ประปาแม้นศรี ป้อมมหากาฬ ศาลาว่าการ กทม.1 แสงสีสุดฉ่ำ Bangkok Design Week 2024
Bangkok Design Week 2024 ให้สถานที่ปิดร้าง ‘ประปาแม้นศรี’ เป็น creative face ของพระนคร, ป้อมมหากาฬ โชว์คำสัญญาพื้นที่สันทนาการหลังพลบค่ำ, ศาลาว่าการ กทม.1 เสาชิงช้า จากสถานที่ราชการสู่พื้นที่พลเมือง
เทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ 2567 หรือ Bangkok Design Week ปีนี้ (BKKDW 2024) สถานที่ที่เป็นประวัติศาสตร์ในย่านเก่าแก่ของกรุงเทพฯ หรือ ย่านเมืองเก่า เขตพระนคร ได้แก่ ประปาแม้นศรี ป้อมมหากาฬ สวนรมณีนาถ และ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (ศาลาว่าการ กทม.1 เสาชิงช้า) ได้รับการสร้างสรรค์ด้วยงานออกแบบที่อาบไปด้วยแสงสีเสียงตระการตา เป็นที่ดึงดูดความสนใจของผู้เข้าชมงานเป็นอันมาก
การออกแบบพื้นที่ ย่านเมืองเก่า เขตพระนคร ทั้ง 4 แห่งดังกล่าวของศิลปิน ได้รับการสนับสนุนโดยผู้พัฒนาที่พักอาศัย บริษัท แอล.พี.เอ็น.ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ LPN ผ่านโปรเจคที่ตั้งชื่อร่วมกันว่า ExperienceScape นำเสนอเรื่องราวความ ‘น่าอยู่’ ซึ่งเป็นปรัชญาหนึ่งของ LPN และสอดคล้องกับธีมของ BKKDW 2024 ด้วยพอดี
มนพัทธ์ ศุภกิจจานุสันติ์ Head of Brand Development LPN
“ความ ‘น่าอยู่’ เป็นหนึ่งในแนวคิด Livable Living Experience ของ LPN ที่มุ่งมั่นในการพัฒนาที่อยู่อาศัยอย่างมีคุณภาพ เปิดโอกาสให้ทุกคนในชุมชนนั้นๆ หรือลูกบ้านในตึกในอาคารมีส่วนร่วมในการสร้างความน่าอยู่ รวมถึงให้ความสำคัญกับการสร้างสังคมดี สังคมน่าอยู่ และสร้างสุขภาวะที่ีดีทั้งทางกายและทางใจ” มนพัทธ์ ศุภกิจจานุสันติ์ Head of Brand Development บริษัท LPN กล่าว
แนวคิด ‘ความน่าอยู่’ นี้ ยังสอดคล้องกับธีม ‘Livable Scape คนยิ่งทำ เมืองยิ่งดี’ ธีมการจัดงาน “เทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ 2567” หรือ Bangkok Design Week 2024 (BKKDW 2024) ของ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) หรือ CEA
ที่ต้องการสร้างการรับรู้ไปยังกลุ่มเป้าหมายที่เป็นคนรุ่นใหม่ อีกทั้งยังเป็นการกระตุ้นให้ทุกคนออกมามีส่วนร่วมทำสิ่งเล็ก ๆ รอบตัว เพื่อช่วยให้ กรุงเทพฯ เป็น เมืองน่าอยู่ น่าลงทุน น่าเที่ยว รวมทั้งยังเป็นเวทีที่เปิดโอกาสให้นักออกแบบ นักสร้างสรรค์ มาแสดงผลงานอีกด้วย
