แพทองธาร ชินวัตร เผย 3 วัตถุประสงค์หลัก จัดตั้ง TCDC เพิ่ม 10 จังหวัด
แพทองธาร ชินวัตร ประธานคณะกรรมการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ เปิด 3 วัตถุประสงค์หลักและประโยชน์การจัดตั้ง TCDC (ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ) แห่งใหม่ใน 10 จังหวัด
KEY
POINTS
- แพทองธาร ชินวัตร ประธานคณะกรรมการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ เป็นประธานงานแถลงข่าวประกาศจัดตั้ง TCDC แห่งใหม่ 10 จังหวัด ผลักดัน Soft Power ไทยอย่างยั่งยืน
- TCDC คือ ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (Thailand Creative & Design Center) เริ่มจัดตั้งครั้งแรกเมื่อปีพ.ศ.2548
- วัตถุประสงค์หลักของ TCDC คือเพื่อส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาด้านเศรษฐกิจและสังคม บนรากฐานการใช้ความคิดสร้างสรรค์ รวมถึงสร้างโอกาสให้ประชาชนเข้าถึงองค์ความรู้และความคิดสร้างสรรค์เพื่อพัฒนาคุณภาพทรัพยากรมนุษย์ที่มีความพร้อมสำหรับการก้าวสู่อนาคต
- การจัดตั้ง TCDC แห่งใหม่ 10 จังหวัด เป็นการสร้าง ‘โอกาส’ และดึง ‘คนรุ่นใหม่’ ร่วมพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์ฐานรากท้องถิ่นในแต่ละพื้นที่
สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน): สศส. หรือ Creative Economy Agency (Public Organization): CEA หน่วยงานภายใต้กำกับของสำนักนายกรัฐมนตรี มีภารกิจในการส่งเสริม พัฒนา กระจายองค์ความรู้ เศรษฐกิจสร้างสรรค์ และสร้าง ระบบนิเวศสร้างสรรค์ ให้ครอบคลุมทั่วประเทศ
จัดงานแถลงข่าวเมื่อวันพุธที่ 26 มิ.ย.2567 ประกาศแผนยุทธศาสตร์เดินหน้าขับเคลื่อน 'เศรษฐกิจสร้างสรรค์' ของไทย สนองแนวนโยบายของรัฐบาลที่สนับสนุนให้เกิดการกระจายองค์ความรู้ด้านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ไปยังภูมิภาค ด้วยการจัดตั้ง ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (Thailand Creative & Design Center: TCDC) แห่งใหม่ หรือ New TCDC ในอีก 10 จังหวัด
มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาให้เป็นพื้นที่เศรษฐกิจสร้างสรรค์ ต่อยอดคุณค่าสินทรัพย์ทางวัฒนธรรมที่สามารถยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้คนได้อย่างยั่งยืน
แพทองธาร ชินวัตร
งานแถลงข่าวได้รับเกียรติจาก แพทองธาร ชินวัตร ประธานคณะกรรมการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ มาเป็นประธานภายในงาน และกล่าวถึงนโยบายการสร้างความร่วมมือกับภูมิภาคเพื่อพัฒนาทุนวัฒนธรรมและความคิดสร้างสรรค์สู่ Soft Power ของประเทศ ดังนี้
ในยุคสมัยของโลกที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ทุนทางวัฒนธรรมและความคิดสร้างสรรค์จึงได้กลายมาเป็นปัจจัยหนึ่งที่สำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคม
ประเทศไทยมีภูมิปัญญาและวัฒนธรรมล้ำค่ามากมาย คนไทยมีความสามารถเป็นที่ประจักษ์ต่อสายตาคนทั่วโลก แต่สิ่งที่ยังขาดอยู่ตอนนี้คือการบูรณาการและกลไกที่สำคัญในการผลักดัน พัฒนาและต่อยอดให้เกิดการเป็นทรัพยากรในอนาคต
ด้วยเหตุนี้ รัฐบาลจึงมีนโยบายสร้างคน เพิ่มทักษะ ผ่านโครงการการจัดตั้งศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ หรือ TCDC แห่งใหม่ในจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศ
