4 เทศกาลศิลปะระดับชาติฝีมือคนไทย อุ่นเครื่อง Soft Power สาขาศิลปะ

อุ่นเครื่องหลัง ครม. เห็นชอบมาตรการ Soft Power สาขาศิลปะ “กรุงเทพธุรกิจ” ชวนทำความรู้จัก 4 เทศกาลศิลปะระดับชาติและนานาชาติจัดโดย “คนไทย” : บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่, เทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ, เทศกาลศิลปะกรุงเทพ, เทศกาลศิลปะแมงโก้ : แต่ละงานแตกต่างกันอย่างไร
KEY
POINTS
- ทำความรู้จัก 4 เทศกาลศิลปะสุดยิ่งใหญ่ของไทย “บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่, เทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ, เทศกาลศิลปะกรุงเทพ, เทศกาลศิลปะแมงโก้” แตกต่างกันอย่างไร
- Up Date คณะรัฐมนตรีเห็นชอบหลักการมาตรการส่งเสริมงานศิลปะและรถยนต์โบราณ เพื่อส่งเสริม Soft Power
มาแล้ว! แผนดัน Soft Power ในสาขา ศิลปะ ของรัฐบาลนายกฯ เศรษฐา ทวีสิน เมื่อเฟซบุ๊ก Thailand Creative Culture Agency โพสต์ข้อความ News Update เมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2567 ความว่า
"คณะรัฐมนตรีเห็นชอบหลักการมาตรการส่งเสริมงานศิลปะและรถยนต์โบราณ (Classic Cars) ผ่านการ “ลด-ยกเว้นภาษี” เพื่อส่งเสริม Soft Power ไทย ด้านงานศิลปะ ดันประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยว (Tourism Hub) โดยมีมาตรการ 4 มาตรการ
1.“สนับสนุนการซื้องานศิลปะ”
ให้พวกเราคนธรรมดา (ผู้มีเงินได้) แต่ไม่รวมถึงห้างหุ้นส่วนสามัญ หรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล สามารถหักลดหย่อนค่าซื้องานศิลปะด้านจิตรกรรม หรือประติมากรรมในประเทศ ในลักษณะการยกเว้นไม่ต้องนำเงินได้เท่าที่ได้จ่ายเป็นค่าซื้องานศิลปะชิ้นนั้นๆ มารวมคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่ต้องไม่เกิน 100,000 บาทในปีภาษี สำหรับการซื้องานศิลปะ
ครม.เห็นชอบ 4 มาตรการส่งเสริม Soft Power สาขาศิลปะ (credit: FB/THACCA)
2.“สนับสนุนศิลปินสร้างสรรค์งานศิลปะ”
ให้มีการบรรเทาภาระภาษีให้แก่ศิลปินในประเทศไทย โดยให้ผู้มีเงินได้ฯ ตามมาตรา 40 (6) ประมวลรัษฎากรที่เป็นเงินได้จากวิชาชีพอิสระประณีตศิลปกรรมหักค่าใช้จ่ายเป็นการเหมาเพิ่มขึ้นจาก 30% เป็น 60%
3.“ลดหรือยกเว้นอากรขาเข้างานศิลปะ”
ให้มีการลดหรือยกเว้นอัตราอากรสำหรับงานศิลปะ รวมถึงวัสดุอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับงานศิลปะ เพื่อลดต้นทุนในการผลิตงานศิลปะ รวมถึงลดต้นทุนในการนำเข้างานศิลปะเพื่อนำมาจัดแสดงงานศิลปะระดับประเทศ และ ระดับนานาชาติในเมืองไทย
4. “มาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมรถยนต์โบราณ (Classic Cars)”