โปรเจค ExperienceScape เกิดขึ้นจากการจับมือกันระหว่าง Urban Ally, DecideKit และ LPN เชิญชวนศิลปินแถวหน้าทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ มาร่วมผลิตผลงานศิลปะ New Media Art และ Projection Mapping
เพื่อเปลี่ยนพื้นที่สาธารณะ ฟื้นพื้นที่ที่เคยปิดร้าง และมรดกทางสถาปัตยกรรมเก่าแก่ประจำย่าน ให้กลายเป็น แหล่งรวมงานสร้างสรรค์ ที่มอบประสบการณ์ใหม่ในการอยู่อาศัยให้กับผู้คนในย่านเก่า
ประปาแม้นศรี
Projection Mapping บนหอเก็บน้ำ
ประปาแม้นศรี หรือที่ตั้งของ ‘การประปานครหลวง’ แห่งแรกของไทย ตามพระราชดำริใน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) จุดเด่นของสถานที่แห่งนี้คือ หอเก็บน้ำ ที่มีขนาดใหญ่และสูง จำนวน 2 หอ และเป็นหอเก็บน้ำแห่งแรกของพระนคร
พื้นที่ที่เป็นที่ตั้งหอเก็บน้ำของ 'ประปาแม้นศรี' ปิดร้างมานานเกือบ 20 ปี หลังการประปานครหลวงย้ายสำนักงานใหญ่แห่งนี้ไปอยู่ที่สามเสน
ดร.พีรียา บุญชัยพฤกษ์ รองผู้อำนวยการ ศูนย์มิตรเมือง (Urban Ally) คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร คณะทำงานในโปรเจค ExperienceScape กล่าวว่า
“พื้นที่ตรงนี้พิเศษมาก เราเคยไปดูงานแข่งขันประกวดนานาชาติของ Projection Mapping เราไม่เคยเห็นฉากแบบนี้เลยที่มีหอเก็บน้ำขนาดใหญ่ 2 หอ วางคู่กัน”
งาน Bangkok Design Week นำเสนอพื้นที่ประปาแม้นศรีครั้งแรกเมื่อปี 2023 ในความหมาย living room หรือพื้นที่นั่งเล่น มีการแสดง Projection Mapping คอนเซปต์ ‘การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ’
สำหรับ Bangkok Design Week ปีนี้ ศูนย์มิตรเมือง (Urban Ally) วางโจทย์ให้ประปาแม้นศรีเป็น creative face ของพระนคร โดยเชิญนักออกแบบหลากหลายสาขาร่วมสร้างสรรค์งาน Projection Mapping จำนวน 4 เรื่อง ฉายต่อเนื่องกัน บนหอเก็บน้ำทั้ง 2 หอ
Projection Mapping บนหอเก็บน้ำ
ดร.พีรียา กล่าวว่าเรื่องราว Mapping บนหอเก็บน้ำทั้งสองหอมีความอินเตอร์แอคทีฟกัน เรื่องแรกสร้างสรรค์โดย Kor.Bor.Vor เล่าเรื่อง Back to the Past พูดถึงมิสเตอร์แอนด์มิสซิสแทงค์ (หอเก็บน้ำ) ซึ่งอยู่ในสถานที่ที่ผ่านเรื่องราวมายาวนานและถึงเวลาที่จะปลุกให้พวกเขาขึ้นมาเล่าความทรงจำเหล่านั้นให้พวกเรารับรู้
เรื่องที่สอง From Now to Future โดย DecideKit พูดถึงปัจจุบันที่มีปัญหาเรื่องมลภาวะ ฝุ่นควัน โลกใต้น้ำ
เรื่องที่สาม Through Your Eyes ออกแบบภาพลวงตาจากเสียง สร้างสรรค์โดย Jeremy Oury ศิลปินมัลติมีเดีย (Multimedia Artist) ชาวฝรั่งเศส ผู้ได้รับรางวัลและจัดแสดงผลงานในการจัดประกวด Mapping Festival มาแล้วทั่วโลก
