วันไหลบางแสน 2566 ตื่นตาก่อพระทราย จำลองเจดีย์สำคัญทั่วไทย ฉลองสงกรานต์
วันไหลบางแสน 2566 สืบสานประเพณีก่อพระทรายถวายเป็นพุทธบูชาฉลองตรุษสงกรานต์ 2566 ชาวชลบุรีทุ่มเทฝีมือช่างศิลป์ทุกแขนงก่อพระทราย จำลองศาสนสถาน องค์เจดีย์สำคัญทั่วภูมิภาค ร่วมด้วยพระทรายศิลปะร่วมสมัยยุคดิจิทัล ไว้ริมชายหาดบางแสน
ก่อพระทราย เป็นประเพณีหนึ่งที่ถือปฏิบัตินิยมจัดให้มีขึ้นในช่วง สงกรานต์ หรือ ‘ตรุษสงกรานต์’ ซึ่งเป็นเทศกาลวันขึ้นปีใหม่ของชาวพุทธตั้งแต่กาลก่อน โดยมีแนวความคิดในการที่จะขนทรายเข้าวัด เพื่อใช้ในการก่อสร้างหรือซ่อมแซม ‘เสนาสนะ’ หรือที่อยู่อาศัยของภิกษุสงฆ์ เช่น กุฏิ วิหาร ศาลา
บ้างก็ว่าตลอดทั้งปี ชาวพุทธนอกจากมีวันสำคัญทางศาสนาให้เข้าวัดไปสืบสานประเพณี ชาวพุทธผู้ปฏิบัติดียังหมั่นเข้าวัดทำบุญอยู่เสมอ ทำให้อาจมี ‘ทราย’ ในวัด ติดรองเท้าออกมา อาจส่งผลต่อความมั่นคงโครงสร้างของวัด อุโบสถ วิหาร หรือแม้แต่กุฏิพระ
ทีมก่อพระทราย โรงเรียนชลบุรีสุขบท 'วันไหลบางแสน 2566'
เมื่อถึง เทศกาลสงกรานต์ หรือวันขึ้นปีใหม่ไทย จึงเป็นโอกาสดี เป็นสิริมงคล ที่จะชาวพุทธจะขนทรายกลับเข้าวัด ยึดถือปฏิบัติกันในลักษณะของการ ‘ก่อพระทราย’
รูปแบบของ ‘พระทราย’ นิยมบ่งบอกหรือสื่อความหมายถึงเรื่องราวของพุทธศาสนา และมักจะมีลักษณะรูปทรงเป็น พระสถูป เจดีย์ พระปรางค์ พระพุทธรูป หรือสิ่งของอื่นใดที่เกี่ยวกับพระพุทธศาสนา แล้วประดับตกแต่งด้วยวัสดุต่างๆ เช่น ดอกไม้ เปลือกหอย และธงทิวต่างๆ เพื่อให้เกิดความสวยงาม
ทีมก่อพระทรายจากโรงเรียนชลกันยานุกูล 'วันไหลบางแสน 2566'
ก่อพระทราย วันไหลบางแสน เป็นงานประเพณีที่ชาวตำบลแสนสุข อำเภอเมือง จังหวัดชลบุรี ได้ถือปฏิบัติมาตั้งแต่สมัยโบราณ เดิมเรียกว่า ‘งานทำบุญวันไหล’ คือการที่หมู่บ้านต่างๆ ได้มาทำบุญร่วมกันเนื่องใน วันสงกรานต์ หรือวันปีใหม่ของไทย โดยนิมนต์พระทุกวัดที่อยู่ในเขตตำบลแสนสุข มาประกอบพิธีสงฆ์ หลังจากนั้นก็เป็นกิจกรรม ก่อพระทราย
ดังนั้นเนื่องใน เทศกาลสงกรานต์ 2566 เทศบาลเมืองแสนสุขจึงได้ถือเป็นโอกาสสำคัญที่จะจัด การประกวดก่อพระทรายวันไหลบางแสน ขึ้นอีกครั้ง ณ บริเวณชายหาดบางแสน ในวันที่ 16-17 เมษายน 2566
การประกวดก่อพระทราย วันไหลบางแสน 2566
การประกวดก่อพระทราย วันไหลบางแสน แบ่งการประกวดออกเป็น 5 ประเภท คือ
- ประเภท ก แบบชาวบ้านหรือแบบดั้งเดิม (ชุมชน)
- ประเภท ข หน่วยงาน
- ประเภท ค กลุ่มโรงเรียนระดับประถม
- ประเภท ง กลุ่มโรงเรียนระดับมัธยม
- ประเภท จ ชมรมและกลุ่มผู้ประกอบการชายหาด
บรรยากาศการก่อพระทราย วันไหลบางแสน 2566
การ ก่อพระทราย วันไหลบางแสน เป็นประเพณีของท้องถิ่นที่ได้กระทำสืบเนื่องต่อกันมาจนถึงปัจจุบัน ทำให้เกิดความหลากหลายในรูปแบบต่าง ๆ ของ 'พระทราย'
เทศบาลเมืองแสนสุข จึงกำหนดเพิ่มการประกวดพระทรายวันไหลบางแสน จำนวน 1 ประเภท ได้แก่
- ประเภท ฉ ศิลปะร่วมสมัย (Contemporary art) เป็นการก่อพระทรายแบบอิสระ โดยเปิดโอกาสให้แสดงออกอย่างอิสระหลากหลายแสดงออกถึงคุณค่า เอกลักษณ์ วัฒนธรรมของหาดบางแสน (อาจจดเป็นลิขสิทธิ์ของเทศบาลเมืองแสนสุข) เพื่อเป็นการเผยแพร่และเป็นประติมากรรมตกแต่งของเทศบาลเมืองแสนสุข โดยเป็นงานศิลปะที่แสดงออกด้วยการสร้างรูปทรง 3 มิติ มีปริมาตร มีน้ำหนักและกินเนื้อที่ในอากาศ โดยใช้วัสดุชนิดต่าง ๆ เช่น ไม้ หิน ปูน โลหะ ฯลฯ เป็นส่วนประกอบได้
พระทรายของเทศบาลตำบลบางพระ
เทศกาลสงกรานต์ เทศบาลเมืองแสนสุข กำหนดระยะเวลาในการก่อพระทรายและประดับตกแต่ง โดยให้เริ่มตั้งแต่เวลา 08.00 น. ของวันอาทิตย์ที่ 16 เมษายน 2566 ถึงเวลา 10.00 น. ของวันจันทร์ที่ 17 เมษายน 2566
กำหนดให้มี พิธีเปิดงานประเพณีก่อพระทรายวันไหลบางแสน ประจำปี พ.ศ.2566 และมอบรางวัล การประกวดก่อพระทรายวันไหลบางแสน ในวันจันทร์ที่ 17 เมษายน 2566 เวลา 11.00 น.
วันไหลบางแสน วัดพระธาตุลำปางหลวง
การประกวด ก่อพระทราย วันไหลบางแสน 2566 มีผู้สมัครเข้าร่วมก่อพระทรายมากมาย อาทิ โรงเรียนโสตศึกษาจังหวัดชลบุรี ก่อพระทรายเป็นสถานที่จำลองของ วัดพระธาตุลำปางหลวง โบราณสถานสำคัญของจังหวัดลำปาง
วัดพระธาตุลำปางหลวง ตั้งอยู่บนเนินสูง เป็นวัดไม้ที่สมบูรณ์ที่สุดแห่งหนึ่งของไทย ตั้งอยู่ที่อำเภอเกาะคา ตามประวัติ พระนางจามเทวี เคยเสด็จนมัสการและบูรณะซ่อมแซมอยู่เสมอ
นับว่าเป็นวัดสำคัญคู่บ้านคู่เมืองมาแต่โบราณกาล มีความสวยงามและมีความยอดเยี่ยมทั้งสถาปัตยกรรม ประติมากรรม จิตรกรรม และเป็นที่ประดิษฐานพระแก้วดอนเต้า สิ่งศักดิ์สิทธิ์ซึ่งเป็นที่เคารพและสักการะของชาวลำปางและชาวพุทธทั่วไป
วันไหลบางแสน พระทรายโลหะปราสาท
พระทราย 'โลหะปราสาท'
โรงเรียนบ้านสวน (จั่นอนุสรณ์) ก่อพระทรายเป็นสถานที่จำลองของ โลหะปราสาท วัดราชนัดดารามวรวิหาร ความสำคัญคือเป็นโลหะปราสาทองค์แรกและองค์เดียวของไทย และถือเป็นองค์ที่ 3 ของโลก สร้างในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ยอดปราสาทประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ
พระทราย พุทธคยา
อบจ.ชลบุรี ก่อพระทรายเป็นองค์จำลองของ พุทธคยา คำเรียกกลุ่มพุทธสถานสำคัญในอำเภอคยา รัฐพิหาร ประเทศอินเดีย เนื่องจากเป็นที่ตั้งของสถานที่ตรัสรู้ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
เจดีย์พุทธคยา มีลักษณะเป็นเจดีย์สี่เหลี่ยมทรงสูง เป็นสถาปัตยกรรมและศิลปะแบบอินเดีย สูงประมาณ 170 ฟุต แบ่งออกเป็น 2 ชั้น ชั้นแรกประดิษฐานพระพุทธเมตตา พระพุทธรูปปางมารวิชัยศิลปะปาละ เป็นพระพุทธรูปองค์ใหญ่หนึ่งเดียวในเจดีย์ที่ไม่ถูกทำลายจากกษัตริย์ชาวฮินดูสมัยที่มีการกวาดล้างพระพุทธศาสนาในอินเดีย ชั้นที่ 2 ประดิษฐานพระพุทธปฏิมาปางประทานพร
พระทราย 'พระมหาธาตุรัชมงคลเจดีย์สิริชัยภูมิ'
บันไดนาค พระทราย 'พระมหาธาตุรัชมงคลเจดีย์สิริชัยภูมิ'
โรงเรียนอ่างศิลาพิทยาคม ก่อพระทรายเป็นองค์จำลองของ พระมหาธาตุรัชมงคลเจดีย์สิริชัยภูมิ หรือ ‘พระธาตุชัยภูมิ’ ตั้งอยู่ในสถานที่ปฏิบัติธรรมอันเงียบสงบที่ตำบลเก่าย่าดี อำเภอแก้งคร้อ จังหวัดชัยภูมิ มีลักษณะเป็นเจดีย์ที่ผสมผสานระหว่างศิลปะล้านช้างกับล้านนา
องค์พระธาตุสีขาว สูง 21 เมตร มีซุ้มประดิษฐานพระพุทธรูปทั้ง 4 ทิศ ส่วนยอดหุ้มด้วยแผ่นทองจังโก ปิดด้วยทองคำเปลวตามแบบล้านนา งดงามโดดเด่นจากระยะไกล
พระทรายวันไหลบางแสนของโรงเรียนชลบุรีสุขบท
ด้านหน้าของพระทราย 'มณฑปวัดเขาบางทราย'
โรงเรียนชลบุรีสุขบท ก่อพระทรายเป็นองค์จำลองของ มณฑปวัดเขาบางทราย ตั้งอยู่ในตำบลบางทราย อำเภอเมืองชลบุรี จังหวัดชลบุรี ซึ่งโรงเรียนก็ตั้งอยู่ในตำบลนี้เช่นกัน
มีประวัติกล่าวกันว่า พระมหากษัตริย์ผู้ครองกรุงศรีอยุธยาเป็นผู้สร้าง ‘วัดเขาบางทราย’ ขึ้นในระหว่าง พ.ศ. 2249–2275 ต่อมาในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ได้รับการบูรณะ 2 ครั้ง คือในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวและพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยทางราชการเคยใช้วัดนี้เป็นสถานที่ทำพิธีถือน้ำพิพัฒน์สัตยาตลอดสมัยรัชกาลที่ 5
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวขณะทรงผนวช ก็ทรงเคยเสด็จพระราชดำเนินมานมัสการพระพุทธบาทและเสด็จเยี่ยมเจ้าอาวาสวัดเขาบางทราย เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม พ.ศ.2447
พระทราย 'พระมหาธาตุเจดีย์ปาสาทิโก วัดตะโก'
รายละเอียดพระทราย 'พระมหาธาตุเจดีย์ปาสาทิโก วัดตะโก'
โรงเรียนชลราษฎรอำรุง ก่อพระทรายเป็นองค์จำลองของ พระมหาธาตุเจดีย์ปาสาทิโก วัดตะโก ตั้งอยู่ที่ตำบลดอนหญ้านาง อำเภอภาชี จังหวัดพระนครศรีอยุธยา วัดสร้างเมื่อปี พ.ศ.2345 ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ.2541 เป็นวัดจำพรรษาของ ‘หลวงพ่อรวย’ พระนักพัฒนาและเกจิอาจารย์ชื่อดัง
เริ่มก่อสร้างพระมหาธาตุเจดีย์ เมื่อปีพ.ศ. 2557 ผู้ออกแบบเจดีย์คือ วนิดา พึ่งสุนทร (ศิลปินแห่งชาติ) และ ตะวัน วีระกุล วิศวกร บัญชา ชุ่มเกษร และองอาจ หุดากร
องค์เจดีย์มี 2 ชั้นร่วมสมัย มีลิฟต์และบันไดภายใน ด้านบนประดิษฐานของพระบรมสารีริกธาตุที่ขออัญเชิญมาจากประเทศอินเดีย ชั้นล่างเป็นห้องโล่งกว้าง มีโลงแก้วบรรจุสังขารหลวงพ่อรวย ซึ่งไม่เน่าเปื่อย ให้ผู้ที่มีจิตศรัทธาได้เข้ามากราบไหว้
ภาพรวมพระทราย 'บางแสนดินแดนแห่งความอุดมสมบูรณ์'
โรงเรียนวัดเขาเชิงเทียนเทพาราม ก่อพระทรายชื่อผลงาน บางแสนดินแดนแห่งความอุดมสมบูรณ์ ได้แรงบันดาลใจมาจากความสมบูรณ์ทางด้านทะเล เศรษฐกิจและทรัพยากรที่หลากหลายของเมืองแสนสุขและจังหวัดชลบุรี นำเสนอผลงานสร้างสรรค์ผ่าน 3 รูปแบบ
- ‘พระแม่คงคา’ เทพีแห่งสายน้ำที่หล่อเลี้ยงชาวแสนสุขและชลบุรีให้มีความสุข มีอาชีพ มีความเป็นอยู่ที่ดี
- ‘เหล่ามัจฉานานาชนิด’ สื่อให้เห็นว่าทะเลเมืองชลเป็นอู่ข้าวอู่น้ำสำคัญ
- ‘เรือประมง’ สัญลักษณ์ที่สื่อถึงอาชีพการประมงและระบบเศรษฐกิจของเมืองแสนสุขและจังหวัดชลบุรีที่กำลังดำเนินไปอย่างก้าวหน้า
พระทราย 'พระมหาเจดีย์ชัยมงคล ร้อยเอ็ด'
