อิตาลี นำภาพโมเสก ศิลปกรรมประวัติศาสตร์ประจำชาติจาก 8 เมืองเอก จัดแสดงในไทย
สถานทูตอิตาลีประจำประเทศไทย นำภาพโมเสกอายุนับพันปี ประวัติศาสตร์ศิลปกรรมประจำชาติจาก 8 เมืองประวัติศาสตร์ เปิดแสดงในรูปแบบ Multimedia Immersive ผ่านนิทรรศการ ‘Mosaico - Italian code of a timeless art มองโมเสก: ถอดรหัสหัตถศิลป์จากดินแดนอิตาเลีย’ ชมได้ที่มิวเซียมสยาม
KEY
POINTS
- ดื่มด่ำไปกับลวดลายที่พร่างพราวและเปี่ยมไปด้วยเรื่องราว สัญลักษณ์สูงค่าเชิงศาสนา ศิลปกรรมโรมันอันรุ่งโรจน์ ภาพเลียนแบบธรรมชาติจากผืนน้ำจรดฟากฟ้า เขาวงกต และศึกสงคราม
- ในนิทรรศการ “ภาพโมเสก” ครั้งยิ่งใหญ่ “Mosaico-Italian code of a timeless art มองโมเสก: ถอดรหัสหัตถศิลป์จากดินแดนอิตาเลีย”
- สร้างสรรค์โดย "กระทรวงการต่างประเทศและความร่วมมือสากลของรัฐบาลอิตาลี" นำภาพโมเสกโบราณชิ้นประวัติศาสตร์จาก 8 เมืองเอกของอิตาลี นำเสนอผ่านนิทรรศการแบบ Multimedia Immersive
- จัดแสดงครั้งแรกในเมืองไทย วันนี้-25 มิ.ย.2567 ณ มิวเซียมสยาม พร้อมกิจกรรมบรรยายและเวิร์คช็อปทุกวันเสาร์
โมเสก (Mosaics หรือภาษาอิตาเลียน Mosaico) ได้นำศิลปะและสีสันมาสู่ผนังและพื้นของยุโรปมาเป็นเวลาหลายพันปี โดยเฉพาะในประเทศ อิตาลี โมเสกถือเป็นงานหัตถศิลป์ชิ้นเอกที่มีการสืบทอดกันในประเทศมาเป็นระยะเวลายาวนานมากกว่า 2,000 ปี ครอบคลุมแว่นแคว้นจากเหนือจรดใต้ไปทั่วประเทศกว่า 1,500 กิโลเมตร
เป็นโอกาสพิเศษมากๆ สำหรับผู้ชื่นชอบและสนใจศึกษาศิลปะ ‘โมเสก’ เมื่อสถานทูตอิตาลีประจำประเทศไทย นำนิทรรศการ Mosaico - Italian code of a timeless art มองโมเสก: ถอดรหัสหัตถศิลป์จากดินแดนอิตาเลีย ซึ่งสร้างสรรค์โดย ‘กระทรวงการต่างประเทศและความร่วมมือสากลของรัฐบาลอิตาลี’ มาจัดแสดงให้ชมกันถึงในประเทศไทยที่ มิวเซียมสยาม (Museum Siam)
นิทรรศการ Mosaico - Italian code of a timeless art
นิทรรศการ ‘มองโมเสก’ จัดแสดงด้วยเทคนิคร่วมสมัยที่กำลังได้รับความนิยมในขณะนี้ คือการสำเสนอแบบ Multimedia Immersive ที่จะทำให้ผู้เข้าชมมหัศจรรย์ใจไปกับความงามของลวดลายโมเสก ร่วมเรียนรู้เรื่องราวเกี่ยวกับรูปทรง วัสดุที่ใช้ การประกอบสร้างขึ้นเป็นชิ้นงานโมเสกที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะของประเทศอิตาลี
พร้อมถอดรหัสหัตถศิลป์ที่เป็นแรงบันดาลใจให้กับช่างฝีมือชาวโรมันและศิลปินร่วมสมัยได้สร้างสรรค์ผลงานมีค่าอันไร้ซึ่งกาลเวลา