บรรยากาศแถลงข่าวจัดตั้ง New TCDC 10 จังหวัด
เพื่อให้คนไทยทุกคนสามารถเข้าถึงการเรียนรู้การพัฒนาด้านต่างๆ ทำให้ภูมิปัญญาสำคัญในแต่ละพื้นที่ออกมาเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นด้านอาหาร ดนตรี กีฬา ศิลปะ และวิถีชีวิตอื่นๆ
โดยการจัดการครั้งนี้ไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ สอดคล้องกับนโยบาย 1 ครอบครัว 1 ซอฟต์พาวเวอร์ หรือที่เราเรียกสั้นๆ ว่า OFOS (โอฟอส) ก็จะช่วยสร้างประโยชน์ให้กับประชาชนทุกบ้านทุกครัวเรือนเข้าถึงได้อย่างแท้จริง
การที่เราจะพัฒนาประเทศให้เติบโตอย่างมั่นคงได้ สิ่งสำคัญที่สุดคือการเริ่มจากการพัฒนาคนให้มีศักยภาพที่มั่นคงหนักแน่นพร้อมที่จะผลักดันด้านอื่นๆ ต่อไปในอนาคตได้
คนคือทรัพยากรที่สำคัญล้ำค่าของประเทศชาติ คือเครื่องมือสำคัญในการส่งต่อซอฟต์พาวเวอร์ของประเทศไทยเองออกไปสู่ตลาดสากล
คนไทยมีคุณสมบัติพิเศษและน่าชื่นชม ทั่วโลกรับรู้ มีอัธยาศัยที่ดี มีไมตรี น้ำใจ รอยยิ้ม ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของความใจดี ความต้อนรับ คนต่างชาติเข้ามาก็ติดใจที่จะมาเมืองไทยอีกซ้ำแล้วซ้ำเล่าด้วยเสน่ห์ของคนไทย
แพทองธาร ชินวัตร
แต่สิ่งที่ขาดไม่ได้อย่างหนึ่งคือ ฝีมือของคนไทย เรามีฝีมือต่างๆ กันในแต่ละจังหวัดแต่ละภูมิภาคของประเทศ รัฐบาลอยากนำมาเป็นจุดเด่นให้ต่างชาติเห็นว่าไม่ใช่แค่ตัวตนภายในของคนไทยที่น่ารักน่าติดตาม แต่ฝีมือของคนไทยเองก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่น่าสนับสนุนและยกย่อง
เราต้องเปิดโอกาสคนไทยเข้าถึงการฝึกอบรมการพัฒนาศักยภาพของตัวเองให้เพิ่มมากขึ้น ผ่านทั้งโอฟอส ทีซีดีซี โรงเรียน วิทยาลัย มหาวิทยาลัย ทั้งรัฐและเอกชน
เรายังมีค่ายมวยอีก 400 แห่งที่จะร่วมเข้าอบรมมวยไทย เพื่อให้ทุกครัวเรือนได้เข้าถึงการฝึกอบรมจริงๆ เริ่มตั้งแต่ระดับตำบล จังหวัด ถึงระดับประเทศ
ทุนวัฒนธรรมจังหวัดปัตตานี หนึ่งใน 10 จังหวัดตั้ง TCDC แห่งใหม่
ในการที่เราจะยกระดับศักยภาพของไทยให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น ก็จะยกระดับตั้งแต่พื้นฐาน พร้อมจะเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญของการสร้างแรงงานทักษะสูงกว่า 20 ล้านคนจาก 20 ล้านครอบครัวทั่วประเทศตามที่รัฐบาลตั้งเป้าหมายไว้”
ประธานคณะกรรมการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ กล่าวด้วยว่า นโยบายการสร้างคนจะไม่สามารถสำเร็จได้ หากปราศจากความร่วมมือของหน่วยงานทุกๆ ภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง อาทิ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ องค์การมหาชน หรือ CEA เป็นจุดตั้งต้นในการดำเนินการโครงการ จัดตั้งศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบแห่งใหม่ใน 10 จังหวัด ในระยะแรก
รวมถึงการผนึกกำลังขององค์กรหรือหน่วยงานภาครัฐส่วนท้องถิ่นในจังหวัดต่างๆ ช่วยกันร่วมอำนวยความสะดวกในการจัดหาทรัพยากรพื้นฐานและความร่วมมือที่สำคัญ
ไปจนถึงสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพที่มีส่วนในการจัดหาหลักสูตรอบรมพัฒนาทักษะ พร้อมกับออกใบรับรองศักยภาพให้กับแรงงานสร้างสรรค์ในแต่ะละพื้นที่
