เรื่องไม่ลับ'บอนไซญี่ปุ่น' แพงสุดหลักล้าน : 'โอ๊ค-กรกช'สวนบอนไซ ฮันเตอร์
ในวงการ'บอนไซญี่ปุ่น'ราคาหลักหมื่นดูธรรมดาๆ แต่ราคาหลักล้าน ทำไมแพงขนาดนั้น และนี่คือเรื่องราวเจ้าของ'สวนบอนไซ ฮันเตอร์'
ถ้าจะบอกว่า บอนไซคืออะไร มีกี่สายพันธุ์ ดัด ตัด แต่งอย่างไร ค้นได้ในอินเทอร์เน็ต...
รู้ไหม...ทำไมศิลปะเพาะต้นไม้ในกระถางขนาดเล็กแบบญี่ปุ่นที่เรียกว่า บอนไซ จึงเลียนแบบยาก โดยเฉพาะบอนไซอายุกว่าร้อยปี ถ้าจะดัด ตัด แต่ง สิ่งสำคัญคือ ต้องรู้ความลับและพยายามเข้าใจธรรมชาติ
โอ๊ค-กรกช ไทยศิริ วิศวกร หนึ่งในผู้เชี่ยวชาญด้านบอนไซญี่ปุ่น เจ้าของสวน บอนไซ ฮันเตอร์ “เอดะแกลลอรี” ย่านตลิ่งชัน เริ่มทำบอนไซตั้งแต่ต้นละ 300 บาท และบอนไซนี่แหละช่วยเยียวยาจิตใจจากความเครียด หลังจากลาออกจากการเป็นผู้บริหารบริษัทน้ำมันในตะวันออกกลางที่ทำมานานกว่า 10 ปี จนมาลงตัวกับการทำบอนไซเป็นจริงเป็นจัง
ระหว่างการสนทนา เราถามไปว่า ซื้อบอนไซญี่ปุ่นราคาสูงที่สุดเท่าไรโอ๊ต บอกว่า ตอนนี้บอนไซต้นนั้นฝากไว้ที่ญี่ปุ่น ซื้อมาราคาประมาณ 1.8 ล้านบาท
แล้วทำไมแพงขนาดนั้น เรื่องนี้มีที่มาที่ไป และเป็นเรื่องศิลปะที่ต้องทำความเข้าใจ
ความสำเร็จไม่ได้มาง่ายๆ กับโอ๊ค-กรกช ไทยศิริ เจ้าของสวน บอนไซ ฮันเตอร์ ตลิ่งชัน
หูกระจกแคระเปลี่ยนชีวิต
ย้อนไปถึงตอนที่โอ๊คลาออกจากบริษัทน้ำมันที่อิรักกลับมาเมืองไทย เขาพกพาความเครียดความเหนื่อยล้าทั้งกายและใจ นอนไม่หลับ เบื่อหน่ายในชีวิต จนวันหนึ่งไปเดินเล่นสวนจตุจักร เจอหูกระจงแคระต้นละ 300 บาท ซื้อกลับมาบ้าน จึงรู้ว่า นี่คือบอนไซ
"ก็เริ่มลองดัดเปลี่ยนรูปทรง ทำให้รู้สึกว่าชีวิตเราต้องสัมผัสอะไรบางอย่าง และสิ่งนี้ก็คือธรรมชาติ เพราะผมห่างธรรมชาติ หูกระจงแคระต้นเดียว ทำให้ผมอยากตื่นเช้า หลังลาออกกลับมาเมืองไทย ผมล้ากับทุกอย่าง ไร้เป้าหมาย ตื่นบ่ายสองโมง
แต่หูกระจงต้นนั้นตายตั้งแต่สองอาทิตย์แรก เพราะผมไปยุ่งกับมันมากไป สอนให้รู้ว่าอะไรที่มากไป มันคือความไม่ดีทั้งสิ้น ต้องขอบคุณหูกระจงแคระต้นนั้น ทำให้ผมปิดสวิตช์ความคิด ความวุ่นวายในสัมผัสทั้ง 6 โฟกัสไปที่ต้นไม้ เกิดความนิ่งสงบ และอยากทำให้ดีขึ้น
ศิลปะการตัดแต่งบอนไซญี่ปุ่น สวนบอนไซ ฮันเตอร์
