดชั้นครู’ ของ โนรายก ชูบัว ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (โนรา)
- คีตศิลป์ปักษาสู่งานฝีมือกรงนกโบราณทรงโบกี้รถไฟ กรงนกฝังมุกไฟลวดลายดอกไม้ กรงนกแกะงาช้าง
โปสเตอร์นิทรรศการ 'ร้องรำทำเพลง : คีตศิลป์แห่งนครศรีธรรมราช'
เริ่มแล้ววันนี้สำหรับนิทรรศการ ‘ร้องรำทำเพลง : คีตศิลป์แห่งนครศรีธรรมราช’ ณ บ้านขุนรัฐวุฒิวิจารณ์ ซึ่งตั้งอยู่บนถนนราชดำเนิน จังหวัดนครศรีธรรมราช หรือ ‘เมืองคอน’ เปิดให้เข้าชมระหว่างเวลา 09.00-16.00 น. วันนี้-31 มีนาคม 2566
นิทรรศการนี้จัดขึ้นเพื่อเผยแพร่ความรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่นผ่าน งานช่างหัตถศิลป์ จากวิถีชีวิตอันเป็นเอกลักษณ์ของนครศรีธรรมราชในมุมมองที่แตกต่างออกไปจากเดิม
ร่วมกันจัดโดย สถาบันพิพิธภัณฑ์ศิลปกรรมแห่งชาติ ร่วมกับ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช และวิทยาลัยนาฏศิลปนครศรีธรรมราช
บ้านขุนรัฐวุฒิวิจารณ์ (บ้านท่านขุน)
บ้านขุนรัฐวุฒิวิจารณ์ สถานที่จัดนิทรรศการครั้งนี้ก็มีความงดงามเชิงสถาปัตยกรรมท้องถิ่น ตัวบ้านมีลักษณะอย่างเรือนปั้นหยา อายุกว่า 108 ปี โดยทายาทของขุนรัฐวุฒิวิจารณ์ได้ดำเนินการบูรณะปรับปรุงบ้านหลังนี้ ฟื้นฟูสู่สภาพที่สวยงามพร้อมกับเปิดเป็น สถานที่ท่องเที่ยว เพื่อให้คนรุ่นหลังได้เยี่ยมชม
ตัวบ้านได้รางวัล อาคารอนุรักษ์ศิลปะสถาปัตยกรรมดีเด่น ปี 2556 โดยสมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ เชิญชวนให้เดินทางไปชมนิทรรศการเป็นอย่างมาก
ตัวหนังตะลุง รูปลักษณ์งานช่างศิลป์ที่มีเอกลักษณ์
สำหรับนิทรรศการ ‘ร้องรำทำเพลง : คีตศิลป์แห่งนครศรีธรรมราช’ รองศาสตราจารย์ ดร.น้ำฝน ไล่สัตรูไกล ประธานคณะกรรมการดำเนินการจัดการนิทรรศการ ได้ใช้แนวคิดของ ‘ความสนุกสนาน’ และ ‘เสียงดนตรี’
นำเสนอ ภูมิปัญญา ของ งานช่างหัตถศิลป์ ในจังหวัดนครศรีธรรมราช ผ่าน หนังตะลุง โนรา และ งานกรง ‘นกกรงหัวจุก’ ซึ่งต่างก็มีเทคนิคการทำและลวดลายเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว รังสรรค์ขึ้นด้วยวัสดุท้องถิ่น ดังนี้
หนังตะลุง โลกทัศน์ของชาวใต้ผ่านแสงและเงา
จอฉายหนังตะลุง ในห้องจัดแสดงหนังตะลุง ภายในบ้านขุนรัฐวุฒิวิจารณ์
หนังตะลุง เป็นหนึ่งในมหรสพ ‘การแสดงเงา’ ของไทย ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวของบทพูดและบทกลอนขับกล่าวในการแสดง สร้างความครื้นเครงและสนุกสนานให้กับผู้ได้รับชม
ตัวหนังตะลุงแต่ละตัวภายในนิทรรศการได้รับรังสรรค์ด้วยฝีมือของครูช่างทำหนังตะลุง ซึ่งหนังตะลุงแต่ละตัวล้วนมีรูปลักษณ์และบทบาทที่แตกต่างกันไป ตามแต่แนวคิดการออกแบบของครูช่างแต่ละท่าน
ตัวหนังตะลุงที่มีความร่วมสมัย
แนวคิดการออกแบบตัวหนังตะลุงมักมีพื้นฐานมาจาก ‘วิถีชีวิต’ และ ‘เหตุการณ์สำคัญของชาวใต้’ และประเทศในขณะนั้น เปรียบเป็นการบันทึกและสะท้อนสภาพสังคม ค่านิยมและโลกทัศน์ของชาวใต้ในแต่ละช่วงเวลาไว้
มโนราห์ จากมรดกทางวัฒนธรรมแห่งปักษ์ใต้สู่มรดกโลก
ชุดโนรา จัดแสดงในห้อง 'โนรา'
