7 เรื่องน่ารู้จากนิทรรศการพระพุทธรูปสำคัญในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ

7 เรื่องน่ารู้จากนิทรรศการพระพุทธรูปสำคัญในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ

รวมเรื่องน่ารู้จากนิทรรศการพิเศษ พระพุทธรูปสำคัญในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ที่จะช่วยให้คุณเข้าชมนิทรรศการได้อย่างมีอรรถรส ระหว่างวันที่ 9 มิถุนายน - 10 กันยายน 2566 ณ พระที่นั่งศิวโมกขพิมาน พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร

1. มหาบุรุษลักษณะ

7 เรื่องน่ารู้จากนิทรรศการพระพุทธรูปสำคัญในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ

พระพุทธรูปปางลีลา ศิลปะสุโขทัย พุทธศตวรรษที่ 19-20 จากพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สวรรควรนายก จ.สุโขทัย

พระพุทธรูปสร้างขึ้นภายใต้แนวคิดว่าพระพุทธเจ้าทรงเป็นมนุษย์ มิใช่เทพเจ้า โดยถ่ายทอดมาจากคติมหาบุรุษลักษณะของบุคคลที่เพียบพร้อมในการตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า อาทิเช่น พระรัศมีเบื้องบนพระอุตมังคสิโรตม์ (เกตุมาลา) พระอุษณีษะ (พระเศียรเบื้องบนโป่ง) ขมวดพระเกศาเวียนทักษิณาวรรต มีอุณาโลม (ขนระหว่างพระขนง) พระกรรณยาว พระศอกลม พระกายท่อนบนผึ่งผาย พระกรงามดุจงาช้าง พระเพลากลมงาม พระชงฆ์รี สั้นพระบาทยาว พระบาทราบเสมอกัน

 

2. “ปาง” บอกเล่าเหตุการณ์

7 เรื่องน่ารู้จากนิทรรศการพระพุทธรูปสำคัญในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระพุทธรูปปางสมาธิ ศิลปะทวารวดี พุทธศตวรรษที่ 14-16 จากพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเจ้าสามพระยา จ.พระนครศรีอยุธยา

เดิมคำว่า “ปาง” หมายถึง ครั้งคราว หรือ เหตุการณ์ในช่วงเวลาหนึ่ง แตกต่างจากอิริยาบถ อาสนะ และมุทรา  ปัจจุบัน “ปาง” ใช้ในการสื่อความหมายถึงเหตุการณ์ตอนใดตอนหนึ่งของพุทธประวัติ รวมถึงพระพุทธรูปที่แสดงอิริยาบถต่างๆ ได้แก่ นั่ง นอน ยืน เดิน

พระพุทธรูปสมัยแรก  นิยมสร้างพระปางสำคัญรวม 8 ปาง ได้แก่ ปางประสูติ ปางตรัสรู้ ปางปฐมเทศนา ปางปรินิพพาน ปางแสดงยมกปาฏิหาริย์ ปางเสด็จลงจากดาวดึงส์  ปางทรมานช้างนาฬาคีรี และปางรับบาตรจากพญาวานร

 

3. ปางแสดงธรรมทั้งสองพระหัตถ์

7 เรื่องน่ารู้จากนิทรรศการพระพุทธรูปสำคัญในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระพุทธรูปยืนปางแสดงธรรม สำริด ขนาด32 ซม. ศิลปะทวารวดี จากพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติอู่ทอง จ.สุพรรณบุรี

พระพุทธรูปปางแสดงธรรมที่พบในอินเดียและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นิยมแสดงปางด้วยพระหัตถ์ซ้ายหรือขวาเพียงข้างเดียว การแสดงปางด้วยสองพระหัตถ์ในลักษณะสมมาตร นับเป็นรูปแบบเฉพาะที่พบในวัฒนธรรมทวารวดี หรือในประเทศไทย เมื่อราว 1,200-1,300 ปีมาแล้ว โดยมีลักษณะที่สืบต่อมาจากการเลียนแบบศิลปะอินเดียในระยะแรก และวิวัฒนาการดัดแปลงจนมีรูปแบบท้องถิ่น

 

4. ปางลองหนาว

7 เรื่องน่ารู้จากนิทรรศการพระพุทธรูปสำคัญในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระพุทธรูปปางลองหนาว สำริด ตักกว้าง 20 ซม. สูง 27.5 ซม.ศิลปะล้านนา พุทธศตวรรษที่ 22-23 จากพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติขอนแก่น

พระพุทธรูปทรงจีวรคลุมพระวรกาย ทดลองความหนาว  สะท้อนเหตุการณ์ขณะพระพุทธเจ้าทรงหาข้อสรุปว่าจะให้พระสงฆ์ครอบครองจีวรได้กี่ผืน เนื่องจากในช่วงเวลาหนึ่งมีการสะสมจีวรมากเกินควร พระองค์จึงทรงลองห่มผ้าจีวรในเวลากลางคืนที่มีอากาศหนาวเย็นเพื่อหาคำตอบว่ามีกี่ผืนถึงจะอุ่นพอดี จึงเป็นที่มาของพระไตรจีวร

พระปางลองหนาวนี้พบไม่มากนัก ในพ.ศ. 2453 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 โปรดให้สร้างพระพุทธรูปปางนี้เป็นพระพุทธรูปประจำพระชนมพรรษาของพระองค์ 

5. ปางฉันสมอ

7 เรื่องน่ารู้จากนิทรรศการพระพุทธรูปสำคัญในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระพุทธรูปปางฉันสมอ ศิลปะล้านนา พุทธศตวรรษที่ 24 จากพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สวรรควรนายก จ.สุโขทัย

พระพุทธรูปปางฉันสมอเป็นพระปางที่พบไม่มากนักในประเทศไทย พระหัตถ์ซ้ายวางหงายบนพระเพลากลางพระหัตถ์มีภาชนะบรรจุสมอ พระหัตถ์ขวาวางทอดลงบนพระชงฆ์หงายพระหัตถ์ถือผลสมอ 
แสดงพุทธประวัติในสัปดาห์ที่ 7 หลังตรัสรู้เป็นเวลา 49 วัน และยังมิได้เสวยพระกระยาหาร พระอินทร์จึงถวายผลสมอมาเป็นโอสถก่อนเสวยภัตตาหาร เนื่องจากผลสมอมีสรรพคุณทางยา เป็นยาระบาย บรรเทาอาการท้องผูก ท้องร่วง รักษาอาการเจ็บคอ ขับเสมหะ และช่วยให้ชุ่มคอ

 

6. คติมหายาน

7 เรื่องน่ารู้จากนิทรรศการพระพุทธรูปสำคัญในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระพุทธรูปปางมารวิชัย สำริด พบในไหเนื้อแกร่งสีเทาแบบเขมร ขณะขุดบ่อบ้าบัดน้ำเสียด้านหลังอาคารวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏเทพสตรี จ.ลพบุรี เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2540

พระพุทธเจ้าตามคติพระพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน นับถือว่าพระพุทธเจ้าในอดีตปัจจุบันและอนาคตมีอยู่เป็นจำนวนมากเปรียบได้กับเม็ดทรายในท้องสมุทร เป็นคติที่ได้รับความนับถืออย่างแพร่หลายในวัฒนธรรมเขมรในช่วงพุทธศตวรรษที่ 18

พระพุทธรูปปางมารวิชัยในซุ้มเรือนแก้วองค์นี้ สะท้อนความเชื่อดังกล่าวได้เด่นชัด ดังจะเห็นได้จากยอดซุ้มลายใบไม้ประดิษฐานพระพุทธรูปปางมารวิชัยขนาดเล็กจำนวนมาก
ด้วยความงดงามทางสุนทรียะในเชิงช่าง พระพุทธรูปองค์นี้ได้รับการคัดเลือกให้เป็นหนึ่งในโบราณวัตถุที่เป็นสมบัติชิ้นสำคัญของชาติในหนังสือที่กรมศิลปากรจัดพิมพ์ ปีพ.ศ. 2551

