พิพิธภัณฑ์ห้างขายยาเบอร์ลิน อนุสรณ์แห่งความทรงจำ
ความสูญเสียพี่ชายผู้เป็นที่รัก สร้างปณิธานอันแรงกล้าให้แก่นายแพทย์ชัย ไชยนุวัติ เลือกเรียนหมอรักษาผู้ป่วย ก่อนนำไปสู่กิจการผลิตยารักษาโรคที่มีชื่อเสียงนับร้อยปี เรื่องราวทั้งหมดได้รับการถ่ายทอดผ่านพิพิธภัณฑ์ห้างขายยาเบอร์ลิน เพื่อเป็นอนุสรณ์แห่งความทรงจำ
ที่อาคารหัวมุมสี่แยกเสือป่า ถนนเจริญกรุง เป็นสถานที่ตั้งของพิพิธภัณฑ์ห้างขายยาเบอร์ลิน อนุสรณ์แห่งความทรงจำของนายแพทย์ชัย ไชยนุวัติ ผู้ก่อตั้งห้างขายยาเบอร์ลิน แบ่งพื้นที่เป็นโซนต่างๆ โซนแรกฉายวีดิทัศน์ โดยมีศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์เติมชัย ไชยนุวัติ บุตรชายคนโตของคุณหมอชัย เป็นผู้ถ่ายทอดเรื่องราวของครอบครัวฉบับย่อ พร้อมกับภาพถ่ายขาวดำประกอบคำบรรยายถึงเมืองไทยในอดีต ชวนผู้ชมย้อนนึกไปถึงสภาพสังคมสอดแทรกเหตุการณ์สำคัญๆ เกี่ยวข้องกับการแพทย์และสาธารณสุขในยุคที่ผู้คนยังคงนิยมรักษาตามแบบการแพทย์แผนไทย
ต่อมา ประเทศไทยติดต่อค้าขายกับต่างชาตินับตั้งแต่สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เกิดการหลั่งไหลของมิชชันนารีเผยแผ่ศาสนาคริสต์ คนไทยจึงได้เห็นวิทยาการสมัยใหม่ รวมทั้งการแพทย์แผนตะวันตก เข้ามาสู่สังคมมากขึ้น
ช่วงปลายรัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระมหาเจษฎาราชเจ้า คณะนักสอนศาสนานิกายโปรเตสแตนต์ นำโดยนายแพทย์คาร์ล ออกัสตัส เฟรดเดอริค กุตสลาฟ ชาวเยอรมันและสาธุคุณจาคอบ ทอมลิน ชาวอังกฤษ ร่วมกันสอนศาสนาและแจกหนังสือภาษาจีนและยาแก่ประชาชน
จากนั้นไม่นาน ดร.แดเนียล บรัดเลย์และดร.เรย์โนลด์ เฮาส์ สองนายแพทย์และมิชชันนารีชาวอเมริกัน เริ่มให้บริการวินิจฉัยและรักษาโรคแก่ชาวบ้าน โดยมีรูปแบบการดำเนินงานลักษณะคล้ายคลินิกและเปิดร้านขายยาแบบในปัจจุบัน
กระทั่งสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เกิดอหิวาตกโรคระบาดปีพ.ศ. 2424 อีกทั้งสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าศิริราชกกุธภัณฑ์ พระราชโอรสของพระองค์สิ้นพระชนม์ชีพด้วยโรคบิดยังความโทมนัสยิ่ง จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้จัดตั้งโรงพยาบาลชั่วคราวใน 48 ตำบล อีกทั้งมีพระราชประสงค์ก่อตั้งโรงพยาบาลศิริราช และเปิดโรงเรียนแพทย์เป็นครั้งแรก ที่มีการสอนวิชาแพทย์แผนปัจจุบัน โดยมีนายแพทย์โธมัส เฮวาร์ด เฮส์ แพทย์คณะมิชชันนารีเป็นอาจารย์สอนคนแรก
