สาธิตจุฬาฯ คว้ารางวัลชนะเลิศ Trash to Treasure 3 มิติ ในงาน Sustainability Expo
เผยผลการประกาศรางวัลประกวด Trash to Treasure ศิลปะจากขยะครั้งที่ 4 ในงาน Sustainability Expo ทีมนักเรียนหญิงโรงเรียนสาธิตจุฬาฯ ฝ่ายมัธยม คว้ารางวัลชนะเลิศ ศิลปะจากขยะ ประเภท 3 มิติ
หนึ่งในกิจกรรมเยาวชนน่าสนุก ท้าทายความสามารถและจินตนาการทาง ศิลปะ สร้างแรงบันดาลใจสู่แนวคิด ‘ความยั่งยืน’ เพื่อโลก ในงาน Sustainability Expo 2023 (SX2023) คือ โครงการประกวดเพื่อสร้างสรรค์ผลงานศิลปะและการออกแบบ หรือ Trash to Treasure Art & Design Contest
คณะผู้จัดงาน SX2023 ริเริ่มโครงการดังกล่าวขึ้นเพื่อมุ่งหวังสร้างแรงบันดาลใจในการนำ สิ่งเหลือใช้ ที่ทุกคนคิดว่าเป็น ‘สิ่งไร้ค่า’ หรือ ขยะ นำกลับมามีชีวิตใหม่ด้วยการสร้างสรรค์ให้มีคุณค่า สร้างประโยชน์ให้แก่สังคม และถือเป็นเครื่องมือ เป็นตัวอย่างอันเป็นรูปธรรมที่ช่วยสื่อสารเรื่องระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และการนำกลับไปใช้ซ้ำ (Reuse) เพื่อสร้างการรับรู้ ความเข้าใจ และเป็นแรงบันดาลใจในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมต่อไปในอนาคต
โดยมีเจตนารมย์ที่ต้องการส่งต่อความคิดด้าน การพัฒนาอย่างยั่งยืน และสร้างแรงบันดาลใจเพื่อเปลี่ยนพฤติกรรมตนเองเพื่อ สร้างสมดุลสิ่งแวดล้อมโลก ภายใต้แนวคิด ‘พอเพียง ยั่งยืน เพื่อโลก’
การประกาศผลรางวัลโครงการ ‘Trash to Treasure ครั้งที่ 4’
การจัดโครงการประกวดเพื่อสร้างสรรค์ผลงานศิลปะและการออกแบบ หรือ Trash to Treasure Art & Design Contest ในปี 2566 จัดเป็นครั้งที่ 4 ภายใต้แนวคิด ‘สร้างสรรค์ สร้างค่า สร้างสมดุลโลก’
เปิดรับสมัครทั้งประเภทเดี่ยวและประเภททีม โดยมีเงินรางวัลรวมทั้งสิ้น 112,000 บาท ทั้งนี้มีเยาวชนสนใจสมัครส่งผลงานศิลปะประเภท สองมิติ (2D) จำนวน 64 ผลงาน และ ประเภท สามมิติ (3D) จำนวน 105 ผลงาน
คณะกรรมการตัดสินโครงการ ‘Trash to Treasure ครั้งที่ 4’
คณะกรรมการตัดสินโครงการ ‘Trash to Treasure Art & Design Contest ครั้งที่ 4’ ประกอบด้วย นิติกร กรัยวิเชียร, ศ.เกียรติคุณ ถาวร โกอุดมวิทย์ ศิลปินแห่งชาติ ประจำพุทธศักราช 2564 สาขาทัศนศิลป์ (ภาพพิมพ์), ผศ.วุฒิกร คงคา อาจารย์ประจำ ภาควิชาศิลปกรรมคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง และ เพลินจันทร์ วิญญรัตน์ (มุก) นักออกแบบและศิลปินด้านสิ่งทอ
ผลการประกวดประเภท 2 มิติ (2D)
ชื่อผลงาน: ปัญหาขยะ
รางวัล: รองชนะเลิศอันดับ 3
ชื่อผลงาน: ปัญหาขยะ
ชื่อเจ้าของผลงาน: จิดาพร สอนอาจ สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์
- แนวคิดในการสร้างสรรค์ผลงาน
ปัจจุบันปัญหาขยะเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อปัญหาสิ่งแวดล้อมและปัญหาโลกร้อน ซึ่งปัญหาดังกล่าวเกิดจากกิจกรรมต่างๆ ของเราทุกคน อาทิ ขยะที่เกิดจากการบริโภคการส่งเสริมท่องเที่ยว การเติบโตของธุรกิจไรเดอร์ แต่ทุกคนยังดำเนินชีวิตปกติ ได้สร้างสรรค์ผลงานชิ้นนี้ออกมา อยากให้ทุกคนได้ตระหนักถึงสิ่งแวดล้อมเพื่อโลกของเรา