นิทรรศการ Mosaico - Italian code of a timeless art พาผู้เข้าชมร่วมเดินทางไปกับประสบการณ์สุดพิเศษที่เต็มไปด้วยลวดลายที่พร่างพราวและเปี่ยมไปด้วยเรื่องราว สัญลักษณ์สูงค่าเชิงศาสนา ศิลปกรรมโรมันอันรุ่งโรจน์ ธรรมชาติในผืนน้ำจรดฟากฟ้า เขาวงกต และศึกสงคราม ผ่านผลงานโมเสกชิ้นเอกประจำ 8 เมืองสำคัญจากเหนือจรดใต้ของอิตาลี โดยแบ่งพื้นที่นิทรรศการออกเป็น 7 โซน
โซน 00 : ความนำ
ภาพโมเสกจาก 8 เมืองประวัติศาสตร์อิตาลี
โซนความนำ (Introduction) จัดแสดงแผนที่ประเทศอิตาลีพร้อมตำแหน่งเมืองทั้ง 8 ที่มีภาพประวัติศาสตร์โมเสกสำคัญของประเทศ ซึ่งนำมาจัดแสดงเป็นนิทรรศการนี้ ให้รู้ว่าแต่ละเมืองตั้งอยู่บริเวณใดของอิตาลี
ก่อนชมภาพโมเสกชิ้นประวัติศาสตร์ในโซนต่อๆ ไป โซนนี้อุ่นเครื่องด้วยการนำเสนอผลงานศิลปะบางชิ้นในคอลเลคชั่นฟาร์เนซีน่า (Farnesina) เป็นคอลเลคชั่นซึ่งรวบรวมผลงาน ศิลปะโมเสกร่วมสมัย ของศิลปินอิตาลีที่สร้างสรรค์ขึ้นในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 20 และ 21
โมเสกร่วมสมัยของ Luigi Montanarini
เริ่มต้นด้วยภาพโมเสกติดผนังขนาดใหญ่ของ Luigi Montanarini และ Toti Scialoja ต่อด้วยผลงานศิลปะร่วมสมัยโดยศิลปินคนอื่นๆ อาทิ Massimo Campigli, Sandro Chia, Afro, Mirko, Ascanio Renda กับการใช้เทคนิคโมเสกในศตวรรษที่ 20 จนถึงการพัฒนาล่าสุดและการตีความที่สร้างสรรค์และเป็นผลงานต้นฉบับที่สุด
ผลงานแต่ละชิ้นนำเสนอแง่มุมต่างๆ มากมายที่เป็นลักษณะเฉพาะของ โมเสกร่วมสมัย แสดงถึงแนวความคิดและสไตล์ที่หลากหลาย เป็นทั้งงานดีไซน์โชว์ความคิดไปจนถึงงานศิลปะเพื่อสาธารณะ ยืนยันถึงความมีชีวิตชีวาของเทคนิคที่มีลักษณะเฉพาะของโมเสก
โมเสกร่วมสมัยของ Sandro Chia
นอกเหนือจากความสวยงามที่สัมผัสได้ด้วยสายตา สามารถปรับให้เข้ากับบริบทที่หลากหลายที่สุดได้ ศิลปะโมเสก ของอิตาลียังแข็งแกร่งต้านทานจากสภาวะแวดล้อม กระทั่งได้รับฉายา ‘ภาพนิรันดร์’
ผลงานคอลเลคชั่นฟาร์เนซีน่าเก็บรักษาอยู่ที่ "สำนักงานใหญ่ กระทรวงการต่างประเทศและความร่วมมือสากลของรัฐบาลอิตาลี" ผลงานเหล่านี้ถือเป็นรากฐานสำคัญสำหรับกำหนดนโยบายทางด้านศิลปะและวัฒนธรรมของประเทศ
โซน 01 :โรม / ปอมเปอี
ภาพโมเสกภายใน Basilica of Saints Cosmas and Damian
กรุง โรม (Roma หรือ Rome) ถือเป็นเมืองเอกที่ผู้เข้าชมจะได้พบเป็นโซนแรกของนิทรรศการฯ เริ่มด้วยผลงานโมเสกชิ้นเด็ดๆ จาก พิพิธภัณฑ์คาปิโตลินี (Capitolini) ที่แสดงให้เห็นถึงความยิ่งใหญ่ในอดีตของอาณาจักรโรมัน เป็นชิ้นงานที่ได้จากการขุดค้นทางโบราณคดีในช่วงศตวรรษที่ผ่านมา เมื่อกรุงโรมเป็นเมืองหลวงของประเทศแล้ว