ห้อง โนรา จัดแสดงมหรสพเอกลักษณ์หนึ่งเดียวของชาวใต้ ที่ได้ขึ้นทะเบียนเป็น มรดกทางภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ จากองค์การเพื่อการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก)
ในห้องจัดแสดงนี้นำเสนอมุมมองของโนราผ่านงานช่างหัตถศิลป์โนรา อันได้แก่
- เครื่องแต่งกายโนรา ที่มีพัฒนาการในแต่ละยุคสมัยจากชุดแบบโบราณสู่การออกแบบร่วมสมัยในการนำหัวนะโมมาออกแบบผ่านลูกปัดบนเครื่องแต่งกายโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ สุพัฒน์ นาคเสน
- เครื่องประดับของชุดโนรา ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวและมีพัฒนาการของเครื่องแต่งกายที่เปลี่ยนแปลงไปตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน
- เทริด องค์ประกอบสำคัญและมีคุณค่าทางด้านความเชื่อและจิตใจของลูกหลานชาวโนรา
เทริดชั้นครู ของ โนรายก ชูบัว
ภายในงานได้รับความอนุเคราะห์จาก ผู้ช่วยศาสตราจารย์ สุพัฒน์ นาคเสน ที่มอบ เทริดชั้นครูของ โนรายก ชูบัว ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (โนรา) มาจัดแสดงในงานนี้ด้วย
คีตศิลป์จากปักษาสู่งานหัตถศิลป์แห่งนครฯ
กรง 'นกกรงหัวจุก' อันแสนประณีตบรรจง
คีตศิลป์จากธรรมชาติ เสียงดนตรีจาก นกกรงหัวจุก ตัวน้อย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในวิถีชีวิตของชาวใต้
บทเพลงจากนกกรงหัวจุกตัวน้อยนี้เองที่เป็นเสมือนจุดเริ่มต้นสำคัญของการรังสรรค์ งานช่างหัตถศิลป์กรงนก ขึ้นมา เพื่อให้นกอันเปรียบได้กับสมาชิกคนหนึ่งของครอบครัวได้อาศัยอยู่และขับกล่อมให้เสียงอันไพเราะฟังในทุกวัน
นกกรงหัวจุก ทำจากผ้าบาติกเมืองคอน
กรง 'นกกรงหัวจุก' ภายในบ้านขุนรัฐวุฒิวิจารณ์
ภายในนิทรรศการจัดแสดง ‘กรงนก’ ที่มีลักษณะลวดลายและเทคนิคที่แตกต่างกันไป
กรงแต่ละกรงยังคงสะท้อนถึงความประณีตและความงามของฝีมือครูช่างที่ได้สร้างสรรค์กรงนกเหล่านี้ขึ้นมาอันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของเมืองนครฯ และภาคใต้ เช่น กรงนกโบราณทรงโบกี้รถไฟ กรงนกฝังมุกไฟลวดลายดอกไม้ กรงนกแกะงาช้าง
ศ.เกียรติคุณปรีชา เถาทอง
ภายในนิทรรศการ ‘ร้องรำทำเพลง : คีตศิลป์แห่งนครศรีธรรมราช’ ยังมีการถอดสุนทรียะของงานหัตถศิลป์เหล่านี้โดย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ปรีชา เถาทอง ศิลปินแห่งชาติ
มีการจัดพื้นที่กิจกรรมการเรียนรู้สำหรับเด็กและเยาวชนในด้านการต่อยอดงานหัตถศิลป์ท้องถิ่นอันควรค่าแก่การอนุรักษ์รักษาไว้ ผ่าน 'กิจกรรมลูกปัดโนรา' ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจจากเครื่องลูกปัดบนเครื่องต่างกายชุดโนรา
ซึ่งจะเป็นการเปิดประสบการณ์ให้เยาวชนและผู้ที่สนใจได้ใช้ความคิดสร้างสรรค์และเรียนรู้องค์ความรู้ทางภูมิปัญญาของท้องถิ่น
เครื่องลูกปัดบนชุดโนรา
คณะผู้จัดนิทรรศการขอเชิญชวนแขกผู้มีเกียรติทุกท่านร่วมสนุกและสัมผัสมรดกทางภูมิปัญญาของงานช่างหัตถศิลป์เมืองคอน หรือ นครศรีธรรมราช และปักษ์ใต้ไปด้วยกัน
Credit photo : สมัชชา อภัยสุวรรณ