เมื่อการแพทย์แผนตะวันตกได้รับการยอมรับกว้างขวางในหมู่ชาวไทย ภาคเอกชนขยายธุรกิจเปิดร้านขายยามากขึ้น เช่น ห้างขายยาเต็กเฮงหยูของแปะลิ้มโอสถานุเคราะห์ ห้างขายยาอังกฤษ(ตรางู) โดยนายแพทย์โธมัส เฮส์ ส่วนภาครัฐบาลเปิดโอสถศาลาพยาบาลในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รวมทั้งเปลี่ยนกรมประชาภิบาลเป็นกระทรวงสาธารณสุข รูปแบบการรักษาคนไข้ก็ได้รับการพัฒนาอย่างไม่หยุดยั้ง
อีกทั้ง นายตงหยง แซ่ไช่ ชาวจีนกับภรรยาชาวไทย ผู้เป็นบิดาและมารดาของนายแพทย์ชัย แม้ลงหลักปักฐานในเมืองไทยแล้ว แต่ยังคงระลึกถึงครอบครัวในเมืองจีนและเห็นความสำคัญในวิชาความรู้ จึงส่งลูกๆ ไปอยู่กับญาติที่นั่น
นายแพทย์ชัย เมื่อครั้งยังเป็นเด็กชายไช่ เย็นเคียง ผู้มีใจแน่วแน่ที่จะเป็นหมอรักษาคนไข้หลังจากสูญเสียพี่ชายผู้เป็นที่รักด้วยโรคไทฟอยด์ จึงเดินทางไปศึกษาต่อในระดับมัธยมศึกษา และด้วยความพากเพียรทำให้เขาสอบได้ทุนเรียนต่อที่ Tongji German Medical School เป็นมหาวิทยาลัยสัญชาติเยอรมนี ณ มหานครเซี่ยงไฮ้ สาธารณประชาชนจีน โดยสถาบันการศึกษาดังกล่าวก่อตั้งขึ้นเพื่อเป็นโรงเรียนแพทย์และให้การรักษาชาวเยอรมันที่พักอาศัยในเมืองจีน
จากความมุ่งมั่น ทุ่มเทแรงกายแรงใจเพื่อการเรียนอย่างหนัก ทำให้ผลสอบของนายชัยอยู่ในเกณฑ์ดีเยี่ยม ได้รับการบันทึกชื่อนายแพทย์ชัย ไชยนุวัติ เพื่อเชิดชูเกียรติประวัติแพทยศาสตร์บัณฑิตแผนตะวันตก รวมทั้งได้รับการทาบทามให้เป็นอาจารย์สอน แต่ด้วยปณิธานที่จะกลับมาเมืองไทยเพื่อตอบแทนพระคุณพ่อแม่และแผ่นดินเกิด คุณหมอชัยจึงปฏิเสธ และขอใช้ชื่อตั้งกิจการเพื่อเป็นการรำลึกถึงประเทศแทน
ในปีพ.ศ. 2475 คุณหมอชัยเปิดคลินิกโดยใช้ชื่อ ห้างขายยาเบอร์ลิน รักษาผู้ป่วยชาวจีนที่พักอาศัยในย่านเยาวราช อุทิศตนรักษาคนไข้โดยไม่นึกถึงค่ารักษาพยาบาล บางรายที่ไม่มีเงินรักษา คุณหมอชัยก็ไม่ว่า แถมยังให้เงินค่ารถกลับบ้านไปอีกด้วย ชื่อเสียงของหมอชัย หรือชื่อที่คนทั่วไปเรียกว่า หมอเบอร์ลินก็เพี้ยนเป็นชื่อหมอแป๊ะลิ้ม เป็นที่จดจำในเวลาต่อมา
ในปีพ.ศ.2485-2486 ประเทศไทยเข้าสู่สงครามโลก ทำให้เกิดภาวะขาดแคลนยา ทางรัฐบาลไทยมีนโยบายนำสมุนไพรมาผลิตเป็นยารักษาโรค แม้สงครามยุติแล้วแต่ภาวะขาดแคลนยาตะวันตกยังมีอยู่ ซึ่งยาส่วนใหญ่ที่คุณหมอชัยผสมเพื่อจ่ายยาให้กับคนไข้ในคลินิกเบอร์ลิน นำหัวเชื้อมาจากจากประเทศเยอรมนี
