จากคู่รัก สู่เมืองทองรามา โรงหนังเก่าสิงห์บุรี แฝดคนละฝา สกาลา กรุงเทพฯ
ย้อนตำนานโรงหนังสุดคลาสสิกของ ’สิงห์บุรี’ ไปกับเฮียปอ กิตติพงษ์ ตั้งประกอบกิจ ผู้ให้กำเนิดโรงหนัง ‘คู่รักรามา’ ที่ภายหลังเปลี่ยน ‘เมืองทองรามา’ กับที่มาของสถาปัตยกรรมแบบสกาลาฉบับมินิ
หลังจากหลับใหลไปกับกาลเวลามานานกว่าสี่สิบปี เมืองทองรามาจะกลับมาสร้างสีสันอีกครั้งใน เทศกาลแสง สี สิงห์ ที่สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจังหวัดสิงห์บุรี ร่วมกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย จัดขึ้นระหว่าง 18-27 สิงหาคม ศกนี้
การจัดแสดงนีออน ไลท์ ที่เมืองทองรามา ในเทศกาลแสง สี สิงห์ 18-27 สิงหาคม ศกนี้
เมืองทองรามามีความเป็นมาอย่างไร และมีความเกี่ยวข้องกับสกาลาอย่างไร ผู้ที่ให้คำตอบได้ดีที่สุด คือ เฮียปอ กิตติพงษ์ ตั้งประกอบกิจ เจ้าของภัตตาคารเจริญทิพย์และผู้สร้างโรงหนัง “คู่รักรามา” ที่ต่อมารู้จักกันในนาม “เมืองทองรามา”
“เมื่อก่อนโรงหนังมีชื่อว่า 'คู่รัก' ผมนำเงินที่ได้กำไรจากการจัดจำหน่ายภาพยนตร์เรื่อง 'คู่รัก' มาสร้าง ตอนนั้นประมาณปี 2521”
เฮียปอเล่าว่า 'คู่รัก' เป็นภาพยนตร์รักโรแมนติก นำแสดงโดย ไพโรจน์ สังวริบุตร เนาวรัตน์ ยุกตะนันท์ อำนวยการสร้างโดย พรพจน์ กนิษฐเสน นักพากย์และผู้กำกับที่มีชื่อเสียงในยุคนั้น
เมืองทองรามา โรงภาพยนตร์เก่าแก่ของสิงห์บุรี
“คุณพรพจน์กำลังหัวเสียที่ทางสายหนังกดราคาหนังเรื่องนี้ เขาการันตีว่าเป็นหนังคุณภาพแต่ทำไมมากดราคา เขาบอกขายผมในราคา 900,000 บาท ผมบอกว่าสู้ได้อย่างเก่ง 650,000 น้องชายผม (เอี่ยม ตั้งประกอบกิจ ผู้บริหารปากน้ำโพฟิล์ม บริษัทจัดจำหน่ายภาพยนตร์สายเหนือ) บอกว่าน่าซื้อไว้ กระแสทางเชียงใหม่การันตีให้ 1 ล้านบาท
ผมบอกคุณพรพจน์ว่าถ้าเชียงใหม่การันตีให้ 1 ล้าน ผมจะให้คุณพรพจน์ 900,000 บาท แต่ถ้าไม่ได้ ผมให้ราคาได้แค่ 650,000 บาท ต่อมาสรุปราคาได้ที่ 700,000 บาท
หนังเรื่อง “คู่รัก” ทำเงินให้ผม 40 ล้าน มีกำไร 30 ล้าน ผมแบ่งไปซื้อหนัง 10 ล้าน อีก 10 ล้านนำมาสร้างโรงภาพยนตร์ชื่อ คู่รักรามา เพราะว่าเรารวยมาจากหนังเรื่องคู่รัก”
ภาพวันเปิดคู่รักรามา พร้อมด้วยสร้อยที่ระลึก
คู่รักรามา สร้างบนพื้นที่เช่าโดยนำแปลนของโรงภาพยนตร์สกาลา ซึ่งออกแบบโดย พันเอก จิระ ศิลป์กนก อดีตนายกสมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ มาใช้เป็นหลัก
“เราคุ้นเคยกับหนังในเครือพีรามิด (เอเพ็กซ์ในปัจจุบัน) คุณวิวัฒน์ คุณกัมพล ตันสัจจา บอกว่าเอาแบบของสกาลาไปเลย แล้วให้สถาปนิกออกแบบเพิ่มเติมนิดหน่อย โรงหนังคู่รักรามาจึงมีความคล้ายคลึงกับสกาลา ผมเป็นคนคุมการก่อสร้างทุกตารางนิ้ว” เฮียปอเล่าด้วยความภูมิใจ
บันไดโค้งและซุ้มประตูวงโค้ง สถาปัตยกรรมสวยงามถอดแบบมาจากโรงหนังสกาลา กรุงเทพฯ
โรงภาพยนตร์สกาลา ได้ชื่อตามโรงอุปรากร Teatro alla Scala แห่งเมืองมิลาน ประเทศอิตาลี โดยคำว่า Scala หมายถึง บันได มีลักษณะทางสถาปัตยกรรมในรูปแบบโมเดิร์นในยุคหลัง มีการประดับลวดลายแบบอาร์ตเดโค
โดยมีบันไดโค้งตั้งอยู่กลางอาคารเป็นจุดศูนย์กลางของอาคารที่หรูหราและสง่างามสมดังความหมายของ Scala
ซึ่งเราก็จะได้เห็นเอกลักษณ์ที่สวยงามเหล่านี้ในโรงภาพยนตร์คู่รักในฉบับมินิที่ยังมีให้เค้าลางให้ชมอยู่บ้างในปัจจุบัน
ป้ายสกาลาและบันไดที่ยังคงคลาสสิกจนถึงวันนี้
“คู่รักรามาเปิดได้ 2 ปีกว่า มีผู้มาขอซื้อกิจการไปดำเนินงานในนาม เมืองทองรามา เปิดได้ไม่นานก็ถูกสั่งปิดถาวรเนื่องจากไปฉายหนังโป๊ เมื่อปี 2526” เป็นอันปิดตำนานโรงภาพยนตร์จากคู่รักสู่เมืองทองรามาตั้งแต่นั้นมา
ในขณะที่ตำนานชีวิตของเฮียปอที่มีสีสันไม่แพ้หนังชีวิตก็ยังคงดำเนินต่อไป
ลวดลายประดับบันไดสไตล์อาร์ตเดโค
“ผมเป็นเถ้าแก่ร้านอาหารแทนพ่อมาตั้งแต่อายุ 16 ทำมาจนกระทั่งได้บวช พี่ชายพี่สาววางแผนให้ว่าไปช่วยจัดจำหน่ายภาพยนตร์ ส่วนพี่สาวไปทำร้านอาหาร
พี่ชายผมอยู่ที่บางระจัน เป็นเพื่อนกับจอมโจรมเหศวร (ศวร เภรีวงษ์ จอมโจรชื่อดังในแถบภาคกลางร่วมสมัยกับเสือดำ เสือหวัด เสือฝ้าย และเสือใบ) และเป็นเพื่อนกับนักเขียนบทภาพยนตร์ ชื่อ สายชล ศรีบุญนาค พี่เล่าเรื่องจอมโจรมเหศวรให้สายชลไปเขียนเป็นนิยาย แล้วนำเรื่องนี้ไปสร้างเป็นภาพยนตร์ มีดารานำแสดง ได้แก่ มิตร ชัยบัญชา เพชรา เชาวราษฎร์”
เนื่องจากพี่ชายอ่านหนังสือไม่ออกเวลาไปเดินสายหนัง ตรวจรายได้ในโรงภาพยนตร์ทางภาคเหนือ หรือ เดินทางไปกรุงเทพฯก็จะพาเฮียปอผู้รู้หนังสือไปด้วย
“ช่วงที่อยู่ในรถไฟ เราเห็นนั่งอ่านหนังสือสกุลไทย หนังสือรายปักษ์ที่มีนิยายให้อ่านฉบับละ 8-9 เรื่อง แต่ละเรื่องลงสั้นๆ เพื่อให้คนติดตามอ่านฉบับต่อไป ผมกับพี่ชายเกิดไอเดียนำเอาชื่อนิยายมาจากหนังสือทุกฉบับมาเขียนเป็นตารางแล้วเดินสอบถามคนที่นั่งอ่านหนังสือว่าพี่ครับชอบอ่านนิยายเรื่องอะไร
เขาก็บอกอ่านทุกเรื่อง ผมก็จะถามว่าเรื่องไหนดีที่สุด เขาก็จะบอกว่าถ้าเป็นหนังบู๊เรื่องนี้ หนังรักเรื่องนี้ หนังชีวิตก็เรื่องนี้ ผมถามต่อว่าดารานำใครแสดงควรจะเป็นใคร เราก็จะได้ข้อสรุปว่าภาพยนตร์เรื่องไหนที่ประชาชนอยากชม แต่ละเรื่องมีดาราคนไหนที่ประชาชนชื่นชอบ ไปนำเสนอผู้อำนวยการสร้าง จากข้อมูลนี้ทำให้ภาพยนตร์ประสบความสำเร็จ”
