จิระนันท์ พิตรปรีชา ‘อหังการของดอกไม้’ บทกวีเพื่อสตรีปี 2516 ยังขลังไม่หยุด

จิระนันท์ พิตรปรีชา ‘อหังการของดอกไม้’ บทกวีเพื่อสตรีปี 2516 ยังขลังไม่หยุด

ฟังความหมายจากปาก จิระนันท์ พิตรปรีชา กวีซีไรต์เจ้าของคำประพันธ์ ‘อหังการของดอกไม้’ เขียนให้ผู้หญิงลุกขึ้นพิจารณาตัวเอง ถ้อยคำเรียบง่าย สวยงาม แต่ทรงพลัง ผ่านมา 50 ปี ความหมายยังคงร่วมสมัยวันสตรีสากล 2566

8 มีนาคม วันสตรีสากล ประจำปีพ.ศ.2566 จิระนันท์ พิตรปรีชา กวีรีไรต์ นักแปล นักกิจกรรมสังคม ได้ไปร่วมงานเปิดนิทรรศการศิลปะ Not Alone – Now Myanmar Rose’s screams can be heard and seen… ของ Myanmar Rose (เมียนมาร์ โรส) ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร

เมียนมาร์ โรส เป็นศิลปินหญิงชาวเมียนมาร์ที่กลั่นความทรงจำอันเจ็บปวดจากการถูกคุกคามทางเพศ ถูกกักขัง ถูกค้ามนุษย์ตั้งแต่วัยเด็ก ออกมาเป็นภาพวาด จำนวน 233 ภาพ เพื่อส่งเสียงและเรียกร้องให้ยุติการกระทำเลวทรามต่อสตรี ผู้หญิงมิใช่แค่ที่รองรับอารมณ์ทางเพศ หยุดข่มเหงและปฏิบัติต่อสตรีอย่างไร้มนุษยธรรม

จิระนันท์ พิตรปรีชา ‘อหังการของดอกไม้’ บทกวีเพื่อสตรีปี 2516 ยังขลังไม่หยุด จิระนันท์ พิตรปรีชา ในงานนิทรรศการ 'กรรมกุหลาบ' วันสตรีสากล 2566

 

นิทรรศการศิลปะชุดนี้ ‘จิระนันท์ พิตรปรีชา’ ได้มอบชื่อเป็นภาษาไทยให้ว่า ‘กรรมกุหลาบ’ สำหรับตัวศิลปิน ‘เมียนมาร์ โรส’ และผู้หญิงทุกคนที่เป็นกุหลาบในกรง

จิระนันท์ พิตรปรีชา เป็นหนึ่งในสตรีไทยผู้มีบทบาทการเรียกร้องสิทธิเสรีภาพของผู้ใช้แรงงานและกลุ่มสตรีต่างๆ ในยุคที่ประชาธิปไตยของประเทศไทยเริ่มผลิบาน

จิระนันท์ พิตรปรีชา ‘อหังการของดอกไม้’ บทกวีเพื่อสตรีปี 2516 ยังขลังไม่หยุด จิระนันท์ พิตรปรีชา และ เมียนมาร์ โรส

 

ช่วงเวลาหัวเลี้ยวหัวต่อของระบอบการปกครองนั้นเอง เธอได้เขียนบทกวีหลายบท หนึ่งในบทกวีเหล่านั้นมีชื่อว่า อหังการของดอกไม้ สวยงามทั้งถ้อยคำและความหมาย เนื้อความลึกซึ้งกินใจสะเทือนเลื่อนลั่นเข้าไปในความคิดและความรู้สึกของผู้คน เนื่องจากเปิดมุมมองใหม่ๆ ให้กับ ‘ความเป็นผู้หญิง’ ในบริบทยุคนั้น

‘อหังการของดอกไม้’ ได้รับการนำไปตีความโดยนักคิดนักเขียน นักปกครอง นักสังคม นักจิตวิทยา นักการศึกษา และได้รับการวิเคราะห์ในระดับการทำวิทยานิพนธ์

จิระนันท์ พิตรปรีชา ‘อหังการของดอกไม้’ บทกวีเพื่อสตรีปี 2516 ยังขลังไม่หยุด จิระนันท์ พิตรปรีชา อ่านบทกวี 'อหังการของดอกไม้' บนเสื้อยืดที่ระลึกเนื่องในวันสตรีสากล 8 มี.ค.2566

 

ไม่ว่าคุณจะเคยอ่านคำวิจารณ์บทวิเคราะห์ ‘อหังการของดอกไม้’ มาอย่างไร แต่เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2566 จิระนันท์ พิตรปรีชา ในวัย 68 ปี นอกจากขึ้นเวทีอ่านบทกวี ‘อหังการของดอกไม้’ ด้วยน้ำเสียงอันเป็นเอกลักษณ์ของตนเอง ซึ่งเธอพึงใจใช้คำว่า The Defiance of Flowers ในการสื่อสารความหมายชื่อบทกวีนี้เป็นภาษาอังกฤษ มากกว่าคำว่า The Ego

จิระนันท์ยังได้กล่าวถึงความหมายของบทกวีบทนี้ไว้ด้วยว่า

“บทกวีบทนี้เขียนตอนที่ขึ้นปี 2 ที่จุฬาฯ อายุ 21 ปี ผ่านมาแล้วประมาณครึ่งศตวรรษ แต่คิดว่ายังคงขลังอยู่ เพราะจะมีการ quote (ยกมาอ้างอิง) ทุกๆ วันสตรีสากล

