18 มิ.ย.67 “กฎหมายสมรสเท่าเทียม” เป็นจริง LGBTQIAN+ ฉลองใหญ่หน้าหอศิลป์กทม.
จารึก 18 มิ.ย.67 ฉลองใหญ่ “กฎหมายสมรสเท่าเทียม” ผ่านสภาสูงวาระ 3 รอเพียงประกาศราชกิจจาฯ หลังต่อสู้ยาวนานกว่า 20 ปี “นฤมิตไพรด์” จัดแรลลี่รวมพลคน LGBTQIAN+ โบกสะบัดธงไพรด์สีรุ้งประกาศชัยชนะกระหึ่มกรุงฯ จากรัฐสภาสู่ หอศิลป์กทม.
18 มิถุนายน 2567 ต้องจารึกไว้เป็นวันแห่งประวัติศาสตร์ของกลุ่มหลากหลายทางเพศในประเทศไทย หรือ LGBTQIAN+ เมื่อวุฒิสภาไทยลงคะแนนเสียงให้ “ความเห็นชอบ” ผ่าน ร่างพระราชบัญญัติสมรสเท่าเทียม ในวาระที่ 3 ด้วยคะแนนเสียงเห็นชอบ 130 เสียง ไม่เห็นด้วย 4 เสียง งดออกเสียง 18 เสียง
ซึ่งหมายถึงชัยชนะของ กฎหมายสมรสเท่าเทียม ในระดับรัฐสภา ซึ่งตามกฎหมายหากผ่านรัฐสภาแล้ว จะรอการลงนามในราชกิจจานุเบกษา เป็นระยะเวลา 120 วัน ก็จะใช้กฎหมายฉบับนี้ได้จริง
ที่ประชุมวุฒิสภาขณะกำลังพิจารณา “กฎหมายสมรสเท่าเทียม” วาระ 3
วาดดาว - อรรณว์ ชุมาพร ประธานและผู้ก่อตั้ง นฤมิตไพรด์ แสดงความดีใจหลังสภาสูงผ่านกฎหมายสมรสเท่าเทียม วาระ 3
เครือข่าย LGBTQIAN+ และภาคประชาชน หลังทราบผลการโหวตกฎหมายสมรมเท่าเทียม
มอบดอกไม้แสดงความขอบคุณ
หลังทราบข่าวดีเมื่อเวลาประมาณ 15.00 น. นฤมิตไพรด์ พร้อมคณะทำงานสมรสเท่าเทียมภาคประชาชน และพันธมิตรภาคประชาสังคม รวมกว่า 100 คน ซึ่งเริ่มปักหมุดรอฟังผลที่รัฐสภาตั้งแต่เวลา 10.00 น. ต่างแสดงความยินดีระหว่างกันด้วยความตื้นตันใจ
พร้อมมอบดอกไม้แสดงความขอบคุณให้สมาชิกวุฒิสภา และสมาชิกสภาผู้แทนราษฏรพรรคการเมืองต่างๆ ที่ให้การสนับสนุน
การตกแต่งบริเวณสนามหญ้าหน้าตึกไทยคู่ฟ้าเตรียมการฉลอง
บรรยากาศการฉลองกฎหมายสมรมเท่าเทียมที่ทำเนียบรัฐบาล
เครือข่าย LGBTQIAN+ และภาคประชาชน ที่ร่วมเสนอร่าง พ.ร.บ สมรสเท่าเทียม
จากนั้นเวลา 16.00 น. ได้เดินทางไปยัง “ทำเนียบรัฐบาล” เพื่อฉลองงานสมรสเท่าเทียมที่บริเวณสนามหญ้าหน้าตึกไทยคู่ฟ้า ซึ่งได้รับการตกแต่งด้วยสัญลักษณ์แห่งความเท่าเทียมและธงสีรุ้ง
โดยนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้เปิดทำเนียบจัดงานเลี้ยงรับรอง แสดงความยินดีกับจุดเริ่มต้นของกฎหมายสมรสเท่าเทียม
แรลลี่ทั่วกรุง ฉลองสมรสเท่าเทียม Celebration of Love
กลุ่มเครือข่าย LGBTQIAN+ เดินทางถึง หอศิลป์กทม.