ยกเว้นภาษีนำเข้าสินค้ารถยนต์โบราณเฉพาะรถยนต์เท่านั้น (ไม่รวมจักรยานยนต์) เพื่อเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจผ่านการสนับสนุนจัดกิจกรรมสำหรับรถยนต์โบราณ เช่น การประกวด การจัดแสดงนิทรรศการ การจัดขบวนคาราวาน ช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยวในประเทศ รวมถึงส่งเสริมอุตสาหกกรรมการผลิตหรือบูรณะรถยนต์โบราณ
ซึ่งคณะรัฐมนตรี (ครม.) มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการศึกษารายละเอียด ผลประโยชน์ และผลกระทบ ทั้งในมิติเศรษฐกิจ การคลัง สังคม และข้อกฎหมายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องให้รอบคอบ เพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป"
ระยะสิบปีให้หลัง ภาครัฐและเอกชนต่างก็พยายามผลักดันให้เกิด เศรษฐกิจสร้างสรรค์ จากความมหัศจรรย์ในฝีมือของ ศิลปินไทย ในการสร้างสรรค์ งานศิลปะ ทุกแขนงอย่างมีเอกลักษณ์
ก่อเกิดเป็น งานเทศกาล-งานอีเวนต์เกี่ยวกับศิลปะและการออกแบบ ที่น่าตื่นตาตื่นใจในระดับชาติและระดับนานาชาติ คาดหวังให้ ประเทศไทย มีชื่อไปสู่การเป็นหมุดหมายปลายทางหนึ่งบนแผนที่เมืองศิลปะโลก ยกตัวอย่างเช่น
บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่
บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ (Bangkok Art Biennale หรือ BAB) คือเทศกาลศิลปะร่วมสมัยนานาชาติที่จัดขึ้นใน กรุงเทพมหานคร ในหลากหลายสถานที่ มีระยะเวลาการจัดงานยาว 4 เดือน
ทำให้ กรุงเทพฯ กลายเป็น เมืองศูนย์กลางแห่งการเฉลิมฉลองด้านศิลปะ การสร้างสรรค์และวัฒนธรรม เทศกาลนี้ประกอบไปด้วยกิจกรรมสุดเข้มข้น ทั้งการสัมมนาทางวิชาการ การอภิปราย การนำชมนิทรรศการ เวิร์คช็อปสำหรับครอบครัว-นักเรียนนักศึกษา และเปิดโอกาสให้ “บุคคลทั่วไป” ได้เข้าร่วม
คณะผู้จัดงาน BAB มุ่งมั่นที่จะทำให้ทุกคนสามารถเข้าถึง ศิลปะร่วมสมัย และข้อมูลเชิงลึก เกี่ยวกับผลงาน ศิลปะ เพื่อให้ผู้ชมได้เข้าใจและรู้คุณค่าของงานศิลปะมากขึ้น
BAB ยังช่วยสนับสนุนนิเวศแห่งศิลป์ในประเทศไทยให้กว้างขวางขึ้น โดยจัดให้มีการประชุมในกลุ่มเครือข่ายแกลลอรี่ทั้งในประเทศและนานาชาติที่เป็นตัวแทนศิลปินพันธมิตร (Friends of BAB) เพื่อทำงานร่วมกันให้เกิดกิจกรรมด้านศิลปะที่มีชีวิตชีวา และหลากหลายควบคู่ไปกับงานเบียนนาเล่
นอกจากนี้ ยังมีโปรแกรมพัฒนาบุคลากรด้านศิลปะที่เรียก “DEK BAB” สำหรับผู้สนใจด้านศิลปะและนักเรียนนักศึกษาซึ่งต้องการพัฒนาความรู้ด้านศิลปะร่วมสมัย และได้รับประสบการณ์แบบมืออาชีพจากทีมทำงานบางกอก อาร์ต เบียนนาเล่และศิลปิน
BAB ตั้งใจส่งเสริม เศรษฐกิจสร้างสรรค์ ของประเทศไทย กระตุ้นให้เกิดการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรม เพิ่มโอกาสในการเข้าถึงศิลปะและความหลากหลาย ทำประโยชน์ให้กับวงการศึกษาไทยและพัฒนาความฉลาดทางวัฒนธรรม
