‘โมฮำมัด’ ร้านเครื่องเขียนปลายรัชกาลที่ 5 ในโลกที่เปลี่ยนไป แต่มีคนตามหา

‘โมฮำมัด’ ร้านเครื่องเขียนปลายรัชกาลที่ 5 ในโลกที่เปลี่ยนไป แต่มีคนตามหา

ย้อนความทรงจำ ร้านเครื่องเขียนปลายรัชกาลที่ 5 ‘โมฮำมัด’ อายุกว่า 100 ปี ทายาทรุ่นที่ 3 รับช่วง และยังดำเนินกิจการต่อ เพียงแต่ย้ายร้าน

ต้องบอกก่อนว่า โมฮำมัด ร้านเครื่องเขียนที่ตั้งขึ้นสมัย ปลายรัชกาลที่ 5 บนถนนเจริญกรุง ยังไม่เลิกกิจการ เพียงแค่ย้ายร้านไปแถวพุทธมณฑลสาย 2 หากใครตามหาเครื่องเขียนยุคเก่า คงมีร้านนี้ร้านเดียวที่เป็นของเก่าเก็บ 

ปัจจุบันทายาทรุ่นที่ 3 ปรียา โมราศิริ รับช่วงกิจการต่อ เพราะยังรักสิ่งที่ปู่และพ่อทำมา 100 กว่าปีตั้งแต่พ.ศ. 2466 โดยสถานที่ตั้งร้านแห่งใหม่กำลังจัดของให้เข้าถึงเข้าทาง คงใช้เวลาอีกหลายเดือน 

ก่อนจะเล่าถึงเรื่องราวสยาม 100 ปีที่แล้ว เราถามไปว่า ทำไมยังเก็บเครื่องเขียนเก่าๆ พวกนี้ไว้ ปรียา บอกชัดว่า เห็นมาตั้งแต่เด็กและรักสิ่งเหล่านี้ เพราะพ่อและปู่สร้างมา

‘โมฮำมัด’ ร้านเครื่องเขียนปลายรัชกาลที่ 5 ในโลกที่เปลี่ยนไป แต่มีคนตามหา พู่กันยุคเก่าทำจากขนสัตว์ (เครดิตภาพ : becommon.co)

“เรารักของทุกอย่างในร้าน สิ่งของเหล่านี้เหมือนญาติเรา โตมากับของเหล่านี้ ซึมซับมาจากพ่อ เราต้องออกมาจากบ้านหลังเก่า เมื่อปี 2559 จากนั้นไปๆ มาๆ จนย้ายมาแถวพุทธมณฑลสาย 2”

  • โมฮำมัด เริ่มจากโรงพิมพ์

คุณปู่ของเธอ ฮะซันอาลี ชาวอินเดียที่นับถือศาสนาอิสลาม เดินทางมาตั้งรกรากในสยามตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 ตั้งร้านโมฮำมัดก็ปลายรัชกาลแล้ว โดยเริ่มจากทำโรงพิมพ์ ไม่ได้เริ่มจากนำเข้าเครื่องเขียนจากอังกฤษและเยอรมนีที่ขนส่งทางเรือมาขาย

“ก่อนหน้านี้คุณปู่เป็นลูกจ้าง เงินเดือนๆ ละ 20 บาท ทำงานโรงพิมพ์สมัยรัชกาลที่ 5 ย่านถนนราชบพิธ ตอนนั้นคุณปู่รับเย็บสมุดให้โรงพิมพ์ ได้วิชาความรู้มาตั้งโรงพิมพ์โมฮำมัด และยุคแรกๆ ยังไม่มีเครื่องเขียน”

 

‘โมฮำมัด’ ร้านเครื่องเขียนปลายรัชกาลที่ 5 ในโลกที่เปลี่ยนไป แต่มีคนตามหา ร้านเครื่องเขียนที่มีแต่ของรุ่นเก่า น้ำหมึกรุ่นต่างๆ ในร้านโมฮำมัด

คุณปู่ของเธอก็ไม่ต่างจากคนจีนที่เดินทางมาสยาม มีแค่เสื่อผืนหมอนใบเข้ามาปักหลักสร้างเนื้อสร้างตัวย่านสะพานถ่าน ถนนตีทอง 

สมัยนั้นเธอบอกว่า คุณปู่เข้ามาจับจองตึกร้าง รับสมุดมาเย็บด้วยมือ จนตั้งเป็นร้านโมฮำมัด ใกล้สี่แยกเฉลิมกรุง ไม่ไกลจากศาลาเฉลิมกรุง ถนนสายนั้น เรียกว่าเจริญกรุง

