ที่มาภาพกราฟิก กรมสมเด็จพระเทพรัตนฯ บนพื้นสีม่วง จากหัวใจอาจารย์ ม.ศิลปากร
เปิดที่มาภาพลายเส้น สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี บนพื้นสีม่วง ประชาชนรวมพลังรวมใจแชร์ผ่านโซเชียลมีเดีย น้อมเกล้าฯ ถวายกำลังใจ กรมสมเด็จพระเทพรัตนฯ สร้างสรรค์ด้วยหัวใจโดย อาวิน อินทรังษี อาจารย์มหาวิทยาลัยศิลปากร
เริ่มต้นสัปดาห์ที่สองของเดือนกุมภาพันธ์ 2567 เป็นต้นมา เกิดปรากฏการณ์รวมใจครั้งยิ่งใหญ่ในสังคมไทยผ่านโลกออนไลน์ เมื่อประชาชน บุคคลสำคัญในสังคมหลากหลายสาขาอาชีพ หน่วยงานราชการ องค์กรภาครัฐ-เอกชน พร้อมใจกันเปลี่ยนภาพ cover สื่อโซเชียลมีเดียส่วนตัว และแชร์ ภาพลายเส้น สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี บนพื้นสีม่วง เพื่อทูลเกล้าฯ ถวายกำลังใจแด่พระองค์
สืบเนื่องจากกรณี ‘ตะวัน’ หรือนางสาว ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ อดีตสมาชิกกลุ่มทะลุวัง ชูสัญลักษณ์สามนิ้วต่อหน้าสื่อมวลชนอยู่เสมอ พยายามขับรถแทรกขบวนเสด็จกรมสมเด็จพระเทพรัตนฯ พร้อมกับบีบแตรดังตลอดทางเมื่อวันที่ 4 ก.พ.2567 และเคลื่อนไหวต่อเนื่องด้วยการทำโพลเกี่ยวกับขบวนเสด็จฯ อีกครั้งเมื่อวันที่ 10 ก.พ.
ภาพ cover ลายเส้น กรมสมเด็จพระเทพรัตนฯ บนพื้นสีม่วง
ทั้งนี้ ภาพลายเส้น กรมสมเด็จพระเทพรัตนฯ บนพื้นสีม่วง ที่ได้รับการแชร์กันอย่างมากมายอยู่ในขณะนี้ เป็นผลงานการสร้างสรรค์ด้วยใจภักดิ์ของ รศ. อาวิน อินทรังษี อาจารย์ประจำคณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร
โดย สีม่วง เป็นสีประจำพระชนมวารของ กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ซึ่งเสด็จพระราชสมภพ ‘วันเสาร์’
ภาพลายเส้น กรมสมเด็จพระเทพรัตนฯ บนพื้นสีม่วง สำหรับ desktop
รศ.อาวิน อินทรังษี กล่าวถึงแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์ภาพลายเส้น กรมสมเด็จพระเทพรัตนฯ บนพื้นสีม่วงภาพนี้ ผ่านบัญชีเฟซบุ๊ก Arwin Intrungsi ว่า
“ขอขอบคุณทุกท่านที่ได้นำภาพวาดกรมสมเด็จพระเทพฯ ไปใช้เป็นหน้าปก หรือแชร์ในเพจของทุกท่านนะครับ ในช่วงเวลานี้เป็นเรื่องดีที่เราจะแสดงถึงความรักที่เรามีต่อพระองค์ และแสดงให้รู้ว่าประชาชนจะยืนเคียงข้างพระองค์เสมอ
ภาพนี้ ผมทำไว้ตั้งแต่ปีที่แล้ว เป็นภาพกราฟิกที่มาจากภาพถ่ายภาพหนึ่งที่สมเด็จพระเทพฯ ตามเสด็จ ในหลวง ร.9 ไปทรงงานในถิ่นทุรกันดาร
ผมเห็นสมเด็จพระเทพฯ ภาพนี้เหมือนเห็นในหลวง ร.9 ทรงพระปรีชาหลายด้านเหมือนสมเด็จพ่อของท่าน และท่านทรงงานเพื่อประชาชนตลอดเวลา ทรงเป็นแบบอย่างของคนที่มีหน้าที่และรู้จักทำหน้าที่ของตนเอง
ทั้งยังทรงเป็นกันเองไม่ถือพระองค์กับประชาชน นับว่าทรงดำเนินรอยตามในหลวง ร.9 โดยแท้
