สมโภช 338 ปี ‘วัดมหาธาตุ’ การแสดงแสงสีเสียง 5 สิ่งสำคัญ สวดมนต์ข้ามปี 31 ธ.ค.
การแสดงแสงสีเสียงประดับไฟ 5 สิ่งสำคัญภายในวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ ราชวรมหาวิหาร งานสมโภช 338 ปี สวยงามตระการตาในคอนเซปต์ Journeying Through Light of Wisdom เชิญร่วมสวดมนต์ข้ามปี 31 ธ.ค.2566 และกิจกรรมมากมายสั่งสมเสบียงบุญ
เชิญร่วมสั่งสมเสบียงบุญ เกื้อหนุนพระศาสนา โดยการร่วมบูรณปฏิสังขรณ์ ปรับภูมิทัศน์ วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ ราชวรมหาวิหาร หรือ ‘วัดมหาธาตุ’ ให้งามสง่าสืบไป ในงาน สมโภช 338 ปี พระอารามหลวง วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ เริ่มแล้ววันนี้ 27 ธันวาคม 2566 ถึงวันที่ 2 มกราคม 2567 ณ วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร
หนึ่งในกิจกรรมร่วมสมัยในการสมโภชฯ คือ การแสดงแสงสีเสียง และประดับไฟ ภายใต้คอนเซปต์ Journeying Through Light of Wisdom หรือ ‘การเดินทางด้วยแสงแห่งปัญญา’ ประดับตกแต่ง 5 สิ่งสำคัญของวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ ออกแบบและติดตั้งโดยบริษัท Thamdee Associate จำกัด
1. ตึกแดง
ตึกแดง หรือ ตึกถาวรวัตถุ
มีลักษณะของการใช้แสงไฟย้อมบริเวณด้านหน้าทั้งหมดของ ‘ตึกแดง’ ตลอดความยาวของตัวตึกกว่า 200 เมตร ซึ่งมีเอกลักษณ์สถาปัตยกรรมสวยงาม
การใช้แสงไฟย้อมตึกไม่ได้มีเพียงสีเดียว แต่ประกอบไปด้วยแสงไฟสีแดง สีชมพู สีเขียว สีฟ้า สีม่วง สีเหลือง สลับสับเปลี่ยนวนกันไป สร้างความสวยงามแปลกตา
พร้อมกันนั้นยังมีการติดตั้งชื่องานเป็นตัวอักษรขนาดใหญ่ เขียนว่า ๓๓๘ ปี วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ ติดตั้งไว้หน้าตึกแดง ทำเป็นจุดเช็คอินสำหรับการถ่ายรูป
การแสดงแสงไฟบน 'ตึกแดง' งานสมโภช 338 ปี วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์
‘ตึกแดง’ คือชื่อที่ใช้เรียกกันแบบลำลอง ตามประวัติมีชื่อว่า ตึกถาวรวัตถุ หรือ หอพระสมุดวชิราวุธ เดิมเป็นอาคารซึ่ง ‘รัชกาลที่ 5’ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างด้วยพระราชประสงค์ 2 ประการ
ประการแรก เพื่อให้เป็นสถานที่เล่าเรียนของพระสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย หลังจากที่ได้โปรดให้ตั้ง ‘มหาธาตุวิทยาลัย’ ขึ้น ณ วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฏิ์ แต่ยังขาดสถานที่เรียนอันเหมาะสม
ประการที่สอง ประจวบกับที่ ‘สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฏราชกุมาร’ เสด็จสวรรคตเมื่อปีพ.ศ.2437 โดยพระราชประเพณีจะต้องสร้างพระเมรุมาศขนาดใหญ่ตามพระเกียรติยศ ขึ้นที่ท้องสนามหลวง
พระองค์ทรงพระดำริว่าเป็นการสิ้นเปลืองพระราชทรัพย์ไปในการสร้างสิ่งที่ไม่ได้ใช้ให้เป็นประโยชน์ถาวร เพราะเป็นการสร้างใช้งานชั่วคราวเท่านั้น เสร็จงานแล้วก็รื้อทิ้งไป
การแสดงแสงไฟบน 'ตึกแดง' งานสมโภช 338 ปี วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์
รัชกาลที่ห้าจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ เป็นผู้อำนวยการก่อสร้างอาคาร ตึกถาวรวัตถุ ขึ้น ณ บริเวณกุฎิสงฆ์วัดมหาธาตุฯ เพื่อเป็นที่เชิญพระบรมศพมาประดิษฐานบำเพ็ญพระราชกุศลทักษิณานุประทาน
หลังจากพระราชทานเพลิงพระบรมศพแล้วจะได้ทรงพระราชอุทิศถวาย ‘ตึกถาวรวัตถุ’ เป็นสังฆิกเสนาสน์สำหรับ ‘มหาธาตุวิทยาลัย’ ต่อไป แต่การก่อสร้างยังไม่แล้วเสร็จในรัชกาลของพระองค์
รัชกาลที่ 6 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างต่อจนเสร็จ แล้วพระราชทานให้เป็นที่ตั้ง ‘หอพระสมุดสำหรับพระนคร’ และเสด็จพระราชดำเนินทรงเปิด ‘ตึกถาวรวัตถุ’ เมื่อวันที่ 6 มกราคม 2459
ปัจจุบัน กรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียน 'ตึกถาวรวัตถุ' ไว้เป็นโบราณสถานสำคัญของชาติเมื่อปีพ.ศ.2520
2. ซุ้มประตูตึกแดง