นอกจากนี้ยังมีภาพโมเสกอันเลื่องชื่อจาก มหาวิหารนักบุญคอสมาและนักบุญดามิอาโน (Basilica of Saints Cosmas and Damian), พร้อมทั้ง มหาวิหารนักบุญหญิงปรัสเซเด (Basilica of Saint Prassede) ก็เป็นอีก 2 สถานที่ที่ให้เราจะได้เรียนรู้เกี่ยวกับศิลปะคริสเตียนตอนต้น เรื่องราวที่เล่าผ่านโมเสกบนผนังและหลังคาโดมดังก้องไปด้วยจิตวิญญาณแห่งศรัทธาอันแรงกล้า
ชมภาพโมเสก Battle of Issus
ดารีอุสแห่งเปอร์เซียในภาพโมเสก Battle of Issus
ปอมเปอี (Pompei) เป็นอีกเมืองที่มีภาพโมเสกสำคัญในประวัติศาสตร์ ภาพนั้นอยู่ที่ คฤหาสน์ฟอน (House of the Faun) วิลล่าขนาดใหญ่และโอ่โถงที่สุดในเมืองปอมเปอี มีการประดับโมเสกที่น่าตื่นตาตื่นใจเป็นอย่างยิ่ง
โมเสกชิ้นเล็กชิ้นน้อยนับล้านชิ้นประกอบขึ้นเป็น ภาพ Battle of Issus การประจัญบานที่เมืองซิสซุ (Sissu) ระหว่างอเล็กซานเดอร์มหาราชแห่งโรมันกับดารีอุสมหาราชแห่งเปอร์เซีย (Darius III of Persia) เป็นภาพที่เร้าอารมณ์และสร้างความสะเทือนใจให้กับผู้ชมเป็นอย่างมาก ด้วยม้าศึกที่วิ่งวน ฝ่าดงหอกที่พุ่งทะยานขึ้นสู่ฟ้า แสดงซึ่งสีหน้าอันหวาดกลัวของเหล่าทหารหาญ
ภาพอเล็กซานเดอร์มหาราชที่เกิดจากการเรียงโมเสกในภาพ Battle of Issus
“ภาพนี้ช่างโมเสกอิตาเลียนสร้างสรรค์ใบหน้าอเล็กซานเดอร์มหาราชและจับอิริยาบถได้น่าสนใจมาก แม้กระทั่งท่วงท่าและรายละเอียดของม้าขณะอยู่ในสนามรบ เมื่อทหารล้มลงยังมีรายละเอียดของใบหน้าทหารที่สะท้อนอยู่บนโล่ห์ รวมทั้งการจัดองค์ประกอบภาพ” พาฉัตร ทิพทัส ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายนิทรรศการและกิจกรรม มิวเซียมสยาม ให้ความเห็นเกี่ยวกับภาพ Battle of Issus
แต่อย่าลืมว่าภาพ Battle of Issus ไม่ใช่ภาพวาด แต่เป็นภาพที่เกิดจากการเรียง ‘โมเสก’ ซึ่งหมายถึงหินชิ้นเล็กๆ แก้ว เซรามิกและวัสดุแข็งอื่นๆ ที่ตัดเป็นหลากหลายรูปทรง
พาฉัตร ทิพทัส
พาฉัตร กล่าวด้วยว่า ภาพ Battle of Issus และศิลปะโมเสกของอิตาลีแสดงถึงความรุ่มรวยของการเป็นแหล่งหินสีที่นอกจากจะหลากสีสันแล้ว แต่ละสียังมีโทนสีอ่อนแก่ให้เลือกอีกมากมาย ไม่เช่นนั้นคงไม่สามารถไล่แสงเงาบนใบหน้า ทำให้เสื้อผ้าดูพลิ้วไหวได้แบบนี้
“รวมทั้งขนาดหินสีก็ได้รับการตัดจนมีขนาดเล็กมากจนแทบจะมองเป็นจุดๆ เมื่อนำมาเรียงกันแล้วจึงได้ภาพที่มีความละเอียด ดูงดงามราวภาพเขียน แต่นี่คือภาพโมเสกที่มีอายุไม่ต่ำกว่าสองพันปี” พาฉัตร กล่าว
โซน 02 : อากวิเลอา
ภาพโมเสกสื่อความหมายทางคาทอลิก