รวมไปถึงการสร้างความตระหนักรู้ถึง ประเด็นปัญหาเร่งด่วนและวิธิแก้ไข เช่น วิกฤติการณ์เกี่ยวกับผู้อพยพและผู้ลี้ภัย สงคราม ความไม่เท่าเทียมกันทางสังคม ภัยพิบัติด้านสิ่งแวดล้อม และอื่น ๆ
งาน Bangkok Art Biennale (บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่) จัดขึ้นโดยได้รับการสนับสนุนจากกรุงเทพมหานคร (กทม.) การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) (สสปน.) รวมไปถึงภาคธุรกิจ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นผู้สนับสนุนหลัก
เพื่อเพิ่ม ศักยภาพของศิลปินไทย และทำให้ กรุงเทพมหานคร กลายเป็นศูนย์กลางการสื่อสารและการขนส่ง ด้วยการจัด เทศกาลศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ ซึ่งมีศิลปินที่มีชื่อเสียงเข้าร่วมงาน
เพื่อให้คนไทยได้เพลิดเพลินกับงานศิลปะระดับโลกในบ้านของตัวเอง รวมไปถึงเพิ่มความตระหนักรู้ในประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมการเมือง และยังเป็นเวทีในการอภิปรายหัวข้อต่าง ๆ อีกด้วย
งาน บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ.2560 โดยจัดงานขึ้นครั้งแรกในปี พ.ศ.2561 และกลายเป็นจุดหมายปลายทางชั้นนำด้านศิลปะร่วมสมัยในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งดึงดูดผู้เข้าชมมากกว่า 2 ล้านคน
ในปี พ.ศ. 2563 การจัดงาน บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ครั้งที่ 2 (BAB2020) ได้ขยายไปสู่รูปแบบเสมือนจริง เพื่อให้ผู้สนใจจากทั่วโลกสามารถชมนิทรรศการได้ในช่วงการระบาดของโควิด-19 ทำให้มีผู้เข้าชมในรูปแบบเสมือนจริงมากกว่า 2.3 ล้านคน นอกเหนือไปจากผู้ชมซึ่งเข้าชม ณ สถานที่จริงอีกกว่า 400,000 คน
การจัดงานครั้งที่ 3 หรือ BAB 2022 ภายใต้แนวคิด CHAOS : CALM โกลาหล : สงบสุข เชิญชวนให้ศิลปินได้ไตร่ตรองถึงสภาวะสับสนอลหม่านของโลก ขณะที่สังคมกำลังฟื้นตัวจากโรคระบาด รวมไปถึงความเร่งด่วนในการจัดการกับผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและวิกฤติการณ์ด้านสังคมการเมือง และมีผู้เข้าชมในพื้นที่กว่า 900,000 คน มีผลลัพธ์ทางเศรษฐกิจทั้งทางตรงและทางอ้อม มูลค่ากว่า 6,000 ล้านบาท
การจัดงานครั้งที่ 4 หรือ BAB 2024 กำลังจะมีขึ้นระหว่าง วันที่ 24 ตุลาคม พ.ศ. 2567 ถึง 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2568 จัดขึ้นภายใต้ในแนวคิด “รักษา กายา” หรือ Nurture Gaia คาดว่าจะจัดแสดงผลงานตามสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมต่าง ๆ ทั่วกรุงเทพมหานคร
เทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ
เทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ หรือ Bangkok Design Week (BKKDW) มุ่งนำเสนอ งานออกแบบและงานสร้างสรรค์ ที่สะท้อนความคิดและความเป็นไปได้ใหม่ๆ ของกรุงเทพฯ ต่อสถานการณ์ทั้งในปัจจุบันและอนาคต ผ่านงานสร้างสรรค์ตั้งแต่ระดับของงานทดลองไปจนถึงผลงานที่ส่งผลด้านธุรกิจและเพื่อสังคม
จัดแสดงผ่านการใช้งานพื้นที่ในเมืองใน ย่านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Creative Economy Districts) ต่างๆ ที่กลมกลืนไปกับบริบทอันเป็นเสน่ห์ของกรุงเทพฯ พร้อมด้วยการจัดกิจกรรมเพื่อสร้างสีสันและประสบการณ์ที่สนุกสนานและน่าจดจำให้กับชาวเมือง
อีกทั้งยังดึงดูดให้ผู้คนจากทั่วโลกเดินทางมาสัมผัสกับความเคลื่อนไหวล่าสุดของกรุงเทพฯ โดยมีแนวคิดหลักครอบคลุมทั้งสามมิติ ได้แก่ อยู่ดี (City & Living) กินดี (Well-Being & Gastronomy) และธุรกิจสร้างสรรค์ (Creative Business)
เทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ ครั้งแรกจัดขึ้นในย่านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ต่าง ๆ เช่น เจริญกรุง, คลองสาน, วงเวียน 22, พระราม 1, สุขุมวิท มุ่งสำรวจเนื้อหาภายใต้แนวคิด “The NEW-ist Vibes…ออกแบบไปข้างหน้า” เมื่อปี 2561 ระหว่างวันที่ 27 มกราคม – 4 กุมภาพันธ์
- ครั้งที่สอง ปี 2562 ระหว่างวันที่ 26 มกราคม – 3 กุมภาพันธ์ ภายใต้แนวคิด “Fusing Forward ผสานสร้างสู่อนาคต”
- ครั้งที่สาม ปี 2563 ระหว่างวันที่ 1 – 9 กุมภาพันธ์ ภายใต้แนวคิด “Resilience: New Potential for Living ปรับตัว > อยู่รอด > เติบโต”
- ครั้งที่สี่ ปี 2564 ระหว่างวันที่ 8 พฤษภาคม – 31 กรกฎาคม ภายใต้แนวคิด “Resurgence of Possibilities ก้าวต่อไปสู่ความเป็นไปได้ใหม่”
- ครั้งที่ห้า ปี 2565 ระหว่างวันที่ 5 – 13 กุมภาพันธ์ ภายใต้แนวคิด “Co With Creation คิด สร้าง ทางรอด”
- ครั้งที่หก ปี 2566 ระหว่างวันที่ 4 – 12 กุมภาพันธ์ ภายใต้แนวคิด “Urban Nice’zation เมือง-มิตร-ดี”
- ครั้งที่เจ็ด ปี 2567 ระหว่างวันที่ 27 มกราคม – 4 กุมภาพันธ์ ภายใต้แนวคิด “Livable Space คนยิ่งทำ เมืองยิ่งดี”
เทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ ดำเนินการโดย สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) หรือ CEA ร่วมกับผู้ร่วมจัดงานทั้งภาครัฐและเอกชน สถาบันการศึกษา และองค์กรระหว่างประเทศกว่า 60 หน่วยงาน รวมถึงนักออกแบบและธุรกิจสร้างสรรค์กว่า 2,000 ราย โดยมียอดผู้เข้าชมงานทั้งไทยและต่างประเทศรวมแล้วมากกว่า 400,000 คน ในแต่ละปี
ตลอด 6 ปีของการจัดงาน (พ.ศ. 2561 - 2566) เทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ มีผู้เข้าชมงาน 2.105ล้านคน สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้ไม่น้อยกว่า 1,948 ล้านบาท
