สรงน้ำพระธาตุ - เทวดานพเคราะห์ ในประเพณีสงกรานต์ นำพาสิริมงคลรับศักราชใหม่
กำเนิด “เทวดานพเคราะห์” 9 เทพแห่งเจ้าเรือนชะตามนุษย์ เชิญร่วมสรงน้ำพระธาตุและเทวดานพเคราะห์ ฉลอง "ประเพณีสงกรานต์" ส่งเทวดาเก่า รับเทวดาใหม่ เพื่อความเป็นสิริมงคลรับศักราชใหม่ เทศกาลสงกรานต์ 2567 ปีใหม่ไทย
KEY
POINTS
- อ่านกำเนิด “เทวดานพเคราะห์” 9 เทพประจำวันผู้ปกปักรักษาชีวิตมนุษย์ตั้งแต่เกิดจนตาย คู่มิตร คู่ศัตรู กำลังพระเคราะห์ ก่อนไปสรงน้ำ
- การได้มีโอกาสสรงน้ำขอพร “เทวดานพเคราะห์” ช่วงปีใหม่ไทย หรือ “เทศกาลสงกรานต์” ถือว่านำสิริมงคลมาสู่ชีวิตรับศักราชใหม่ตามประเพณีปีใหม่ไทย
- กรมศิลปากร สืบสานประเพณีสงกรานต์ เชิญประชาชนร่วม "สรงน้ำพระธาตุ – เทวดานพเคราะห์" เสริมสิริมงคล เสริมกำลังเทวดาประจำวันเกิด 12-14 เม.ย.2567
ตามบันทึกโบราณดั้งเดิม ประเพณีสงกรานต์ หรือ “ประเพณีปีใหม่ของไทย” กำหนดให้มีถึง 3 วันด้วยกัน โดยวันแรกของประเพณีสงกรานต์เป็นวันที่ “พระอาทิตย์” ย้ายออกจากราศีมีนเข้าสู่ราศีเมษ เรียกว่า วันมหาสงกรานต์ การเคลื่อนของ “พระอาทิตย์” จากราศีมีนเข้าสู่ราศีเมษเป็นสัญลักษณ์การเปลี่ยนจากปีเก่าสู่ปีใหม่ของไทย
วันถัดมาเรียก วันเนา เนา แปลว่า “อยู่” เนื่องจากพระอาทิตย์ต้องใช้เวลาเคลื่อนตัว ดังนั้นในวันที่สองจึงเชื่อว่าพระอาทิตย์ยังอยู่คาบเกี่ยวระหว่างราศีมีนกับราศีเมษ
วันที่สามหรือวันสุดท้ายของประเพณีสงกรานต์จึงเรียก วันเถลิงศก วันเริ่มต้นปีใหม่ หรือ “วันขึ้นปีใหม่” เพราะพระอาทิตย์ย้ายราศีสมบูรณ์แล้ว
การสรงน้ำพระพุทธรูปในประเพณีสงกรานต์ของไทย
ปัจจุบันปฏิทินไทยกำหนดให้วันที่ 13 – 15 เมษายนของทุกปี เป็น เทศกาลสงกรานต์ หรือ ‘ประเพณีสงกรานต์’
พิธีกรรมเนื่องในประเพณีสงกรานต์ หรือ “เทศกาลสงกรานต์” ใช้ น้ำ เป็นหลัก เป็นนัยของการชำระล้างให้จิตใจบริสุทธิ์ผ่องใส และเพื่อผ่อนคลายความร้อน ได้แก่ การสรงน้ำพระพุทธรูป เจดียสถาน พระสงฆ์, รดน้ำ-ทำบุญอัฐิ เป็นการแสดงความรำลึกถึงบรรพบุรุษ, รดน้ำขอพรจากผู้ใหญ่ และการรดน้ำให้แก่กันเพื่อความชุ่มชื่น
พระธาตุ ในพระกรัณฑ์
