บ้านเชียง 13 ชิ้นคืนไทย ไทม์ไลน์ค้นพบภาชนะดินเผาอายุพันปีสู่ประกาศมรดกโลก
‘บ้านเชียง’ เปิดไทม์ไลน์การค้นพบภาชนะดินเผาครั้งแรก สู่การยกความสำคัญเป็นแหล่งเรียนรู้ทางโบราณคดีบ้านเชียง ยูเนสโกเห็นคุณค่าประกาศเป็น 'มรดกโลก' ล่าสุดคนไทยในสหรัฐส่งสมบัติบ้านเชียง 13 ชิ้นกลับสู่แผ่นดินแม่
บ้านเชียง เป็นชุมชนตั้งอยู่ที่ตำบลบ้างเชียง อำเภอหนองหาน จังหวัดอุดรธานี ปัจจุบันมีความสำคัญและคุณค่าในฐานะเป็น แหล่งโบราณคดีบ้านเชียง หรือแหล่งเรียนรู้โบราณคดีบ้านเชียง
โบราณวัตถุและหลักฐานทางโบราณคดีประเภทต่าง ๆ ที่พบใน แหล่งโบราณคดีบ้านเชียง ชุมชนบ้านเชียง เป็นประจักษ์พยานยืนยันถึงสังคมและวัฒนธรรมสมัยก่อนประวัติศาสตร์ ที่มีพัฒนาการทั้งด้านเศรษฐกิจ วิทยาการและศิลปะอย่างแท้จริง และพัฒนาการเหล่านั้นได้เจริญรุ่งเรืองสืบต่อกันมานับพัน ๆ ปี
ภาชนะดินเผาเขียนลาย (credit : กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม)
ไทม์ไลน์การเป็นแหล่งโบราณคดีบ้านเชียง
- พ.ศ.2500 พบวัตถุปริศนา
ขณะที่ ‘เด็กชายหีด’ กำลังช่วยพ่อขุดดินในทุ่งเพื่อทำการเกษตร ได้ขุดพบวัตถุปริศนา เห็นแต่เพียงผิวภายนอกคิดว่าเป็น ‘ไข่ใบใหญ่’
แต่พ่อพบว่าเป็นไหที่มีซากเด็กตายอยู่ภายใน จึงนำความไปบอกกำนัน ชาวบ้านคนอื่นๆ เริ่มบอกว่าขุดเจอเศษภาชนะลักษณะนี้เหมือนกัน
กำนันจึงเชิญ อ.พรมมี ศรีสุนาครัว ครูใหญ่โรงเรียนบ้านเชียง มาช่วยดู และให้รวบรวมภาชนะมากมายที่ชาวบ้านขุดพบ นำไปเก็บรักษาไว้ที่โรงเรียน เพื่อให้เด็กๆ ได้เรียนรู้
- พ.ศ.2503 กรมศิลปากร หาหลักฐาน
ขณะที่นายเจริญ พลเดชา เจ้าหน้าทีกรมศิลปากร ขุดพบหลักฐานภาชนะที่สกลนคร แต่มีน้อยมาก นักโบราณคดีในทีมแจ้งว่าโรงเรียนบ้านเชียงที่จังหวัดอุดรธานีได้รวบรวมภาชนะโบราณที่ขุดเจอไว้มากมาย จึงพากันไปสังเกตภาชนะโบราณเหล่านั้น
สตีเฟ่น บี.ยัง นำคณะเข้าเยี่ยมชมพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ บ้านเชียง, 27 ส.ค.2565
- พ.ศ.2509 สตีเฟน บี. ยัง
นักศึกษาวิชาสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด บุตรชายเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย นายสตีเฟน บี. ยัง (Stephen B. Young) เดินทางไปขอศึกษามนุษยวิทยาในชุมชนบ้านเชียง และได้พบเศษกระเบื้องเขียนสี จึงขอให้ศาสตราจารย์พิเศษ ชิน อยู่ดี ภัณฑารักษ์ กรมศิลปากร ช่วยตรวจสอบ
ศ.พิเศษชิน ระบุว่า จากการวิเคราะห์หลักฐาน ภาชนะดินเผาเหล่านี้เป็นของเก่าแก่มีอายุเกินกว่าพันปี
- พ.ศ.2510 เริ่มขุดค้น
นายวิทยา อินทกัย และนายพจน์ เกื้อกูล สองนักโบราณคดีผู้ควบคุมการขุดค้น นำทีมขุดค้นอย่างระมัดระวัง พบโครงกระดูก สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นของผู้ปั้นภาชนะ และการใช้ไหวางบนร่างกายก่อนฝังน่าจะเป็นความเชื่อเรื่องการอุทิศของไปให้ผู้ตาย หากเป็นศพเด็กเล็กก็จะใส่ร่างไว้ในไหแล้วฝังดิน
