สถาปัตยกรรม Big Lotus สนามกีฬาดอกบัวยักษ์ ในพิธีเปิด เอเชียนเกมส์ หางโจว 2022
เปิดที่มาสถาปัตยกรรม 'สนามกีฬาดอกบัว' หรือ Big Lotus สนามดอกบัวยักษ์ ในพิธีเปิด เอเชียนเกมส์ หางโจว 2022 ได้รับแรงบันดาลใจจากดอกบัวแห่งทะเลสาบซีหู และ ‘ความยั่งยืน’ ใช้เหล็กน้อยกว่ามาตรฐานในการออกแบบสนามกีฬารังนก ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์
Hangzhou Olympic Sports Center Stadium สนามกีฬาหลัก หรือ Main Stadium ซึ่งใช้เป็นสถานที่สำหรับประกอบ พิธีเปิดการแข่งขัน เอเชียนเกมส์ หางโจว 2022 หรือ Asian Games Hangzhou 2022 ค่ำคืนวันเสาร์ที่ 23 กันยายน 2566 มีความสวยงามแปลกตา และมีชื่อเล่นว่า Big Lotus หรือ ‘ดอกบัวยักษ์’
Big Lotus ตั้งอยู่ใน Hangzhou Olympic Sports Center (หางโจว โอลิมปิก สปอร์ตส เซ็นเตอร์) ริมฝั่งแม่น้ำเฉียนถัง (Qiantang) ตรงข้ามกับเขตศูนย์กลางธุรกิจเมืองใหม่เฉียนเจียงของหางโจว สร้างขึ้นเพื่อใช้จัดพิธีเปิดและพิธีปิดการแข่งขันเอเชียนเกมส์ หางโจว 2022 รวมทั้งจัดการแข่งขันกีฬาประเภทกรีฑา
ดอกบัวแห่งทะเลสาบซีหู
สนามกีฬาดอกบัวยักษ์ หรือ Hangzhou Olympic Sports Center Stadium
สนามกีฬา หรือ สเตเดียม (Stadium) หลายแห่ง มักต้องเลือกองค์ประกอบอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือสองในสามอย่าง ระหว่าง ความยั่งยืน ประสิทธิภาพ และ การออกแบบอันเป็นเอกลักษณ์
แต่ หางโจว โอลิมปิก สปอร์ตส เซ็นเตอร์ หรือ ‘ศูนย์กีฬาโอลิมปิกหางโจว’ รวมทั้ง 3 องค์ประกอบเข้าด้วยกันในการสร้างสนามกีฬาแห่งนี้
โดยเฉพาะการออกแบบ Big Lotus ซึ่งเป็น 'สนามกีฬาหลัก' ได้รับแรงบันดาลใจจาก ดอกไม้ และ บทกวี ซึ่งยังช่วย ลดการใช้คาร์บอนและวัสดุ ไปพร้อมๆ กัน
หางโจว (Hangzhou) ได้ชื่อว่าเป็นหนึ่งในเมืองที่มีทิวทัศน์สวยงามที่สุดในประเทศจีน โดยเฉพาะ ทะเลสาบตะวันตก หรือที่คนไทยรู้จักกันดีในชื่อ ทะเลสาบซีหู (Xihu) มีชื่อเสียงในด้านความสวยงาม ความสง่างาม พรรณไม้ที่มีเอกลักษณ์ ปรากฏอยู่ในภาพวาดและบทกวีจีนโบราณมากมาย
การสร้าง ‘สนามกีฬาหลัก’ ดึงความงามนี้มาใช้ โดยนำ ดอกบัวพื้นเมืองของทะเลสาบซีหู มาเป็นแรงบันดาลใจในเชิงแนวคิด โดยตีความรูปแบบเป็นโครงสร้าง 'กลีบ' แบบแยกส่วนที่ล้อมรอบสนามกีฬาอย่างสง่างาม
ลดการใช้คาร์บอนและวัสดุ
โครงสร้างเหล็กทรงกลีบบัว
แม้ว่า เหล็ก จะเป็นองค์ประกอบที่จำเป็นในสถาปัตยกรรมสนามกีฬา และมีบทบาทสำคัญในศูนย์กีฬาโอลิมปิกหางโจว แต่ก็เป็นสาเหตุสำคัญของความกังวลจากมุมมองด้านความยั่งยืน
ในปี 2561 การผลิตเหล็กแต่ละตันส่งผลให้เกิดคาร์บอนไดออกไซด์ 2 ตัน ดังนั้น เมืองหางโจว จึงมอบหมายให้บริษัทสถาปนิกผู้ออกแบบ ‘ศูนย์กีฬาโอลิมปิกหางโจว’ ลดปริมาณเหล็ก ที่ใช้ในโครงสร้าง
โครงสร้างภายใน Big Lotus สนามกีฬาดอกบัวยักษ์
ทั้งนี้เพื่อให้แน่ใจว่าอาคารสนามกีฬาที่สร้างขึ้นจาก ‘เหล็ก’ เป็นหลัก มีน้ำหนักเบาที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ลดขยะวัสดุและการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของอาคาร แต่ก็ยังคงความแข็งแรง ปลอดภัย
ทีมออกแบบใช้การคำนวณด้วยคอมพิวเตอร์ บรรลุผลสำเร็จในการ ลดปริมาณเหล็ก ผ่านงานสถาปัตยกรรม 2 วิธี
- เชื่อมโยง ‘โครงสร้างเหล็กผนังรูปโค้ง’ และ ‘ที่นั่งคอนกรีต’ เข้าด้วยกันในแต่ละระดับ เพื่อให้ทั้งสองระบบทำงานพร้อมกัน
- จัดหาโครงสร้างเพิ่มเติมที่ด้านบนของปล่องเพดานสนาม เพื่อลดคานยื่นออกมาของหลังคา
สนามดอกบัวยักษ์ (Big Lotus) หางโจว
แม้ว่า สนามดอกบัวยักษ์ (Big Lotus) มีขนาดพอๆ กันกับ สนามกีฬาแห่งชาติปักกิ่ง หรือ ‘สนามกีฬารังนก’ อันโด่งดังจากการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกปี 2551 แต่สนามกีฬา Big Lotus ใช้เหล็กน้อยลงถึง 67% หรือประมาณ 16,000 ตัน
ภายนอกของสนามกีฬา Big Lotus ประกอบด้วยกลีบดอกบัวโครงสร้างเหล็กขนาดใหญ่ จำนวน 28 กลีบ และกลีบเล็ก จำนวน 27 กลีบ
ความจุสนามกีฬา Big Lotus
ที่นั่งภายในสนามดอกบัวยักษ์
Hangzhou Olympic Sports Center Stadium หรือ สนามกีฬา Big Lotus ถือเป็นศูนย์กลางของ ‘ศูนย์กีฬาโอลิมปิกหางโจว’ ซึ่งตั้งอยู่ใจกลางเมืองหางโจว เพื่อใช้เป็นศูนย์กลางการกีฬาที่สำคัญของการแข่งขันกีฬาเอเชียนเกมส์หางโจว 2022
สนามกีฬา Big Lotus มีความจุ 80,000 ที่นั่ง ครอบคลุมพื้นที่ 229,000 ตารางเมตร ประกอบด้วย 6 ชั้นและชั้นใต้ดิน 1 ชั้น สร้างบนพื้นที่ตั้งของสนามกีฬาเดิมของเมือง ซึ่งรื้อออกเมื่อปีพ.ศ.2554 และสร้างขึ้นใหม่เสร็จสมบูรณ์เมื่อปีพ.ศ.2561ใช้สำหรับการแข่งขันฟุตบอลเป็นส่วนใหญ่
แต่ก็มีกิจกรรมพิเศษที่เคยมาจัดที่สนามกีฬาแห่งนี้ อาทิ คอนเสิร์ต Descendants of the Dragon 2060 ของ Leehom Wang ปี 2562, งานส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ 2565 จัดโดยสถานีทีวีดาวเทียมเจ้อเจียง และคอนเสิร์ต Future Style 2.0 ของ จางซินเจ๋อ ปี 2566
nbbj ผู้ออกแบบสนามกีฬา Big Lotus
Big Lotus สนามกีฬาเปิดและปิดการแข่งขัน เอเชียนเกมส์ หางโจว 2022
สนามกีฬา Big Lotus ออกแบบโดย nbbj บริษัทสถาปัตยกรรมระดับโลกของอเมริกา ก่อตั้งขึ้นในปีพ.ศ.2486 โดยสถาปนิกชาวซีแอตเทิล 4 คน คือ Floyd Naramore, William J. Bain, Clifton Brady และ Perry Johanson ชื่อของบริษัทคืออักษรตัวแรกของนามสกุลแต่ละคน
ปรัชญาการออกแบบของ nbbj เชื่อว่า อาคารสามารถทำให้ผู้คนมีสุขภาพดีและมีความสุขได้ ชุมชนเชื่อมต่อกันผ่านการออกแบบ การตัดสินใจในการออกแบบทั้งเรื่องเล็กและเรื่องใหญ่จะสร้างอนาคตที่ยั่งยืน
ทีมนักออกแบบสถาปัตยกรรมของ nbbj จึงมีแนวคิดในการสร้างสถานที่ที่ดีต่อสุขภาพ ชุมชนที่เข้มแข็ง และสภาพแวดล้อมที่ฟื้นตัวได้ ขณะเดียวกันก็สร้างการเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืน
อ้างอิง + credit photo
- เว็บไซต์ nbbj.com
- เว็บไซต์ en.wikipedia.org