“คุณปู่นั่งเรือมาเป็นเดือนๆ กว่าจะมาถึงสยาม เมื่อตั้งตัวได้ก็นำลูกและภรรยามาสยาม ตอนนั้นมีโรคระบาดเยอะ พวกเขาจึงเสียชีวิต ปู่จึงแต่งงานใหม่กับย่าที่เป็นแขกมอญ ปทุมธานี"

เธอเล่า และบอกว่ากิจวัตรประจำวันของคุณปู่คือ เดินไปทำงาน เมื่อผ่านโรงพิมพ์เก่าที่คุณหลวงเป็นเจ้าของ และไม่ต้องการทำกิจการต่อ เพราะลูกๆ เติบโตหมดแล้ว จึงอยากขายกิจการให้คุณปู่ 

‘โมฮำมัด’ ร้านเครื่องเขียนปลายรัชกาลที่ 5 ในโลกที่เปลี่ยนไป แต่มีคนตามหา ทายาทรุ่นที่ 3 ปรียา โมราศิริ เจ้าของร้านโมฮำมัด  ปัจจุบันย้ายไปพุทธมณฑลสาย 2 (เครดิตภาพ : becommon.co)

“คุณปู่บอกไปว่าไม่มีเงิน ตอนนั้นคุณหลวงต้องการขายตึกสองชั้นรุ่นเก่าคล้ายๆ ตึกย่านถนนท่าช้างให้ในราคาห้าพันบาท เพราะเห็นว่าคุณปู่มีประสบการณ์ทำโรงพิมพ์ มีเครื่องมือตีเส้นสมุด”

 แม้ไม่มีเงิน คุณปู่ของเธอก็ค่อยๆ ผ่อนชำระ จนเป็นเจ้าของกิจการโรงพิมพ์มูฮำมัด จากนั้นขยายกิจการเพิ่มเครื่องเขียนในร้าน มีสมุด ดินสอ ปากกา หมึก ไม้บรรทัด ฯลฯ สั่งตรงจากเยอรมนีและอังกฤษ

“ตอนนั้นคุณปู่ให้คนพิมพ์ดีดสั่งสินค้าส่งมาทางเรือ กว่าจะมาถึงก็หลายเดือน ปัจจุบันเครื่องเขียนดั้งเดิมยังมีอยู่  เพียงแต่ย้ายมาแถวพุทธมณฑล "

‘โมฮำมัด’ ร้านเครื่องเขียนปลายรัชกาลที่ 5 ในโลกที่เปลี่ยนไป แต่มีคนตามหา ร้านโมฮำมัด ถนนเจริญกรุง (เครดิตภาพ : becommon.co)

  • เครื่องเขียนสั่งตรงจากต่างประเทศ

เรื่องเล่าสมัยคุณปู่ในการตั้งร้านเครื่องเขียนโมฮำมัด ปัจจุบันได้กลายเป็นตำนาน ปรียา เล่าว่า เมื่อคุณปู่เอาเครื่องเขียนมาขาย วิธีการขายของคุณปู่ตอนนั้นเดินไปเสนอขายตามห้างร้าน กระทรวง เหมือนเซลแมนยุคนี้ จนกระทั่งลูกค้ารู้จัก จึงเดินเข้ามาซื้อใน โมฮำมัด ที่เป็นทั้งร้านเครื่องเขียน โรงพิมพ์ และชื่อคุณพ่อ 

"สมัยก่อนเป็นตึกสองชั้นแบบนีโอคลาสสิค สวยงามมาก กระทั่งถูกปรับเปลี่ยนเป็นตึกสี่ชั้น กิจการเครื่องเขียนยุคคุณปู่และคุณพ่อขายดี ส่วนโรงพิมพ์เลิกกิจการไป 50-60 ปี 

พอมาถึงรุ่นที่ 3 ช่วงแรกธุรกิจยังพอไปได้ ปัจจุบันเราแทบไม่มีเครื่องเขียนใหม่ๆ เข้ามาเลย แต่เราก็ยังขายต่อไป เพราะที่อื่นไม่มีเครื่องเขียนแบบเรา 

ตอนเด็กๆ จะมีคนมาซื้อสมุดบัญชีที่เย็บเล่มเองจากร้านเรา ส่วนปากกาและที่เสียบปากกา เรามีทั้งด้ามไม้ธรรมดาและด้ามไม้สายรุ้ง (หนึ่งอันหนึ่งลาย) 

