ใส่สูทขี่จักรยานไปงานแต่งใน กทม. ทำได้จริงเหรอ
ผมได้โพสต์ในเฟซของผมว่า ได้ใส่สูทขี่จักรยานบนถนนในกรุงเทพฯ ก็มีคนสงสัยว่าทำได้จริงหรือ ไม่ร้อนหรือ ยิ่งเมื่อบอกว่าไม่ได้ขี่ไปประชุม หรือไปทำงาน แต่ไปงานแต่งงานคนก็ยิ่งสงสัยเพิ่มขึ้นอีกว่า ไม่เหงื่อโทรมเข้าไปในงานหรือ ช่วงกลางคืน มันมืด จะไม่ยิ่งอันตรายหรือ
ผมต้องอธิบายว่าผมไม่ได้ขี่ 'จักรยาน’ตลอดทางไปจนถึงโรงแรมนะครับ แต่ขี่ไปต่อ 'ระบบขนส่งมวลชน’ซึ่งกรณีนี้คือรถไฟไฟฟ้า BTS เมื่อผมไปถึงสถานีปลายทางผมก็ลงแล้ว 'เดิน’ต่อจนถึงโรงแรมที่จัดงาน
ผมอยากจะอธิบายให้เข้าใจก่อน โดยเฉพาะกับผู้บริหารเมืองและรัฐบาล ว่านี่คือระบบการใช้จักรยานในเมืองที่ถูกต้อง เขาเรียกหลักการนี้ว่า first mile and last mile หรือในภาคภาษาไทย คือ "โลแรก" กับ "โลท้าย"
การที่เราใช้ระบบการเดินทางทางเลือกหรือ alternative mobility อันหมายถึงการเดินหรือขี่จักรยาน ในช่วงแรกไปเชื่อมต่อระบบขนส่งมวลชน เช่น รถเมล์ เรือเมล์ รถไฟ รถไฟไฟฟ้า หรือขนส่งสาธารณะ เช่น รถแท็กซี่ รถแกร็บ วินมอเตอร์ไซค์นั้น เขาเรียกการเดินทางช่วงสั้นๆ นี้ว่า "โลแรก" ซึ่งควรจะอยู่ในช่วงประมาณครึ่งกิโลถึง 2-3 กิโลไม่เกิน
จากนั้นเราก็เดินทางต่อด้วยระบบขนส่งมวลชนหรือขนส่งสาธารณะนั้น จนไปถึงปลายทางที่ต้องการ แล้วเราก็จะเดินหรือขี่จักรยานต่อจนถึงจุดหมายที่ปักหมุดไว้
ซึ่งในกรณีตัวอย่างนี้ก็คือโรงแรมที่เจ้าบ่าวเจ้าสาวเขาจัดงาน ระยะทางช่วงหลังนี้เขาเรียกว่าโลท้าย ซึ่งก็เช่นกันที่ไม่ควรเกินครึ่งกิโลถึง 2-3 กิโลอันอยู่ในวิสัยที่คนทั่วไปทำได้ ไม่ยากลำบากแต่ประการใด
ถ้าเราทำได้อย่างที่กล่าวไว้ข้างบนนี้ คนที่มีรถยนต์ส่วนตัวก็ไม่จำเป็นต้องเอารถออกมาขับไปทำงาน เป็นการลดความหนาแน่นจราจร ลดมลพิษ ลดโลกเดือด ลดการใช้พลังงาน ลดค่าใช้จ่าย รวมทั้งทำให้อากาศสะอาด สิ่งแวดล้อมดี เมืองน่าอยู่ ชีวิตดีขึ้น สังคมดีขึ้น
อย่างไรก็ตาม ในโลแรกนี้ถ้าเราใช้วิธีการเดินเราจะไม่ประสบปัญหามากนัก ยกเว้นเรื่องอากาศร้อนหรือฝนตกบ้าง แต่ถ้าเราขี่จักรยานไปเราอาจเจอปัญหาไม่มีที่จอดจักรยาน หรือมีก็อาจไม่ปลอดภัยต่อการโจรกรรมที่ปลายทาง
ส่วนช่วง "โลท้าย" ก็เช่นกันคือหลังจากเราออกจากระบบขนส่งสาธารณะ และเราเลือกใช้การเดินไปยังจุดหมายก็ไม่มีปัญหา แต่ถ้าเราต้องการขี่จักรยานไปเพราะระยะทางไม่ใกล้นัก อาจไกลเกินกว่าที่จะเดิน ปัญหาคือเรามักไม่มีจักรยานที่จุดนั้นมาใช้ต่อเพื่อไปยังจุดที่มุ่งไป แล้วจะทำอย่างไรถ้าเช่นนั้น
ก็มาถึงข้อเสนอแนะต่อผู้บริหารเมืองและรัฐบาล สำหรับปัญหาโลแรกคำตอบก็ง่ายๆ แบบกำปั้นทุบดินคือก็เพียงทำที่จอดจักรยานที่ปลอดภัยต่อการโจรกรรมให้มากพอและสะดวกพอ เช่น มีที่ล็อค และสร้างในที่ที่มีคนพลุกพล่านพอสมควร
แต่สำหรับปัญหาหลังคือโลท้าย ที่ต่างประเทศหลายแห่งเขามีระบบจักรยานให้เช่าใช้ ซึ่งปัจจุบันมีความทันสมัยมาก ใช้ระบบอิเล็กทรอนิกส์และ AI มาช่วย ส่วนของ กทม.ก็มีแล้วเช่นกันคือระบบ 'ปันปั่น’ ดังที่บางคนอาจเคยเห็นจักรยานสีขาวเขียวที่จอดอยู่ตามแยกต่างๆในเขตกรุงเทพชั้นใน
แต่จากประสบการณ์ของผู้ที่เคยใช้ระบบนี้มาก่อน หลายคนจะพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าระบบที่มีอยู่นั้นมีจำนวนจักรยานน้อยและยังใช้งานไม่ได้ดีพอ ซึ่งก็คงไม่ยากที่จะแก้ไขและปรับปรุงให้มันดีขึ้นจนใช้งานได้จริง
มีข้อแนะนำอย่างหนึ่ง ที่อยากจะบอกแก่คนที่อยากจะมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาบ้านเมืองให้ดีขึ้น ด้วยวิธีการเดินทางแบบที่เป็นมิตรต่อโลกเช่นนี้ คือ อย่าใช้จักรยานราคาแพง ซึ่งจะเป็นการก่อหรือยั่วยุให้ขโมยขโจรอยากจะขโมย อย่าคิดเป็นอันขาดว่าถ้ามีกุญแจล็อคดีๆ แล้วจะไม่หาย
ถ้าจักรยานมีราคาแพงเรื่องการตัดโซ่ล็อกรถไม่ใช่เรื่องยาก ขโมยที่เจนจัดสามารถตัดโซ่ออกได้ในเวลาไม่ถึงนาที จักรยานที่ผมใช้อยู่เป็นประจำเป็นจักรยานรถพับมือสองจากญี่ปุ่น ยี่ห้อชาวบ้านๆ คุณภาพใช้ได้ แต่เก่าจนสนิมเขรอะซึ่งกลับยิ่งเป็นข้อดีเพราะไม่ล่อตาล่อใจขโมย ราคาเพียงพันกว่าบาท ใช้มา 10 กว่าปีแล้วยังใช้อยู่แทบทุกวัน
นอกจากนี้ผมยังติดตะกร้าหวายรูปทรงสวยงามเข้าไว้ที่ตะแกรงหลังของจักรยาน เพื่อให้เป็นจุดเด่นแตกต่างจากจักรยานทั่วไป ทำให้โจรยิ่งลังเลที่จะขโมยจักรยานคันนี้มากขึ้น
มีข้อสังเกตอีกอย่างที่อยากจะบอก คือ คนกลุ่มนี้ผมเรียกว่า bicycle user หรือผู้ใช้จักรยาน ที่แตกต่างจาก cyclist หรือนักจักรยานอย่างมากโดยเฉพาะพวก weekend cyclist หรือนักจักรยานวันหยุด ทั้งในเรื่องการแต่งกาย ชนิดและราคาจักรยานที่ใช้
พฤติกรรมรวมทั้งจุดมุ่งหมายและระยะทางในการขี่ (ชาวบ้านใช้จักรยานแค่ 1-3 กิโล แต่นักจักรยานต้องการตั้งแต่ 50 ไปจนถึง 200 กิโล) ตลอดจนความปลอดภัยที่ต้องการ ฯลฯ
เป็นที่น่าเสียดายที่ผู้บริหารทั้งระดับเมืองและระดับรัฐบาลเข้าใจผิด คิดว่า cyclist เป็นคนส่วนใหญ่ที่ใช้จักรยานในการเดินทาง ไม่ใช่ bicycle user
มาตรการต่างๆที่พยายามคิดกันขึ้นมาเพื่อจะแก้ปัญหาบ้านเมือง จึงมักมองในมุมที่จะเอื้อความสะดวกให้แก่นักจักรยานมากกว่าความปลอดภัยแก่ผู้ใช้จักรยานในชีวิตประจำวันจริง ทั้งที่คนกลุ่มหลังที่รวมทั้งเด็กและผู้สูงอายุมีจำนวนมากกว่าคนกลุ่มแรกหลายร้อยเท่า
การเดินทางยั่งยืนในรูปแบบ 'โลแรก+ขนส่งสาธารณะ+โลหลัง’ มีข้อดีต่อสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศรวมทั้งทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างมากมายดังที่ได้กล่าวมาแล้ว และไม่ใช่เรื่องยากหรือทำไม่ได้ ใครๆก็ทำได้ ผมจึงอยากจะเชิญชวนทุกคนให้มาร่วมกันลองเริ่มใช้การเดินทางยั่งยืนนี้ เพื่ออนาคตและบ้านเมืองน่าอยู่ที่ดีขึ้นของเรา
ทั้งนี้คงต้องมองไปที่รัฐบาลและผู้บริหารเมืองของเรา ซึ่งไม่ใช่เพียงเฉพาะกรุงเทพมหานคร ว่าจะแก้ปัญหาให้เราอย่างเบ็ดเสร็จและเร็ววันได้หรือไม่
มาถึงตรงนี้ผมต้องยอมรับว่ามีผู้บริหาร กทม.ชุดนี้แหละที่พอจะเข้าใจปัญหาเส้นเลือดฝอยแบบนี้และกำลังเริ่มที่จะทำให้มันเป็นรูปธรรม ก็ขอฝากความหวังและคำขอบคุณไว้ ณ ที่นี้ ส่วนของผู้บริหารเมืองอื่นๆ ก็ขอให้ช่วยทำให้หน่อยและขอขอบคุณล่วงหน้าไว้ก่อนก็แล้วกัน นะครับ.