เปิดกรุคัมภีร์ใบลาน หนังสือสมุดไทย งานอนุรักษ์เอกสารโบราณ 'วัดเบญจมบพิตร'
กรมศิลปากร ถวายคัมภีร์ใบลาน ไม่ต่ำกว่า 150 ผูก หนังสือสมุดไทย 6 เล่ม พร้อมหนังสือบัญชีทะเบียน ‘เอกสารโบราณ’ วัดเบญจมบพิตร แด่เจ้าอาวาสวัดเบญจมบพิตร จากโครงการอนุรักษ์เอกสารโบราณวัดเบญจมบพิตร
กรมศิลปากร โดย ‘สำนักหอสมุดแห่งชาติ’ ได้ดำเนินโครงการความร่วมมือระหว่าง วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนารามราชวรวิหาร กับกรมศิลปากร เพื่อเผยแพร่ผลงานการอนุรักษ์เอกสารโบราณวัดเบญจมบพิตร
นายพนมบุตร จันทรโชติ อธิบดีกรมศิลปากร กล่าวว่า ‘การอนุรักษ์เอกสารโบราณวัดเบญจมบพิตร’ เป็นการดำเนินการต่อเนื่องจากโครงการอนุรักษ์เอกสารโบราณวัดเบญจมบพิตร ปีงบประมาณ 2565 ตั้งแต่วันที่ 8 กันยายน 2565 ถึงวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2566 รวมระยะเวลา 5 เดือน
วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนารามราชวรวิหาร
ในการปฏิบัติงานอนุรักษ์ฯ ดังกล่าว ได้บูรณาการประสานความร่วมมือระหว่างกรมศิลปากร คณะสงฆ์ และประชาชน สร้างการรับรู้อย่างเป็นรูปธรรม เกิดเครือข่ายอาสาสมัครท้องถิ่นในการดูแลรักษามรดกทางศิลปวัฒนธรรม (อส.มศ.) รุ่นแรกในส่วนกลาง ซึ่งเป็นรุ่นบุกเบิกของการสร้างเครือข่ายดูแลรักษาเอกสารโบราณให้ขยายวงกว้างออกไป
การดำเนินการครั้งนี้สอดรับพันธกิจของ ‘กรมศิลปากร’ ที่ต้องธำรงรักษา อนุรักษ์ สืบสาน มรดกทางศิลปวัฒนธรรมซึ่งเป็นภูมิปัญญาของบรรพชนจากรุ่นสู่รุ่นให้คงอยู่สืบไป
พนมบุตร จันทรโชติ ประธานในพิธีถวายผลงานการอนุรักษ์เอกสารโบราณวัดเบญจมบพิตร
ทั้งนี้นายพนมบุตร จันทรโชติ อธิบดีกรมศิลปากร เป็นประธานในพิธีแถลงข่าวส่งมอบ ผลงานการอนุรักษ์เอกสารโบราณวัดเบญจมบพิตร เป็นที่เรียบร้อยแล้วเมื่อวันพุธที่ 15 มีนาคม 2566 เวลา 09.00 น. ณ วัดเบญจมบพิตร เขตดุสิต กรุงเทพฯ พร้อมมอบเกียรติบัตรแก่ภาคีเครือข่ายอาสาสมัครท้องถิ่นในการดูแลรักษามรดกทางศิลปวัฒนธรรม ผู้ปฏิบัติงานอนุรักษ์เอกสารโบราณ
“ความสำเร็จของการดำเนินงานครั้งนี้ จึงถือเป็นก้าวสำคัญที่สร้างความมั่นใจในการเป็นผู้นำการอนุรักษ์ให้กับประชาชน และสร้างการรับรู้แก่ชุมชนท้องถิ่นที่อยู่ใกล้ชิดเอกสารโบราณ โดยมีวัดเป็นแหล่งเอกสารโบราณ และคณะสงฆ์เป็นผู้เก็บรักษาสมบัติล้ำค่าเหล่านี้ไว้” อธิบดีกรมศิลปากร กล่าว
พิธีถวายผลงานอนุรักษ์เอกสารโบราณวัดเบญจมบพิตร
คณะทำงานอนุรักษ์ฯ สรุปผลความสำเร็จของการดำเนินงานไว้ ดังนี้
1. กรมศิลปากร ได้ดำเนินการอนุรักษ์จัดทำทะเบียนเอกสารโบราณ ซึ่งเป็นการจัดระบบเอกสารโบราณ เพื่อให้บริการตามหลักวิชาการ ดำเนินการออกเลขทะเบียนบัญชีรายชื่อเอกสารโบราณประเภท คัมภีร์ใบลาน จำนวนมากถึง 425 มัด ออกรหัสเลขที่ได้ 719 เลขที่ รวมทั้งสิ้นจำนวน 6,275 ผูก และเอกสารโบราณประเภท หนังสือสมุดไทย จำนวน 6 เล่ม ซึ่งถือว่าเป็นแหล่งเอกสารโบราณกลางกรุงที่ใหญ่มาก และได้รับการพัฒนาไปสู่แหล่งเรียนรู้อีกระดับหนึ่ง