เนื่องใน เทศกาลสงกรานต์ ประจำปี 2567 กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม โดยพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร สำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ จัดกิจกรรม สรงน้ำพระธาตุและเทวดานพเคราะห์ เพื่อความเป็นสิริมงคลรับปีใหม่ไทย
โดยอัญเชิญ พระธาตุ ในพระกรัณฑ์ (ตลับหรือผอบ) ซึ่งเดิมประดิษฐานในก้านพระรัศมีของพระพุทธสิหิงค์ พระพุทธรูปองค์สำคัญซึ่งประดิษฐาน ณ พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ พระราชวังบวรสถานมงคล มาเป็นประธานในพิธี
พร้อมด้วย เทวดานพเคราะห์ จำนวน 9 องค์ ผู้เป็นเจ้าเรือนชะตามนุษย์ทุกคนตั้งแต่เกิดจนตายตามความเชื่อโบราณ มาให้ประชาชนได้สักการบูชาและสรงน้ำขอพร
เนื่องด้วยในสมัยโบราณ คนไทยมักไม่นิยมนับอายุตามวันเกิด แต่จะนับตามการเถลิงศักราชใหม่ในช่วงปีใหม่ไทยคือ “สงกรานต์” หากปีใดมีความป่วยไข้ หรือทราบว่าถึงเวลาเปลี่ยนทักษา โดยเฉพาะ “เจ้านาย” ก็จะขึ้นเกยส่งเทวดาเก่า-รับเทวดาใหม่ ด้วยเชื่อว่าจะนำพาสิริมงคลมาพร้อมกับศักราชใหม่
เทวดานพเคราะห์
ทั้งนี้ เทวดานพเคราะห์ มีต้นกำเนิดมาจากโหราศาสตร์ฮินดูที่นับถือ พระสุริยเทพ (พระอาทิตย์) ซึ่งมีเทพบริวารอีก 8 องค์ รวมเป็น 9 องค์
เทพทั้ง 9 องค์ ได้รับการนับถือว่าเป็นเทพที่ปกปักรักษาชีวิตของมนุษย์ตั้งแต่เกิดจนตาย การได้มีโอกาสสรงน้ำขอพร “เทวดานพเคราะห์” ช่วงปีใหม่ จึงถือว่านำสิริมงคลมาสู่ชีวิตอีกหนึ่งปี
พระอาทิตย์
พระอาทิตย์
เป็นเทพนพเคราะห์ที่มีอำนาจเหนือกว่าเทพนพเคราะห์ทั้งปวง พระอิศวรทรงใช้ ราชสีห์ 6 ตัว ป่นเป็นผง ห่อด้วยผ้าสีแดง พรมด้วยน้ำอมฤต ก่อเกิดเป็น พระอาทิตย์ เทพนพเคราะห์ลักษณะเป็นบุรุษ ผิวกายสีแดง ทรงราชสีห์เป็นพาหนะ ประจำอยู่ทิศตะวันออกเฉียงเหนือ
เป็นเทพนพเคราะห์ประเภทบาปเคราะห์ มักมีอารมณ์รุนแรง ตัดสินใจไว เฉียบขาด รักอิสระ แต่ซื่อสัตย์
- เป็นมิตรกับพระพฤหัสบดี และเป็นศัตรูกับพระอังคาร
- สัญลักษณ์เลข 1 มีกำลังพระเคราะห์เป็น 6
พระจันทร์
พระจันทร์
พระอิศวรทรงสร้างจาก เทพธิดา 15 นาง บดป่นเป็นผง ห่อผ้าสีขาวนวล พรมด้วยน้ำอมฤต ได้ พระจันทร์ เป็นบุรุษเทพรูปงาม ผิวกายขาวนวล ทรงอาชา (ม้า) เป็นพาหนะ ประจำอยู่ทิศตะวันออก
