สรงน้ำ 9 เทวดานพเคราะห์ ฉลอง 'สงกรานต์' ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร
รู้จัก 9 'เทวดานพเคราะห์' กรมศิลปากรร่วมสืบสานประเพณี 'สงกรานต์’ เชิญประชาชนร่วมสรงน้ำพระธาตุ – เทวดานพเคราะห์ เสริมกำลังเทวดาประจำวันเกิด รับปีใหม่ไทย ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร 12-14 เม.ย.66
ประเพณีปีใหม่ของไทย กำหนดให้มีถึง 3 วันด้วยกัน โดยวันแรกของเทศกาลเป็นวันที่พระอาทิตย์ย้ายออกจากราศีมีนเข้าสู่ราศีเมษ เรียกว่า วันมหาสงกรานต์ ตรงกับวันที่ 13 เมษายน ของทุกปี
กิจกรรมส่วนใหญ่ที่ทำใน ‘วันมหาสงกรานต์’ ก็มีทำบุญทำทาน สรงน้ำพระ ทำบุญให้บรรพบุรุษผู้ล่วงลับ รดน้ำขอพรผู้ใหญ่ การทำความสะอาดบ้านเรือน และเล่นสาดน้ำกัน
วันถัดจาก ‘วันมหาสงกรานต์’ คือ 14 เมษายน เรียก วันเนา เป็นช่วงที่พระอาทิตย์ยัง ‘เนา’ หรือยัง ‘อยู่’ ระหว่างราศีมีนกับราศีเมษ แต่เดิมในวันนี้ชาวบ้านจะออกไปจ่ายตลาดแต่เช้า เตรียมทำอาหารไว้ทำบุญถวายพระในวันรุ่งขึ้น ส่วนช่วงบ่ายเป็นการขนทรายเข้าวัด ก่อเจดีย์ทราย
วันสุดท้าย 15 เมษายน เรียก วันเถลิงศก คือวันขึ้นปีใหม่และเปลี่ยนปีศักราช
การเล่นน้ำเทศกาลสงกรานต์ 2562
ปฏิทินไทย กำหนดให้วันที่ 13 – 15 เมษายน ของทุกปี เป็น เทศกาลสงกรานต์ หรือ ‘ประเพณีสงกรานต์’ พิธีกรรมเนื่องในเทศกาลสงกรานต์ใช้ น้ำ เป็นหลัก เพื่อผ่อนคลายความร้อน
ได้แก่ การรดน้ำให้แก่กันเพื่อความชุ่มชื่น มีการรดน้ำอัฐิ เป็นการแสดงความรำลึกถึงบรรพบุรุษ การสรงน้ำพระพุทธรูป เจดียสถาน พระสงฆ์ และรดน้ำขอพรจากผู้ใหญ่
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร
ปัจจุบัน เทศกาลสงกรานต์ มีการเปลี่ยนแปลงและแนวโน้มคลาดเคลื่อนไป โดยมุ่งแสดงความหมายเป็นแต่เพียงกิจกรรมเล่นน้ำ ทำให้ประเพณีที่ดีงามของไทยเสื่อมคลายความหมายที่ดีงามไป
กระทรวงวัฒนธรรม โดย พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร สำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กรมศิลปากร ได้ตระหนักถึงความสำคัญของการสืบต่อองค์ความรู้อันเป็นรากฐานวัฒนธรรมดั้งเดิม ซึ่งมีบทบาทในการเลือกสรรสืบทอดประเพณีที่เหมาะสม และเพื่อผดุงความรู้มรดกทางวัฒนธรรมเนื่องในเทศกาลสงกรานต์
จึงได้จัดกิจกรรม สรงน้ำพระธาตุ - เทพนพเคราะห์ เพื่อเริ่มต้นปีใหม่ไทยด้วยสิริมงคลตามแบบแผนประเพณีที่ดีงาม
พระกรัณฑ์ทองคำลงยา ที่ประดิษฐานพระธาตุ 23 องค์
พระธาตุ 23 องค์
ประดิษฐานในพระกรัณฑ์ทองคำลงยา ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 1.2 เซนติเมตร สูง 3.5 เซนติเมตร เป็นภาชนะทองคำทรงโกศยอดปริกขนาดเล็ก ภายในประดิษฐานพระธาตุ 23 องค์
เดิมทีพระกรัณฑ์นี้อยู่ในก้านพระรัศมีของพระพุทธสิหิงค์ ซึ่งประดิษฐานที่พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ พระราชวังบวรสถานมงคล หรือ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ในปัจจุบัน