Aquileia (อา-กวิ-เล-อา) เดิมเป็นเมืองของจักรวรรดิโรมันและเป็นเขตปกครองของคริสตจักรนิกายโรมันคาทอลิก ปัจจุบันตั้งอยู่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของอิตาลีริมแม่น้ำ Natisone ใกล้ชายฝั่งทะเลเอเดรียติก
ภาพโมเสกชิ้นสำคัญของเมือง อากวิเลอา คือ พื้นโมเสกภายในมหาวิหารอัสสัมชัญของพระแม่มารีย์ (Patriarchal Basilica of Saint Mary of the Assumption) ถือเป็นผลงานโมเสกผืนใหญ่ที่สุดในโลกตะวันตก
พื้นโมเสกนี้สร้างขึ้นเมื่อจักรพรรดิคอนสตันตินุส (Constantinus) ทรงมีพระบรมราชโองการให้ชาวโรมันมีเสรีภาพในการนับถือคริสต์ศาสนาได้ตามศรัทธาของตน
ผลงานโมเสกภายในมหาวิหารแห่งนี้อุดมไปด้วยการใช้รูปสัญลักษณ์เพื่อสื่อความหมายทางคาทอลิก รูปที่ทำมีทั้งอสุรกายใต้ท้องทะเล รูปนก รูปการจิกตีของไก่กับเต่า รวมไปถึงเรื่องราวของศาสดาพยากรณ์อย่างท่านโยนา (Jonah) ซึ่งแฝงไปด้วยคติเรื่องการฟื้นคืนพระชนม์ของพระเยซู
โซน 03 : ราเวนนา
ภาพโมเสกที่สุสาน กัลลา ปลาชิเดีย
เมือง ราเวนนา (Ravenna) มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ในฐานะเป็นเมืองหลวงของจักรวรรดิโรมันตะวันตกในช่วงศตวรรษที่ 5 จนกระทั่งล่มสลายในปี 476 หลังจากนั้นใช้เป็นเมืองหลวงของอาณาจักรออสโตรกอธ (Ostrogothic Kingdom) และต่อมาคือ Byzantine Exarchate of Ravenna
อดีตอันรุ่งโรจน์ของเมืองราเวนนาปรากฏให้เห็นได้ชัดในผลงานโมเสกที่ สุสาน กัลลา ปลาชิเดีย (Mausoleum of Galla Placidia) สร้างขึ้นหลังปีคริสต์ศักราช 426 สันนิษฐานว่าสร้างตามพระดำริของพระนาง กัลลา ปลาชิเดีย พระธิดาของจักรพรรดิเทออดอซีอุส (Theodosius) และเป็นพระขนิษฐาของจักรพรรดิฮอนอริอุส (Honorius)
งานโมเสกที่มหาวิหารนักบุญ อาโปลลีนาเร
ยังมีงานโมเสกสำคัญอยู่ที่ มหาวิหารนักบุญ วิตาเล (Basilica of Saint Vitale) และ มหาวิหารนักบุญ อาโปลลีนาเร (Basilica of Saint Apollinare) แห่งเมืองกลัสเซ (Classe) อันเป็นตัวอย่างที่ชัดเจนของศิลปะแบบไบเซนไทน์ (Byzantine) และคริสเตียนตอนต้น
มีการใช้โมเสกหลากสีสันอันสดใส ทั้งโมเสกสีทองเรืองรองต้องแสงไฟ ราวกับจะนำคุณไปสู่อีกภพภูมิหนึ่ง ส่วนภาพขบวนเสด็จฯ ของจักรพรรดิจุสตินิอานุส (Justinianus) และจักรพรรดินีเทออดอรา (Theodora) แฝงนัยยะทางการเมืองและศาสนาที่ชัดแจ้ง
ผลงานโมเสกยังเป็นเครื่องมือสำคัญสำหรับคริสตจักรในการชี้ชวนสาธุชนทุกท่านร่วมข้ามผ่านความสวยที่รูปกาย สู่ความงามจากจิตข้างใน เป็นแสงสว่างใสที่แท้จริง
โซน 04 : ปาแลร์โม / มอนเรอาเล
ภาพโมเสกการสิ้นพระชนม์ของพระนางมารีย์ (ภาพขวา) ภายในโบสถ์มาร์โตรานา