ของเหลือทิ้งที่นำมาสร้างสรรค์ผลงาน "ปัญหาขยะ"
รางวัล: รองชนะเลิศอันดับ 2
ชื่อผลงาน: สัตว์ที่ใกล้สูญพันธุ์ในไทย
ชื่อเจ้าของผลงาน: ทีม The world.A มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์
ผลงาน: สัตว์ที่ใกล้สูญพันธุ์ในไทย
- แนวคิดในการสร้างสรรค์ผลงาน
บันทึกภาพของสัตว์ที่ใกล้จะสูญพันธุ์ในไทยเอาไว้ด้วยวัสดุเหลือทิ้ง ผลงานนี้มีไว้เพื่อเตือนมนุษย์ให้เกิดการคิดอนุรักษ์สัตว์โลกไว้เพื่อให้รุ่นลูกรุ่นหลานได้เห็นสัตว์โลกนี้สืบไป
รางวัล: ชนะเลิศ
ชื่อผลงาน: E-waste for save Hornbill
ชื่อเจ้าของผลงาน: มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์
ผลงาน: E-waste for save Hornbill
- แนวคิดในการสร้างสรรค์ผลงาน
ขยะอิเล็กทรอนิกส์หรือผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ที่ถูกทิ้ง ได้กลายเป็นหนึ่งในภัยคุกคามด้านมลพิเษที่เติบโตเร็วที่สุดทั่วโลก
ภัยคุกคามสมัยใหม่นี้เป็นผลมาจากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีอย่างรวดเร็ว และวงจรชีวิตที่สั้นของอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์
เมื่อกำจัดอย่างไม่เหมาะสม แม้ว่าความสัมพันธ์โดยตรงระหว่างขยะอิเล็กทรอนิกส์กับ นกเงือก อาจดูห่างไกล แต่ผลกระทบกลับไหลลงสู่ระบบนิเวศด้วยวิธีที่ร้ายกาจ
นกเงือก มีลักษณะที่โดดเด่นและมีบทบาทสำคัญต่อระบบนิเวศ โดยส่วนใหญ่จะอาศัยอยู่ในป่าทึบที่ไม่ถูกรบกวน
อย่างไรก็ตาม ป่าไม้เหล่านี้ถูกบุกรุกมากขึ้น เนื่องจากขยะอิเล็กทรอนิกส์ถูกเผาและทำลายโดยไม่มีมาตรการป้องกัน
สารเคมีที่เป็นอันตรายจึงรั่วไหลลงสู่ดินและทางน้ำ การปนเปื้อนนี้ส่งผลกระทบต่อรากฐานของห่วงโซ่อาหาร ต้นไม้ที่นกเงือกอาศัยทั้งยังชีพและทำรังดูดซับสารปนเปื้อนเหล่านี้
ส่งผลให้ผลไม้ที่นกเงือกกินเข้าไปเสี่ยงต่อสุขภาพอย่างรุนแรง
ยิ่งไปกว่านั้น เนื่องจากนกเงือกเป็นตัวกระจายเมล็ดพันธุ์ที่สำคัญ ผลกระทบจากการลดลงของนกเงือก เนื่องจากมลพิษจากขยะอิเล็กทรอนิกส์ สะท้อนผ่านระบบนิเวศของป่า จำนวนที่ลดลงสามารถขัดขวางกระบวนการทางธรรมชาติ ซึ่งอาจนำไปสู่การฟื้นฟูป่าที่ลดลง และความหลากหลายทางชีวภาพที่เปลี่ยนแปลงไป
กล่าวโดยสรุป ชะตากรรมของนกเงือกทำหน้าที่เป็นเครื่องเตือนใจถึงชะตากรรมที่เกี่ยวพันกับสิ่งมีชีวิตทั้งหมดบนโลก การทิ้งขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่ดำเนินไปอย่างไร้การควบคุม
ผลการประกวดประเภท 3 มิติ (3D)
ผลงาน: ช่วงเวลาแห่งการผจญภัยกับเหล่าผองเพื่อน
รางวัล: รองชนะเลิศอันดับ 3
ชื่อผลงาน: ช่วงเวลาแห่งการผจญภัยกับเหล่าผองเพื่อน
ชื่อเจ้าของผลงาน : เกียรติศักดิ์ ไพราม มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา
- แนวคิดในการสร้างสรรค์ผลงาน
ความทรงจำเมื่อครั้งแรกที่ได้ของเล่นชิ้นใหม่มา มีความสุขสนุกกับการได้เล่นของเล่นชิ้นนั้น ได้จินตนาการเรื่องราวต่างๆ ในระหว่างที่กำลังเล่น เป็นช่วงเวลาที่ดีของใครหลายๆ คน จนกระทั่งได้มีสิ่งที่มาแปรเปลี่ยนช่วงเวลานั้นๆ เปลี่ยนแปลงไป ทำให้สนใจของเล่นชิ้นนั้นน้อยลง และในที่สุดก็เลิกสนใจและทิ้งไปกลายเป็นขยะ