เรื่องที่สี่ The Vessel พาดำดิ่งสู่ใจกลางของการเล่าเรื่องในเมือง เฉลิมฉลองการค้นพบบ้านชั่วคราวในหอเก็บน้ำที่ถูกลืมเลือนของกรุงเทพฯ ด้วยผลงานอันมีชีวิตชีวา สร้างสรรค์โดย The Fox, The Folks ทีมศิลปะมัลติมีเดียจากเมืองบันดุง ประเทศอินโดนีเซีย มีความเชี่ยวชาญในรูปแบบ 2D และการเล่าเรื่อง
บริเวณใต้หอเก็บน้ำ ของประปาแม้นศรี
แสงไฟคอนเซปต์ The Retro-Futurism
สร้างคอนเทนต์ตามสไตล์แต่ละคน
ใต้หอเก็บน้ำทิศเหนือยังมีการจัดแสดงแสงไฟในคอนเซปต์ The Retro-Futurism งานออกแบบแสงสว่างโดยทีม Lightis and Friends ส่องเน้น ‘หอเก็บน้ำ’ ซึ่งเป็นแลนด์มาร์คของพื้นที่ โชว์องค์ประกอบทางสถาปัตยกรรมภายนอก เช่น โครงสร้างเสา ส่วนโค้งของคานและใต้หอเก็บน้ำ สื่อเป็นสัญลักษณ์ของอนาคตและสิ่งที่ถูกจินตนาการไว้ล่วงหน้าแต่ยังมาไม่ถึง โดยใช้แสงสว่างสีขาวฟ้า (Daylight) บ้างเป็นแถบริ้วรูปวงกลม บ้างเป็นลำแสงที่หมุนวน
ส่วนแกนกลางภายในของแทงค์เก็บน้ำและบันไดที่สื่อถึงสัญลักษณ์ของจุดตั้งต้นและอดีต ส่องเน้นด้วยแสงสีส้มอำพัน(Amber light)
บริเวณนี้เปิดโอกาสให้ผู้เข้าชมมีกิจกรรมร่วมกับงานออกแบบแสง เพราะเมื่อเข้าไปยืนถ่ายรูปหรือคลิปท่ามกลางแสงที่ออกแบบไว้ จะได้ภาพถ่ายและคลิปวิดีโอที่สวยงามแปลกตา
แสงไฟส่องอาคารสำนักงานร้างของประปาแม้นศรี
ขณะที่อาคารสำนักงานขนาดใหญ่ฝั่งทิศตะวันตกที่เป็นอาคารร้างได้รับการออกแบบแสงไฟเพื่อให้ตึกมีภาพลักษณ์ใหม่ มีความสว่าง สะอาดตา ให้ความรู้สึกปลอดภัย
บรรยากาศห้อง The Sun
อาคารหลังคาทรงโดมด้านถนนบำรุงเมืองยังจัดแสดงนิทรรศการศิลปะผลงานของ Teayii (เตยยี่) ประภัสสร กาญจนสูตร ศิลปินผู้ทำให้ภาษาไทยกลายเป็นงานศิลปะให้กำลังใจ ซึ่ง LPN เชิญมาร่วมแสดงงานครั้งนี้
นิทรรศการแบ่งเป็นสองห้องที่เดินเชื่อมถึงกัน เตยยี่ตั้งชื่อห้องแรกว่า The Sun ห้องถัดไปชื่อ The Moon
คอนเซปต์ทั้งสองห้องเกี่ยวกับการอยู่บ้าน ข้อความในห้องแรก ‘เดอะซัน’ ก่อนคุณออกจากบ้านไปทำงานคุณจะได้รับแรงบันดาลใจให้เจอวันที่สดใส ขณะที่ห้องเดอะมูน หลังจากทำงานเหนื่อยล้ามาทั้งวัน ข้อความในห้องนี้จะทำให้คุณรู้สึกได้พักได้
บรรยากาศห้อง The Moon
มนพัทธ์ กับงานของ 'เตยยี่'
“ห้องเดอะซันเหมือนให้พลัง ห้องเดอะมูนให้คุณได้พัก เราอยากให้คนที่เข้ามาชมงาน ExperienceScape ได้มีพื้นที่พักผ่อน และเข้าใจแนวคิด LPN ไม่มากก็น้อย” มนพัทธ์ กล่าวถึงการจัดนิทรรศการของเตยยี่