แสงไฟที่ซุ้มประตูโค้งตึกแดง
กราฟิกแสงไฟถอดแบบลายไทยภายในวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฏิ์
บริเวณทางเข้างานสมโภชฯ จากท้องสนามหลวง หรือด้านหน้าของ ‘ตึกแดง’ มีลักษณะเป็นซุ้มโค้งและสูงคล้ายอุโมงค์ ได้รับการประดับแสงไฟที่เปรียบเสมือนกำลังเดินผ่านมิติจากด้านนอกเข้าสู่งานสมโภชบริเวณวัดมหาธาตุฯ
โดยมีการใส่เทคนิค Gobo หรือการจัดแสงไฟที่ถอดแบบมาจากลายเส้นงานจิตรกรรม ลายไทยภายในวัดมหาธาตุฯ และสามารถฉายให้เหมือนเคลื่อนไหวไปได้โดยรอบภายในอุโมงค์ พร้อมติดตั้งลูกบอลกระจกทำหน้าที่กระจายแสงไฟเป็นจุดเล็กจุดน้อยแตะแต้มไปทั่วผนังอุโมงค์
แสงไฟจุดนี้แสดงพร้อมกับ เสียงเพลงและดนตรี ที่ประพันธ์โดย โก้ มิสเตอร์แซกแมน ทำนองเพลงไทยเดิมร่วมสมัยและเนื้อเพลงที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฏิ์ ไพเราะรื่นรมย์น่าฟังยิ่ง
3. พระบวรราชานุสาวรีย์ สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท
พระบวรราชานุสาวรีย์ สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท
คณะผู้จัดแสดงแสงไฟถวายพระเกียรติ พระบวรราชานุสาวรีย์ สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท กรมพระราชวังบวรสถานมงคล (วังหน้า) ในฐานะทรงเป็นผู้สถาปนาวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ ด้วยการประดับแสงไฟให้มีเหมือนรัศมีกระจายออกมาจากด้านหลังพระบวรราชานุสาวรีย์
สมาคมศิษย์เก่าวัดมหาธาตุ เป็นผู้ดำเนินการสร้าง มีขนาดเท่าครึ่ง อยู่ในลักษณะประทับยืนบนเกย หันพระพักตร์ออกสู่สนามหลวง พระหัตถ์ทั้งสองยกพระแสงดาบเป็นท่าจบเป็นพุทธบูชา
ภายในบรรจุเนื้อดินซึ่งเก็บจากแผ่นดินที่สมเด็จพระบวรราชเจ้า มหาสุรสิงหนาท เสด็จกรีธาทัพเข้ามาเหยียบรวมทั้งสิ้น 28 แห่งไว้ใต้ฐาน ประดิษฐานอยู่ด้านหน้าพระวิหารโพธิลังกา
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 เสด็จพระราชดำเนินทรงประกอบพิธีเปิดพระบรมราชานุสาวรีย์ เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2522
4. ต้นพระศรีมหาโพธิ์
ต้นพระศรีมหาโพธิ์ อายุ 205 ปี
ได้รับการประดับแสงไฟในลักษณะการฉายลำแสงสีทองขึ้นไปให้มีความระยิบระยับเรืองรอง
พระศรีมหาโพธิ์ต้นนี้ปลูกเมื่อพุทธศักราช 2361พระสมณทูตไทยที่เดินทางไปสืบประวัติพระศาสนาในลังกาทวีป ได้ต้นพระศรีมหาโพธิ์จากเมืองอนุราธปุระ กลับมาถวาย พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย จำนวน 3 ต้น ซึ่งเป็นครั้งแรกที่ได้ต้นโพธิ์ลังกาเข้ามาในกรุงรัตนโกสินทร์
รัชกาลที่ 2 จึงพระราชทานให้ปลูกไว้ที่วัดมหาธาตุ อันเป็นที่สถิตสมเด็จพระสังฆราช จำนวน 1 ต้น, ให้ไปปลูที่วัดสระเกศฯ อันเป็นที่สถิตสมเด็จพระวันรัต จำนวน 1 ต้น และปลูกที่วัดสุทัศน์ ซึ่งเวลานั้นกำลังก่อสร้างอีก 1 ต้น
ต้นโพธิ์ลังกาที่พระราชทานให้วัดมหาธาตุ ได้ปลูกไว้ทางทิศเหนือของพระระเบียง ปรากฏอยู่ในทุกวันนี้
5. พระปรางค์
พระปรางค์องค์ขวาของพระอุโบสถ
มีการใช้แสงไฟส่องสว่างไปยัง องค์พระปรางค์ซ้ายและขวาของพระอุโบสถ เพื่อแสดงความงามของงานสถาปัตยกรรม พร้อมโรย ‘เทียนแอลอีดี’ ไว้บนบริเวณลานสนามหญ้าขององค์พระปรางค์
พระปรางค์องค์ใหญ่ทั้ง 2 องค์ บรรจุอัฐิธาตุของสมเด็จพระสังฆราช (ศุข) และสมเด็จพระสังฆราช (มี) องค์ปรางค์สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 2 มีฐานสูงรอบเป็นลานทักษิณ ฐานพระปรางค์เป็นฐานสิงห์มีซุ้มคูหาประดับลายปูนปั้นทั้ง 4 ทิศ ประดิษฐานพระพุทธรูปปางประทานอภัย เนื้อโลหะ
หลวงพ่อพระศรีสรรเพชญ์ พระประธานในพระอุโบสถ วัดมหาธาตุ
งาน สมโภช 338 ปี พระอารามหลวง วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ ราชวรมหาวิหาร พระอารามหลวงแห่งแรกของกรุงรัตนโกสินทร์ เริ่มแล้ววันนี้ 27 ธันวาคม 2566 ถึงวันที่ 2 มกราคม 2567 ณ วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร เวลา 08.30-22.00 น.
