สมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง เบื้องหลังฉลองพระองค์ 'ปีกแมลงทับ' กับผ้าทอ

สมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง เบื้องหลังฉลองพระองค์ 'ปีกแมลงทับ' กับผ้าทอ

12 สิงหาคม 2566 เฉลิมพระชนมพรรษา 91 พรรษา เฉลิมพระเกียรติ 'สมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง' พระราชกรณียกิจอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ‘ปีกแมลงทับ’ คู่งานมรดกภูมิปัญญาผ้าทอไทย

แมลงทับ ถือเป็นของดีของชาวบ้านทางภาคอีสาน เมื่อครั้งที่ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จฯ เยี่ยมราษฎรในภาคอีสานนับแต่พ.ศ.2498 เป็นต้นมา ราษฎรได้นำ ‘ปีกแมลงทับ’  และ ‘แมลงทับ’ ที่ตายแล้วแต่ยังมีปีกสีเขียวเหลือบเป็นมันแวววาวสวยงาม มาทูลเกล้าฯ ถวายเป็นจำนวนมาก

 

สมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง เบื้องหลังฉลองพระองค์ \'ปีกแมลงทับ\' กับผ้าทอ ราษฎรจังหวัดสกลนคร ทูลเกล้าฯ ถวาย ปีกแมลงทับ ที่เก็บจากธรรมชาติ พ.ศ.2526
 

ในเวลานั้น สมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงรับไมตรีจิตของราษฏรไว้ โดยยังมิทรงทราบว่าจะนำแมลงทับและปีกแมลงทับมาทำอะไรได้บ้าง แต่ทรงรับไว้เรื่อยมา

ต่อมาในปีพ.ศ.2525 ขณะที่ทรงสำรวจโบราณวัตถุที่พระตำหนักต่างๆ ได้ทอดพระเนตร ผ้าทรงสะพักประดับปีกแมลงทับ ของ ‘สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า’ พระบรมราชเทวีในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) ซึ่งมีอายุกว่า 100 ปี ในพระที่นั่งวิมานเมฆ

แม้ผ้าไหมเปื่อยไปตามเวลา แต่ปีกแมลงทับยังอยู่ในสภาพดี แวววาว เป็นเงาเหลือบสวยงามอยู่บนเนื้อผ้า ทำให้ทรงรำลึกถึง ปีกแมลงทับ ที่ทรงรับมาจากราษฎรในภาคอีสาน 

จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้ง แผนกประดับปีกแมลงทับ ที่โรงฝึกศิลปาชีพ สวนจิตรลดา เพื่อหาวิธีใช้ประโยชน์จากแมลงทับซึ่งราษฎรมีน้ำใจทูลเกล้าฯ ถวายเป็นจำนวนมาก 

สมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง เบื้องหลังฉลองพระองค์ \'ปีกแมลงทับ\' กับผ้าทอ

ฉลองพระองค์แจ๊กเก็ตผ้าไหมประดับปีกแมลงทับ

สมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานแนวทางให้นำ ปีกแมลงทับ มาประดับบนฉลองพระองค์และผ้าทรงสะพัก แล้วทรงฉลองพระองค์ประดับปีกแมลงทับในโอกาสสำคัญต่างๆ หลายครั้ง

อาทิ ในการเสด็จพระราชดำเนินไปสหรัฐอเมริกาเป็นการส่วนพระองค์ พ.ศ.2528 สมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงฉลองพระองค์ชุดกลางวันผ้าไหม (แจ๊กเก็ต) ปักประดับด้วยปีกแมลงทับและลูกปัด ออกแบบโดย อีริก มอร์เทนเซน แห่งห้องเสื้อ บัลแมง (Pierre Balmain)

สมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง เบื้องหลังฉลองพระองค์ \'ปีกแมลงทับ\' กับผ้าทอ พิพิธภัณฑ์ผ้าฯ เก็บรักษาฉลองพระองค์แจ๊กเก็ตผ้าไหมประดับปีกแมลงทับ

ปัจจุบัน ฉลองพระองค์แจ๊กเก็ตปีกแมลงทับองค์นี้ได้รับการเก็บรักษาโดย ผ้าพิพิธภัณฑ์ผ้าในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ

นอกจากนี้ ยังมีพระราชดำริให้นำ ปีกแมลงทับ มาใช้งานอีกหลายประเภท นำไปสอดสานประดับงานย่านลิเภาบน พระกระเป๋าย่านลิเภา และทำเป็น เข็มกลัด เป็นอาทิ

สมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง เบื้องหลังฉลองพระองค์ \'ปีกแมลงทับ\' กับผ้าทอ

