11 อาคารโบราณ คว้ารางวัลอนุรักษ์ศิลปสถาปัตยกรรม ประจำปี 2566

11 อาคารโบราณ คว้ารางวัลอนุรักษ์ศิลปสถาปัตยกรรม ประจำปี 2566

สมาคมสถาปนิกสยามฯ เปิดรายชื่อ 11 อาคารโบราณจากเหนือจรดใต้ประเทศไทย คว้า 'รางวัลอนุรักษ์ศิลปสถาปัตยกรรม' ประจำปี 2566 พร้อมเกณฑ์การพิจารณา

สมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ จัดให้มีการพิจารณามอบ รางวัลอนุรักษ์ศิลปสถาปัตยกรรม โดยมีวัตถุประสงค์ที่จะเผยแพร่ข้อมูลอาคารอันทรงคุณค่าให้เป็นที่รู้จัก พร้อมกับเสริมสร้างกำลังใจให้กับผู้ครอบครองที่ได้ดูแลรักษาไว้ หรือให้มาช่วยกันรักษาอาคารที่มีคุณค่าให้คงอยู่เป็นมรดกสถาปัตยกรรมของชาติต่อไป

โดยได้รับพระมหากรุณาธิคุณจาก สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ให้เข้ารับพระราชทานรางวัลตั้งแต่พ.ศ.2522 ต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน

ทั้งนี้นับตั้งแต่พ.ศ.2563 ทางสมาคมฯ ได้ ‘มองเก่าให้ใหม่’ ด้วยการปรับเปลี่ยนเพิ่มเติมรางวัลเป็นกำลังใจสำหรับสถาปนิกผู้ออกแบบอนุรักษ์อาคารเก่าเป็นระดับตามคุณภาพของการดำเนินการ เป็น 4 ระดับ ได้แก่

  • ระดับดีเยี่ยม
  • ระดับดีมาก
  • ระดับดี
  • ระดับสมควรได้รับการเผยแพร่

นอกจากนี้ยังเพิ่มรางวัลสำหรับ 'งานออกแบบใหม่' ในพื้นที่ของอาคารอนุรักษ์ที่ส่งเสริมการรักษาคุณค่าของมรดกสถาปัตยกรรมไว้ ตามกระแสแนวความคิดของการอนุรักษ์ เพื่อประโยชน์ในปัจจุบันอย่างยั่งยืน จึงกำหนดให้มีการแบ่งประเภทของรางวัลออกเป็น

  • ประเภท ก. งานอนุรักษ์มรดกทางสถาปัตยกรรมและชุมชน
  • ประเภท ข. งานออกแบบใหม่ในบริบทการอนุรักษ์
  • ประเภท ค. บุคคลหรือองค์กรอนุรักษ์ศิลปสถาปัตยกรรมดีเด่น

11 อาคารโบราณ คว้ารางวัลอนุรักษ์ศิลปสถาปัตยกรรม ประจำปี 2566 โครงการอนุรักษ์และพัฒนาพื้นที่ชุมชนเลื่อนฤทธิ์ กรุงเทพฯ 

ประเภท ก. งานอนุรักษ์มรดกทางสถาปัตยกรรมและชุมชน
ระดับดีมาก จำนวน 2 แห่ง ได้แก่

1. โครงการอนุรักษ์และพัฒนาพื้นที่ชุมชนเลื่อนฤทธิ์ กรุงเทพฯ
ปีที่สร้าง
: สมัยรัชกาลที่ 5

กระบวนการอนุรักษ์มีความครบถ้วน ประกอบด้วยการศึกษาประวัติความเป็นมาของพื้นที่และอาคารการศึกษาโครงสร้างและองค์ประกอบของอาคารในช่วงเวลาต่าง ๆ การสำรวจทางโบราณคดี การประเมินสภาพอาคารและเลือกเทคนิควิธีการอนุรักษ์เพื่อแก้ปัญหาความเสื่อมสภาพ 

ตลอดจนมีการปรับปรุงส่วนของอาคารเพื่อแก้ไขปัญหาการต่อเติมและการรื้อองค์ประกอบเดิมที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่ผ่านมา การปรับปรุงนี้ช่วยฟื้นฟูความเป็นหนึ่งเดียวกันของกลุ่มอาคารประวัติศาสตร์ แก้ไขข้อจำกัดจากมูลค่าของที่ดิน รวมถึงความต้องการพื้นที่ใช้สอยและงานระบบที่เพิ่มขึ้น

นับเป็นตัวอย่างโครงการปรับประโยชน์ใช้สอยกลุ่มตึกแถวเก่าด้วยการบริหารจัดการโดยชุมชน

11 อาคารโบราณ คว้ารางวัลอนุรักษ์ศิลปสถาปัตยกรรม ประจำปี 2566

11 อาคารโบราณ คว้ารางวัลอนุรักษ์ศิลปสถาปัตยกรรม ประจำปี 2566 โครงการอนุรักษ์และพัฒนาพื้นที่ชุมชนเลื่อนฤทธิ์ กรุงเทพฯ 

