เก้าอี้ตัวแรกของแอร์โฮสเตส ที่ผันตัวมาเป็นนักออกแบบเฟอร์นิเจอร์ไต้ลิ้ม
เรื่องเล่า พรรณประภา แอร์โฮสเตส บนเวทีมนุษย์ต่างวัย ที่ลาออกมาเป็นนักออกแบบเฟอร์นิเจอร์ "ไต้ลิ้มค้าไม้" จ.ชลบุรี ทั้งๆ ที่ไม่เคยรู้เรื่องการออกแบบเลย การเริ่มต้นใหม่ ไม่ง่ายเลย...
“การยอมรับว่าโง่เป็น ก็จะเปิดรับสิ่งใหม่ๆ” เอื้อย-พรรณประภา ตันติวิทยาพิทักษ์ แอร์โฮสเตส ที่ยอมลาออก เพื่อมาทำธุรกิจครอบครัว ไต้ลิ้มค้าไม้ จ.ชลบุรี เล่าในงานมนุษย์ต่างวัยTALK เมื่อปลายปี 2023
ในวันนั้นเธอมาพร้อมเก้าอี้สบาย (Sabaai Chair) งานออกแบบและลงมือทำชิ้นแรกตอนอายุ 52 ปี จากที่ไม่เคยรู้เรื่องการออกแบบเลย
สิ่งที่เธอทำในโรงไม้เก่าๆ จึงไม่ใช่การต่อยอดเป็นเถ้าแก่สั่งงานแบบเดิมๆ แต่อดีตแอร์โฮสเตสที่มีโอกาสออกไปเห็นโลกกว้างกว่า 29 ปีเลือกที่จะเรียนรู้ทุกอย่างเกี่ยวกับงานไม้ ไม่ว่าการเข้าไม้ การเลื่อย การออกแบบ ฯลฯ
“ตอนที่ทำ ก็ร้องไห้ไป ปาดน้ำตาไป มีดราม่าตลอด จนกระทั่งออกมาเป็นเก้าอี้ตัวนี้ เต่คนทำไม่ได้สบายอย่างที่คิด และนี่คือเก้าอี้ตัวแรกของเอื้อย” เธอแนะนำด้วยเสียงชัดถ้อยชัดคำ
เรื่องเล่าไต้ลิ้มค้าไม้
เมื่อมีโอกาสนั่งฟังเรื่องราวของเธอตั้งแต่แรก ก็ได้รู้ว่า ชีวิตพลิกผัน เพราะความรักที่มีต่อโรงไม้ ธุรกิจครอบครัว เมื่อไม่มีผู้สืบทอดก็ไม่อยากทิ้งมัน ทั้งๆ ที่ไม่เคยคิดว่า จะลาออกจากอาชีพแอร์โฮสเตส เพราะทำให้ได้เห็นโลกกว้าง
“ถ้าถามว่าเอื้อยเคยคิดจะทำงานแบบป๋ากับแม่ไหม....บอกเลยว่า ไม่เคยอยู่ในหัวเลย ถ้าอยู่ในโรงไม้ ชีวิตก็ย่ำอยู่ในโกดังที่มีแต่ไม้ๆๆ ถ้าเราอยากจะไปเมืองนอก ป๋าก็คงให้เราไปแค่ซัวเถา (จีน)เยี่ยมญาติ ก็คงแค่นั้น ถ้าอยากไปปารีส คงไม่ได้ไป "
เก้าอี้ตัวแรกของพรรณประภา เรื่องเล่าจากเวทีมนุษย์ต่างวัย
นั่นคือ เรื่องจริงที่เธอมองแล้วว่า ถ้าทำธุรกิจครอบครัว คงอยู่แค่นั้น ดังนั้นตอนที่เรียนจบ เธอก็เหมือนเด็กสาวทั่วไป อยากเป็นแอร์โฮสเตส
และได้เป็นสมใจที่สายการบินคาเธ่ย์แปซิฟิคสองปี จากนั้นมาทำงานการบินไทย รวม ๆแล้ว 29 ปีทำมาทุกตำแหน่ง ตำแหน่งสุดท้ายเป็นหัวหน้าพนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน
“งานที่ทำตอนนั้น ถ้าเราอยากไปหอไอเฟล ปารีส หรือไปมิลาน ก็ได้ไป ชีวิตมีความสุขมาก ไม่ต้องวางแผนอะไร ถึงเวลาก็มีคนสเก็ตการเดินทางมาให้
ตอนนั้นป๋าจ้างให้ออกจากงาน เราขอรถใหม่ป้ายแดงคันหนึ่ง ป๋าไม่ให้ ก็เลยทำงานต่อ กระทั่งปี 1995 ป๋าเสียชีวิต แม่ก็ทำกิจการต่อ แต่เป็นช่วงเศรษฐกิจขาลง"
ตอนนั้นไต้ลิ้มค้าไม้ มีช่างต่อเรือ ช่างไม้ คนทำงานในโรงเลื่อยกว่า 50 คน ก็ค่อยๆ ลดลง แม่ของเธอจึงต้องประคับประคองธุรกิจ แต่วันหนึ่งแม่วัย 70 กว่าบอกเธอว่า ไม่อยากทำต่อ อยากขาย
เอื้อยก็คิดว่า ธุรกิจนี้จะจบที่รุ่นเราจริงๆ หรือ และพี่น้องสามคน ต่างมีชีวิตเป็นของตัวเอง แม่ก็ไม่คิดว่าจะมีใครกลับมาทำ
ลาออกจากแอร์โฮสเตสมาไสไม้
ทั้งๆ ที่ทำเฟอร์นิเจอร์ไม่เป็นเลย แต่ในที่สุดเธอเลือกลาออกจากงานที่ทำมานาน โดยตั้งธงไว้ 5 ปี ถ้าไปต่อไม่ได้ ก็ขายโรงไม้
“ไม่เคยเปลี่ยนอาชีพเลย ต้องลาออก ก็คิดหนัก เพราะเราไม่เห็นว่า ไต้ลิ้มจะไปต่อได้ และเราไม่มีความรู้ใดๆ ทั้งสิ้น ถ้าเลิกแล้วเก็บเงินไว้ ก็สบายๆ ไม่ต้องทำก็ได้ แต่ถ้าแม่ขายไต้ลิ้มก็จบ แม้จะแบ่งเงินให้เราใช้"
เธอเล่าตลกๆ ต่อว่า ปี 2016 เลือกเออรี่จากการบินไทย แขวนรองเท้าส้นสูงไว้ที่โกดัง ไม่มีเวลาคิดเรื่องใดๆ ทั้งสิ้น ภาพที่เห็นยังเป็นโรงไม้เก่ามาก หลังคาผุรั่ว แล้วจะเริ่มยังไง
เอื้อย-พรรณประภา ตันติวิทยาพิทักษ์ แอร์โฮสเตส ลาออกมา เพื่อมาทำธุรกิจครอบครัวไต้ลิ้มค้าไม้
“ก่อนหน้านี้ก็คิดว่า เราสามคนพี่น้อง น่าจะมีคนหนึ่งไปเรียนออกแบบ แต่ไม่มีใครเรียน ก็เลยไปเรียนที่สถาบันออกแบบนานาชาติชนาพัฒน์ สุขุมวิท 101 ต้องเรียนสองปี เราบอกสามีว่า ขอเรียนแค่เทอมเดียว แต่พี่เขาก็บอกว่า จ่ายเงินค่าเรียนไปสองปีแล้ว ให้เรียนให้จบ เป็นของขวัญครบรอบวันแต่งงาน
“ก็ร้องไห้สิ ชีวิตต้องเปลี่ยนจริงๆ หรือ ไหนๆ จะเรียนแล้ว ก็เรียนให้มันสุด ตั้งแต่วันนั้นมา ชีวิตเปลี่ยน เดินเข้าไปในห้องเรียน เด็กสุด (52 ปี) เพื่อนร่วมรุ่นอายุ 20-30 ปี
และได้เป็นหัวหน้าห้องที่เซ่อ โง่ ไม่รู้อะไรเลย วาดรูปไม่ได้ ทำคอมพิวเตอร์ไม่เป็น ความมั่นใจที่สะสมมาที่การบินไทย จากที่เคยแก้ปัญหาได้ทุกอย่าง มันหมดสิ้น เราก็ใช้ความเซ่อของเรา ให้น้องๆ ที่เรียนด้วยช่วยผลักดัน