ราวพนักพระที่นั่งพุดตานถมทอง

สมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง เบื้องหลังฉลองพระองค์ \'ปีกแมลงทับ\' กับผ้าทอ กระจังปฏิญาณใหญ่

สมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง ยังทรงพระกรุณาให้ช่างฝีมือของ ‘สถาบันสิริกิติ์’ นำ ปีกแมลงทับ มาประดับบนผลงานศิลป์แผ่นดินชิ้นเอกหลายชิ้น อาทิ พระที่นั่งพุดตานถมทอง สร้างด้วยเงินถมตะทอง ท้องไม้สองชั้น ชั้นล่างตกแต่งด้วยครุฑยุดนาคเป็นระยะ ชั้นสองรายล้อมด้วยรูปเทพยดาประนมกร

ตรงบริเวณราวพนักของพระที่นั่งฯ เป็นงานมรดกภูมิปัญญาช่างฝีมือไทยแบบ 'ถมทอง' และซับด้วย ‘ปีกแมลงทับ’ ขณะที่กระจังปฏิญาณใหญ่ด้านข้างและด้านหลังลงถมทองสองหน้าฉลุโปร่ง ตรงกลางติด 'ปีกแมลงทับ' ประดับด้วยหงส์ถมทอง

พระที่นั่งพุดตานถมทอง องค์นี้ใช้เวลาจัดทำ 2 ปี ช่างฝีมือ 130 คน สร้างจำลองแบบพระที่นั่งพุดตานวังหน้า เนื่องในมหามงคลสมัยที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงครองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี พ.ศ.2549 และในโอกาสมหามงคลสมัยเฉลิมพระชนมพรรษา 80 พรรษา พ.ศ.2550

สมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง เบื้องหลังฉลองพระองค์ \'ปีกแมลงทับ\' กับผ้าทอ สุพรรณเภตรา

ขณะที่ผลงานศิลป์แผ่นดินชิ้นเอก สุพรรณเภตรา ลำเรือวิจิตรตระการตาด้วยงานถมทอง ใบสำเภาเป็นทองคำสลักฉลุโปร่ง ทิ้งสมอทองคำลงยารูปหนุมานและนางสุพรรณมัจฉา ช่องกาบด้านข้างและด้านหน้าลำเรือสลักทองคำลงยาลายหน้าขบ ช่องกาบฉลุทองคำซับ ปีกแมลงทับ กลางช่องติดดอกไม้ทองคำ

สถาบันสิริกิติ์ จัดทำ ‘สุพรรณเภตรา’ เนื่องในโอกาส สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงเจริญพระชนมพรรษา 6 รอบ 12 สิงหาคม 2547 ประกอบงานด้วยช่างฝีมือ 73 คน ระยะเวลาจัดทำ 1 ปี 5 เดือน

สมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง เบื้องหลังฉลองพระองค์ \'ปีกแมลงทับ\' กับผ้าทอ สมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงเข็มกลัดแมลงทับ 

เดิม ‘แมลงทับ’ เป็นแมลงชนิดหนึ่งที่ชาวอีสานนิยมบริโภคอยู่แล้ว เมื่อมีความนิยมนำปีกแมลงทับมาใช้มากขึ้น หากมีการจับแมลงทับที่ยังไม่ตายเพิ่มขึ้นก็จะยิ่งเร่งให้สูญพันธุ์เร็วขึ้นอีก

สมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงห่วงใยว่าแมลงทับอาจสูญพันธุ์ได้ จึงทรงมีพระราชเสาวนีย์ให้ราชเลขานุการในพระองค์แจ้งไปยังมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ให้วิจัยเรื่องแมลงทับและมีการศึกษาเพาะเลี้ยงขยายจำนวนแมลงทับตั้งแต่ปี 2525 โดยมี ดร.วาลุลี โรจนวงศ์ นักวิชาการด้านกีฎวิทยาและคณะจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เป็นผู้เริ่มดำเนินงานสนองพระราชดำริ

จากการวิจัยพบว่า ปีกแมลงทับ ที่จะคงทนและสวยงามจะต้องเป็น แมลงทับที่ตายโดยธรรมชาติเท่านั้น นับได้ว่าเป็นอีกแนวทางหนึ่งของการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติไปพร้อมกับงานอนุรักษ์ผ้าทอไทย

เนื่องในโอกาสมหามงคล วันเฉลิมพระชนมพรรษา  91 พรรษา สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง 12 สิงหาคม 2566 ขอพระองค์ทรงพระเจริญยิ่งยืนนาน

 

อ้างอิง - ภาพ