ความเป็นมาของ พระธาตุ 23 องค์ ไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัด อาจมีการประดิษฐานไว้ในพระเศียรพระพุทธสิหิงค์มาก่อน แล้วจึงมีการสร้างพระกรัณฑ์ทองคำลงยาถวายภายหลัง หรือเป็นการประดิษฐานในภายหลังทั้งหมดก็เป็นได้
การจำหลักลายแล้วลงยาสีที่รู้จักกันในชื่อ 'การลงยา' นั้น ปรากฏหลักฐานการใช้งานมาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา แต่เนื่องจากลวดลายที่ปรากฏ รวมทั้งสีและเทคนิคในการลงยา สันนิษฐานว่าอาจจะทำขึ้นในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์
เก้าดารา นพเคราะห์ไทย
ในสมัยโบราณ 'พุทธศาสนา นิกายมหายาน' เชื่อว่า ดาวนพเคราะห์ หรือ ดวงดาวทั้ง 9 ดวง คือพระพุทธเจ้าทั้ง 7 และพระโพธิ์สัตว์ 2 พระองค์ ที่จะ ดูแลดวงชะตาชีวิตเรา ดวงดาวทั้ง 9 ดวงจึงเปรียบเสมือน 'เทวดานพเคราะห์' ผู้ครองเรือนชะตาของมนุษย์
การมีโอกาสสรงน้ำหรือบูชาดวงดาวทั้ง 9 หรือ เทวดานพเคราะห์ ก็เพื่อให้ชีวิตของเราอยู่อย่างร่มเย็นเป็นสุข เจริญรุ่งเรือง แคล้วคลาดจากภัยอันตรายทั้งปวงตลอดปี
อานิสงส์ผลบุญแห่งการสรงน้ำบูชา 'เทวดานพเคราะห์' นอกจากผู้บูชาที่จะได้รับแล้ว ยังสามารถส่งต่อไปให้ถึงบิดามารดาญาติมิตรทั้งหลายทั้งปวงด้วย เป็นการเสริมกำลังใจและความสุขทางใจวิธีหนึ่ง
พระอาทิตย์
พระอิศวรทรงใช้ราชสีห์ 6 ตัว ป่นเป็นผง ห่อด้วยผ้าสีแดง พรมด้วยน้ำอมฤต ก่อเกิดเป็น พระอาทิตย์ เทพนพเคราะห์ที่มีอำนาจเหนือกว่าเทพนพเคราะห์ทั้งปวง ลักษณะเป็นบุรุษมีผิวกาย สีแดง ทรงราชสีห์เป็นพาหนะ ประจำอยู่ทิศตะวันออกเฉียงเหนือ
เป็นเทพนพเคราะห์ประเภทบาปเคราะห์ มักมีอารมณ์รุนแรง ตัดสินใจไว เฉียบขาด รักอิสระ แต่ซื่อสัตย์
- เป็นมิตรกับพระพฤหัสบดี และเป็นศัตรูกับพระอังคาร
- สัญลักษณ์เลข 1 มีกำลังพระเคราะห์เป็น 6
พระจันทร์
พระอิศวรทรงสร้างจากเทพธิดา 15 นาง บดป่นเป็นผง ห่อผ้าสีขาวนวล พรมด้วยน้ำอมฤตได้เป็นเทพ พระจันทร์ บุรุษรูปงาม มีสีผิวกายขาวนวล ทรงอาชา (ม้า) เป็นพาหนะ ประจำอยู่ทิศตะวันออก
เป็นเทพนพเคราะห์ประเภทศุภเคราะห์ มีอารมณ์อ่อนโยน เพ้อฝัน รวนเร และอาจมีเล่ห์เหลี่ยมมาก
- พระจันทร์เป็นมิตรกับพระพุธ และเป็นศัตรูกับพระพฤหัสบดี
- สัญลักษณ์เลข 2 มีกำลังพระเคราะห์เป็น 15
พระอังคาร
พระอิศวรทรงสร้างจากกระบือ 8 ตัว บดป่นเป็นผง ห่อด้วยผ้าสีชมพูหม่น พรมด้วยน้ำอมฤต ได้เทพ พระอังคาร ผิวสีทองแดง ทรงกระบือเป็นพาหนะ ประจำอยู่ทิศตะวันออกเฉียงใต้
เป็นเทพนพเคราะห์ประเภทบาปเคราะห์ มีอารมณ์มุทะลุ ตึงตัง ชอบใช้กำลัง ใจร้อน
- เป็นมิตรกับพระศุกร์ และเป็นศัตรูกับพระอาทิตย์
- สัญลักษณ์เลข 3 มีกำลังพระเคราะห์เป็น 8
พระพุธ