กลับมาเมืองไทยไม่นาน คุณพ่อเริ่มเครียดที่เราเอาเงินไปซื้อต้นไม้แพงๆ ตอนนั้นแค่ต้นละสามสี่พันบาท ก็แพงสำหรับคนไม่เคยซื้อต้นไม้เกิน 60 บาท จนผมเริ่มศึกษาทั้งอินเทอร์เน็ต
และเดินทางไปทั่วประเทศ รวมถึงเจอกลุ่มเว็บบอร์ดซื้อขายบอนไซ ก็เลยถ่ายภาพต้นที่ผมเลี้ยงและทำไว้เพื่อแบ่งขาย กลัวพ่อจะเครียด จากนั้นมีผู้สนใจติดต่อมาซื้อที่บ้าน ก็เริ่มมีกำลังใจมากขึ้น
จากชีวิตที่คิดว่า เวลาทำอะไร ต้องทำให้ดีที่สุด มายเซ็ทผมเริ่มเปลี่ยน ความไม่สมบูรณ์ก็เป็นสิ่งที่สวยงาม แต่ละคนจะมองเห็นบอนไซต้นเดียวกันด้วยมุมมองที่แตกต่างกัน
บอนไซดึงคนดีๆ เข้ามา ทำให้ผมเริ่มมีปฎิสัมพันธ์กับผู้คนดีขึ้น ผมก็เลยเปลี่ยนความคิด จากพื้นฐานผมที่เวลาทำอะไรต้องเต็มร้อย บางทีการเต็มร้อยในจังหวะนั้นอาจทำให้น้ำมันหมดถัง ก่อนไปถึงจุดหมายก็เป็นได้
ผมทดลองทำบอนไซมากขึ้นเรื่อยๆ แต่ต้นทุนที่เยอะ ตอนนั้นคนทำบอนไซในเมืองไทยที่มีหน้าร้านผ่านออนไลน์ยังมีไม่เยอะ ผมจึงเริ่มทำเว็บและเพจ ลงบทความการทดลองทำดิน น้ำ ปุ๋ย สนุกมาก คนเริ่มมาดูผมมากขึ้น ขายได้หรือไม่ได้ ก็ไม่ได้คิดเลย"
- บอนไซจากต้นไม้ท้องถิ่นไทย
ประมาณ 5 ปี โอ๊คทำบอนไซจากต้นไม้ในเมืองไทยในสวนที่บ้านประมาณ 60 สายพันธุ์ แต่ด้วยนิสัยชอบทำอะไรแปลกใหม่ จึงบินไปญี่ปุ่นเพื่อดูสวนบอนไซที่นั่น ก็ไปให้สุดทาง จึงได้รู้จักสมาคม อาจารย์ เพื่อนฝูง จนมีกลุ่มคนญี่ปุ่นที่เหนี่ยวแน่นมากขึ้น
"หลังจากมีครอบครัว ตอนนั้นบอนไซไทยมีอยู่ประมาณ 400-500 ต้นทั้งเล็กและใหญ่ ปัญหาคือโตเร็ว เกินความสามารถผม เริ่มเหนื่อย เริ่มสนุกน้อยลง
ภาพเดิมๆ กลับมาคือ ทำจนสุดตัวแล้วมันอ่อนล้า ผมเลยจัดการแบ่งบอนไซออกไป ขายได้...ขาย แจกได้...แจก ตอนนั้นเพจดังระเบิด เพราะต้นแบบหลักหมื่นแจกให้ฟรี เริ่มขยับมาทำบอนไซพวกสนญี่ปุ่น ผมมองว่ามีมูลค่าที่คงตัว เพราะเติบโตช้าและตอบโจทย์ชีวิต ทำทรงปีละ 1-2 ครั้งเท่านั้น"
ดังนั้นเวลาใครนึกถึงบอนไซญี่ปุ่น เป็นต้องนึกถึงเขา ไม่ใช่ว่าสวยที่สุด หรือ ถูกที่สุด แต่โอ๊คเลือกบางสายพันธุ์ที่เลี้ยงได้และมีมูลค่า
"ถ้ามีสายพันธุ์เยอะไป ไม่ยั่งยืน เราโฟกัสไม่ถูก สุดท้ายเราทำไม่ไหว ต้องจัดการเยอะ เราจึงคัดเฉพาะชนิดที่คิดว่าทนและอยู่มือที่สุดสวนของผมรวบรวมบอนไซที่สร้าง