 

7 . หลวงพ่อเพชร

7 เรื่องน่ารู้จากนิทรรศการพระพุทธรูปสำคัญในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ “หลวงพ่อเพชร” พระพุทธรูปสำริดปางมารวิชัย ศิลปะสุโขทัย พุทธศตวรรษที่ 20 สัมฤทธิ์ ตักกว้าง 72 ซม. สูง 85 ซม.จากพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติชัยนาทมุนี จ.ชัยนาท

หนึ่งในพระพุทธรูปที่ได้รับการกล่าวขานในเรื่องสุนทรียะที่งดงามโดดเด่นและเป็นที่ศรัทธาของประชาชน ที่มาของชื่อ “หลวงพ่อเพชร” เนื่องมาจากประทับนั่งในท่าขัดสมาธิเพชรแสดงพระชงฆ์ไขว้กันเกือบเป็นรูปกากบาท

ลักษณะโดยรวมคล้ายศิลปะล้านนา แต่มีข้อสังเกตที่แสดงลักษณะเฉพาะของช่างสุโขทัย กล่าวคือ พระถันที่พระอุระด้านซ้ายทำให้เห็นชัดเจน และมีเส้นจีวรคาดใต้พระชานุสองเส้น เป็นรูปแบบที่ไม่มีในพุทธศิลป์ล้านนา จึงจัดเป็นพระพุทธรูปขัดสมาธิเพชรในศิลปะสุโขทัย ที่เกิดจากการผสมผสานระหว่างพระพุทธรูปสุโขทัยหมวดใหญ่และพระพุทธรูปล้านนา

ตามประวัติกล่าวว่าเดินเป็นพระปูนปั้น ครั้นเมื่อปูนกะเทาะออกจึงได้พบพระพุทธรูปสำริดอยู่ภายใน ประดิษฐานอยู่ที่วัดพระบรมธาตุวรวิหาร จ.ชัยนาท เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินไปยังวัดพระบรมธาตุวรวิหาร ทรงอัญเชิญมาประดิษฐานที่กรุงเทพฯ 

ภายหลังเมื่อเสด็จสวรรคต จึงได้อัญเชิญกลับมาประดิษฐานที่วัดดังเดิมก่อนมอบให้พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ชัยนาทมุนีเก็บรักษาไว้เป็นสมบัติของชาติต่อไป

หมายเหตุ : เรียบเรียงจากบทสัมภาษณ์ ยุทธนาวรากร แสงอร่าม ภัณฑารักษ์ชำนาญการ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร และ บทความกำเนิดพระพุทธรูป โดย เด่นดาว ศิลปานนท์ ภัณฑารักษ์เชี่ยวชาญ สำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ

 

7 เรื่องน่ารู้จากนิทรรศการพระพุทธรูปสำคัญในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ

ที่มา : นิทรรศการพิเศษ พระพุทธรูปสำคัญในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ

จัดขึ้นเนื่องในมหามงคลสมัยสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก ทรงเจริญพระชนมายุครบ 8 รอบ 96 พรรษา และครบรอบ 112 ปี กรมศิลปากร ในปี 2566 

กรมศิลปากรจึงจัดพิมพ์หนังสือพระพุทธรูปสำคัญในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ โดยคัดเลือกพระพุทธรูปจากพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติทั่วประเทศจำนวน  112 องค์ พร้อมกับอัญเชิญพระพุทธรูป  81 องค์ มาจัดแสดงในนิทรรศการพิเศษ พระพุทธรูปสำคัญในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ 

ระหว่างวันที่  9 มิถุนายน - 10 กันยายน 2566 ณ พระที่นั่งศิวโมกขพิมาน พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร เวลา 9.00-16.00 น. (ปิดวันจันทร์และวันอังคาร) โทร. 0 2224 1333