ไม่เพียงส่งผลดีต่ออุตสาหกรรมสร้างสรรค์ไทย ทั้งในแง่ของการเป็นเวทีแสดงผลงานของนักออกแบบและธุรกิจสร้างสรรค์ การกระตุ้นให้เกิดการแข่งขัน ตลอดจนการสร้างเครือข่ายทางธุรกิจทั้งในและต่างประเทศ
แต่ยังส่งผลกระทบเชิงบวกที่ขยายผลสู่ธุรกิจแวดล้อมต่าง ๆ เช่น การตลาด การพิมพ์ สื่อออนไลน์ แกลลอรี ร้านกาแฟ ร้านอาหาร ธุรกิจของฝาก-ของที่ระลึก โลจิสติกส์ การท่องเที่ยว ที่พักโรงแรม บริการขนส่งมวลชน ฯลฯ
เทศกาลศิลปะกรุงเทพ
เทศกาลศิลปะกรุงเทพ มีชื่อเป็นภาษาอังกฤษว่า Bangkok Art Festival (BAF) การจัดงานมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริม สนับสนุน และเผยแพร่ ศิลปะร่วมสมัย ให้เป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาคนไทยให้มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์
สามารถนำไปปรับใช้ในการดำรงชีวิต ต่อยอดธุรกิจและสร้างอาชีพจากผลิตผลทางวัฒนธรรมและศิลปะร่วมสมัย รวมทั้งส่งเสริมให้นำมิติทางวัฒนธรรม สร้างรายได้เชื่อมโยงการท่องเที่ยว
นอกจากนี้ ยังเป็นการเผยแพร่เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจ ศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย ให้แก่เด็ก เยาวชน และประชาชนทั่วไป เป็นแหล่งเรียนรู้งานศิลปะร่วมสมัยให้แก่ประชาชนและผู้ซื้อโดยตรง เพิ่มศักยภาพในการเข้าถึงงานศิลปะร่วมสมัยได้ในอีกทางหนึ่ง
พร้อมทั้งเปิดโอกาสให้ บุคลากรสร้างสรรค์ มีพื้นที่ในการเผยแพร่ จัดแสดง และจำหน่ายผลงานของตนเอง เพื่อส่งเสริมอัตลักษณ์ไทยและความเป็นไทย พัฒนาความคิดสร้างสรรค์ และสนับสนุนให้คนไทยสามารถนำ ทุนวัฒนธรรม มาสร้างรายได้ และต่อยอดสู่เวทีโลกต่อไปได้
เทศกาลศิลปะกรุงเทพ ครั้งที่ 5
Bangkok Art Festival (BAF) จัดโดย สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย หรือ สศร. (ภายใต้การกำกับของกระทรวงวัฒนธรรม) เป็นหน่วยงานที่มีภารกิจในการส่งเสริม สนับสนุน และเผยแพร่กิจกรรมการสร้างสรรค์งานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย เพื่อเพิ่มพูนภูมิปัญญา และประยุกต์ใช้ในสังคม โดยจำแนกงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัยเป็น 9 สาขา ประกอบด้วย
- สาขาทัศนศิลป์ (Visual Arts)
- สาขาศิลปะการแสดง (Performing Arts)
- สาขาคีตศิลป์ (Music)
- สาขาวรรณศิลป์ (Literature)
- สาขาสถาปัตยกรรม (Architecture)
- สาขามัณฑนศิลป์ (Interior Design)
- สาขาเรขศิลป์ (Graphic Design)
- สาขาภาพยนตร์ (Film)
- สาขาออกแบบเครื่องแต่งกาย(Fashion)
เทศกาลศิลปะกรุงเทพ หรือ Bangkok Art Festival (BAF) เป็นเครื่องมือหนึ่งในการเผยแพร่งานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย ทั้ง 9 สาขาดังกล่าว