ลักษณะอาคารของ ชุมชนเลื่อนฤทธิ์ เป็นตึกแถวสูง 2 ชั้น สถาปัตยกรรมแบบโคโลเนียล โครงสร้างผนังชั้นล่างเป็นกำแพงรับน้ำหนัก ก่ออิฐ โครงสร้างพื้นชั้นบนเป็นไม้ 

หลังคาทรงจั่ว เดิมเป็นไม้ ปัจจุบันเปลี่ยนเป็นโครงสร้างหลังคาเหล็ก มุงกระเบื้องว่าวซีเมนต์
จุดเด่นของตึกแถวชุมชนเลื่อนฤทธิ์ ตัวตึกแถวหัวมุมจะถูกตัดมุมฉากออก ประตูชั้นล่างเป็นบานเฟี้ยม เหนือประตูมีช่องระบายอากาศยาวตลอดแนว หน้าต่างเป็นบานเปิดคู่ลูกฟักไม้ ตอนบนประดับช่องลมไม้ฉลุลาย

 

2. ตึกสุวรรณวาจกกสิกิจ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กรุงเทพฯ
ปีที่สร้าง : พ.ศ.2506

11 อาคารโบราณ คว้ารางวัลอนุรักษ์ศิลปสถาปัตยกรรม ประจำปี 2566 ตึกสุวรรณวาจกกสิกิจ 

กระบวนการอนุรักษ์มีความครบถ้วน โดยมีการศึกษาประวัติความเป็นมา การประเมินสภาพอาคารเพื่อออกแบบและกำหนดวิธีการอนุรักษ์ที่เหมาะสม สามารถรักษาและซ่อมแซมองค์ประกอบทางสถาปัตยกรรมที่เสื่อมสภาพให้กลับมาใช้งานได้ คำนึงถึงการรักษาคุณค่าขององค์ประกอบที่แสดงถึงเอกลักษณ์ของอาคาร 

ในขณะที่เลือกใช้โครงสร้าง งานระบบอาคาร ตลอดจนเพิ่มวัสดุใหม่เข้าไปอย่างเป็นเหตุเป็นผล สอดคล้องกับการใช้งานในปัจจุบัน

นอกจากนี้ การปรับปรุงภูมิทัศน์ช่วยให้อาคารยังคงสัดส่วนเดิม แม้จะยกระดับของอาคารให้สูงขึ้น นับเป็นแบบอย่างอันดีของการอนุรักษ์อาคารที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ในสถาบันการศึกษา

11 อาคารโบราณ คว้ารางวัลอนุรักษ์ศิลปสถาปัตยกรรม ประจำปี 2566 ตึกสุวรรณวาจกกสิกิจก่อนได้รับการบูรณะ

ตึกสุวรรณวาจกกสิกิจ เป็นหนึ่งในกลุ่มอาคารเรียนรวมของนิสิตในช่วงยุคเริ่มก่อตั้งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ถือเป็นอาคารเรียนขนาดใหญ่ที่สุดในเวลานั้น มีลักษณะเป็นอาคาร 2 ชั้น ใต้ถุนเปิดโล่ง ชั้นบนเป็นห้องโถงขนาดใหญ่ จุคนได้ประมาณ 300 คน มีบันไดทางขึ้นสองด้านเชื่อมกับระเบียงทางเดินบริเวณทิศตะวันออก

ตำแหน่งอาคารวางแบบ ‘ขวางตะวัน’ ทำให้เห็นการออกแบบที่มีองค์ประกอบของแผงกันแดดและการยื่นชายคาเพื่อป้องกันแสงแดด

โครงสร้างหลังคาเป็น โครงถักไม้ (wooden truss) พาดตลอดความกว้างของห้อง เพื่อไม่ให้มีเสาบริเวณกลางห้อง มีการเจาะช่องแสงจากด้านบนหลังคา รูปทรงหลังคาเป็นจั่วความชัน 15 องศา มุงด้วยกระเบื้องซีเมนต๋ใยหิน

11 อาคารโบราณ คว้ารางวัลอนุรักษ์ศิลปสถาปัตยกรรม ประจำปี 2566 ตึกสุวรรณวาจกกสิกิจ

แผงบังแดดทำด้วยไม้เนื้อแข็ง กรุแผ่นกระเบื้องใยหิน เพื่อช่วยบังแดดให้กับทางเดินทิศตะวันออก

ตึกสุวรรณวาจกกสิกิจ หยุดการใช้งานในปีพ.ศ.2556 เนื่องจากอาคารมีสภาพความเสียหายและทรุดโทรม เพราะขาดการดูแลรักษา

ต่อมาในปีพ.ศ.2558 คณะวิทยาศาสตร์ได้จัดทำแผนอนุรักษ์และฟื้นฟูตึกแห่งนี้ ปัจจุบันพื้นที่ชั้นล่างปรับเป็นร้านกาแฟ ส่วนพื้นที่ชั้นบนใช้เป็นหอประวัติของคณะวิทยาศาสตร์