พระอิศวรทรงใช้ช้าง 17 เชือก บดป่นเป็นผง ห่อผ้าสีเขียวใบไม้ พรมด้วยน้ำอมฤต ได้เทพ พระพุทธ ผิวกายสีเขียว ทรงช้างเป็นพาหนะ ประจำอยู่ทิศใต้
เป็นเทพนพเคราะห์ประเภทศุภเคราะห์ ชอบพูดชอบเจรจา สุขุมรอบคอบ แต่ตื่นกลัวง่าย
- เป็นมิตรกับพระจันทร์ และเป็นศัตรูกับพระราหู
- สัญลักษณ์เลข 4 มีกำลังพระเคราะห์เป็น 17
พระพฤหัสบดี
พระอิศวรทรงสร้างจากฤษี 19 ตน บดป่นเป็นผง ห่อผ้าสีส้มแดง พรมด้วยน้ำอมฤต ได้เป็น พระพฤหัสบดี ผิวกายสีส้มแดง ทรงกวางเป็นพาหนะ ประจำอยู่ทิศตะวันตก
เป็นเทพนพเคราะห์ประเภทศุภเคราะห์ มักทำอะไรด้วยความระมัดระวัง สุขุม รอบคอบ เมตตาปรานีต่อผู้อื่น
- เป็นมิตรกับพระอาทิตย์ และเป็นศัตรูกับพระจันทร์
- สัญลักษณ์เลข 5 มีกำลังพระเคราะห์เป็น 19 เป็นครูของเทพทั้งหลาย จึงนิยมทำพิธีไหว้ครูในวันพฤหัสบดี
พระศุกร์
พระอิศวรทรงสร้างจากโค 21 ตัว บดป่นเป็นผง ห่อผ้าสีฟ้าอ่อน พรมด้วยน้ำอมฤต ได้ พระศุกร์ เทพผิวกายสีฟ้า ทรงโคเป็นพาหนะ ประจำอยู่ทิศเหนือ
เป็นเทพนพเคราะห์ประเภทศุภเคราะห์ กิริยาน่ารัก อ่อนหวาน ชอบงานศิลปะทุกประเภท
- เป็นมิตรกับพระอังคารและเป็นศัตรูกับพระเสาร์
- สัญลักษณ์เลข 6 มีกำลังพระเคราะห์เป็น 21พระศุกร์เป็นครูของเหล่ายักษ์
พระเสาร์
พระอิศวรทรงสร้างจากเสือ 10 ตัว บดป่นเป็นผง ห่อผ้าสีดำ พรมด้วยน้ำอมฤต ได้ พระเสาร์ เทพผิวกายดำคล้ำแดง ทรงเสือเป็นพาหนะ ประจำอยู่ทิศตะวันตกเฉียงใต้
เป็นเทพนพเคราะห์ประเภทบาปเคราะห์ มีกิริยาดุดัน แข็งแรง กล้าได้กล้าเสีย บุคลิกเคร่งขรึม
- เป็นมิตรกับพระราหูและเป็นศัตรูกับพระศุกร์
- สัญลักษณ์เลข 7 มีกำลังพระเคราะห์เป็น 10
พระราหู
พระอิศวรทรงสร้างจากหัวกะโหลก 12 หัว (บางตำราว่าผีโขมด 12 ตัว) บดป่นเป็นผง ห่อผ้าสีทอง พรมด้วยน้ำอมฤต เกิดเป็น พระราหู กายสีนิลออกไปทางทองแดง ทรงครุฑเป็นพาหนะ มีวิมานสีนิลอยู่ในอากาศ ประจำอยู่ทิศตะวันตก
เป็นเทพนพเคราะห์ประเภทบาปเคราะห์ ให้ผลในทาง ลุ่มหลงมัวเมา
- เป็นมิตรกับพระเสาร์และเป็นศัตรูกับพระพุธ
- สัญลักษณ์เลข 8 มีกำลังพระเคราะห์เป็น 12
พระเกตุ
พระอิศวรทรงสร้างจากพญานาค 9 ตัว กายสีทองคำ ทรงนาคเป็นพาหนะ มีวิมานสีดอกบุษบา (เปลวไฟ)
บ้างว่า พระเกตุ เกิดจากส่วนหางของ ‘พระราหู’ ซึ่งขโมยดื่มน้ำอมฤต พระอินทร์โกรธจึงขว้างจักรตัดเอวขาด ด้วยอำนาจแห่งน้ำอมฤตทำให้พระราหูไม่ตาย หางที่ขาดนั้นกลายเป็นพระเกตุ ซึ่งจะไม่เสวยอายุโดยตรง แต่จะเข้าแทรกเพื่อบรรเทาเรื่องร้ายและส่งเสริมในเรื่องดี
- สัญลักษณ์คือเลข 9
พิธีสรงน้ำพระธาตุ พ.ศ.2565
เนื่องในประเพณีสงกรานต์ 2566 กรมศิลปากรเปิดให้ประชาชน สรงน้ำพระธาตุ – เทวดานพเคราะห์ ณ ศาลาสำราญมุขมาตย์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ถนนหน้าพระธาตุ แขวงพระบรมมหาราชวัง กรุงเทพฯ วันที่ 12-14 เมษายน 2566 เวลา 09.00-16.00 น.