101 ปี พระราชวังพญาไท THE GLORY OF SIAM ครั้งแรกแสงสีเสียงชมวังพญาไทยามค่ำ
เปิดประวัติ 'พระราชวังพญาไท' ครั้งแรกในประวัติศาสตร์ชมความงามพระราชวังพญาไทในรูปแบบแสงสีเสียงแห่งราตรี Night Museum ในงานครบรอบ 101 ปี พระราชวังพญาไท THE GLORY OF SIAM จำหน่ายบัตรแล้ววันนี้
เมื่อ 100 กว่าปีที่แล้ว ในกรุงเทพฯ มีถนนสายสั้น ๆ เส้นหนึ่ง เริ่มต้นจากริมแม่น้ำเจ้าพระยา มาสุดด้านหลัง ‘พระราชวังดุสิต’ ที่ประทับของ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) ซึ่งต่อมาได้มีการเปลี่ยนแปลงพระราชวังดุสิตบางส่วนเป็นที่ทำการของรัฐบาล ประชาชนรู้จักกันในนามบริเวณลานพระบรมรูปทรงม้า
รัชกาลที่ 5 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามถนนสายนี้ว่า ถนนซางฮี้ (ปัจจุบันมักออกเสียงว่า ซังฮี้) อันเป็นคำมงคลของจีน มีความหมายว่า “ยินดีอย่างยิ่ง”
บริเวณปลายถนนซางฮี้ช่วงตัดใหม่นั้นเป็นสวนผักและไร่นา มีคลองสามเสนไหลผ่าน พื้นที่ยังโล่ง กว้าง อากาศโปร่งสบาย จึงเป็นที่ต้องพระราชหฤทัยเป็นอันมาก
พระราชวังพญาไทในอดีต
บริเวณพระราชวังพญาไทในอดีต
รัชกาลที่ 5 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ซื้อที่ดินประมาณ 100 ไร่เศษจากชาวนาชาวสวนบริเวณนั้น เพื่อใช้ทดลองปลูกธัญพืช และเป็นที่ประทับสำราญพระราชอิริยาบถ
โดยในปีพ.ศ.2452 ได้เริ่มก่อสร้าง พระตำหนักพญาไท ซึ่งชาวบ้านเรียกกันต่อมาว่า 'วังพญาไท' โดย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างเป็นพระตำหนักเป็นที่ประทับ
พื้นที่บริเวณตรงข้ามกับพระตำหนักพญาไท ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เป็นพื้นที่สำหรับเสด็จ ฯ ทอดพระเนตรการทำนา ปลูกผักและเลี้ยงสัตว์
โรงเรือนหลังแรกที่โปรดเกล้าฯ ให้สร้าง ณ ที่นี้ คือ ‘โรงนา’ ที่ได้พระราชทานนามว่า ‘โรงนาหลวงคลองพญาไท’ พร้อมกับโปรดเกล้าให้ย้าย งานพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ที่เคยประกอบที่ทุ่งพระเมรุ (ท้องสนามหลวง) มาจัดที่ทุ่งพญาไท
พระราชวังพญาไท ในอดีต
พระตำหนักพญาไท เป็นที่ประทับของ 'พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว' ในระยะเวลาเพียงอันสั้น พระองค์เสด็จสวรรคตวันที่ 23 ตุลาคม พ.ศ.2453
เมื่อ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติเป็น รัชกาลที่ 6 แห่งพระบรมราชวงศ์จักรี ได้พระราชทานนามถนนซางฮี้ใหม่ว่า ถนนราชวิถี ขณะที่ สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ได้ทรงย้ายมาประทับ ณ พระตำหนักพญาไทเป็นการถาวร ตราบเสด็จสวรรคตในปีพ.ศ.2462
หลังจากนั้น รัชกาลที่ 6 ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้รื้อ 'พระตำหนักพญาไท' พระราชทานแก่โรงเรียนมหาดเล็กหลวงกรุงเทพฯ คงไว้เพียง 'พระที่นั่งเทวราชสภารมย์' ซึ่งเป็นท้องพระโรง พร้อมกับทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ยกขึ้นเป็น พระราชวังพญาไท เพื่อเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระบรมชนกาธิราช และ สมเด็จพระบรมราชชนนี และให้สร้างพระที่นั่งขึ้นใหม่หลายองค์ด้วยกัน
บริเวณด้านหลังพระที่นั่งฯ
รัชกาลที่ 6 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งการพระราชพิธีเฉลิมพระที่นั่งตามพระราชประเพณี เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ.2465 ถือเป็นจุดเริ่มต้นของพระราชวังสำคัญแห่งหนึ่งของหน้าประวัติศาสตร์ชาติไทย
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ประทับ ณ พระราชวังแห่งนี้ไปโดยตลอดจนปีสุดท้ายแห่งรัชกาล
พระราชวังพญาไท ยังมีความสำคัญอีกประการหนึ่ง คือ เป็นที่ตั้งของ ‘ดุสิตธานี’ เมืองจำลองประชาธิปไตยตามพระราชดำริอีกด้วย
พระราชวังพญาไท
ต่อมารัชสมัย พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 7) ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ ‘กรมรถไฟหลวง’ ปรับปรุง พระราชวังพญาไท เป็นโรงแรมชั้นหนึ่งในนาม ‘โฮเต็ลพญาไท’ รับรองชาวต่างชาติแสดงถึงความเจริญรุ่งเรืองทัดเทียมสากลตามที่ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชประสงค์ไว้ และสำหรับรองรับพระราชดำริการจัดงานสยามรัฐพิพิธภัณฑ์