เพิ่มพลังในห้อง The Sun กับหลากหลายข้อความ เช่น เธอคือแสงสว่างของตัวเธอ, อย่ายอมแพ้ เราต่างเป็นนักสู้ในแบบของเรา, ขอเพียงเรื่องเดียว อย่าหมดหวังในตัวเอง, บ้านหลังนี้สนับสนุนให้ทุกคนเชื่อในตัวเอง ฯลฯ
ออกไปที่ ‘ประปาแม้นศรี’ แล้วดูว่าห้อง The Moon เตยยี่เขียนข้อความอะไรไว้บ้าง อ่านมันด้วยตัวคุณเอง
ป้อมมหากาฬ
Projection Mapping บนสถาปัตยกรรมป้อมมหากาฬ
ป้อมมหากาฬ หนึ่งในป้อมรักษาพระนคร สร้างสมัยรัชกาลที่ 1 ที่ยังคงเหลืออยู่ ครั้งหนึ่งเคยมีชุมชนอยู่ใกล้ๆ และได้ย้ายออกไป พื้นที่นี้ก็ไม่ได้ใช้งานอะไรอีก
“เราคิดว่าถ้ามีการเพิ่มเติมประสบการณ์พิเศษให้คนเข้ามาใช้ได้ในยามค่ำคืน น่าจะเป็นผลดีกับคนเมือง เพราะป้อมเข้าถึงได้หลายทาง เป็นโบราณสถานแห่งหนึ่งที่สวยงามมาก” ดร.พีรียา บุญชัยพฤกษ์ กล่าว
Projection Mapping บนสถาปัตยกรรมป้อมมหากาฬ
งานออกแบบที่ ป้อมมหากาฬ สร้างสรรค์โดย The Motion House และ From Object To Studio Projection Mapping ชักชวนนักสร้งสรรค์อีก 7 กลุ่ม มาสร้างสรรค์ Projection Mapping ภายใต้คอนเซปต์ Join (joy) together หรือ ‘มาหากัน’ คล้ายคลึงกับการออกเสียงชื่อป้อม ‘มหากาฬ’ ความหมายคือให้คนมาอยู่รวมกัน ทำงานร่วมกัน
Projection Mapping บนสถาปัตยกรรมสีขาวของป้อมมหากาฬ เล่าเรื่องงานศิลปะของศิลปินท้องถิ่น ผสานการสร้างภาพลวงตาในหัวข้อ Living in a color รวมแล้วจำนวน 8 เรื่อง ฉายต่อเนื่องกันไป ความยาวประมาณ 20 นาที/รอบ
ทำให้โบราณสถานแห่งนี้ดูสวยงามแปลกตา น่าสนใจที่จะอยู่เรียนรู้ความเป็นมา..กว่าที่เคยเพียงนั่งรถผ่านไป
จุดยืนชมผลงาน 'ใบไม้เปลี่ยนสีที่ผ่านฟ้า'
หากเดินมาจากสะพานผ่านฟ้าลีลาศ จะพบจุดแสดงงานอีกจุดชื่อ ใบไม้เปลี่ยนสีที่ผ่านฟ้า ผลงานโดย FOS Design Studio งานออกแบบแสงไฟที่แสดงถึงการผลัดเปลี่ยนเวลา และ ‘ลำคลอง’ ที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นเส้นทางสัญจรหลักของพระนครแห่งนี้
เมื่อยืนอยู่บริเวณที่กำหนดบนสะพานผ่านฟ้าลีลาศ คุณจะได้เห็นภาพใบไม้ของต้นไม้ริมคลองเปลี่ยนสีตามแสงไฟ เลยออกไปเป็นภาพ ‘สะพานมหาดไทยอุทิศ’ ประดับแสงไฟสีเหลืองนวลเผยให้เห็นความสวยงามของประติมากรรมบนสะพาน ถัดออกไปเป็นภาพยอดภูเขาทอง วัดสระเกศฯ อันเรืองรองท่ามกลางยามราตรี และภาพทั้งหมดยังสะท้อนอยู่ในสายน้ำในลำคลองงดงามราวภาพวาด