และสะสมมาในช่วงพีคๆ มูลค่าบอนไซโดยรวมสูงกว่า 20 ล้านบาท ซึ่งผมก็เปิดบริษัทให้ถูกต้องตามกฎหมาย
เราก็สร้างแกลลอรี มีห้องเวิร์คชอป มีแปลงทดลองสูตรดินและสูตรปุ๋ย มีพื้นที่รับฝากบอนไซครบวงจร และผมให้โอกาสลูกค้าเรียน รับข้อมูลและแชร์ประสบการณ์"
- บอนไซต้นที่แพงที่สุด
ข้อดีของบอนไซญี่ปุ่น ก็คือ ไม่สามารถก็อปปี้ ทำเป็นรูปทรงเดียวกันได้ โดยเฉพาะพวกที่เรียกว่า “ยามาโดริ” เพราะธรรมชาติสร้างมาบางทีก็หลายร้อยปี แต่ละต้นไม้จึงมีรูปทรงไม่ซ้ำกัน
โอ๊ค บอกว่า บอนไซที่แพงที่สุด ต้นทุนราวๆ 1.8 ล้านบาท เพราะโตช้ามาก อายุร่วม 400 ปี และมีต้นเดียวในโลก
"ต้นนี้ผมเอาไว้ที่ญี่ปุ่น รอเข้างานประกวดบอนไซ ถ้าลูกคนเล็กโตอีกหน่อยค่อยเชิญมาที่ไทย ย้อนกลับไปตอนที่ผมเริ่มทำบอนไซญี่ปุ่น คนญี่ปุ่นบินมาเห็นสวนที่ผมสร้าง และคนที่มาช่วยทำก็เพื่อเรียนรู้
ประกอบกับผมชอบทดลอง คนญี่ปุ่นก็คิดว่าน่าจะมีความยั่งยืน และคนญี่ปุ่นกลุ่มนั้นก็กลายมาเป็นเพื่อน นั่นทำให้ผมรู้จักอาจารย์ด้านบอนไซในญี่ปุ่น สมาคมเกี่ยวกับบอนไซในญี่ปุ่นเกิดการแลกเปลี่ยนความรู้"
คุณรู้ไหม บอนไซที่อายุไม่ต่ำกว่า 100-200 ปี เมื่อขุดตอมาแล้ว ต้องเลี้ยงให้สอดคล้องกับธรรมชาติ สิ่งนี้คือคุณค่าที่สร้างมูลค่าบอนไซ กว่าบอนไซจะเติบโตต้องใช้เวลายิ่งเก่าแก่ ราคายิ่งสูง
ทั้งความสวยงามและสมบูรณ์ ประเมินค่าได้ยากจริงๆ เราก็เป็นผู้สร้างที่ทำมายาวนานและผ่านเวทีประกวดในญี่ปุ่นมามาก การสร้างบอนไซเหล่านี้ให้มีมูลค่าที่สูงขึ้นตามเวลา ตามรูปทรงที่เปลี่ยนไป จึงมีความเป็นไปได้"
เขาเปรียบผู้สร้างบอนไซ ประหนึ่งคนแหล่เนื้อวากิว ชิ้นละห้าพันบาท แม้จะใช้เชฟมือหนึ่ง หรือเชฟมือไหนก็ตาม ถ้าทำไม่เป็น...ก็เสียของ
"การสร้างบอนไซสำหรับผมไม่มีความลับอะไร ผมเองก็เปิดทุกอย่าง บอกทุกอย่างที่ผมรู้และทำมา แต่เรื่องจังหวะเวลาที่จะบอกหรือเปิดสอนมันมีจำกัด ผมจึงให้ลำดับความสำคัญกับลูกค้าก่อน
อีกอย่างถ้าคนที่เข้ามาช่วยทำ ช่วยรื้อ ลุยกัน มาตัดกิ่ง เปื้อนดิน กวาดพื้น เก็บขยะ ซึ่งเป็นวิถีที่ผมใช้มาตลอดอันนี้ยินดีต้อนรับ ตอนนี้มีพี่ๆน้องๆ รวมตัวกันมาทำและเรียนรู้เรื่องบอนไซวนไปมากว่า 10 คน"