‘ในหลวงรัชกาลที่ 9’ และ ‘สมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง’ ทอดพระเนตรแหล่งโบราณคดีบ้านเชียง
- วันที่ 20 มีนาคม 2515 วันที่เฝ้ารอ
การขุดค้นได้พบหลักฐานทั่วชุมชน หลังการขุดค้นที่บ้านนายพจน์ มนตรีพิทักษ์ และ ‘วัดโพธิ์ศรีใน’ กำนันก็นัดชาวบ้านมาร่วมกันที่ ‘วัดโพธิ์ศรีใน’ เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2515 เพื่อรับเสด็จ ‘ในหลวงรัชกาลที่ 9’ และ ‘สมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง’ เสด็จพระราชดำเนินบ้านเชียง เพื่อทอดพระเนตรแหล่งโบราณคดีบ้านเชียง
‘ในหลวงรัชกาลที่ 9’ ทรงมีกระแสพระราชดำรัสให้ชาวบ้านช่วยกันดูแลบ้านเชียง และร่วมมือทำวิจัยกับนานาชาติเพื่อให้การขุดค้นถูกต้องและมีความน่าเชื่อถือ
โบราณวัตถุ วัฒนธรรมบ้านเชียง สมัยต้น
- พ.ศ.2517 ความร่วมมือ
กรมศิลปากรและมหาวิทยาลัยเพนซิลวาเนีย ร่วมมือกันขุดค้นอย่างละเอียดโดยผู้เชี่ยวชาญจากหลายสาขาร่วมทำการศึกษาครั้งใหญ่ โดยมีนายพิสิฐ เจริญวงศ์ เป็นผู้อำนวยการร่วมฝ่ายไทย และ ดร.เชสเตอร์ กอร์แมน เป็นผู้อำนวยการร่วมฝ่ายสหรัฐอเมริกา
ดร.จอยซ์ ซี ไวท์ นักโบราณคดีผู้สรุปผลการวิจัย ได้ลำดับพัฒนาการของ วัฒนธรรมบ้านเชียง อันเก่าแก่นี้ออกเป็น 3 สมัย จากระดับชั้นดินที่พบและรายละเอียดที่อยู่บนภาชนะ และการฝังศพ
- สมัยต้น 5,600-3,000 ปีมาแล้ว ภาชนะตกแต่งเรียบง่ายด้วยลายเชือกทาบ และเส้นขีดคดโค้ง ฝังศพท่านอนหงาย วางภาชนะไว้ที่ขาหรือศีรษะ
- สมัยกลาง 3,000-2,300 ปีมาแล้ว ภาชนะเริ่มมีการใช้สีแดงผสมกับลายขีด มีไหล่เป็นเส้นหักมุม มีการใช้เหล็กทำเป็นเครื่องมือเครื่องใช้ ฝังศพในท่านอนหงายเหยียดยาว ทุบภาชนะให้แตกวางปกคลุม
- สมัยปลาย 2,300-1,800 ปีมาแล้ว ภาชนะมีทั้งแบบฉาบน้ำโคลนสีแดงแล้วขัดมัน การเขียนลวดลายสีแดงบนพื้นสีแดงหรือสีนวลที่เห็นได้ชัดเจน ฝังศพในท่านอนหงายเหยียดยาวแล้ววางภาชนะบนร่างกาย
วัฒนธรรมบ้านเชียง เป็นกลุ่มคนที่มีวัฒนธรรมร่วมกัน ใช้การทำการเกษตรกรรม ปลูกข้าว เลี้ยงสัตว์ ล่าสัตว์ เพื่อยังชีพ กระทั่งหลักฐานที่พบสิ้นสุดลงเมื่อประมาณ 1,800 ปีมาแล้ว คาดว่าอาจอพยพไปยังพื้นที่อื่นๆ
ต่อมาเมื่อประมาณ 200 ปีที่ผ่านมา ชาวไทพวน เข้ามาอยู่อาศัยบนเนินดินแห่งนี้ และก่อตั้งเป็นชุมชนบ้านเชียงถึงปัจจุบัน จึงเรียกสิ่งที่ค้นพบทั้งหมดนี้ว่า วัฒนธรรมบ้านเชียงยุคก่อนประวัติศาสตร์ เพราะเป็นพื้นที่ของชุมชนบ้านเชียงในปัจจุบัน
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ บ้านเชียง
- พ.ศ.2518 พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ บ้านเชียง
เกิด พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ บ้านเชียง เพื่อให้ทุกคนเข้ามารู้จักกับวัฒนธรรมโบราณที่เกิดขึ้นบนแผ่นดินไทยที่หาดูได้ยาก