 

ประเภท ก. งานอนุรักษ์มรดกทางสถาปัตยกรรมและชุมชน ระดับดี
จำนวน 4 แห่ง ได้แก่

1.กุฎิหลวงพ่อทอง วัดดอนสะท้อน จังหวัดชุมพร
ปีที่สร้าง : พ.ศ.2486

11 อาคารโบราณ คว้ารางวัลอนุรักษ์ศิลปสถาปัตยกรรม ประจำปี 2566 กุฎิหลวงพ่อทอง วัดดอนสะท้อน จังหวัดชุมพร 

กุฎิหลวงพ่อทอง มีลักษณะเป็นเรือนไม้ทรงปั้นหยา 2 ชั้น มีมุขยื่นด้านหน้า คลุมด้วยหลังคาปั้นหยาเช่นกัน ชั้นล่างเป็นผนังคอนกรีตฉาบปูน เสาคอนกรีตประดับหัวเสาด้วยปูนปั้นรูปบัวแปดกลีบ เชื่อมต่อกันด้วยพนักระเบียงโดยรอบ ประดับราวลูกกรงปูน ขนาด 4 นิ้ว

ช่องทางเข้า-ออก มีเสาเตี้ยประดับหัวเม็ดกลมฝังลายกลีบบัว เหนือช่องประตู-หน้าต่างของชั้นล่างมีช่องแสงรูปโค้งประดับลวดลายไม้ฉลุ

พื้นชั้นล่างเป็นพื้นคอนกรีตเสริมเหล็ก ปูกระเบื้องดินเผา บันไดเดินขึ้นชั้นบนเป็นผนังก่ออิฐถือปูน พื้นปูกระเบื้องดินเผา ส่วนชั้นบนเป็นไม้ทั้งหมด พื้นไม้กระดานขนาด 1x8 นิ้ว และ 1x10 นิ้ว กั้นฝาผนังไม้ขนาด ¾ x 6 นิ้ว ตีซ้อนเกล็ดตามแนวนอน

11 อาคารโบราณ คว้ารางวัลอนุรักษ์ศิลปสถาปัตยกรรม ประจำปี 2566 รายละเอียดสถาปัตยกรรม กุฎิหลวงพ่อทอง วัดดอนสะท้อน 

ระเบียงด้านหน้ามีลูกกรงไม้กลึงโดยรอบ ประตูหน้าต่างเป็นบานลูกฟักไม้ ยอดผนังโดยรอบทำเป็นช่องระบายอากาศไม้ฉลุลาย ประดับต่อเนื่องมายังเสาระเบียงด้านหน้าด้วย

กุฏิหลังนี้มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์จากการแสดงให้เห็นถึงพัฒนาการของวัด จากความศรัทธาของประชาชนที่มีต่อพระพุทธศาสนา กระบวนการอนุรักษ์มีการดำเนินงานอย่างเป็นขั้นตอน

โดยมีการจัดทำแบบสถาปัตยกรรม และการรักษาองค์ประกอบด้วยการซ่อมแซมตามเทคนิคและฝีมือช่างแบบดั้งเดิม ช่วยรักษาความแท้ของวัสดุและงานไม้ได้ค่อนข้างครบถ้วน

พื้นที่ภายในอาคารจัดแสดงการอยู่อาศัยแบบเดิมผสมผสานการใช้งานใหม่ในฐานะพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นได้ดี การอนุรักษ์ที่ได้ดำเนินการมาส่งผลดีต่อสังคมและชุมชนโดยรอบ

 

2.พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น ‘ชุมทางประวัติศาสตร์ทุ่งสง’ จังหวัดนครศรีธรรมราช
ปีที่สร้าง : ก่อนพ.ศ.2463

11 อาคารโบราณ คว้ารางวัลอนุรักษ์ศิลปสถาปัตยกรรม ประจำปี 2566 พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น “ชุมทางประวัติศาสตร์ทุ่งสง” จังหวัดนครศรีธรรมราช 

ประกอบด้วยอาคาร 2 หลัง สร้างโดย ‘กรมรถไฟหลวง’ อาคารหลังที่ 1 เคยเป็นอาคารขนส่งแร่และสินค้าต่างๆ อาคารหลังที่ 2 เคยเป็นที่ทำการของ 3 กิจการ คือ ธนาคารสยามกัมมาจล สาขาทุ่งสง (เปิดทำการ พ.ศ.2463) ห้างยิบอินซอย และห้างบั้นทินหลำ

ต่อมาในปีพ.ศ.25475 เกิดเปลี่ยนแปลงการปกครอง ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ กรมรถไฟหลวงขยายการเดินรถไปถึงอำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา และเชื่อมต่อไปยังประเทศมาเลเซีย 
ส่งผลให้ธุรกิจการค้าหลายอย่างใน อ.ทุ่งสง ลดลง จนไม่คุ้มค่าต่อการดำเนินงาน คณะกรรมการใหญ่ของธนาคารจึงมีมติปิดสาขาทุ่งสง หลังดำเนินกิจการมา 12 ปี

หลังจากนั้นกิจการต่างๆ ที่เคยเช่าอาคารทั้ง 2 หลังก็ทยอยปิดตัวจนไม่มีการใช้งานอาคารและอยู่ในสภาพทรุดโทรม

11 อาคารโบราณ คว้ารางวัลอนุรักษ์ศิลปสถาปัตยกรรม ประจำปี 2566 พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น ‘ชุมทางประวัติศาสตร์ทุ่งสง’ 

ในที่สุดเทศบาลเมืองทุ่งสงได้เล็งเห็นถึงความสำคัญด้านประวัติศาสตร์และสถาปัตยกรรมของอาคาร จึงเช่าอาคารจากการรถไฟแห่งประเทศไทย เริ่มการปรับปรุงฟื้นฟูอาคารเมื่อพ.ศ.2561 จนแล้วเสร็จในปี 2563

ปัจจุบัน พื้นที่ชั้นล่างของอาคารหลังที่ 1 จัดแสดงสินค้าและจำหน่ายของที่ระลึก ชั้นบนเป็นส่วนการเรียนรู้เรื่องการพัฒนาวัฒนธรรมชุมชนและฟื้นฟูวัฒนธรรมประเพณี การสร้างวัฒนธรรมใหม่ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในพื้นที่

พื้นที่ชั้นล่างของอาคารหลังที่ 2 ประกอบด้วยห้องสมุด ห้องแสดงศิลปะ พร้อมจัดแสดงตู้นิรภัยเก่าแก่ของธนาคารสยามกัมมาจล ชั้นบนเป็นห้องจัดแสดงนิทรรศการ

11 อาคารโบราณ คว้ารางวัลอนุรักษ์ศิลปสถาปัตยกรรม ประจำปี 2566 ภาพถ่ายในอดีตของอาคารขนส่งก่อนเป็นพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น ‘ชุมทางประวัติศาสตร์ทุ่งสง’ 

พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น ‘ชุมทางประวัติศาสตร์ทุ่งสง’ มีคุณค่าสถาปัตยกรรมและทางประวัติศาสตร์ โดยอาคารซึ่งเคยเป็นธนาคารแห่งแรกของภาคใต้เป็นส่วนหนึ่งของพัฒนาการของพื้นที่ในการเป็นชุมทางรถไฟขนาดใหญ่

การอนุรักษ์มีการจัดทำแบบสถาปัตยกรรม และการศึกษาข้อมูลที่นำมาสู่การเลือกวิธีการแก้ไขปัญหาโครงสร้างและความเสื่อมสภาพของวัสดุ ตลอดจนมีการปรับการใช้สอยเพื่อประกอบกิจกรรมในปัจจุบัน

นับเป็นแบบอย่างของการอนุรักษ์และนำเสนออาคารทางประวัติศาสตร์ที่มีคุณค่าทางจิตใจของประชาชนในพื้นที่ อีกทั้งส่งผลดีต่อเศรษฐกิจและความยั่งยืนของชุมชน

 

3. วิหารโคมคำ วัดพระธาตุเสด็จ จังหวัดลำปาง
ปีที่สร้าง : ก่อนพ.ศ.2366

11 อาคารโบราณ คว้ารางวัลอนุรักษ์ศิลปสถาปัตยกรรม ประจำปี 2566 วิหารโคมคำ วัดพระธาตุเสด็จ จังหวัดลำปาง 

วิหารโคมคำ ตั้งอยู่บนฐานก่ออิฐถือปูนและฉาบเรียบ ยกสูงจากพื้นดิน 0.30 เมตร แผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ขนาดกว้าง 3 ห้อง (8.45 เมตร) ยาว 6 ห้อง (21 เมตร) เสาวิหารเป็นเสาไม้ มี 2 รูปแบบ คือ เสาที่มุขโถงและเสาที่ผนังด้านหน้าเป็นเสาแปดเหลี่ยม ส่วนเสาภายในวิหารเป็นเสากลม ทั้งหมดมีบัวหัวเสาและประดับเสาด้วยลายคำ

หลังคาวิหารซ้อน 2 ชั้น ลดด้านหน้า 3 ชั้น ด้านหลัง 2 ชั้น ลักษณะสอดคล้องไปตามแผนผังของวิหารที่ยกเก็จด้านหน้า 2 ห้อง และยกเก็จด้านหลัง 1 ห้อง ซึ่งเป็นรูปแบบมาตรฐานของหลังคาวิหารล้านนา ปัจจุบันมุงด้วยกระเบื้องเคลือบแทนกระเบื้องดินแบบเดิม

11 อาคารโบราณ คว้ารางวัลอนุรักษ์ศิลปสถาปัตยกรรม ประจำปี 2566

วิหารโคมคำ วัดพระธาตุเสด็จ ในอดีต

วิหารโคมคำ เป็นอาคารที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์และสถาปัตยกรรม โดยเป็นตัวแทนของวิหารล้านนาที่มีสภาพค่อนข้างสมบูรณ์อันหาได้ยากในปัจจุบัน อาคารมีความแท้ในเรื่องรูปทรง องค์ประกอบทางสถาปัตยกรรมและพื้นที่ใช้สอยภายใน 

กระบวนการอนุรักษ์ประกอบด้วยการแก้ไขงานบูรณะครั้งก่อน ที่มีการเปลี่ยนวัสดุเครื่องบนเป็นปูนซีเมนต์ให้กลับมาเป็นไม้ตามรูปแบบเดิมจากผลของงานวิจัย 

มีการรื้อฟื้นสภาพพื้นที่โดยรอบอาคารจากลานดาดแข็งให้กลับมาเป็นลานดิน ซึ่งช่วยแก้ปัญหาเรื่องความชื้นภายในอาคารได้ 

11 อาคารโบราณ คว้ารางวัลอนุรักษ์ศิลปสถาปัตยกรรม ประจำปี 2566 สถาปัตยกรรม วิหารโคมคำ วัดพระธาตุเสด็จ 

การอนุรักษ์แสดงถึงความตระหนักในคุณค่า ความเข้าใจที่ถูกต้องในเรื่องการอนุรักษ์ แสดงให้เห็นถึงความร่วมมือระหว่างวัด ประชาชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งกรมศิลปากรและสถาบันการศึกษาในท้องถิ่น ในการรักษาโบราณสถานอันเป็นสมบัติของชุมชน ขณะที่ยังคงใช้พื้นที่เพื่อประกอบพิธีกรรมทางศาสนา รวมทั้งนำเสนอศิลปวัตถุและเครื่องใช้ผ่านการใช้งานและการจัดแสดง

นับเป็นตัวอย่างของการประสานประโยชน์ระหว่างการอนุรักษ์กับการรองรับความต้องการของคนกลุ่มต่างๆ ได้อย่างยั่งยืน

 

4. มัสยิดบ้านควนลังงา จังหวัดปัตตานี
ปีที่สร้าง : พ.ศ.2177

11 อาคารโบราณ คว้ารางวัลอนุรักษ์ศิลปสถาปัตยกรรม ประจำปี 2566 มัสยิดบ้านควนลังงา จังหวัดปัตตานี

เป็นอาคารเรือนไม้ ก่อสร้างโดยไม่ใช้ตะปู แต่ใช้ลิ่มไม้และเข้าสลักไม้ เป็นอาคารโถง ไม่มีผนัง ไม่ยกพื้น ผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ขนาดกว้าง 5 ห้อง (กว้าง 9.40 เมตร ยาว 13.80 เมตร) หลังคาทรงจั่วต่อปีกนกลาดเทลงด้านทิศตะวันออก ทิศเหนือ ทิศใต้ 

ส่วนทิศตะวันตกทำเป็นจั่วเล็กลดชั้นลงมาแทนการทำปีกนก เพราะกำหนดพื้นที่ด้านนี้ให้เป็นพื้นที่ของ ‘มิหร็อบ’ ตามทิศทางที่หันสู่วิหารกะอ์บะฮ์ กรุงมักกะฮ์ (นครศักดิ์สิทธิ์เมกกะ)

มัสยิดบ้านควรลังกา เป็นอาคารที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์และทางสถาปัตยกรรม ด้วยเป็นงานสถาปัตยกรรมอิสลามที่สร้างด้วยไม้ซึ่งหาได้ยาก ตลอดจนมีความสำคัญในการเป็นศูนย์รวมจิตใจของประชาชนในท้องถิ่น 

ผู้ครอบครองดูแลรักษาอาคารมาอย่างสม่ำเสมอ อาคารหลังนี้จึงคงความแท้ทั้งในด้านรูปแบบทางสถาปัตยกรรมและวัสดุ

11 อาคารโบราณ คว้ารางวัลอนุรักษ์ศิลปสถาปัตยกรรม ประจำปี 2566 บริเวณภายในมัสยิดบ้านควนลังงา

11 อาคารโบราณ คว้ารางวัลอนุรักษ์ศิลปสถาปัตยกรรม ประจำปี 2566 มัสยิดบ้านควนลังงา จังหวัดปัตตานี 

กระบวนการอนุรักษ์ดำเนินงานโดยหน่วยงานที่รับผิดชอบอย่างครบถ้วน เลือกเทคนิควิธีการอนุรักษ์ที่สามารถรักษาองค์ประกอบสำคัญและวัสดุแบบดั้งเดิมของอาคาร

ตลอดจนสืบทอดการประกอบศาสนกิจแบบดั้งเดิมมาจนถึงในปัจจุบัน แสดงให้เห็นถึงความตั้งใจของคนในชุมชนในการรักษาศาสนสถานอันทรงคุณค่าให้คงอยู่

 

ประเภท ก. งานอนุรักษ์มรดกทางสถาปัตยกรรมและชุมชน
ระดับสมควรได้รับการเผยแพร่ จำนวน 3 แห่ง ได้แก่

1. พิพิธภัณฑ์บ้านป่องนัก จังหวัดลำปาง
ปีที่สร้าง : พ.ศ.2468

11 อาคารโบราณ คว้ารางวัลอนุรักษ์ศิลปสถาปัตยกรรม ประจำปี 2566 พิพิธภัณฑ์บ้านป่องนัก 

เดิมเป็นอาคารที่สร้างขึ้นเพื่อเป็นพลับพลาที่ประทับแรมของ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และ สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี คราวเสด็จประพาสมณฑลพิษณุโลกและมณฑลพายัพ พ.ศ.2469

ดำเนินการก่อสร้างโดย พันโท พระมหาณรงค์เรืองเดช (แปลก จุลกัณห์) ผู้บังคับกองพันที่ 1 กรมทหารราบที่ 17 

คำว่า ‘ป่อง’ เป็นภาษาคำเมือง แปลวา ‘ช่อง’ คำว่า ‘นัก’ หมายถึง ‘จำนวนมาก’ บ้านป่องนักจึงหมายถึงบ้านที่มีช่องหน้าต่างจำนวนมาก ปัจจุบันอยู่ในความดูแลของมณฑลทหารบกที่ 32

11 อาคารโบราณ คว้ารางวัลอนุรักษ์ศิลปสถาปัตยกรรม ประจำปี 2566 ภายในพิพิธภัณฑ์บ้านป่องนัก 

อาคารหลังนี้มีความสำคัญทั้งทางประวัติศาสตร์และทางสถาปัตยกรรม ที่ยังรักษาความแท้ของรูปทรงภายนอกและองค์ประกอบอาคารได้ค่อนข้างครบถ้วน 

ผู้ครอบครองดูแลรักษาอาคารเป็นอย่างดี โดยมีการซ่อมแซมโครงสร้างและองค์ประกอบต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง มีการจัดแสดงเป็นพิพิธภัณฑ์และสื่อความหมายให้เห็นถึงประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวข้องได้ค่อนข้างดี 

อย่างไรก็ตาม ควรมีการวางแผนงานอนุรักษ์ตามกระบวนการ อันประกอบด้วยการเก็บข้อมูลทางสถาปัตยกรรม และการวิเคราะห์รูปแบบ วัสดุ และสีดั้งเดิมของอาคาร ที่จะนำไปสู่การกำหนดแนวทางการบูรณะและการจัดการอาคารอย่างเต็มรูปแบบต่อไป

 

2. อาคารสำนักงานคณะกรรมการสงฆ์จังหวัดสุโขทัย วัดสว่างอารมณ์วรวิหาร จังหวัดสุโขทัย
ปีที่สร้าง : พ.ศ.2479

11 อาคารโบราณ คว้ารางวัลอนุรักษ์ศิลปสถาปัตยกรรม ประจำปี 2566 อาคารสำนักงานคณะกรรมการสงฆ์จังหวัดสุโขทัย 

เป็นอาคารเรือนไม้ 3 ชั้น ชั้นล่างเป็นใต้ถุนสูง 2.60 เมตร เป็นเสาคอนกรีตประดับบัวหัวเสาปูนปั้น ทางขึ้นเป็นบันไดไม้ยื่นออกจากกึ่งกลางอาคารด้านหน้า เป็นส่วนที่สร้างขึ้นใหม่ทดแทนบันไดก่ออิฐฉาบปูนเดิมที่เป็นส่วนต่อเติมในยุคหลัง ตามข้อสันนิษฐานว่าน่าจะเป็นบันไดไม้มาก่อน และยังได้สร้างหลังคาคลุมไว้เพื่อความคงทนของบันไดไม้นี้

ชั้น 2 มีลักษณะเป็นโถงโล่ง ไม่มีผนัง มีราวกันตกทำด้วยไม้โดยรอบ มีหลังคาปีกนกคลุมรอบทุกด้าน เชื่อมต่อชั้น 3 ด้วยบันไดไม้

ชั้น 3 กั้นด้วยผนังไม้ ประตูหน้าต่างและฝ้าเพดานทั้งหมดเป็นไม้ พลังคาทรงปั้นหยา มุงกระเบื้องว่าวซีเมนต์ มุขด้านหน้าเป็นหลังคาทรงจั่ว ประดับไม้ฉลุสวยงาม

11 อาคารโบราณ คว้ารางวัลอนุรักษ์ศิลปสถาปัตยกรรม ประจำปี 2566 อาคารสำนักงานคณะกรรมการสงฆ์จังหวัดสุโขทัย

การอนุรักษ์อาคารหลังนี้ครั้งใหญ่ระหว่างปีพ.ศ.2563-2565 แสดงให้เห็นถึงความตั้งใจที่จะรื้อฟื้นสภาพเดิมของอาคารให้กลับคืนมา มีการแก้ไขปัญหาโครงสร้างและความเสื่อมสภาพของอาคารตามเหตุปัจจัยที่ก่อให้ปัญหา ตลอดจนมีการนำเสนอคุณค่าทางประวัติศาสตร์ในการเป็นอาคารเรียนพุทธศาสนาหลังแรกของวัด 