เป็นเทพนพเคราะห์ประเภทศุภเคราะห์ มีอารมณ์อ่อนโยน เพ้อฝัน รวนเร อาจมีเล่ห์เหลี่ยมมาก
- เป็นมิตรกับพระพุธ และเป็นศัตรูกับพระพฤหัสบดี
- สัญลักษณ์เลข 2 มีกำลังพระเคราะห์เป็น 15
พระอังคาร
พระอังคาร
พระอิศวรทรงสร้างจาก กระบือ 8 ตัว บดป่นเป็นผง ห่อด้วยผ้าสีชมพูหม่น พรมด้วยน้ำอมฤต ได้บุรุษผิวสีทองแดง ทรงกระบือเป็นพาหนะ ประจำอยู่ทิศตะวันออกเฉียงใต้
เป็นเทพนพเคราะห์ประเภทบาปเคราะห์ มีอารมณ์มุทะลุ ตึงตัง ชอบใช้กำลัง ใจร้อน
- เป็นมิตรกับพระศุกร์ และเป็นศัตรูกับพระอาทิตย์
- สัญลักษณ์เลข 3 มีกำลังพระเคราะห์เป็น 8
พระพุธ (วันพุธกลางวัน)
พระพุธ
พระอิศวรทรงใช้ ช้าง 17 เชือก บดป่นเป็นผง ห่อผ้าสีเขียวใบไม้ พรมด้วยน้ำอมฤต ได้บุรุษมีผิวกายสีเขียว ทรงช้างเป็นพาหนะ ประจำอยู่ทิศใต้
เป็นเทพนพเคราะห์ประเภทศุภเคราะห์ ชอบพูดชอบเจรจา สุขุมรอบคอบ แต่ตื่นกลัวง่าย
- เป็นมิตรกับพระจันทร์ และเป็นศัตรูกับพระราหู
- สัญลักษณ์เลข 4 มีกำลังพระเคราะห์เป็น 17
พระพฤหัสบดี
พระพฤหัสบดี
พระอิศวรทรงสร้างจาก ฤษี 19 ตน บดป่นเป็นผง ห่อผ้าสีส้มแดง พรมด้วยน้ำอมฤต ได้พระพฤหัสบดี มีผิวกายสีส้มแดง ทรงกวางเป็นพาหนะ ประจำอยู่ทิศตะวันตก
เป็นเทพนพเคราะห์ประเภทศุภเคราะห์ มักทำอะไรด้วยความระมัดระวัง สุขุม รอบคอบ เมตตาปรานีต่อผู้อื่น เป็นครูของเทพทั้งหลาย จึงนิยมทำพิธีไหว้ครูในวันพฤหัสบดี
- เป็นมิตรกับพระอาทิตย์ และเป็นศัตรูกับพระจันทร์
- สัญลักษณ์เลข 5 มีกำลังพระเคราะห์เป็น 19
พระศุกร์
พระศุกร์
พระอิศวรทรงสร้างจาก โค 21 ตัว บดป่นเป็นผง ห่อผ้าสีฟ้าอ่อน พรมด้วยน้ำอมฤต ได้พระศุกร์ เทพผิวกายสีฟ้า ทรงโคเป็นพาหนะ ประจำอยู่ทิศเหนือ
เป็นเทพนพเคราะห์ประเภทศุภเคราะห์ กิริยาน่ารัก อ่อนหวาน ชอบงานศิลปะทุกประเภท และเป็นครูของเหล่ายักษ์
- เป็นมิตรกับพระอังคารและเป็นศัตรูกับพระเสาร์
- สัญลักษณ์เลข 6 มีกำลังพระเคราะห์เป็น 21
พระเสาร์
พระเสาร์
พระอิศวรทรงสร้างจาก เสือ 10 ตัว บดป่นเป็นผง ห่อผ้าสีดำ พรมด้วยน้ำอมฤต ได้พระเสาร์ ผิวกายดำคล้ำแดง ทรงเสือเป็นพาหนะ ประจำอยู่ทิศตะวันตกเฉียงใต้
เป็นเทพนพเคราะห์ประเภทบาปเคราะห์ มีกิริยาดุดัน แข็งแรง กล้าได้กล้าเสีย บุคลิกเคร่งขรึม