กระทั่งเวลาประมาณ 17.00 น. กลุ่มเครือข่าย LGBTQIAN+ และภาคประชาชน จึงได้เริ่มกิจกรรม แรลลี่ทั่วกรุง ฉลองสมรสเท่าเทียม Celebration of Love ออกเดินทางจากทำเนียบรัฐบาลด้วยขบวนรถยนต์ที่ตกแต่งด้วยสัญลักษณ์สมรสเท่าเทียม พร้อมโบกสะบัดธงสีรุ้งไปยังบริเวณลานหน้า หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร สี่แยกปทุมวัน
เพื่อร่วมกิจกรรม สมรสเท่าเทียม ชัยชนะประชาชน หลัง “นฤมิตไพรด์” พร้อมคณะทำงานสมรสเท่าเทียมภาคประชาชน และพันธมิตรภาคประชาสังคม ร่วมกันต่อสู้-รณรงค์สร้างความเข้าใจใน กฎหมายสมรสเท่าเทียม ระดับสังคมและรัฐสภาไทยมาเป็นเวลาไม่ต่ำกว่า 20 ปี
คู่รักซีรีส์วาย พอร์ช – อาม, อรรณว์ ชุมาพร และคู่ชีวิต, คู่รักปู่ย่า
ธนายุทธ ฐากูรอรรถยา, เก่ง ธชย
คู่รักซึ่งมีความหลากหลายทางเพศ ซึ่งร่วมเดินทางจากทำเนียบรัฐบาลมายังหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร อาทิ คู่รักปู่ย่าเพศเดียวกัน กัญจน์ เกิดมีมูล และ ปกชกร วงศ์สุภาร์, พลอยนภัส จิราสุคนธ์ และขวัญพร กงเพ็ชร, คู่รักซีรีส์วายในตำนาน พอร์ช – อภิวัฒน์ อภิวัฒน์เสรี และ อาม – สัพพัญญู ปนาทกูล
ต๋อง-ธนายุทธ ฐากูรอรรถยา นักแสดงหนุ่มจากซีรีส์วาย, ณัฐณิชา กลิ่นถาวร – เควินเพทาย ถนอมเขต คู่รักข้ามเพศ และ วาดดาว - อรรณว์ ชุมาพร ประธานและผู้ก่อตั้ง นฤมิตไพรด์
อรรณว์ ชุมาพร และคู่ชีวิต
วาดดาว - อรรณว์ ชุมาพร ประธานและผู้ก่อตั้ง นฤมิตไพรด์ ในฐานะผู้จัดงาน “Bangkok Pride Festival 2024” และผู้มีบทบาทสำคัญในการผลักดันร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ กล่าวว่า
“ความสำเร็จในการผลักดัน ร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของการสร้างสังคมที่เท่าเทียม และการเคารพในความหลากหลายทางเพศ
การจัดกิจกรรม สมรสเท่าเทียม ชัยชนะประชาชน ครั้งนี้ ถือเป็นการประกาศชัยชนะที่ยิ่งใหญ่ของสมรสเท่าเทียมของชาว LGBTQIAN+
ซึ่งวันนี้ (18 มิ.ย.2567) คือวันสำคัญที่สุด วันที่เรารอคอยมานาน หลังจากที่นักเคลื่อนไหวรุ่นพี่ๆ สู้เรื่องการจัดตั้งครอบครัวมานานกว่า 20 ปี
แต่ความเข้มข้นเริ่มต้นขึ้นเมื่อปี 2017 หรือพ.ศ. 2560 หรือประมาณ 7 ปีที่ผ่านมา ที่เราปักหลักกับคำว่า สมรสเท่าเทียม และยื่นให้มี กฎหมายสมรสเท่าเทียม เกิดขึ้นในประเทศไทย
เพราะมันสำคัญมากสำหรับคู่ชีวิตทุกรูปแบบและทุกเพศ โดยส่วนตัวมองว่ากฎหมายครอบครัวไม่ควรจำกัดแค่เพศชายหรือเพศหญิงเท่านั้น
ณ วันนี้เราไม่รู้ว่ามีคู่รัก LGBTQIAN+ ที่เฝ้ารอกฎหมายออกมาอย่างเป็นทางการมากน้อยแค่ไหน แต่เชื่อว่ามีอยู่เยอะมากๆ ที่ต้องการพื้นที่ และการยอมรับอย่างเท่าเทียม
เชื่อว่าเมื่อกฎหมายสมรสเท่าเทียมผ่านแล้ว ทุกคนจะออกมาแสดงตัวตนอย่างภาคภูมิใจมากขึ้น
ดูจากการจัดกิจกรรม สมรสเท่าเทียม ชัยชนะประชาชน ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร วันนี้มีคนเข้ามาร่วมกิจกรรมทั้งคนไทยและนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติมากถึง 1,000 คน และคาดว่าทั่วประเทศน่าจะมีไม่ต่ำกว่า 10,000 คน ที่ร่วมประกาศชัยชนะครั้งนี้ไปพร้อมๆ กับพวกเราในวันนี้”
การแสดงโชว์โดย SWING
โชว์ของกลุ่มชุมชนแดร็กประเทศไทย
บรรยากาศงานฉลองที่บริเวณหน้าหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานครเต็มไปด้วยความรื่นเริง รอยยิ้ม ความตื่นเต้นและดีใจของกลุ่มผู้สนับสนุนกฎหมายสมรสเท่าเทียม กลุ่ม LGBTQIAN+
เริ่มด้วยการแสดงโชว์จาก มูลนิธิเพื่อนพนักงานบริการ หรือ SWING (Service Workers in Group Foundation), การแสดง Drag Queen โดย กลุ่มชุมชนแดร็กประเทศไทย, การเข้าร่วมงานของกลุ่ม นฤมิตไพรด์ แอมบาสเดอร์ จำนวน 9 คนจากหลากหลายสาขาอาชีพ
ปิดท้ายด้วยการแสดงพิเศษของ เก่ง ธชย นำบทเพลง “ประวัติศาสตร์” ของควีนออฟแดนซ์เมืองไทยมาขับร้องอย่างมีความหมายและสนุกสนาน
บรรยากาศหน้าหอศิลป์กทม. วันที่ 18 มิ.ย.2567
ศิลปะที่เปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมงานสนับสนุนความเท่าเทียม
โชว์ของกลุ่มชุมชนแดร็กประเทศไทย
โชว์ของกลุ่มชุมชนแดร็กประเทศไทย
โชว์ของกลุ่มชุมชนแดร็กประเทศไทย
โชว์ของกลุ่มชุมชนแดร็กประเทศไทย
9 นฤมิตไพรด์ แอมบาสเดอร์
งานแสดงแสงไฟบนพื้นให้สนุกกับการถ่ายรูป
การแสดงพิเศษของ เก่ง ธชย