เมื่อถามถึงในอนาคตสวนบอนไซ โอ๊ค บอกว่า ถ้าเป็นไปได้อยากทำเป็นพิพิธภัณฑ์ เปิดให้คนที่ไม่รู้จักบอนไซ มีโอกาสได้ชมบ้าง
"วันหนึ่งผมอาจมีอาร์ต แกลลอรี เพื่อให้คนเข้ามานั่งชิลๆ ตอนนี้ผมกำลังทำโครงการใหม่ต่อยอดให้คนที่ไม่เคยรู้จักบอนไซ ได้มีโอกาสได้เห็นมันบ้าง
ชีวิตผมในอดีตที่เคยมีสภาวะจิตใจย่ำแย่ ได้มีโอกาสพลิกผัน ทำสมาธิ สร้างความนิ่งสงบในใจได้ มีโอกาสได้ปรับปรุงแนวคิด พัฒนาการปฏิสัมพันธ์ จนชีวิตกลับมาสวยงามได้ เพราะบอนไซ
ผมจึงอยากเปิดแกลลอรีให้คนที่ผ่านไปมาได้เจอบอนไซบ้าง เผื่อว่าชีวิตพวกเขาเหล่านั้น อาจจะพลิกผันได้ แบบที่ผมโชคดีที่ได้เจอหูกระจงเเคระต้นนั้น"
"ข้อดีของบอนไซญี่ปุ่น ก็คือ ไม่สามารถก็อปปี้ทำเป็นรูปทรงเดียวกันได้..."-โอ๊ค กรกช ไทยศิริ กล่าว
- ย้อนไปถึงชีวิตก่อนเจอบอนไซ
หากใครไปที่ สวนบอนไซ ฮันเตอร์ ย่านตลิ่งชัน ก็จะรู้สึกชื่นชอบ กว่าเจ้าของสวนจะมีชีวิตที่ลงตัว เคยทำงานบริหารได้เงินเดือน 7 หลักในอิรัก แลกกับความเครียดและรับผิดชอบที่สูงมาก จนมาถึงจุดไม่ไหวแล้ว
โอ๊ค บอกว่า ชีวิตที่อิรัก ตื่นมาก็เจอกำแพงสูงๆ 3เมตร พวกเขาเอาไว้กั้นระเบิดและผู้ก่อการร้าย ใช้ชีวิตแบบไม่จรรโลงจิตใจเลย แม้งานที่นั่นจะทำให้เติบโตทางความคิดมากกว่าเพื่อนในวัยเดียวกัน แต่จิตใจก็ย่ำแย่
"ตอนนั้นมีคนไทย 5 คนทำงานในบริษัทนี้ มีผมคนเดียวทำในประเทศแถบนี้ อยู่ที่นั่นต้องดูแลลูกน้องกว่า 200 คนประมาณ 20 ชาติ ชีวิตแบบไทยๆ ของพวกเราก็มีบางอย่างที่น่ารักในการปกครองคน ที่ผมทำงานตรงนี้ได้ เพราะเราไม่มีอีโก้ และผมไม่ใช้วิธีสั่ง จะปีนขึ้นไปทำงานบนที่สูง ก็ทำให้ดู "
เมื่อทำงานมานานกว่า 10 ปีในหลายประเทศแถบตะวันออกกลาง เขารู้สึกว่า ร่างกายเริ่มมีปัญหา จิตใจไม่โอเค
"ผมก็เลยตัดสินใจลาออก ทั้งๆ ที่ยังไม่มีงานทำ กลับมาเมืองไทย ก็ลองใช้ชีวิตแบบอื่นๆ บวช ออกไปถ่ายภาพ ขี่มอเตอร์ไซค์ เดินป่า เพื่อที่จะรักษาจิตใจ
แม้จะดีขึ้นแต่ไม่หาย เพราะจะให้นั่งสมาธินิ่งๆ ทำไม่ได้ จนผมไปเดินเล่นจตุจักร เจอต้นหูกระจงแคระ 300 บาท จึงซื้อกลับมาบ้าน..."
................
ภาพจากเฟซบุ๊ก :Bonsai Hunter บอนไซ ฮันเตอร์