ถ้าเป็นปากกาที่ใช้วาดการ์ตูน รุ่นคุณพ่อสั่งหัวปากกาแบบญี่ปุ่นที่เป็นโลหะรุ่นใหม่เข้ามาด้วย และมีหัวปากกาคอแร้งที่โลหะรุ่นเก่าของอังกฤษและเยอรมนี มีทั้งรุ่นที่ใช้เขียนภาษาไทยและภาษาอังกฤษ "

‘โมฮำมัด’ ร้านเครื่องเขียนปลายรัชกาลที่ 5 ในโลกที่เปลี่ยนไป แต่มีคนตามหา ปากกาจุ่มหมึกรุ่นเก่าที่ไม่เห็นในยุคนี้แล้ว (เครดิตภาพ : becommon.co)

โมฮำมัด ร้านเครื่องเขียน 100 ปี

แม้การขายเครื่องเขียนยุคเก่าไม่ได้ขายดีเหมือนรุ่นคุณปู่และคุณพ่อ แต่เธอบอกว่า ยังมีลูกค้าตั้งแต่เด็กวัย 8 ขวบจนถึงนักศึกษาศิลปะ

"รู้จักไม้บรรทัดทำจากไม้ไหม...มีทั้งของเยอรมันและไทย ถ้าเป็นไม้บรรทัดไทยจะบางกว่าเยอรมนี ตัวเลขบนไม้บรรทัดยังอยู่ ไม่หายไปเหมือนไม้บรรทัดรุ่นใหม่ น้ำหมึกรุ่นเก่าพีลีแกนของเยอรมนี ยังเก็บไว้พร้อมกล่อง พวกฝรั่งเวลาเก็บขวดน้ำหมึกต้องเก็บทั้งกล่อง

ขวดหมึกพีลีแกนดั้งเดิม สมัยก่อนใช้เป็นที่วางปากกาคอแร้งหลังจากเขียนเสร็จได้ด้วย ดีไซน์พอดีกับปากกาเลย เรามีขวดน้ำหมึกสมัยรัชกาลที่ 4 ที่คุณปู่เก็บไว้ ไม่มีน้ำหมึกแล้ว เป็นขวดสี่เหลี่ยมสองร่องสำหรับวางปากกาคอแร้งสองข้าง ตรงกลางเป็นจุกก็อก แต่จุกหายไปละ"

‘โมฮำมัด’ ร้านเครื่องเขียนปลายรัชกาลที่ 5 ในโลกที่เปลี่ยนไป แต่มีคนตามหา สมุดบัญชีรุ่นเก่าที่ร้านโมฮำมัด (เครดิตภาพ : becommon.co)

นอกจากปากกาและน้ำหมึกรุ่นคุณปู่ โมฮำมัด ร้านเครื่องเขียนยังมีคลิปหนีบกระดาษรุ่นเก่า ทำจากเหล็กดิบๆ ในอังกฤษ และเหล็กเคลือบจากสก๊อตแลนด์ และดินสอเกรยอนของพีลีแกน ปัจจุบันไม่มีให้เห็นแล้ว เธอ บอกว่า เป็นแท่งเนื้อสีไม่มีไม้หุ้ม

ส่วนดินสอยี่ห้อ othello แบรนด์เยอรมัน บริษัทไม่รู้หายไปไหนแล้ว และพู่กันที่ใช้วาดสีน้ำและสีน้ำมันทำจากขนสัตว์ ไม่ใช่ใยสังเคราะห์ ในร้านเครื่องเขียน ยังมีอีกหลายสิ่งที่เก่าเก็บ ไม่เว้นแม้กระทั่งครั่งที่ต้องนำมาลนไฟหยดตรงเชือกมัดพัสดุ 

“แม้ยุคเราไม่ได้ขายดีเหมือนยุคคุณปู่ และคุณพ่อ แต่ด้วยความรักความผูกพัน ไม่อยากทิ้งเครื่องเขียนเหล่านี้ อยู่แล้วมีความสุขก็ทำต่อไป” ปรียา ย้อนความทรงจำยุคสมัยปากกาคอแร้ง เพื่อใช้เขียนภาษาอังกฤษราคาแพงมาก

....

ร้านโมฮำมัด ติดต่อที่ปรียา เบอร์ 089 689 6445 

 

‘โมฮำมัด’ ร้านเครื่องเขียนปลายรัชกาลที่ 5 ในโลกที่เปลี่ยนไป แต่มีคนตามหา ดินสอ Othello เก่าเก็บจากเยอรมนี 

‘โมฮำมัด’ ร้านเครื่องเขียนปลายรัชกาลที่ 5 ในโลกที่เปลี่ยนไป แต่มีคนตามหา