"ของเล่นจำนวนมากถูกทิ้งเป็นขยะมากมาย ซึ่งบางชิ้นยังสมบูรณ์อยู่ กระผมจึงอยากสะท้อนผ่านผลงานให้ผู้คนทั้งเด็กและผู้ใหญ่ได้สนใจและใส่ใจในของเล่นเหล่านี้มากขึ้น ให้นึกถึงช่วงเวลาแห่งความสุขสนุกสนานนั้นๆ
จะได้ดูแลรักษาของเล่นเก็บเอาไว้ให้ได้นานที่สุด หรือเกิดประโยชน์มากที่สุด ซื้อของเล่นน้อยลง ไม่ใช่แค่ทำให้ประหยัดค่าใช้จ่ายได้เท่านั้น ยังเป็นการช่วยลดการใช้ทรัพยากรลงด้วย"
รางวัล: รองชนะเลิศอันดับ 1
ชื่อผลงาน: Leatherback Turtle
ชื่อเจ้าของผลงาน : ทีม Beautiful Friendship จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ผลงาน: Leatherback Turtle
- แนวคิดในการสร้างสรรค์ผลงาน
สัตว์ทะเลที่ใกล้สูญพันธุ์ในประเทศไทยเริ่มลดลงเรื่อยๆ แล้ว จึงนำสัตว์ทะเลชนิดหนึ่งมาสร้างเป็นผลงานชิ้นนี้ออกมา คือ เต่ามะเฟือง จัดเป็นเต่าทะเลที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก เป็นสัตว์สงวนที่ใกล้จะสูญพันธุ์ไปจากโลก
จึงตระหนักคิดต้องการที่จะอนุรักษ์เต่าทะเลมะเฟืองให้อยู่กับเราไปนานในประเทศไทย โดยเน้นออกแบบผลงานชิ้นนี้ให้คนเห็นและเข้าใจ เพื่อช่วยกันรักษาอนุรักษ์ไว้ให้นานมากที่สุด ไม่ไปทำลายเขาในทางตรงและทางอ้อม
ทางตรงก็คือเจอเต่ามะเฟืองและทำร้ายสัตว์ รังแก ส่วนทางอ้อมคือการนำขยะไปทิ้งลงในแม่น้ำ ทะเล เต่ามะเฟืองก็จะได้รับผลกระทบ อาจทำให้เสียชีวิตได้
ต้องการสะท้อนออกมาให้เห็นชัดเจน ส่วนข้างบนก็คือแมงกะพรุนที่เปรียบเหมือนมนุษย์ คือการเอาลักษณะมนุษย์ไปใช้กับสิ่งที่ไม่ใช่มนุษย์
รางวัล: ชนะเลิศ
ชื่อผลงาน: นกน้อยทำรังแต่พอตัว
ชื่อเจ้าของผลงาน : ทีม New Things โรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฝ่ายมัธยม
ผลงาน: นกน้อยทำรังแต่พอตัว
- แนวคิดในการสร้างสรรค์ผลงาน
โลกปัจจุบันได้ถูกทำลายลงอย่างรวดเร็วโดยฝีมือของมลภาวะที่เกิดขึ้นโดยการกระทำของมนุษย์ ทั้งการสร้างขยะประเภทต่างๆ จากการอุปโภคบริโภค จนไปถึงการใช้จ่ายฟุ่มเฟือย จนเกิดปัญหาตามมา
สิ่งเหล่านี้ล้วนเกิดจากความโลภ ไม่พึงพอใจในสิ่งที่ตนมี หรือเรียกได้ว่า ความไม่พอเพียง นั่นเอง
พวกเราจึงอยากยกสำนวนโบราณสำนวนหนึ่งที่ว่า “นกน้อยทำรังแต่พอตัว” หมายความว่าทำอะไรให้พอเพียงกับตนเอง มาตีความสร้างสรรค์ เป็นผลงานศิลปะจากวัสดุเหลือใช้
Trash to Treasure Art & Design Contest ครั้งที่ 4
ทั้งนี้ งานศิลปะ จากของเหลือทิ้ง หรือ ขยะ ที่ได้รับรางวัลและการผ่านเข้ารอบสุดท้าย ประเภท 2 มิติ จำนวน 20 ผลงาน และ ประเภท 3 มิติ จำนวน 10 ผลงาน กำหนดจัดแสดงในงาน Sustainability Expo 2023 หรือ SX2023 ภายใต้แนวคิด ‘พอเพียง ยั่งยืน เพื่อโลก’ หรือ Sufficiency for Sustainability ณ บริเวณ SX Space ชั้น G ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ระหว่างวันที่ 29 กันยายน-21 ตุลาคม 2566
หมายเหตุ : ตอนต่อไปโปรดติดตามความคิดเห็นของคณะกรรมการตัดสินฯ เหตุใดผลงานศิลปะจากขยะทั้ง 6 ชิ้นนี้จึงได้รับรางวัล