โฮเต็ลพญาไท เริ่มดำเนินกิจการเมื่อ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2468 โดยในระหว่างนั้นได้มีการใช้พระราชวังพญาไทเป็นที่ตั้งของสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งแรกของสยาม ออกอากาศเมื่อ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2473
กรมรถไฟได้ดำเนินการ ‘โฮเต็ลพญาไท’ ไปจนถึงวันที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ.2475 และปิดกิจการลง เนื่องจากเหตุการณ์การเปลี่ยนแปลงการปกครอง
ในเวลาต่อมา ‘กองทัพบก’ ได้ปรับปรุง พระราชวังพญาไท ให้เป็นสถานพยาบาล ได้มีการสร้างโรงพยาบาลทหารบกขึ้น ในบริเวณใกล้เคียงกับพระราชวัง และด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงได้ขนานนามโรงพยาบาลเพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติว่า โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า
พระที่นั่งเทวราชสภารมย์
ตราบจนปัจจุบัน พระราชวังพญาไท คงเหลือพระที่นั่งที่สร้างครั้งรัชสมัยรัชกาลที่ 5 เพียงองค์เดียว คือ พระที่นั่งเทวราชสภารมย์ ส่วนพระที่นั่งองค์อื่น ๆ ล้วนสร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 6 โดยมีนามคล้องจองกัน (ตามลำดับ) ได้แก่
- ไวกูณฐเทพยสถาน
- พิมานจักรี
- ศรีสุทธนิวาส
- เทวราชสภารมย์
- อุดมวนาภรณ์
ลักษณะของสถาปัตยกรรมอันโดดเด่นของ พระราชวังพญาไท คือ หอคอยสูงและหลังคายอดแหลมของพระที่นั่งพิมานจักรี ภายในมีภาพเขียนแบบปูนเปียกเป็นลวดลายงดงามแบบตะวันตก
พระที่นั่งพิมานจักรี และ พระที่นั่งไวกูณฐเทพยสถาน
มูลนิธิอนุรักษ์พระราชวังพญาไท ในพระอุปถัมภ์ สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี เปลี่ยนแปลงสถานะมาจาก ‘ชมรมคนรักวัง’ ก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ.2540 รู้สึกสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณและคุณูปการของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (ล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 6 แห่งราชวงศ์จักรี)
ดำริจัดงาน “101 ปี พระราชวังพญาไท” THE GLORY OF SIAM ในรูปแบบพิพิธภัณฑ์ยามค่ำคืน (Night Museum) เพื่อเฉลิมฉลอง พระราชวังพญาไท ครบรอบ 101 ปี ถือเป็นหมุดหมายสำคัญยิ่ง ที่ศิลปินผู้ออกแบบจะได้แสดงสถานที่อันทรงคุณค่าสู่สายตาประชาชนชาวไทยและชาวต่างชาติให้เข้ามาชื่นชมความงดงามของ พระราชวังพญาไท
งาน 101 ปี พระราชวังพญาไท THE GLORY OF SIAM
คณะดำเนินงานฯ ได้ออกแบบสร้างสรรค์ระบบ แสงสีเสียง ให้กับ พิพิธภัณฑ์ยามค่ำคืน (Night Museum) อันเป็นเอกลักษณ์ที่รังสรรค์ออกมาเป็นรูปธรรมโดยเฉพาะงาน “101 ปี พระราชวังพญาไท” THE GLORY OF SIAM ที่จะเกิดขึ้นนี้
ถือเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ชาติไทยที่จะได้รับชมความงามของพระราชวังพญาไทในรูปแบบแสงสีเสียงแห่งราตรี พิพิธภัณฑ์ยามค่ำคืน ตื่นตาตื่นใจกับความงามอันทรงพลัง ให้ผู้คนได้ชื่นชมงานศิลปะที่สร้างจากการฉายแสงภาพศิลปะบนอาคารเคลื่อนไหวเสมือนเข้าสู่ภาพศิลปะนั้น
ไม่ว่าจะเป็น พระที่นั่งพิมานจักรี, พระที่นั่งไวกูณฐเทพยสถาน, พระที่นั่งเทวราชสภารมย์, ห้องธารกำนัล หรือ ห้องรับแขก, สวนโรมัน และสถานที่สักการะท้าวหิรัญพนาสูร ส่งแสงสีเสียง อันอลังการ อย่างวิจิตร ตราตรึงอยู่ในใจ ด้วยเป้าหมายในการพัฒนางานสมโภชที่ยิ่งใหญ่ของคนไทยให้ทัดเทียมงานสมโภชระดับโลก
สวนโรมันหลังพระที่นั่ง รูปหล่อสัมฤทธิ์พระวรุณกลางสระ ปั้นโดย อ.ศิลป์ พีระศรี
การจัดงานครบรอบ “101 ปี พระราชวังพญาไท” THE GLORY OF SIAM ในครั้งนี้ จะมีการจัด งานแสดง แสง สี เสียง สื่อผสม รวมถึงกิจกรรมต่างๆ ระหว่าง วันพุธที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2567 ถึงวันเสาร์ที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2567 รวมเป็นเวลา 32 วัน ตั้งแต่เวลา 18.00 - 21.30 น. ณ พระราชวังพญาไท เลขที่ 315 ถนนราชวิถี แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร
มูลนิธิอนุรักษ์พระราชวังพญาไท คณะผู้จัดงาน “101 ปี พระราชวังพญาไท” THE GLORY OF SIAM เริ่มจำหน่ายบัตรเข้าชมงานฯ วันที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2567 ผ่าน 3 ช่องทาง คือ Agoda, KKday, Zipevent