Gongkan กันตภณ เมธีกุล เปลี่ยนความเหงาในนิวยอร์กเป็นผลงานศิลปะราคา 7 หลัก
Gongkan ก้อง-กันตภณ เมธีกุล เส้นทางการทิ้งตำแหน่งอาร์ตไดบริษัทโฆษณามือรางวัล สู่ศิลปินสตรีทอาร์ตรุ่นใหม่ ผู้เปลี่ยนแรงกดดันมหาศาลและความอ้างว้างในนิวยอร์กเป็นผลงานศิลปะราคาหลักล้าน
วันนี้ผลงานศิลปะที่สร้างสรรค์โดยศิลปินหนุ่มรุ่นใหม่ชื่อ ก้อง กันตภณ เมธีกุล กลายเป็นหนึ่งในงานศิลปะที่หลายคนหมายปองครอบครองเป็นเจ้าของ ไม่ว่าจะเป็นหนุ่มสาวซึ่งชื่นชอบงานศิลปะ นักสะสมงานศิลปะอยู่แล้ว ไปจนถึงนักลงทุนผ่านงานศิลปะ
ก้อง-กันตภณ เมธีกุล สร้างสรรค์งานศิลปะภายใต้ชื่อ Gongkan คือการนำชื่อ ‘ก้อง’ ชื่อเล่นของตนเองมารวมกับคำแรกของชื่อจริง ‘กัน’ กันตภณ
Gongkan ก้อง-กันตภณ เมธีกุล
“ตอนนี้ผลงานของ Gongkan ถือว่าได้รับความนิยมสูงมากๆ ถ้าเราพูดถึงการลงทุนในงานศิลปะ สองสามปีที่แล้วผลงาน Gongkan อยู่ในหลักหมื่นซื้อได้ แต่ ณ วันนี้หลักล้าน ราคาขึ้นร้อยเท่าในระยะเวลาไม่กี่ปี” พิริยะ วัชจิตพันธ์ กรรมการและผู้ร่วมก่อตั้งสมาคมนักสะสมงานศิลปะไทย กล่าวถึงความนิยมในผลงานของ Gongkan ในวงการศิลปะขณะนี้
Gongkan กับนิทรรศการ Yestertodaymorrow พ.ศ.2563 ที่ ริเวอร์ ซิตี้ แบงค็อก
ก้อง กันตภณ เมธีกุล เกิดและเติบโตที่กรุงเทพฯ สำเร็จการศึกษาจากคณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ทำงานเป็นผู้กำกับศิลป์ในบริษัทโฆษณา พร้อมกับรับงานวาดภาพประกอบเป็นอาชีพเสริม
ด้วยความสามารถในการสร้างสรรค์ผลงานรูปแบบต่างๆ ทำให้เขาได้รับรางวัลโฆษณามากมายทั่วโลก ตั้งแต่ Cannes Lion ถึง Clio และ Spikes Asia
แต่ด้วยความรักในการวาดภาพ ทำให้เขาตัดสินใจลาออกจากบริษัทโฆษณาหลังจากทำงานได้ 3 ปี แล้วเลือกเดินทางไปนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา เพื่อตามหาความฝันที่จะเป็น ‘ศิลปิน’ หรือคนทำงานศิลปะด้วยใจรัก ตอนนั้นเขามีอายุ 25 ปี
Gongkan กับผลงาน Teleport งานสตรีทอาร์ตแจ้งเกิดที่นิวยอร์ก
งานศิลปะที่ทำให้เขาเริ่มป็นที่จดจำในวงการศิลปะนิวยอร์กคือผลงานชุด Teleport (เทเลพอร์ต) ซึ่งเต็มไปด้วยภาพ ‘วงกลมสีดำ’ เป็นจำนวนมาก