เมื่อสงครามโลกเกิดขึ้นเป็นครั้งที่ 2 บริษัทดีลเลอร์จากบางประเทศ เช่น อังกฤษ ฝรั่งเศส จำเป็นต้องอพยพออกนอกประเทศ คุณหมอชัยจึงรับซื้อยาบางส่วนจากบริษัทยาเหล่านี้ ไม่นานนักประเทศไทยเกิดโรคไข้ป่าระบาด มีคนจากสถานทูตติดต่อขอซื้อยากับคลินิกเบอร์ลินที่สต็อกจากดีลเลอร์ นำไปแจกจ่ายให้กับทหารต่างชาติที่ประจำการในจังหวัดกาญจนบุรี
จากนั้น คุณหมอชัยขยับขยายกิจการเป็นธุรกิจผลิตและจำหน่ายยา เวชภัณฑ์จากสูตรที่คิดค้นขึ้นเอง ภายใต้ชื่อ เบอร์ลิน ฟาร์มาซูติคอลอินดัสตรี้ในปัจจุบัน ซึ่งเรื่องราวแต่ละช่วงชีวิตของคุณหมอชัยนั้น เด่นชัดขึ้นด้วยภาพถ่ายสมาชิกครอบครัว ภาพหมู่ที่มีคุณหมอชัยสวมชุดครุยพร้อมด้วยคณาจารย์และเพื่อนร่วมรุ่น ภาพคุณหมอชัยในชุดกาวน์ เคียงคู่กับข้าวของส่วนตัว ไม่ว่าจะเป็น ตะกร้าใส่ของใช้จำเป็น ตะเกียง เชิงเทียนโบราณ
บนกำแพงอีกด้านหนึ่งจัดแสดงเอกสารสำคัญ เช่น ใบสัญญาเช่าที่ดินระหว่างสำนักงานผลประโยชน์ของสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ อาชญาบัตรหรือใบอนุญาตให้ประกอบกิจการ ใบสำคัญลงบัญชีตราสินผู้ประกอบโรคศิลป ใบสัญญาเช่าโทรศัพท์ออกโดยกรมไปรษณีย์โทรเลข จดหมายเหตุแสดงรายการเครื่องหมายการค้า เล่มที่ 336 ฉบับวันที่ 18 พฤษภาคม 2493 กระดาษสำหรับบันทึกข้อความและนามบัตรของนายแพทย์ชัย ไชยนุวัติ
นอกจากนี้ มีการจัดพื้นที่จำลองบรรยากาศพื้นที่ภายในชั้น 2 ของอาคารเป็นจุดพักคอยของคนไข้ ห้องตรวจและวินิจฉัยโรค ห้องปรุงยา เคาน์เตอร์รับยา ตัวอย่างวัตถุดิบผสมยา ซึ่งในสมัยนั้นยาส่วนมากเป็นยาผง โดยคุณหมอชัยจะบดยาด้วยโกร่งให้ละเอียด และชั่งน้ำหนักแบ่งออกเป็นซองๆ ให้คนไข้นำไปเติมน้ำรับประทานเอง เช่นยาซัลฟาไดอะซีน(ยาฆ่าเชื้อ) ยาลดไข้ หรือให้เป็นยาน้ำ ซึ่งยาที่ห้างขายยาเบอร์ลินจ่ายให้คนไข้ในยุคนั้น คุณหมอชัยเป็นผู้คิดค้นสูตรของตนเองเพื่อใช้รักษาคนไข้ อันเป็นรากฐานในการก่อตั้งโรงงานผลิตยา กิจการที่ได้รับการสานต่อโดยทายาทรุ่นแล้วรุ่นเล่าตราบถึงปัจจุบัน
ผู้สนใจ สามารถเข้าชมพิพิธภัณฑ์ห้างขายยาเบอร์ลิน สี่แยกเสือป่า เปิดให้บริการทุกวัน (ยกเว้นวันจันทร์) ตั้งแต่ 08.30 - 16.30 น. สามารถเดินทางโดย MRT ลงที่สถานีวัดมังกร ค่าบัตรเข้าชมคนละ 50 บาทพร้อมรับถุงเป็นที่ระลึก รายได้จากการจำหน่ายบัตรเข้าชม มอบให้องค์กรการกุศล และสามารถนำบัตรดังกล่าวเป็นส่วนลดในการซื้อเครื่องดื่มในราคาพิเศษอีกด้วย