ปาแลร์โม (Palermo) เป็นเมืองโบราณที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานกว่า 2,700 ปี เดิมก่อตั้งโดยชาวฟินีเซียนเมื่อ 734 ปีก่อนคริสตกาล ต่อมาอยู่ภายใต้อิทธิพลของคาร์เธจ (Carthage เมืองโบราณที่ยิ่งใหญ่ทางชายฝั่งทางเหนือของทวีปแอฟริกา) และได้รับการหล่อหลอมจากวัฒนธรรมกรีกโบราณด้วย
ในช่วงที่ดำรงอยู่มายาวนาน ปาแลร์โมเป็นส่วนหนึ่งของสาธารณรัฐโรมัน จักรวรรดิโรมัน กระทั่งเคยตกอยู่ภายใต้การปกครองของชาวอาหรับ
ปัจจุบัน ปาแลร์โมเป็นเมืองหลวงของซิซิลี (Sicily) ซึ่งเป็นเกาะที่ใหญ่ที่สุดในทะเลเมดิเตอร์เรเนียนและตั้งอยู่ที่ด้านล่างของอิตาลีใกล้กับตูนิเซียและมอลตา
เมือง มอนเรอาเล (Monreale) เป็นเมืองบนเนินเขาที่ตั้งอยู่บนเนินลาดตะวันตกเฉียงใต้ของ Mount Caputo ทางตะวันตกเฉียงเหนือของซิซิลี มีชื่อเสียงในเรื่องอาสนวิหาร ซึ่งเป็นอาคารประวัติศาสตร์นอร์มัน-ไบแซนไทน์ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็น "มรดกโลก" โดยองค์การยูเนสโก
ผลงานภาพโมเสกที่เกาะซิซิลีไม่น้อยหน้ากว่าที่ไหน เพราะช่างยิ่งใหญ่ มีความละเอียดซับซ้อน แสดงให้เห็นถึงฝีมือในการสร้างสรรค์ผลงานภายในโบสถ์น้อย กัปเปลลา ปาลาติน่า (Cappella Palatina), อาสนวิหารแห่งมอนเรอาเล (Cathedral Monreale), และที่ โบสถ์มาร์โตรานา (Martorana Church)
โดยเล่าเรื่องราวจากพระคัมภีร์ อย่างเรื่องพระเจ้าสร้างโลกและมวลมนุษย์ สู่การเสด็จมาของพระคริสต์ เพื่อช่วยไถ่บาป ไปจนถึงวันสิ้นโลก
รัชสมัยของพระเจ้ารุจเจโรที่ 2 (Ruggero II) เป็นยุคที่ชาวคริสต์ อิสลาม และยิว อยู่ร่วมกันอย่างสันติ ต่างพูดกันด้วยภาษาละติน กรีก อารบิค หรือแม้แต่ฮิบรู เป็นสังคมพหุวัฒนธรรมแท้ ที่สะท้อนให้เห็นได้ในงานศิลปะและสถาปัตยกรรมของพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์เหล่านี้
โซน 05 : ปีอาซซ่า อาร์เมรีนา
โมเสกภาพ Bikini Girls
เมือง ปีอาซซ่า อาร์เมรีนา (Piazza Armerina) เป็นเมืองในซิซิลีตอนกลางโดยมีผังเมืองในยุคกลางซึ่งมีป่าสีเขียวเป็นฉากหลัง มีชื่อเสียงในด้านมรดกทางประวัติศาสตร์และโบราณคดีจากผลงานโมเสกโรมันของ วิลลา โรมานา เดล คาซาเล (Romana del Casale) แหล่งมรดกโลกโดย UNESCO
ในโซนนี้ ผู้เข้าชมนิทรรศการฯ จะได้เรียนรู้ขนบประเพณีและกิจวัตรของชาวโรมันจากผลงานโมเสกสุดวิจิตรของโถงทางเดินและห้องหับต่างๆ ภายในวิลลา โรมานา เดล คาซาเล
วิลลาหรูในปลายยุคจักรวรรดิโรมันแห่งนี้ มีพื้นโมเสกหลากสีสดใสที่แสดงให้เห็นกิจกรรมประจำวันของชาวโรมันในช่วงต้นของคริสต์ศตวรรษ ไม่ว่าจะเป็นภาพไฮไลท์อย่าง ภาพการล่าสัตว์ ไปจนถึง ภาพการใช้ชีวิตของชนชั้นสูง ภาพเหล่าวีรบุรุษ และ ภาพทวยเทพ ไปจนถึงผลงานโมเสกเลื่องชื่อ ได้แก่ ภาพ Bikini Girls