คัมภีร์ใบลาน อายุ 380 ปี สมัยอยุธยา
2. เอกสารโบราณเหล่านี้มีความสำคัญไม่แพ้ความสำคัญของ ‘วัด’ โดยเฉพาะ คัมภีร์ใบลาน มีการสืบสายธารแห่งประวัติศาสตร์ไม่ขาดสาย ถึง 3 สมัย ได้แก่ คัมภีร์ใบลานสมัยอยุธยา สมัยธนบุรี และสมัยรัตนโกสินทร์ รวมแล้วไม่ต่ำกว่า 150 ผูก และพบคัมภีร์ที่เก่าแก่แต่ละสมัย ดังนี้
- สมัยอยุธยา ได้แก่ วบจ.๒๒-๒๕ (วัดเบญจมบพิตร เลขที่ ๒๒-๒๕) เรื่อง วิมติวิโนทนี วินยฎีกา สมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง พ.ศ.2186 อายุ 380 ปี
- สมัยธนบุรี ได้แก่ วบจ.๓๓๘ (วัดเบญจมบพิตร เลขที่ ๓๓๘) เรื่อง สารสังคหะ
- สมัยสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี พ.ศ.2320 อายุ 246 ปี
- สมัยรัตนโกสินทร์ ได้แก่ วบจ.๒๗๑ (วัดเบญจมบพิตร เลขที่ ๒๗๑) เรื่อง ธรรมบทอัฏฐกถา
- สมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช (ร.1) พ.ศ.2328 อายุ 238 ปี
คัมภีร์ใบลานสมัยรัตนโกสินทร์
3. พบ คัมภีร์ใบลานสมัยรัตนโกสินทร์ ที่สืบต่อกันตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 1 ถึงรัชกาลที่ 6 ทำให้เห็นว่า วัดเบญจมบพิตร เป็นแหล่งเอกสารโบราณที่สามารถศึกษาเปรียบเทียบยุคสมัยของตัวอักษรแต่ละรัชกาลได้ในแหล่ง เอกสารเดียวกัน
พร้อมกันนี้ ยังศึกษาประวัติศาสตร์การสร้างคัมภีร์ถวายในพระพุทธศาสนาในช่วงเปลี่ยนผ่านจาก ใบลานสู่กระดาษแบบฝรั่ง
คัมภีร์ใบลาน สร้างโดยกรมพระยาดำรงราชานุภาพ
4. สมัยรัชกาลที่ 5 มีการปริวรรตพระไตรปิฎกจากอักษรขอมเป็นอักษรไทยจัดพิมพ์เป็นพระไตรปิฎก ฉบับพิมพ์อักษรไทยเป็นครั้งแรกของโลก หลังจากนั้นจึงไม่มีการผลิตซ้ำทำเพิ่มคัมภีร์ใบลาน
แต่ในความเป็นจริง คัมภีร์ใบลานยังคงความศักดิ์สิทธิ์และศรัทธาสืบมาจนถึงสมัยรัชกาลที่ 6 กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้สร้างคัมภีร์ใบลานถวายไว้ในพระพุทธศาสนาเป็นจำนวนมาก และเจาะจงสร้างถวายเป็นการเฉพาะสำหรับ ‘วัดเบญจมบพิตร’ อีกด้วย ตัวอย่างเช่น คัมภีร์ใบลาน เลขที่ ๕๒๔ เรื่อง เวสสันตรชาตกกถา พ.ศ.2461 อายุ 105 ปี
คัมภีร์ใบลานแห่งกรุงรัตนโกสินทร์
5. ข้อสันนิษฐาน คัมภีร์ใบลาน เลขที่ วบจ.๑๖๑ เรื่อง มังคลัตถทีปนี ใช้นามผู้สร้างว่า ‘เจ้าทับ’ พ.ศ.2386 อายุ 180 ปี ซึ่งตรงกับสมัยรัชกาลที่ 3 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ และสอดคล้องกับพระนามเดิมของ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว
จึงสันนิษฐานว่า ร.3 สร้างเป็นการส่วนพระองค์จึงให้ชื่อว่า ‘เจ้าทับ’ ตาม พระนามเดิมของพระองค์ ไม่ประทับตราพระราชลัญจกร
ทั้งนี้ สิ่งสำคัญที่ทำให้มรดกภูมิปัญญาและแหล่งศึกษาเรียนรู้นี้มีประโยชน์และทรงคุณค่าต่อไป คือการเผยแพร่ต่อสาธารณชน ให้ผู้สนใจและใฝ่รู้ทั้งหลายได้หันมามองสิ่งอันเป็นมรดกศิลปวัฒนธรรมเหล่านี้อย่างจริงจัง ย่อมสร้างความเจริญรุ่งเรืองให้กับประเทศไทย ดังคำกล่าวที่ว่า วัฒนธรรมสร้างชาติ นั่นเอง