เชิญร่วมพิธีเจริญพระพุทธมนต์สมโภชพระอารามและถวายเพล สักการะ 5 สิ่งศักดิ์สิทธิ์ ชมนิทรรศการ 338 ปี เวทีเสวนาวิชาการ ชมการแสดงและฟังดนตรีในบรรยากาศแสงไฟตระการตา
เฉพาะ วันที่ 31 ธันวาคม 2566 กิจกรรม สวดมนต์ข้ามปี และเจริญสมาธิ เพื่อความเป็นสิริมงคล
นิทรรศการ 'เครื่องโต๊ะ' ธรรมเนียมนิยมในรัชกาลที่ 5
กิจกรรมนั่งรถลากย้อนยุคในงานฯ
การแสดงดนตรีไทยร่วมสมัยประกอบแสงไฟตระการตา
- 27 ธ.ค. 66 : THE SOUND OF SIAM
- 28 ธ.ค. 66 : วงดนตรีร่วมสมัยกอไผ่
- 29 ธ.ค. 66 : อ.ธนิสร์ ศรีกลิ่นดี และคุณปุ้ย ดวงพร พงศ์ผาสุก
- 30 ธ.ค. 66 : วงเสียงไทยคอรัส
- 31 ธ.ค. 66 : วง SU Feroci Light Orchestra โดย อาจารย์ดำริห์ บรรณวิทยกิจ
- 1 ม.ค. 67 : วง Thai Symphony Brass Quintet โดย อ.สุกรี เจริญสุข
- 2 ม.ค. 67 : วงขุนอิน เดอะบางสะพาน
เสื้อยืดที่ระลึกในวาระพิเศษ
บรรยากาศตลาดวันวาน ย่านวังหน้า ร.ศ.241
การแสดงวัฒนธรรม การแสดงดนตรีไทย, โขน, รำไทย, ลิเก, กองสะบัดชัย และโนราห์เยาวชน ชมเสน่ห์ตลาดวันวาน
- ตลาดวันวาน ย่านวังหน้า ร.ศ.241 : ลิ้มรสอาหารอร่อยแบบไทยโบราณ ของอร่อยประจำย่าน อุดหนุนงานหัตถศิลป์ เครื่องหอม เครื่องประดับ งานปั้น งานจักสาน และสินค้าเด่น
- เสน่ห์ย่านท่าพระจันทร์ : พบแพทย์แผนไทย นวดบำบัด ตำรับยาโบราณ พยากรณ์ดวงชะตา เลือกซื้อของเก่าของสะสม
- Workshop & DIY : จัดดอกไม้ถวายพระ จัดพานพุ่ม จัดโต๊ะหมู่บูชา ร้อยมาลัย
- สอยกัลปพฤกษ์ : อธิษฐานจิตรับรางวัลจากต้นกัลปพฤกษ์ สัญลักษณ์แห่งความสมบูรณ์
- ประวัติศาสตร์นอกห้องเรียน : ย้อนไปวันวาน เรื่องเล่าย่านวังหน้า ภาพเก่าเล่าเรื่อง
- เสริมศิริมงคล : จำหน่ายชุดสังฆทาน ไทยทาน ถวายพระ ของฝาก สำหรับญาติผู้ใหญ่ หรือบุคคลที่เคารพรัก เลือกของขวัญปีใหม่
- กิจกรรมเสบียงบุญ : ถวายสังฆทานพระสงฆ์, บริจาคร่วมบุญบูรณปฎิสังขรณ์วัด 339 บาท รับพระสมเด็จอรหัง เป็นที่ระลึกเพื่อการบูชา
จอดรถได้ที่ สนามหลวง ระหว่างเวลา 07.00 - 22.00 น. (เฉพาะวันงาน)