โมเสกภาพ Bikini Girls
โมเสก Bikini Girls สร้างขึ้นในคริสต์ศตวรรษที่ 4 มีพื้นกระเบื้องโมเสคที่กว้างขวาง ภาพโมเสกซึ่งจริงๆ แล้วเป็นภาพของนักกีฬา แสดงให้เห็นหญิงสาวที่มีส่วนร่วมในกีฬา เช่น การยกน้ำหนัก การขว้างจักร การแข่งรถ และเกมบอล
“สิ่งที่น่าสนใจคือโมเสกชิ้นเล็กๆ เหล่านี้ ช่วยให้มองเห็นแฟชั่น เทคโนโลยี และชีวิตประจำวันในสมัยโบราณ วิลลาแห่งนี้ถูกปกคลุมไปด้วยโคลนมานานหลายศตวรรษ โดยยังคงรักษาสภาพโมเสกให้อยู่ในสภาพที่น่าทึ่ง” พาฉัตร กล่าว
เมื่อภาพโมเสกชิ้นดั้งเดิมภายในวิลลาแห่งนี้ปรากฏอยู่บนโถงทางเดิน คณะผู้จัดทำนิทรรศการนี้จึงจัดแสดงภาพอิมเมอร์ซีฟของโมเสกชิ้นประวัติศาสตร์เหล่านี้อยู่บนพื้นห้องจัดแสดง เผยให้เห็นมุมมองและความรู้สึกที่ใกล้เคียงกับการเดินเข้าไปชมวิลลาโรมานา เดล คาซาเล
โซน 06 : บาย่า
โมเสกจมอยู่ใต้ทะเลที่เมืองบาย่า
การพัฒนาเริ่มขึ้นในเมือง บาย่า (Baia) ในศตวรรษที่ 2 ก่อนคริสต์ศักราช เมื่อจักรพรรดิออกุสตุสเชื่อมวิลลาหรูทุกหลังในพื้นที่ด้วยถนน
ผู้สืบทอดตำแหน่งต่อจากออกัสตุส โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เนโร เฮเดรียน และอเล็กซานเดอร์ เซเวรัส ยังคงขยายและพัฒนา ‘บาย่า’ อย่างต่อเนื่อง เพิ่มสิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อการพักผ่อนอย่างกว้างขวาง จนที่นี่กลายเป็นสถานที่สันทนาการสำหรับชนชั้นสูงของโรมโบราณ ถึงกับเรียกกันว่าเป็น ‘กรุงโรมน้อย’
เมืองนี้ตั้งอยู่เหนือปล่องภูเขาไฟตามธรรมชาติ มีชื่อเสียงในด้านบ่อน้ำพุร้อนเพื่อการบำบัดซึ่งเกิดขึ้นทั่วเมืองและค่อนข้างง่ายที่จะสร้างสปาครอบทับลงไป
ช่วงเวลาดีๆ ของ ‘บาย่า’ ไม่คงอยู่ตลอดไปหลังถูกรุกรานโดยกองทัพมุสลิมในศตวรรษที่ 8 เมืองที่เคยหรูหราแห่งนี้ก็ถูกทิ้งร้าง
ประกอบกับเกิดการปะทุของภูเขาไฟในพื้นที่ ระดับน้ำทะเลเพิ่มขึ้นอย่างช้าๆ เข้ามาตามปล่องภูเขาไฟแบบเดียวกับที่เคยดึงดูดให้ผู้คนเข้ามาในพื้นที่
อุทยานโบราณคดีใต้น้ำเมืองบาย่า
ในที่สุดซากปรักหักพังโบราณที่สำคัญบางส่วนก็ถูกพัดลงทะเล โรงอาบน้ำของจักรพรรดิ งานโมเสกล้ำค่า รูปปั้นอ่อนช้อยและพื้นหินอ่อน จมอยู่ใต้น้ำตื้นของอ่าว
เพื่อปกป้องศิลปกรรมล้ำค่าดังกล่าว อิตาลีจึงสร้าง อุทยานทางโบราณคดีทางทะเล Baia ขึ้นเมื่อในปี 2002
ปัจจุบันอุทยานโบราณคดีใต้น้ำเมืองบาย่าตั้งอยู่นอกเมืองเนเปิลส์ ผู้ไปเยือนจะได้เห็นท่าจอดเรือที่ครั้งหนึ่งเคยคึกคัก แต่กลับจมอยู่ใต้ท้องทะเล อันเกิดจากปรากฏการณ์ยุบตัวของผิวโลกในแถบภูเขาไฟ