- เป็นมิตรกับพระราหู และเป็นศัตรูกับพระศุกร์
- สัญลักษณ์เลข 7 มีกำลังพระเคราะห์เป็น 10
พระราหู (วันพุธกลางคืน)
พระราหู
พระอิศวรทรงสร้างจาก หัวกะโหลก 12 กะโหลก (บางตำราว่าผีโขมด 12 ตัว) บดป่นเป็นผง ห่อผ้าสีทอง พรมด้วยน้ำอมฤต ได้ พระราหู กายสีนิลออกไปทางทองแดง ทรงครุฑเป็นพาหนะ มีวิมานสีนิลอยู่ในอากาศ ประจำอยู่ทิศตะวันตก
เป็นเทพนพเคราะห์ประเภทบาปเคราะห์ ให้ผลในทาง ลุ่มหลงมัวเมา
- เป็นมิตรกับพระเสาร์และเป็นศัตรูกับพระพุธ
- สัญลักษณ์เลข 8 มีกำลังพระเคราะห์เป็น 12
พระเกตุ
พระเกตุ
พระอิศวรทรงสร้างจาก พญานาค 9 ตัว กายสีทองคำ ทรงนาคเป็นพาหนะ มีวิมานสีดอกบุษบา (เปลวไฟ)
บ้างว่าพระเกตุเกิดจากส่วนหางของ ‘พระราหู’ ซึ่งขโมยดื่มน้ำอมฤต พระอินทร์โกรธ จึงขว้างจักรตัดเอวขาด ด้วยอำนาจแห่งน้ำอมฤตทำให้พระราหูไม่ตาย หางที่ขาดนั้นกลายเป็นพระเกตุ ซึ่งจะไม่เสวยอายุโดยตรง แต่จะเข้าแทรกเพื่อบรรเทาเรื่องร้ายและส่งเสริมในเรื่องดี
- สัญลักษณ์คือเลข 9 มีกำลังพระเคราะห์เป็น 9
กรมศิลปากรเชิญร่วม สรงน้ำพระธาตุ – เทวดานพเคราะห์ พ.ศ.2567
กำลังพระเคราะห์ หรือเรียกอีกอย่างว่า “กำลังวัน” คือ เลขที่กำหนดไว้ประจำวัน มีที่มาจากจำนวนปีที่เทวดาพระเคราะห์เสวยอายุตามคัมภีร์มหาทักษา ประกอบด้วย วันอาทิตย์ วันจันทร์ วันอังคาร วันพุธ(กลางวัน) วันพุธกลางคืน(พระราหู) วันพฤหัสบดี วันศุกร์ วันเสาร์ เลขกำลังของวันทั้งแปด รวมกันได้ 108 ซึ่งเป็นเลขมงคล ส่วนพระเกตุเป็นการเพิ่มเข้ามาเป็นดาวพระเคราะห์ดวงที่ 9 ในภายหลัง
ทั้งนี้ “กำลังวัน” มักใช้เป็น จำนวนครั้ง ในการทำกิจกรรมมงคลในวันนั้นๆ อาทิ ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของในหลวงรัชกาลที่ 9 เมื่อถึงช่วงสำคัญ ได้มีการยิงปืนกองแก้วจินดา จำนวน 21 นัด ตามกำลังวันศุกร์ เนื่องจากวันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ.2493 ตรงกับวันศุกร์
เนื่องใน ประเพณีสงกรานต์ 2567 กรมศิลปากรจัดให้ประชาชนได้ร่วม สรงน้ำพระธาตุ – เทวดานพเคราะห์ ณ ศาลาสำราญมุขมาตย์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ถนนหน้าพระธาตุ แขวงพระบรมมหาราชวัง กรุงเทพฯ วันที่ 12-14 เมษายน 2567 เวลา 09.00-16.00 น.