ไอเดียคือว่า เราพยายามให้ผู้หญิงลุกขึ้นด้วยการพิจารณาตัวเองก่อนว่ามีพลังในตัว มีจิตวิญญาณเสรีชนอย่างไรบ้าง

แล้วก็ลุกขึ้นมาพิสูจน์ตัวเอง ลุกขึ้นมาท้าทายปัญหาทั้งปวง แทนที่จะเรียกร้องหรือประฌามอย่างเดียว เราต้องก้าวไปอย่างมีศักดิ์ศรีและมั่นคงในตัวเอง”

จิระนันท์ พิตรปรีชา ‘อหังการของดอกไม้’ บทกวีเพื่อสตรีปี 2516 ยังขลังไม่หยุด

อหังการของดอกไม้

สตรีมีสองมือ
มั่นยึดถือในแก่นสาร
เกลียวเอ็นจักเป็นงาน
มิใช่ร่านหลงแพรพรรณ

สตรีมีสองตีน
ไว้ป่ายปีนความใฝ่ฝัน
ยืดหยัดอยู่ร่วมกัน
มิหมายมั่นกินแรงใคร

สตรีมีดวงตา
เพื่อเสาะหาชีวิตใหม่
มองโลกอย่างกว้างไกล
มิใช่คอยชม้อยชวน

สตรีมีดวงใจ
เป็นดวงไฟไม่ผันผวน
สร้างสมพลังมวล
ด้วยเธอล้วนก็คือคน

สตรีมีชีวิต
ล้างรอยผิดด้วยเหตุผล
คุณค่าเสรีชน
มิใช่ปรนกามารมณ์

ดอกไม้มีหนามแหลม
มิใช่แย้มคอยคนชม
บานไว้เพื่อสะสม
ความอุดมแห่งแผ่นดิน!

จิระนันท์ พิตรปรีชา ‘อหังการของดอกไม้’ บทกวีเพื่อสตรีปี 2516 ยังขลังไม่หยุด จิระนันท์ พิตรปรีชา เปิดตัวหนังสือ 'ความลับในความรัก' พ.ศ.2551

จิระนันท์ พิตรปรีชา ชื่อเล่นว่า 'จี๊ด' เกิดเมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2498 ที่อำเภอเมือง จังหวัดตรัง มีความสนใจในการประพันธ์ตั้งแต่เด็กเพราะที่บ้านขายหนังสือ

หลังจบการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนต้นที่โรงเรียนสภาราชินี จังหวัดตรัง ได้เข้ามาศึกษาต่อระดับมัธยมตอนปลายที่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา และศึกษาต่อในคณะวิทยาศาสตร์ แผนกเตรียมเภสัช จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้รับเลือกให้เป็นดาวจุฬาฯ พ.ศ.2515

ก่อนเกิดเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 จิระนันท์มีบทบาทในการแต่งคำประพันธ์เรียกร้องสิทธิเสรีภาพให้กับนักแสวงหา บทกวีหลายบทกลายเป็น ‘วรรคทอง’ อันทรงพลังของยุคประชาธิปไตยเริ่มเบ่งบาน ซึ่งมี  ‘อหังการของดอกไม้’ รวมอยู่ด้วย บทกวีบทนี้ได้รับการตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสารประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2516 

จนกระทั่งเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ทำให้ ‘จิระนันท์’ ซึ่งมีบทบาทร่วมเป็นผู้นำนักศึกษาต้อง ‘เข้าป่า’

จิระนันท์ พิตรปรีชา ‘อหังการของดอกไม้’ บทกวีเพื่อสตรีปี 2516 ยังขลังไม่หยุด จิระนันท์ พิตรปรีชา ร่วมเคลื่อนไหวทางการเมือง กันยายน พ.ศ.2551

ต่อมาในปีพ.ศ.2523 หลังออกจากป่า จิระนันท์ได้เดินทางไปศึกษาต่อที่ มหาวิทยาลัยคอร์เนล ประเทศสหรัฐอเมริกา สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี รัฐศาสตร์บัณฑิตเกียรตินิยม ปริญญาโท สาขาประวัติศาสตร์ และปริญญาเอก สาขาประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้

พ.ศ.2532 จิระนันท์ได้นำบทกวีที่เธอประพันธ์ไว้ระหว่างปี 2513-2528 จำนวน 35 ชิ้น รวมทั้งบท อหังการของดอกไม้ มารวมเล่มเป็นหนังสือชื่อ ‘ใบไม้ที่หายไป’ หนังสือเล่มนี้ได้รับรางวัล วรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน หรือ Southeast Asian Writers Award -S.E.A. Write (ซีไรต์) ประเภทกวีนิพนธ์ ประจำปี 2532

ขณะที่ สำนักกองทุนสนับสนุนการวิจัย ก็คัดเลือกให้ ‘ใบไม้ที่หายไป’ เป็น 'หนังสือดี 100 ชื่อเรื่องที่เด็กและเยาวชนไทยควรอ่าน' ประเภทกวีนิพนธ์ โดยประกาศ ณ วันที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2543

ภาพ : ศูนย์ภาพเนชั่น , rebel art space