ช่องมองพิเศษ เหมือนชมภาพอยู่ใต้น้ำ
ผู้เข้าชมนิทรรศการฯ โซนที่ 06
ภัณฑารักษ์นิทรรศการฯ ระบุว่า ทุกวันนี้ใครที่ใคร่จะชื่นชมชิ้นงานโมเสกชั้นเลิศเหล่านี้ ก็จำต้องดำลงไปใต้น้ำ ใช้มือประจงปัดชั้นทรายที่ทับถมอยู่ออก พร้อมเรียนรู้เรื่องราวที่ซ่อนอยู่ ซึ่งจะเผยให้เห็นอดีตอันแสนรุ่งโรจน์ของเมืองท่าชายทะเลอย่างนาโปลี (Napoli) หรือเนเปิลส์
สำหรับในนิทรรศการนี้ ผู้เข้าชมจะได้เห็นภาพงานโมเสกโบราณของเมืองบาย่าที่จมอยู่ใต้น้ำโดยไม่ต้องดำน้ำ แต่สำหรับผู้อยากสัมผัสมองบรรยากาศใต้น้ำ คณะจัดทำนิทรรศการได้ออกแบบช่องมองพิเศษที่จะให้มุมมองราวกับคุณกำลังดำน้ำ
กิจกรรมประกอบนิทรรศการ
นิทรรศการนี้มีเครื่องช่วยแปลภาษาประกอบการชมภาพโมเสก บทบรรยายเป็นภาษาไทย
นิทรรศการ Mosaico-Italian code of a timeless art มองโมเสก: ถอดรหัสหัตถศิลป์จากดินแดนอิตาเลีย นำเสนอผ่าน Multimedia Immersive จัดแสดงวันนี้-25 มิ.ย.2567 ณ มิวเซียมสยาม เวลา 10.00 - 18.00 น. ปิดทุกวันจันทร์
นอกจากนี้ยังมี กิจกรรมประกอบนิทรรศการ ขยายประเด็นเนื้อหาความสัมพันธ์ของโมเสกอิตาลีกับประวัติศาสตร์สยามประเทศ และบริบทสังคมไทยร่วมสมัยในปัจจุบัน ในรูปแบบกิจกรรมบรรยายและเวิร์คช็อป
ครั้งที่ 1 :วันเสาร์ที่ 1 มิ.ย.2567 เวลา 14.00-17.00 น. Talk มองโมเสกมุมเทพปกรณัม วิทยากรโดย ดร.เอกสุดา สิงห์ลำพอง คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร
ครั้งที่ 2 :วันเสาร์ที่ 8 มิ.ย.2567 เวลา 14.00-17.00 น. Talk โมเสกอิตาลีในสยาม วิทยากรโดย สุรยุทธ วิริยะดำรงค์ สำนักสถาปัตยกรรม กรมศิลปากร, วิทยากรจากวัดสระเกศฯ
ครั้งที่ 3 :วันเสาร์ที่ 15 มิ.ย.2567 เวลา 14.00-17.00 น. Talk โมเสกอิตาลีวัดราชบพิธฯ เกร็ดประวัติศาสตร์และศิลปะการทำโมเสกแบบดั้งเดิม วิทยากรโดย Mr.Fabrizio Travisanutto ประธาน Travisanutto Mosaics SRL เจ้าของโรงงานกระเบื้องโมเสก อิตาลี, รศ.ดร.ชัชพล ไชยพร คณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ ดร.ธีร์ธวัช เจนวัชรารักษ์ สถาบันการศึกษานานาชาติ มหาวิทยาลัยรามคำแหง
ครั้งที่ 4 :วันเสาร์ที่ 22 มิ.ย.2567 เวลา 14.00-17.00 น. Workshop-History and Sensory เล่าประวัติศาสตร์ศิลป์ถิ่นอิตาลีและทำศิลปะประดิษฐ์โมเสก วิทยากรโดย ดร.เอกสุดา สิงห์ลำพอง คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร, ธัญญลักษณ์ ลิ้มเกษมสถาพร โรงเรียนสาธิตนานาชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล