เหรียญ ‘เอเชียนเกมส์’ ใช้สัญลักษณ์ภูเขาและน้ำ สื่อความสามารถ - น้ำใจนักกีฬา
เหรียญรางวัล ‘เอเชียนเกมส์’ ครั้งที่ 19 ไม่กลมเหมือนเหรียญรางวัล เอเชียนเกมส์ เช่นทุกครั้งที่ผ่านมา ออกแบบจากจี้หยกจีนโบราณอายุ 5,000 ปี กลมในเหลี่ยมนอก ชื่อเหรียญ 'ซานสุ่ย' ตั้งตามชื่อรูปแบบการเขียนภาพหมึกจีนโบราณ ใช้ภูเขาและน้ำสื่อความหมายการเป็นนักกีฬา
เหรียญรางวัล ประจำการแข่งขันกีฬา เอเชียนเกมส์ ครั้งที่ 19 หรือ เอเชียนเกมส์ หางโจว 2022 เป็นอีกหนึ่งองค์ประกอบหลักของ 'หางโจวเกมส์' และเป็นส่วนเสริมที่สำคัญต่อความสวยงามโดยรวมของการแข่งขันกีฬาเอเชียนเกมส์ครั้งนี้
เหรียญรางวัล เอเชียนเกมส์ ครั้งที่ 19 ยังคงเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมอันเป็นเอกลักษณ์ของจีนออกสู่สายตาชาวโลกอย่างต่อเนื่อง เช่นเดียวกับ สนามดอกบัวยักษ์ และ สัญลักษณ์นำโชค (Mascot) ประจำการแข่งขัน ‘หางโจว์เกมส์’ ที่ต่างก็สะท้อนถึงอารยธรรมประจำชาติ
Shan Shui เหรียญรางวัลประจำการแข่งขันกีฬา เอเชียนเกมส์ ครั้งที่ 19
เหรียญรางวัลหางโจว์เกมส์ มีชื่อว่า Shan Shui (ซาน สุ่ย) ความหมายตรงตัวตามอักษรในภาษาจีน คือ ‘ภูเขา’ และ ‘น้ำ’ (ตามลำดับ)
แต่ในทางประวัติศาสตร์ ‘ซาน สุ่ย’ หมายถึงรูปแบบดั้งเดิมของการวาดภาพภูมิทัศน์แบบจีนที่ใช้ ‘หมึก’ ในการวาดภาพ โดยองค์ประกอบหลักในภาพ คือ ‘ภูเขา’ และ ‘น้ำตก’ หรือไม่ก็เป็นแหล่งน้ำ เช่น ทะเลสาบ แม่น้ำ บึงน้ำ ซึ่งได้รับการจัดวางประกอบกันอย่างสวยงามลงตัว
จิตรกรจีนชื่อดังในประวัติศาสตร์บางท่าน วาดภาพ ‘ซาน สุ่ย’ จากสิ่งที่ตามองเห็น ขณะที่จิตรกรบางท่านสะท้อนความรู้สึกที่ได้รับจากความงดงามของทิวทัศน์ตรงหน้าออกมาแทน
พาณิภัค วงศ์พัฒนกิจ นักกีฬาเทควันโด รุ่นน้ำหนักไม่เกิน 49 กิโลกรัม คว้า 'เหรียญทอง' เหรียญแรกให้กับประเทศไทย ในการแข่งขัน Asian Games 2022 ภาพที่เฟซบุ๊กทางการเอเชียนเกมส์หางโจวร่วมแสดงความยินดี และตารางเหรียญรางวัลเมื่อไทยคว้าเหรียญทองแรก
รูปทรงของ ‘เหรียญรางวัลซานสุ่ย’ ไม่กลมโดยสมบูรณ์เหมือนเหรียญรางวัลปกติ เนื่องจากถอดแบบมาจาก ‘หยกฉง’ (jade Cong) สิ่งประดิษฐ์จากหยกของจีนโบราณ มีรูปทรงเป็นเอกลักษณ์ เหมือนท่อกลมที่หุ้มด้วยกล่องสี่เหลี่ยม
ช่างจีนโบราณประดิษฐ์ 'หยกฉง' เพื่อใช้สำหรับการประกอบพิธีมงคลในวัฒนธรรม Liangzhu (5,300 ปีก่อนคริสตกาล-4,300 ปีก่อนคริสตกาล) ซึ่งพบในเมืองหางโจว