งาน “เทศกาลศิลปะแห่งกรุงเทพ” มีรูปแบบการจัดงานและสถานที่จัดงานเปลี่ยนแปลงหลายครั้ง โดย “งานครั้งที่ 1” จัดทุกวันเสาร์ - อาทิตย์ ระหว่างวันที่ 19 มีนาคม - 15 พฤษภาคม 2559 บริเวณหน้าหอศิลป์ร่วมสมัยราชดำเนิน มีการแสดงร่วมสมัย การแสดงอาเซียน ดนตรีร่วมสมัย ดนตรีอาเซียน สาธิตงานศิลปะร่วมสมัย และ Art Market
งานครั้งที่ 3 จัดทุกวันเสาร์และวันอาทิตย์ของสัปดาห์ที่ 1 และ 3 ของเดือน ตั้งแต่เดือนมกราคมถึงเดือนมิถุนายน 2561 ณ สยามสแควร์ ซอย 5 และชั้น 2 สยามสแควร์วัน
งานครั้งที่ 5 จัดในปี 2563 เป็นเวลา 8 สัปดาห์ ทุกวันเสาร์ที่ 1และวันอาทิตย์ที่ 2 ระหว่างเดือนกุมภาพันธ์-กันยายน ประกอบด้วยสาธิตงานศิลปะร่วมสมัย การเผยแพร่ผลงานร่วมสมัย ทั้งศิลปะการแสดง ดนตรี แฟชั่นโชว์ การจำหน่ายผลงานศิลปะร่วมสมัย สาขาทัศนศิลป์ ออกแบบ รวมทั้งผลิตภัณฑ์ทางศิลปวัฒนธรรม ณ Lido Connect สยามสแควร์
งาน เทศกาลศิลปะกรุงเทพ Bangkok Art Festival (BAF) ครั้งล่าสุดคือครั้งที่ 9 จัดไประหว่างวันที่ 6-10 มีนาคม ณ ริเวอร์ พาร์ค ไอคอนสยาม
Mango Art Festival
Mango Art Festival หรือ เทศกาลศิลปะแมงโก้ เป็นเทศกาลศิลปะแห่งแรกและแห่งเดียวของเอเชียที่ผสมผสานศิลปะ การออกแบบ และการแสดงเข้าด้วยกัน
เป้าหมายคือการพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของประเทศไทย เพื่อปลดปล่อยศักยภาพของวงการศิลปะของประเทศไทยอย่างเต็มที่ และเพื่อแสดงความสามารถของอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ของไทยในระดับสากล
รวมทั้งขับเคลื่อน ประเทศไทย ให้เป็นหนึ่งในจุดหมายปลายทางยอดนิยมด้าน การท่องเที่ยวด้านศิลปะและการออกแบบ
คณะผู้จัดงานมุ่งหวังว่าจะทำให้ Mango Art Festival ไม่เพียงแต่เป็นสถานที่สำหรับการชมงานศิลปะทุกรูปแบบเท่านั้น แต่ยังเป็นศูนย์รวมสำหรับนักสะสมและคนรักงานศิลปะในการซื้องานศิลปะ ทั้งเพื่อการลงทุนหรือเพื่อสะสม
เป็นเวทีในการค้นพบ ศิลปินหน้าใหม่ ที่มีความสามารถ เพื่อสนับสนุนให้พวกเขาได้เริ่มต้นก้าวแรกเข้าสู่วงการศิลปะไทยและเวทีระดับนานาชาติต่อไป
Mango Art Festival จัดขึ้นครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ.2564 สำหรับงานครั้งที่ 4 หรือ Mango Art Festival 2024 กำลังจะจัดขึ้นในปีนี้ ระหว่างวันที่ 7-12 พฤษภาคม 2567 ที่ ริเวอร์ ซิตี้ แบงค็อก
มีกิจกรรมศิลปะหลากหลาย และมี แกลลอรีทั้งจากไทยและจากต่างประเทศ เข้าร่วมทั้งหมด 18 แห่ง โดยมี 8 แกลลอรีระดับนานาชาติที่เข้าร่วมงาน อาทิ A 4 Gallery Tokyo (ญี่ปุ่น), Whitestone Gallery (ญี่ปุ่น), Vinyl on Vinyl (ฟิลิปปินส์), Boon Boon Art (ไต้หวัน), Art Formosa (ไต้หวัน), Suomi M50 Gallery (จีน), Gallery Two (อินเดีย), AHC Projects Hamburg (เยอรมนี)