งานชุด Teleport เกิดขึ้นจากแรงกดดันมหาศาลที่ ‘ก้อง กันตภณ’ แบกรับไว้ในการพยายามทำความฝันให้เป็นจริงขณะอยู่ที่นิวยอร์ก โดยเฉพาะการปรับตัวให้เข้ากับนิวยอร์ก ภาษาอังกฤษก็ยังสื่อสารไม่คล่อง ไหนจะคิดถึงบ้าน เกิดความอ้างว้างโดดเดี่ยว ขาดเพื่อน เก็บเกี่ยวทุกประสบการณ์และโอกาสที่เข้ามา จนบางครั้งก็ไม่แน่ใจว่าสิ่งที่ทำอยู่จะพาตัวเองไปที่ใด หากมีสิ่งใดพาไปที่ที่ใจต้องการได้ก็น่าจะดี
เขาจึงระบายความรู้สึกออกมาเป็นวงกลมสีดำ เปรียบเสมือน ‘หลุมดำ’ เป็นประตูที่จะเปิดไปสู่สิ่งที่คาดหวัง และสร้างตัวละครให้เดินทางไปไหนและทำอะไรก็ได้โดยใช้วงกลมสีดำเป็นประตูไปได้ทุกที่
ตัวละครที่มุดเข้ามุดออกวงกลมสีดำ แทนทั้งตัวเขาเองและคนอื่นๆ ในนิวยอร์กที่อาจรู้สึกหรือตกอยู่ในสภาพอารมณ์เดียวกับเขา งานชุด Teleport เป็นตัวแทนของความอิสระนั่นเอง
ผลงานของ Gongkan ในนิทรรศการ Pollution พ.ศ.2563 ที่ ริเวอร์ ซิตี้ แบงค็อก
งาน Teleport ในย่าน Queens NYC 2019 (Credit : FB/Gongkan)
Gongkan เคยให้สัมภาษณ์ว่า มีศิลปินสตรีทอาร์ตคนหนึ่งบอกว่า งานลักษณะนี้น่าจะไปอยู่ในชีวิตจริงของคน เพราะประตูวาร์ปไปวาร์ปมาได้ เขาจึงเริ่มทำสติกเกอร์ชิ้นเล็กๆ รูปงานตัวเอง นำไปติดตามสถานที่สาธารณะต่างๆ เรียกเทคนิคนี้ว่า sticker bomb
คนเริ่มเห็นงานของเขามากขึ้น มีการถ่ายรูปแล้วแท็กกันในอินสตาแกรม คนนิวยอร์กเริ่มจำงานของเขาได้ พอมีกิจกรรมที่คัดเลือกศิลปินสตรีทอาร์ต เขาจึงได้รับการคัดเลือกไปเพ้นต์กำแพงในพื้นที่ต่างๆ ย่าน Brooklyn และ Manhattan ทำให้งานได้รับความสนใจมากขึ้น และแจ้งเกิดการเป็น ศิลปิน สตรีทอาร์ต ในนาม Gongkan
Gongkan แสดงงาน Teleport ที่กรุงปักกิ่ง ประเทศจีน 2562 (Credit photo : FB/Gongkan)
พิริยะ วัชจิตพันธ์ กล่าวว่า การที่มูลค่างานศิลปะของ Gongkan ราคาขึ้นไปเร็วขนาดนั้น ส่วนหนึ่งเป็นเพราะแกลลอรี่ต่างประเทศจัดแสดงงานของเขาบ่อยครั้ง เช่นที่จีน เกาหลี และปี 2566 ก็จะไปโชว์ต่างประเทศอีกมากมาย
นอกจากนี้ Gongkan ยังได้รับเชิญให้ร่วมคอลลาบอเรตงานกับสินค้าไลฟ์สไตล์ คนดัง และลักชัวรี่แบรนด์ หลุยส์ วิตตอง, เฟซบุ๊ก, บริษัทนำเข้ารถยนต์เกีย, Sunova Surfskate, Johnnie Walker, Troye Sivan, กล้องถ่ายรูป, Lukas Graham, Objects of Desire Store, ห้างเซ็นทรัล, สยามดิสคัฟเวอรี่, โครงการอสังหาริมทรัพย์, รถไฟฟ้า เป็นอาทิ