เชื่อไหมว่า ตอนระบายสีน้ำบนโต๊ะเขียนแบบ น้ำที่ใช้ระบายสีไหล อาจารย์ก็บอกว่า ปรับโต๊ะครับ เราก็ถามว่า โต๊ะนี่ปรับยังไง คือโง่ขนาดนั้น กลับมาบ้าน...ก็ร้องไห้ บอกสามีว่าไม่ไหวแล้ว
สามีก็บอกว่า การเรียนรู้อะไรใหม่ๆ ต้องเปิดใจ เขาบอกให้คิดนิดหนึ่งว่า เราพยายามจนถึงที่สุดหรือยัง ถ้ายังไปไม่สุดจะตอบตัวเองได้ไหมว่า วันนี้ที่เลิกเรียน...เพราะอะไร
ป๋า เคยพูดว่า “เราเป็นคนเป็น ไม่ใช่คนตาย” ตอนเด็กๆ ก็ไม่เข้าใจ แต่ตอนนี้เข้าใจ ถ้าเรายังหายใจอยู่ เราคิดไปเถอะ ไม่มีอะไรที่ทำไม่ได้ ถ้านอนอยู่ในโลงแล้วไม่ต้องทำอะไร เป็นแรงขับเคลื่อนให้เราเรียนจนจบ ทุกวันนี้ใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ก็ยังไม่เป็น แต่นำความรู้ที่ได้จากโรงเรียนมาปรับใช้ได้"
ออกแบบเก้าอี้ตัวแรกในชีวิต
ในที่สุดเธอเรียนออกแบบเฟอร์นิเจอร์จนจบ และออกมาพร้อม สบายแชร์(Sabaai Chair) คิดเอง ทำเอง โดยมีครูเป็นที่ปรึกษา
"จริงๆ แล้วครูให้ทำแค่ตัวเดียวหรือสองตัว ก็พอแล้ว แต่เราเป็นคนที่ทำอะไรต้องทำให้สุด จึงทำโมเดลเก้าอี้ออกมา 8 ตัว และทุกวันนี้ สบายแชร์แตกไลน์มาเป็นสบายคอลเลคชั่น หนึ่งในโปรดักต์ที่ขายดีที่สุดของเรา
อีกส่วนในความภูมิใจ ก็คือ ได้ทำเฟอร์นิเจอร์ให้ร้านโบ.ลาน เพราะเชฟโบ-ดวงพร เป็นลูกค้าไต้ลิ้ม ช่วงโควิดเชฟโบต้องปิดร้าน อยากดัดแปลงเป็นโรงเรียนสอนทำอาหาร
เมื่อคุยรายละเอียดเสร็จ เราก็ออกแบบให้ ตอนนี้เฟอร์นิเจอร์ 5 ตัวนี้อยู่ที่ร้านโบ.ลาน เวลามีคนไปเรียนทำอาหาร ก็จะมีคนถาม เฟอร์นิเจอร์ทำที่ไหน
“สองสามปีที่ผ่านมา เพื่อนร่วมอาชีพการบินไทยหลายคนก็เลือกจะลาออกจากงาน ก็มาที่โรงไม้ของเรา เพราะคิดว่า เราสามารถแชร์พลังงานดีๆ ให้น้องๆ ได้
เราก็บอกเขาว่า ถ้าตัดสินใจออกจากคอมฟอร์ท โซน มีก้าวแรก ก็มีก้าวที่สอง ต้องเชื่อก่อนว่า ไม่มีอะไรที่เราทำไม่ได้ อย่างเราโง่ๆ เซ่อๆ ทำไป ร้องไห้ไป ก็ทำเก้าอี้ที่นั่งสบายๆ ออกมาได้ " เอื้อย และบอกว่า
“ที่ทำเฟอร์นิเจอร์ต่อจากครอบครัว ไม่ใช่ทำแล้วรวย อาศัยว่าไม่เสียค่าเช่าที่ อีกอย่างป๋าเคยบอกว่า เวลามีคนมาเลือกซื้อบันไดไม้ให้เลือกของดีๆ ให้เขา เพราะเขาต้องใช้เดินขึ้นเดินลงทุกวัน”
..........................
ภาพจากเฟซบุ๊ก Tailim Timber & Furniture