นักโบราณคดีจีนให้ความเห็นว่า เป็นเรื่องยากและใช้เวลานานในการผลิต ‘หยกฉง’ เนื่องจาก ‘หยก’ ไม่สามารถแยกออกได้เหมือนกับหินอื่นๆ แต่ต้องใช้ทรายขัดแข็ง
ด้วยความหมายมงคลและการทำที่มีความพิถีพิถัน รูปแบบของแท่งหยกฉง ได้กลายมาเป็นต้นแบบ 'กำไล' กลมใน-เหลี่ยมนอก เครื่องประดับที่บ่งบอกฐานะสตรีชั้นสูงในวังหลังของฮ่องเต้ในเวลาต่อมา
การที่ ‘หยกฉง’ มีรูปลักษณ์เช่นนี้ได้ ถือเป็นงานหัตถกรรมของช่างฝีมือผู้เชี่ยวชาญเรื่องหยก และเป็นสิ่งประดิษฐ์ที่มีความสำคัญเป็นพิเศษในยุคนั้น เช่นเดียวกับเหรียญรางวัลหางโจวเกมส์ที่จัดทำขึ้นด้วยความตั้งใจยิ่ง
นันทิดา กระจ่างแจ่ม กับ ปาริษา แช่มพุดซา สองนักเรือพายกรรเชียงไทย คว้าเหรียญทองแดงแรกให้กับทัพนักกีฬาไทยในเอเชียนเกมส์ ครั้งที่ 19
ลวดลายบนด้านหน้าของเหรียญรางวัลซานสุ่ย หรือ เหรียญรางวัลหางโจวเกมส์ ประกอบด้วยตราสัญลักษณ์ ‘หางโจวเกมส์’ อย่างเป็นทางการ และลักษณะทางภูมิศาสตร์ของเมืองหางโจว
ประกอบด้วยเนินเขาในสายหมอก สะพาน สถูปตะเกียงศิลาซึ่งตั้งอยู่กลาง Three Pools Mirroring the Moon หรือ ‘สามบึงพิมพ์จันทร์’ ของทะเลสาบซีหูที่ผิวน้ำกำลังกระเพื่อมไหว ขณะที่ขอบวงกลมของเหรียญแทนม้วนภาพวาดจีนโบราณที่นิยมเก็บด้วยการม้วน
ด้านหลังเหรียญรางวัลประดับตราสัญลักษณ์ดวงอาทิตย์แห่งเอเชียนเกมส์และชื่อมหกรรมการแข่งขันกีฬาครั้งนี้เป็นภาษาจีนและภาษาอังกฤษ
เหรียญรางวัล เอเชียนเกมส์ ครั้งที่ 19
เหรียญซานสุ่ย หรือ เหรียญรางวัลเอเชียนเกมส์ ครั้งที่ 19 แสดงออกถึงอารมณ์ของ หางโจว ในฐานะเมืองหลวงของอารยธรรมทางนิเวศ ด้วยภูมิทัศน์ธรรมชาติ น้ำใส และเนินเขาเขียวขจี ก่อให้เกิดทรัพย์สินอันล้ำค่า
การผลิตเหรียญรางวัลเอเชียนเกมส์ ครั้งที่ 19 ใช้วิธีการพิมพ์ลายนูน การกัด การตัดแต่ง และการขัดเงา จากนั้นจึงนำไปชุบทองและเงิน แล้วจึงเคลือบป้องกันให้คงทน
ริบบิ้น ของเหรียญรางวัลเย็บด้วยมือทั้งสองด้าน โดยใช้เทคโนโลยีผ้าแจ็คการ์ดและเทคนิคการพิมพ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม บนริบบิ้นประดับ เข็มขัดรูปสะพาน เน้นย้ำถึงลักษณะ ‘เจียงหนาน’ ภูมิภาคแห่งสายน้ำและสะพาน
เหรียญซานสุ่ย หรือ เหรียญรางวัลหางโจวเกมส์ แสดงถึง น้ำใจนักกีฬา เปรียบกับการปีนขึ้นสู่ที่สูง (ความตั้งใจ) เมื่อถึงจุดสูงสุดก็จะยิ่งสูงขึ้นไปอีก ระหว่างทางไปสู่ยอดเขา (ความสำเร็จ) นักกีฬาต้องต่อสู้อย่างหนัก ท้าทายตัวเอง และก้าวข้ามจุดสูงสุดครั้งแล้วครั้งเล่า
อ้างอิง + credit photo
- สำนักข่าวไทย
- เว็บไซต์ hangzhou2022.cn
- FB/19th Asian Games Hangzhou 2022