รถไฟฟ้า BTS กับงานของ Gongkan เดือน ก.พ.2562 (Credit photo : FB/Gongkan)
Gongkan ภาพวาดในคอนเซปต์ Life is too short to hate ที่สยามดิสคัฟเวอรี่ พ.ศ.2561
Gongkan ออกแบบมังกรเงินแห่งความโชคดี รับตรุษจีนปี 2564 ที่เซ็นทรัล ชิดลม
“แกลลอรรี่ที่ขายงานศิลปะและนักสะสมที่ซื้องานศิลปะ ส่วนใหญ่เป็นชาวต่างชาติ ซึ่งเขามองว่าผลงานศิลปะของศิลปินรุ่นใหม่ที่กำลังจะดังราคาหลักหมื่นหลักแสนไม่แพง
เสน่ห์อย่างหนึ่งในการลงทุนงานศิลปะ ถ้าซื้อถูกทาง แป๊บเดียวก็รวยเลย แต่ผมไม่แนะนำให้ซื้องานศิลปะเพื่อการลงทุนอย่างเดียว ซื้อที่ชอบที่ใช่ ชอบแบบไหนซื้อก่อน หลังจากนั้นเรื่องราคาถือเป็นผลพลอยได้ ถ้าโฟกัสเรื่องราคาก่อน จะไม่สนุก” พิริยะ กล่าว
ภาพ Summer in Winter นำออกประมูลในงาน Follow Your heART
ล่าสุดในการประมูลผลงานศิลปะครั้งใหญ่ของเมืองไทย Follow Your heART เมื่อวันเสาร์ที่ 25 ก.พ.2566 ก็มีผลงานของ Gongkan รวมอยู่ด้วย ชื่อภาพ Summer in Winter วาดด้วยเทคนิคสีอะคริลิคบนผ้าใบ ขนาด 152 x 122 เซนติเมตร
Gongkan วาดภาพ Summer in Winter ขณะที่เขาอยู่นิวยอร์กเมื่อปีที่แล้ว (พ.ศ.2565) ภาพพูดถึงฤดูหนาวของนิวยอร์กช่างดูอ้างว้าง เปล่าเปลี่ยว ต้นไม้ไม่มีใบ ดูเหงา เขาต้องการสร้างความรู้สึกที่ว่าทุกอย่างคือวัฎจักร วันนี้ดูเหี่ยวเฉาอ้างว้าง แต่วันหนึ่งวัฏจักรจะวนกลับมาสู่ฤดูร้อนฤดูแห่งความเบิกบาน ดอกไม้ผลิดอก ใบไม้ผลิใบ เป็นการสร้างกำลังใจให้ตัวเองขณะที่เหงาเปล่าเปลี่ยวอยู่ที่นิวยอร์ก
งานชิ้นนี้มีความพิเศษตรงที่ไม่เคยจัดแสดงที่ใด เมื่อวาดที่นิวยอร์กแล้วนำกลับมาเมืองไทยก็ยังไม่เคยแสดงที่ใดมาก่อน ครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่นำออกจัดแสดงให้เห็นสู่สาธารณะ
ภาพ Summer in Winter ตั้งราคาเปิดประมูลที่ 850,000 บาท ราคาประเมินในตลาดซื้อขายงานศิลปะอยู่ที่ 1,200,000 – 1,500,000 บาท ภาพนี้มีผู้ประมูลไปได้ในราคา 1.1 ล้านบาท
งานประติมากรรมของ Gongkan จัดแสดงในงาน Macao International Art Biennale 2021
ปัจจุบันงานศิลปะของ Gongkan พัฒนารูปแบบไปสู่งานประติมากรรม ดิจิทัลอาร์ต สื่อผสม ได้รับการติดต่อไปแสดงงานในแกลลอรี่ต่างประเทศและเทศกาลศิลปะประจำปีในหลายเมืองใหญ่ทั่วโลก
ขอแสดงความยินดีกับความสำเร็จของศิลปินไทยรุ่นใหม่ๆ