อาคารหลังนี้เป็นสัญลักษณ์ที่แสดงให้เห็นคุณค่าทางด้านจิตใจของอาคารที่มีต่อชาวสวรรคโลก การอนุรักษ์อาคารเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับวัดแห่งอื่น ให้เห็นคุณค่าของมรดกทางสถาปัตยกรรมที่มีลักษณะคล้ายคลึงกัน 

อย่างไรก็ตาม ในการปรับประโยชน์ใช้สอยเพื่อรองรับกิจกรรมใหม่ รวมถึงการปรับเปลี่ยนรูปทรงและองค์ประกอบ เช่น เมื่อมีการยกอาคารให้สูงขึ้นกว่าระดับเดิม ควรคำนึงถึงการรักษาสัดส่วนและรูปแบบทางสถาปัตยกรรมแบบดั้งเดิมด้วย

 

3. ยงคัง ท่าวัง จังหวัดนครศรีธรรมราช
ปีที่สร้าง : พ.ศ.2464

11 อาคารโบราณ คว้ารางวัลอนุรักษ์ศิลปสถาปัตยกรรม ประจำปี 2566 ยงคัง ท่าวัง จังหวัดนครศรีธรรมราช 

การอนุรักษ์อาคารแสดงให้เห็นถึงความตั้งใจในการรักษาอาคารให้ยังคงอยู่ในสภาพเดิมในภาพรวมได้ดี อาคารเป็นส่วนหนึ่งในการบอกเล่าประวัติศาสตร์ของเมืองนครศรีธรรมราช 

ในกระบวนการอนุรักษ์ มีการเลือกวิธีการอนุรักษ์ที่สามารถรักษาองค์ประกอบสำคัญและวัสดุดั้งเดิมไว้ได้ แม้ว่าพื้นที่ภายในจะปรับการใช้งานต่างไปจากกิจกรรมเดิม 

อย่างไรก็ตาม ควรพิจารณาเรื่องการสื่อความหมาย ไม่ให้เกิดความเข้าใจผิดเกี่ยวกับประวัติความเป็นมาของอาคาร นอกจากนี้ส่วนต่อเติมควรคำนึงถึงความต่อเนื่องกับอาคารเดิม

11 อาคารโบราณ คว้ารางวัลอนุรักษ์ศิลปสถาปัตยกรรม ประจำปี 2566 ยงคัง ท่าวัง 

11 อาคารโบราณ คว้ารางวัลอนุรักษ์ศิลปสถาปัตยกรรม ประจำปี 2566 ยงคัง ท่าวัง

ยงคัง ท่าวัง เดิมเป็นบ้านพักอาศัยของนายพ่วง กิจวิบูลย์ และครอบครัว ทำกิจการรับส่งของจากท่าเรือแล้วลำเลียงเข้าเมืองด้วยวัวและควายเทียมเกวียน ต่อมาเมื่อไม่มีการใช้งาน อาคารจึงอยู่ในสภาพทรุดโทรม

หลังจากนั้นในปีพ.ศ.2561 คุณศรีโรจน์ อนุตรเศรษฐได้ครอบครองกรรมสิทธิ์บ้านและที่ดินแห่งนี้ จึงซ่อมแซมตัวอาคารแล้วเสร็จในปี 2563 และเปิดเป็นร้านขายอาหารและเครื่องดื่มในชื่อ ‘ยงคัง คาเฟ่’

เป็นอาคารก่ออิฐถือปูน 2 ชั้น รูปแบบสถาปัตยกรรมแบบจีนผสมตะวันตก โครงสร้างพื้นชั้นล่างเป็นพื้นก่ออิฐรับน้ำหนัก พื้นชั้นบนเป็นไม้ หลังคาไม้ทรงจั่ว ตกแต่งลวดลายปูนปั้น เดิมมุงด้วยกระเบื้องว่าวซีเมนต์ ปัจจุบันเปลี่ยนเป็นกระเบื้องลอนคู่

 

ประเภท ข. งานออกแบบใหม่ในบริบทการอนุรักษ์
จำนวน 1 แห่ง ได้แก่

1. คาเฟ่ อเมซอน สาขาย่านเมืองเก่าสงขลา จังหวัดสงขลา
ปีที่สร้าง : ใม่ปรากฏ

11 อาคารโบราณ คว้ารางวัลอนุรักษ์ศิลปสถาปัตยกรรม ประจำปี 2566 คาเฟ่ อเมซอน สาขาย่านเมืองเก่าสงขลา จังหวัดสงขลา 

ตั้งอยู่ในย่านชุมชนเก้าห้อง เดิมเป็นตึกแถวให้เช่าของ รองอำมาตย์ตรีขุนโภคาพิพัฒน์ (ฮวดเหลี่ยง โคนันทน์) ต้นตระกูลโคนันทน์ หลังจากนั้นอาคารอยู่ในสภาพทรุดโทรม