โรงแรมเดอะไทด์ รีสอร์ท บางแสน ก่อพระทรายเป็นองค์จำลองของ พระมหาเจดีย์ชัยมงคล จังหวัดร้อยเอ็ด องค์จริงเป็นมหาเจดีย์ที่วิจิตรพิสดาร ใช้ศิลปกรรมร่วมสมัยระหว่างภาคกลางและภาคอีสาน เป็นการผสมผสานกันระหว่างพระปฐมเจดีย์และพระธาตุพนม ดำเนินการสร้างโดย พระอาจารย์ศรี มหาวิโร ศิษย์พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต
พระมหาเจดีย์ชัยมงคล ออกแบบโดยกรมศิลปากร กว้าง 101 เมตร ยาว 101 เมตร สูง 101 เมตร รวมยอดทองคำเป็น 109 เมตร ใช้ทองคำหนัก 4,750 บาท หรือประมาณ 60 กิโลกรัม
องค์เจดีย์ทาสีขาว ตกแต่งลวดลายตระการตาด้วยสีทองเหลืองอร่าม สร้างในเนื้อที่ 101 ไร่ ตั้งอยู่บริเวณวัดผาน้ำทิพย์เทพประสิทธิ์วราราม ตำบลผาน้ำย้อย อำเภอหนองพอก
พระทราย 'พระมหารัตนโลหะเจดีย์ศรีศาสนโพธิสัตว์สว่างบุญ'
รายละเอียดทางเดินขึ้นองค์เจดีย์ คลุมด้วยซุ้มประตู
บริษัทบางแสนมหานคร พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด ก่อพระทรายเป็นองค์จำลองของ พระมหารัตนโลหะเจดีย์ศรีศาสนโพธิสัตว์สว่างบุญ หรือเจดีย์ 500 ยอด ถือเป็นสิ่งล้ำค่าของ ‘วัดป่าสว่างบุญ’ ซึ่งเกิดจากความเคารพและศรัทธาของประชาชนทั้งในจังหวัดสระบุรีและทั่วภูมิภาคที่มีต่อ หลวงพ่อสมชาย ปุญญมโน ซึ่งเป็นผู้สร้างวัดแห่งนี้ขึ้นเมื่อปีพ.ศ.2528
องค์มหาเจดีย์มาสร้างเสร็จในปีพ.ศ.2550 ด้วยรูปแบบของเจดีย์ประธานองค์ใหญ่อยู่ตรงกลาง และมีเจดีย์รายล้อมรอบฐานวงกลม นับรวมได้ 500 ยอด
รูปแบบของเจดีย์ 500 ยอด นับว่างดงามยิ่งนัก เริ่มตั้งแต่บันไดทางขึ้นสู่องค์เจดีย์ประธานตรงกลาง คลุมด้วยซุ้มประตูทั้งสี่ทิศ องค์เจดีย์ปูนปั้นฝีมือประณีตเคลือบสีทองทุกองค์
พระทราย แกรนด์แคนยอน ชลบุรี
เทศบาลตำบลห้วยกะปิ ก่อพระทรายเป็นสถานที่จำลองของ แกรนด์แคนยอน ชลบุรี หรือ ‘แกรนด์แคนยอน คีรี’ ตั้งอยู่ภายในเหมืองหินคีรีนคร ตำบลห้วยกะปิ อำเภอเมือง จังหวัดชลบุรี
เดิมเป็นเหมืองเก่าทิ้งร้างมานาน จนกลายเป็นพื้นที่น้ำขังที่มีลักษณะคล้ายแกรนด์แคนยอนในต่างประเทศ แต่ไม่มีการดูแลจากหน่วยงานใด ซึ่งอาจเป็นอันตรายแก่นักท่องเที่ยว ปัจจุบันเอกชนบริเวณดังกล่าวได้พัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยว
เมื่อนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าไป จะต้องเดินขึ้นไปยังบริเวณปากบ่อขอบกั้นเหมือง ซึ่งเป็นจุดชมวิวที่สวยที่สุดของ ‘แกรนด์แคนยอน ชลบุรี’
การประกวด ก่อพระทราย วันไหลบางแสน 2566 ยังมีพระทรายเป็นรูปทรงต่างๆ สวยงามแปลกตาอีกมากมาย
พระทรายพลังงานสะอาดจากการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคบางแสน
ทีมก่อพระทรายเทศบาลนครเจ้าพระยาสุรศักดิ์ (16 เม.ย.2566)
พระทราย 'วัดอรัญญิกาวาส' โดยเทศบาลตำบลบ้านสวน อ.เมือง จ.ชลบุรี