ผมมีบุญได้เฝ้าทูลละอองพระบาทหลายครั้ง เห็นท่านครั้งใดก็ชื่นใจ ปลาบปลื้มใจ ครั้งหนึ่งท่านมีพระราชปฏิสันถารกับผู้เข้าเฝ้า ท่านตรัสว่าอายุมากแล้ว อยากหยุดก็ยังหยุดไม่ได้ ยังต้องทรงงานอยู่ตลอด
ผมคิดในใจว่าท่านเป็นเจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดิน ที่จริงจะอยู่เฉยๆ ก็ได้ ไม่มีใครว่า แต่เพราะท่านมีความรับผิดชอบต่อหน้าที่และทรงมีพระเมตตามาก ใครขอเฝ้าท่านก็ให้เฝ้า หรือทูลเชิญเสด็จไปไหนท่านก็ไปให้”
อาจารย์ อาวิน อินทรังษี ติดแท็ค #ขอจงทรงพระเจริญยิ่งยืนนาน #เรารักกรมสมเด็จพระเทพ ไว้ที่โพสต์ดังกล่าว
ภาพลายเส้น กรมสมเด็จพระเทพฯ โดย อ.อาวิน อินทรังษี สำหรับสมาร์ทโฟน
นอกจากนี้ รศ. อาวิน อินทรังษี ยังได้จัดทำภาพดังกล่าวสำหรับใช้เป็น desktop wallpaper และ หน้าจอสมาร์ทโฟน เพิ่มเติมอีกด้วย พร้อมกับโพสต์ชี้แจงเพิ่มเติมว่า
“มีหลายท่านส่งข้อความเป็นจำนวนมากขออนุญาตแชร์ภาพ แชร์ได้เลยนะครับ ยินดีมากๆ ขออภัยที่ไม่ได้เข้าไปอ่านและตอบทุกท่านนะครับ สำหรับท่านใดอยากนำภาพไปพิมพ์เป็นเสื้อ เป็นธงหรืออื่นๆ ที่เหมาะสม เพื่อใช้เองหรือ 'แจกจ่าย' และ 'ไม่ใช่การทำเพื่อการค้า' สามารถนำไปทำได้เลยนะครับ ผมอนุญาต”
ภาพพระบรมฉายาลักษณ์คลิปอาร์ต กรมสมเด็จพระเทพฯ
เวลาต่อมา รศ.อาวิน ได้โพสต์ ภาพพระบรมฉายาลักษณ์คลิปอาร์ต กรมสมเด็จพระเทพรัตนฯ จากโครงการออกแบบอัตลักษณ์เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวเมืองรองในจังหวัดภาคเหนือ โดยการสนับสนุนของกองทุนส่งเสริมศิลปะร่วมสมัย สำนักศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม พร้อมข้อความ “ทรงพระเจริญ”
นอกจากงานวิชาการ รศ.อาวิน อินทรังษี ยังมีผลงานการออกแบบอัตลักษณ์และตราสัญลักษณ์ อาทิ
- เป็นผู้ชนะการประกวดออกแบบตราสัญลักษณ์ของสถานีโทรทัศน์ ไทยพีบีเอส
- เป็นผู้ออกแบบตราสัญลักษณ์ของสถาบันดนตรีกัลยาณิวัฒนา
- ออกแบบตราสัญลักษณ์ของมหาวิทยาลัยพะเยา
- เป็นที่ปรึกษาให้คำแนะนำวิธีคิดและแนวทางการออกแบบ ผู้เข้าการประกวดออกแบบตราสัญลักษณ์การประชุมผู้นำความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (เอเปค) ครั้งที่ 29 ระหว่างวันที่ 18-19 พ.ย.2565 ซึ่งประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ โดยผลงานของนาย ชวนนท์ วงศ์ตระกูลจง นิสิตชั้นปีที่ 2 ภาควิชาสถาปัตยกรรม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจมาจาก “ชะลอม" ได้รับเลือกให้เป็นตราสัญลักษณ์การประชุมเอเปคในไทยปีดังกล่าว
- ได้รับรางวัล Design Excelllence Award 2022 (Demark Award) ประเภท Graphic Design จากผลงานออกแบบฟอนต์ ZT Paperclip