ต่อมาคุณบัญชา พานิชพงศ์ และคุณจุไรรัตน์ ตันตสุทธิกุล ผู้บริหารคาเฟ่ อเมซอน ในจังหวัดสงขลา ต้องการผลักดันให้ย่านเมืองเก่าสงขลาได้มีร้านขายเครื่องดื่มในรูปแบบอาคารอนุรักษ์ จนนำมาสู่การปรับปรุงฟื้นฟูอาคารในปี 2561 กระทั้งแล้วเสร็จในปี 2563

การอนุรักษ์อาคารเก่าและออกแบบอาคารใหม่ในโครงการแสดงให้เห็นถึงความตั้งใจของผู้ออกแบบที่จะพัฒนาย่านเมืองเก่า ด้วยการปรับสภาพอาคารที่เสื่อมโทรมให้กลับมามีชีวิตชีวา

11 อาคารโบราณ คว้ารางวัลอนุรักษ์ศิลปสถาปัตยกรรม ประจำปี 2566 คาเฟ่ อเมซอน สาขาย่านเมืองเก่าสงขลา

กระบวนการอนุรักษ์ประกอบด้วยการวิเคราะห์รูปแบบและวัสดุของอาคารเพื่อใช้เป็นข้อมูลในการออกแบบ มีการเลือกใช้วัสดุเดิมที่แสดงถึงเอกลักษณ์ของพื้นที่ ผสมผสานกับวัสดุใหม่ที่ได้รับการผลิตตามรูปแบบเดิม

นับเป็นการฟื้นฟูภูมิปัญญาท้องถิ่น ตลอดจนเป็นเสมือนแหล่งรวมวัสดุที่เป็นตัวอย่างให้กับการอนุรักษ์อาคารในเมืองเก่าสงขลา

อาคารที่ได้รับการสร้างขึ้นใหม่ช่วยแก้ปัญหาในเรื่องมุมมอง รวมถึงเกิดพื้นที่ในการรองรับกิจกรรมสร้างสรรค์

การออกแบบให้กลมกลืนแต่ไม่ลอกเลียนแบบอาคารเก่าช่วยสร้างบรรยากาศที่ส่งเสริมคุณค่าของอาคารและพื้นที่เมืองเก่าสงขลา มีการสื่อความหมายผ่านการนำเสนอร่องรอยเดิม ร่วมกับการตกแต่งด้วยงานศิลปกรรมที่สอดคล้องกับองค์ประกอบเดิม

อย่างไรก็ตาม ควรพิจารณาถึงความเหมาะสมในการอนุรักษ์และออกแบบ ที่จะไม่ก่อให้เกิดความเข้าใจผิดว่าองค์ประกอบใหม่เป็นของแท้

 

ประเภท ค. บุคคลหรือองค์กร อนุรักษ์ศิลปสถาปัตยกรรม
จำนวน 1 แห่ง ได้แก่

1. ศูนย์อนุรักษ์เฮือนโบราณ โดย นายรุ่งโรจน์ เปี่ยมยศศักดิ์ จังหวัดเชียงใหม่

11 อาคารโบราณ คว้ารางวัลอนุรักษ์ศิลปสถาปัตยกรรม ประจำปี 2566 นายรุ่งโรจน์ เปี่ยมยศศักดิ์ และศูนย์อนุรักษ์เฮือนโบราณ

11 อาคารโบราณ คว้ารางวัลอนุรักษ์ศิลปสถาปัตยกรรม ประจำปี 2566 เฮือนโบราณ หรือ เรือนโบราณ

นายรุ่งโรจน์ เปี่ยมยศศักดิ์ ชาวชุมชนสันป่าตอง ได้ก่อตั้ง ศูนย์อนุรักษ์เฮือนโบราณ ให้เป็นองค์กรที่ทำหน้าที่เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการอนุรักษ์สถาปัตยกรรมพื้นถิ่น ประเภทเรือนโบราณในอำเภอสันป่าตอง จังหวัดเชียงใหม่ และพื้นที่ใกล้เคียง 

นายรุ่งโรจน์ทุ่มเทสรรพกำลังในการลงพื้นที่สำรวจ และทำความเข้าใจกับคนในชุมชนด้วยการใช้งานศิลปะเป็นเครื่องมือสำคัญ รวมไปถึงสืบสานภูมิปัญญาของสล่าล้านนา (ช่างไม้) ผลักดันนโยบายและกฎหมายท้องถิ่น สร้างภาคีเครือข่าย

รวมถึงทำให้เกิดการสนับสนุนในด้านงบประมาณและบุคลากรทั้งจากภาครัฐและเอกชน เพื่อให้เรือนโบราณในพื้นที่ยังคงอยู่ และส่งต่อความภาคภูมิใจนั้นไปสู่คนรุ่นต่อไป

 

credit photo : สมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์