เมื่อถนนเข้ามาแทนที่ลำคลอง อาจทำให้คนลืมภาพที่เคยงดงามมีชีวิตชีวาในอดีต โดยเฉพาะเมื่อเวลาดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้า พื้นที่รอบป้อมมหากาฬเคยถูกคาดหวังให้เป็นพื้นที่สันทนาการพักผ่อนหย่อนใจ แต่กลับยังไม่เป็นดังคิด
ดังนั้นคงดีไม่น้อย หากวิชาชีพออกแบบแสงสว่างได้มีส่วนร่วมในการจุดภาพฝันเมื่อครั้งพระนครยังคงมีชีวิตชีวา ให้กลับมาอีกครั้ง พร้อมเน้นความงามขององค์ประกอบเมืองที่สวยงามตามยุคสมัย
“หลังจากงานนี้ออกไป ทราบว่า ‘กรุงเทพมหานคร’ มองเห็นว่าสวยงามมากเมื่อมีการใช้แสงไฟ เริ่มตั้งโครงการพัฒนาเรื่องแสงไฟอย่างถาวรในบริเวณนี้แล้วโดยมีงานนี้ของ Bangkok Design Week เป็นต้นแบบ” ดร.พีรียา บุญชัยพฤกษ์ กล่าว
ศาลาว่าการ กทม.1 (เสาชิงช้า)
ดร.พีรียา บุญชัยพฤกษ์ กับดีไซน์ People Pavilion
การจัดแสดงงานออกแบบที่ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (เสาชิงช้า) ครั้งนี้มีความหมายมาก ดร.พีรียา บุญชัยพฤกษ์ กล่าว เนื่องจาก ‘กรุงเทพมหานคร’ กำหนดนโยบายย้ายข้าราชการในศาลาว่าการฯ เสาชิงช้า ไปทำงานที่ ศาลาว่าการฯ ดินแดง เริ่มในเดือนสิงหาคม 2567
“Urban Ally กำลังศึกษาว่าตรงนี้ควรเป็นอะไรบ้าง เป็นการทดลองเปลี่ยนสถานที่ราชการให้คนทั่วไปสามารถเข้าไปใช้ได้ เป็นสถานที่ของพลเมืองจริง ๆ นอกเวลาราชการคนสามารถใช้งานอย่างไรได้บ้าง”
การเปลี่ยน สถานที่ราชการ เป็น พื้นที่พลเมือง ทีม Urban Ally คิดไว้ 2 คอนเซปต์ด้วยกัน คือ
- ทะลุผ่าน ให้กลายเป็นเมือง 15 นาที เนื่องจากศาลาว่าการฯ เสาชิงช้า เป็นอาคารบล็อกขนาดใหญ่ การทะลุผ่านเปรียบเสมือนการทลายบล็อกขนาดใหญ่ ทำให้คนเดินทางจากฝั่งหนึ่งไปฝั่งหนึ่งได้ง่ายขึ้นโดยไม่ต้องเดินอ้อม
- การเปลี่ยนสถานที่ราขการเป็นพื้นที่พลเมือง ด้วยการสร้าง People Pavilion สำหรับการทำกิจกรรมและจัดนิทรรศการ
หอพระ ศาลาว่าการ กทม.1
ใน เทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ 2567 มีการจัดแสดงผลงาน Projection Mapping ที่บริเวณ ‘หอพระ’ ภายใน ศาลาว่าการ กทม.1 เสาชิงช้า โดยศิลปินกลุ่ม Yimsamer บอกเล่าเรื่องราวของวัฒนธรรมตะวันออกผ่าน ‘ดอกบัว’ สัญลักษณ์ของความบริสุทธิ์ การตระหนักรู้ และการตื่นรู้ทางจิตวิญญาณ ผ่านการเจริญเติบโตจากดินโคลนสู่การเป็นดอกไม้บริสุทธิ์ซึ่งเปรียบได้ดั่งการเดินทางของวิญญาณ
โอกาสสุดท้าย เทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ 2567 หรือ Bangkok Design Week 2024 (BKKDW2024) จัดแสดงระหว่างวันที่ 27 มกราคม - 4 กุมภาพันธ์ 2567 ตั้งแต่เวลา 11.00 - 22.00 น.