เปิดบริการทุกวันพุธถึงวันอาทิตย์ ตั้งแต่เวลา 09.00-16.00 น. ปิดบริการทุกวันจันทร์และวันอังคาร
- พ.ศ.2535 มรดกโลก
องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูเนสโก เห็นคุณค่าและความสำคัญของแหล่งโบราณคดีบ้านเชียง จึงได้ประกาศให้ 'แหล่งโบราณคดีบ้านเชียง' เป็น มรดกโลกทางวัฒนธรรม ลำดับที่ 359
พิธีมอบโบราณวัตถุบ้านเชียง จำนวน 13 รายการ (25 เม.ย.2566)
โบราณวัตถุบ้านเชียง ทยอยคืนสู่แผ่นดินไทย
วันอังคารที่ 25 เมษายน 2566 เวลา 15.00 น. ณ ห้องรับรอง 2 กระทรวงการต่างประเทศ นายณัฐพล ขันธหิรัญ รองปลัดกระทรวงการต่างประเทศ และคณะ ประกอบด้วยนางกาญจนา ภัทรโชค อธิบดีกรมสารนิเทศ และนายณัฐพล ณ สงขลา ผู้อำนวยการกองทูตวัฒนธรรม เป็นผู้แทนกระทรวงการต่างประเทศ
ทำ พิธีมอบโบราณวัตถุบ้านเชียง จำนวน 13 รายการ ที่ชาวไทยในสหรัฐอเมริกาประสงค์ส่งมอบคืนให้กับประเทศไทยผ่านกระทรวงการต่างประเทศ ให้แก่ กรมศิลปากร เพื่อเก็บรักษาไว้เป็นสมบัติของชาติ
โดยมีนายพนมบุตร จันทรโชติ อธิบดีกรมศิลปากร พร้อมด้วยนางสาวนิตยา กนกมงคล ผู้อำนวยการสำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เป็นผู้แทนกรมศิลปากรรับมอบ
โบราณวัตถุบ้านเชียง คืนสู่แผ่นดินไทย
การส่งคืนโบราณวัตถุในครั้งนี้เกิดจาก นายมะลิ นงเยาว์ ชาวไทยในสหรัฐอเมริกา ประสานมายังสถานกงสุลใหญ่ ณ นครลอสแอนเจลิส ว่ามีความประสงค์มอบโบราณวัตถุ กลับคืนสู่ประเทศไทยเพื่อเป็นสมบัติของชาติ ประกอบไปด้วย
- ภาชนะดินเผา จำนวน 5 รายการ
- กำไลสำริด จำนวน 8 รายการ
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2566 กงสุลใหญ่ ณ นครลอสแอนเจลิส เป็นผู้แทนรับมอบโบราณวัตถุดังกล่าว ณ วัดภูริทัตตวนาราม เมืองออนทาริโอ รัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา และได้จัดส่งโบราณวัตถุดังกล่าวผ่านถุงเมล์การทูตพิเศษมายังประเทศไทย เมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2566
โบราณวัตถุบ้านเชียง 13 รายการ ส่งคืนล่าสุด
ตลอดระยะเวลาการทำงานของคณะกรรมการติดตามโบราณวัตถุของไทยในต่างประเทศกลับคืนสู่ประเทศไทย ตั้งแต่พ.ศ.2560 เป็นต้นมา นอกจากสามารถติดตามโบราณวัตถุชิ้นสำคัญกลับคืนสู่ประเทศไทย เมื่อปี 2564 จำนวน 2 รายการ ได้แก่
- ทับหลังจากปราสาทหนองหงส์ จังหวัดบุรีรัมย์
- ทับหลังจากปราสาทเขาโล้น จังหวัดสระแก้วแล้ว
ยังสร้างความตระหนักรู้ของสาธารณชน ส่งผลให้มีผู้ประสงค์มอบโบราณวัตถุที่อยู่ในครอบครองทั้งในต่างประเทศ และภายในประเทศไทย เพื่อเป็นสมบัติของชาติอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน (พ.ศ.2560 - 2566) รวมจำนวน 10 ราย มีวัตถุที่ส่งมอบแล้ว จำนวน 631 รายการ
อ้างอิง : กรมศิลปากร, พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ บ้านเชียง