เฮียปอ กิตติพงษ์ ตั้งประกอบกิจ ในวันที่โลดแล่นอยู่ในธุรกิจจัดจำหน่ายภาพยนตร์
นอกจากเป็นนักเก็บสถิติแล้ว เฮียปอยังเป็นนักการตลาดที่สามารถวิเคราะห์ได้อย่างแม่นยำว่าหนังเรื่องไหนจะประสบความสำเร็จในการทำรายได้
“เรื่องที่ผมเชื่อมั่นโกยรายได้มหาศาล เช่น เทพธิดาโรงแรม ตอนนั้นสายหนังแทบจะไม่มีใครต้องการเลย ผมบอกว่าพี่ว่าหนังเรื่องนี้ต้องซื้อนะ ระบบเทคนิคชนิดยิงปืนทะลุเห็นหัวลูกปืนออกมาไม่เคยมีหนังไทยเรื่องไหนที่ทำได้ การดำเนินเรื่องก็ชวนติดตามตลอด
ผมเสนอให้ทางโรงภาพยนตร์โฆษณาว่าเป็นมิติใหม่ที่ใครมีลูกมีหลายต้องดู จะได้รู้ว่าการตกเขียวเป็นยังไง จะได้รู้เท่าทันและช่วยกันป้องกัน
ส่วนเรื่องที่รายได้เสมอตัว เพราะซื้อมาในราคาแพง คือ เพชรพระอุมา ผมดูแล้วเนื้อหาไม่สามารถโฆษณาตัวเองได้เหมือนเทพธิดาโรงแรม ผมจึงคิดวิธีหากำไรโดยไปที่โรงงานผลิตเสื้อยืด ให้ช่างเขียนว่าเสื้อข้างหลังเป็นรูป ระพินทร์ ไพรวัลย์ ถือปืนยิงเสือ
สั่งทำมา 10,000 ตัว ส่งขายตามโรงภาพยนตร์ราคาตัวละ 140 บาท สมัยนั้นต้นทุนแพงครับตัวละ 92 บาท มีข้อแม้ว่าแต่ละโรงซื้อแล้วห้ามคืน จังหวัดใหญ่อย่างเชียงใหม่เอาไป 5,000 ตัว จังหวัดรองลงมา 1,000 ตัว 200 ตัว เสื้อออกมาสวยมาก สุดท้ายโรงงานผลิตเสื้อถึงกับงง เพราะผมขายไปได้ 20,000 ตัว”
เฮียปออยู่ในวงการจัดจำหน่ายภาพยนตร์ให้กับจังหวัดทางภาคเหนืออยู่ร่วมสิบปี จนกระทั่งพี่ชายเสียชีวิตด้วยอุบัติเหตุ ส่วนน้องชายแยกตัวไปดำเนินงานจัดจำหน่ายภาพยนตร์เป็นของตนเอง
“พี่สาวมาให้ผมกลับบ้านมาจำหน่ายยางรถยนต์ ทั้งๆ ผมขับรถไม่เป็น แต่ผมเก่งคำนวณทำให้ผมถ่วงล้อรถได้เก่ง ทำให้ร้านมีชื่อเสียงเรื่องถ่วงล้อ รับจ้างฉายภาพยนตร์กลางแปลงบ้าง จนมารวยจากเรื่องคู่รัก แล้วมาสร้างโรงภาพยนตร์คู่รักรามานี่ล่ะครับ”
เฮียปอ กิตติพงษ์ ตั้งประกอบกิจ
ปัจจุบันเฮียปอรับไม้ต่อกิจการร้านอาหารเจริญทิพย์จากพี่สาว และยังคงถือตะหลิวยืนอยู่หน้าเตาปรุงอาหารให้ลูกค้าด้วยตนเอง ใครอยากชิมสลัดหมูทอดจานโปรดของ เพชรา เชาวราษฎร์ อยากคุยเรื่องราวของวงการภาพยนตร์ที่ย้อนยุคไปถึงมิตร ชัยบัญชา รวมไปถึงประวัติความเป็นมาของโรงภาพยนตร์เรื่อง “คู่รัก”
แวะมาสนทนากับเฮียปอในวัย 75 ที่ความจำยังแจ่มชัดได้ทุกวันที่ร้าน เจริญทิพย์ ร้านอาหารหนึ่งในตำนานของสิงห์บุรี เช่นกัน