ตลอดจนหน่วยงานซึ่งรับช่วงต่อในการสร้างงานเพื่อเปิดโอกาสให้แรงงานเหล่านี้ได้เข้าถึงตลาดงานที่สำคัญผ่านเวทีธุรกิจต่างๆ ในอุตสาหกรรมสร้างสรรค์หลากหลายสาขา ที่จะเชื่อมต่อความสำเร็จทั้งระบบไปสู่ตลาดระดับโลกต่อไปในอนาคต
การร่วมมือระหว่างภาครัฐและองค์กรท้องถิ่นในการจัดตั้ง New TCDC 10 จังหวัดใหม่
ในวันนี้เราจะเห็นความร่วมมือระหว่างหน่วยงานหลักกับองค์กรหรือหน่วยงานภาครัฐส่วนท้องถิ่นที่ได้รับคัดเลือกจากการตั้งทีซีดีซีแห่งใหม่ 10 จังหวัดทั่วประเทศ โดยเรามีวัตถุประสงค์หลัก 3 ประการด้วยกัน คือ
- หนึ่ง) การส่งเสริมและสนับสนุนพัฒนาทุนวัฒนธรรมและความคิดสร้างสรรค์ในระดับภูมิภาค
- สอง) การสร้างเครือข่ายและกลไกธุรกิจแลกเปลี่ยนการเรียนรู้ เพื่อพัฒนาทักษะและศักยภาพของคนในพื้นที่
- สาม) การส่งเสริมให้เกิดการสร้างสรรค์ผลงาน วัฒนธรรม และความคิดสร้างสรรค์
โดยทั้งสามเป้าหมายนี้จะเป็นก้าวที่สำคัญอย่างยิ่งในการให้ประเทศสามารถนำทุนทางวัฒนธรรมและความคิดสร้างสรรค์เข้าไปสู่ส่งเป็นพลังของซอฟต์พาวเวอร์ให้แข็งแกร่งและยั่งยืนต่อไป
ดิฉันมั่นใจว่าความร่วมมือที่เข้มข้นจากทุกฝ่าย จะสามารถพัฒนาทุนทางวัฒนธรรมและความคิดสร้างสรรค์ของไทยทั้งประเทศได้ พร้อมอำนวยให้เกิดประโยชน์ระดับมหภาคที่จะสะท้อนกลับมาสู่คนไทยทุกคนได้อย่างชัดเจนและเป็นรูปธรรมอย่างแน่นอน
ตอนนี้เราเริ่มกันที่ 10 จังหวัด แต่ต่อจากนี้เราจะค่อยๆ ขยายเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ นี่คือสิ่งที่รัฐบาลตั้งใจและพร้อมสนับสนุนเต็มที่” ประธานคณะกรรมการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ กล่าว
ดร.อรรชกา สีบุญเรือง ประธานกรรมการ CEA
ขณะที่ ดร. อรรชกา สีบุญเรือง ประธานกรรมการ CEA กล่าวว่า ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (TCDC) เริ่มจัดตั้งครั้งแรกเมื่อปีพ.ศ.2548 โดยมีสถานที่ตั้งอยู่ที่บบริเวณชั้น 6 ของ ดิ เอ็มโพเรียม ช็อปปิ้งคอมเพล็กซ์
มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อสร้างโอกาสให้ประชาชนเข้าถึงองค์ความรู้ด้านการออกแบบ ซึ่งเป็นแรงบันดาลใจให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ใหม่ๆ นำไปสู่กระบวนการสร้างนักคิดนักออกแบบ ตลอดจนสร้างผู้ประกอบการรุ่นใหม่ที่นำทุนมาบวกกับความคิดสร้างสรรค์ เพื่อพัฒนาและสร้างมูลค่าให้เกิดขึ้นกับสินค้าและบริการ
“แต่สิ่งที่เกี่ยวข้องกับ ‘เศรษฐกิจสร้างสรรค์’ มีมากกว่า ‘งานออกแบบ’ รัฐบาลจึงปรับ TCDC มาเป็น CEA ซึ่งครอบคลุมสาขามากขึ้น โดยให้อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของสำนักนายกรัฐมนตรี และย้ายที่ทำการมาอยู่ที่อาคารไปรษณีย์กลาง ถนนเจริญกรุง”
ปัจจุบัน TCDC มีสาขาบริการแบบเต็มรูปแบบ 4 แห่ง ได้แก่ กรุงเทพฯ เชียงใหม่ ขอนแก่น และสงขลา (เตรียมเปิดให้บริการในปี 2568)
ทุนวัฒนธรรมจังหวัดภูเก็ต หนึ่งใน 10 จังหวัดตั้ง TCDC แห่งใหม่
ประธานกรรมการ CEA กล่าวว่า ในโอกาสครบรอบ 20 ปีในปี 2568 TCDC ได้ขยายการจัดตั้งพื้นที่ใหม่เพิ่มอีก 10 แห่งครอบคลุมทั่วประเทศ ในรูปแบบที่ร่วมกับองค์กรหรือหน่วยงานภาครัฐส่วนท้องถิ่น ได้แก่
- เชียงราย
- นครราชสีมา
- ปัตตานี
- พิษณุโลก
- แพร่
- ภูเก็ต
- ศรีสะเกษ
- สุรินทร์
- อุตรดิตถ์
- อุบลราชธานี
พร้อมยกระดับการให้บริการด้วยการใช้เครื่องมือใหม่ Creative Lab เป็นพื้นที่ปฏิบัติการเพื่อยกระดับสินค้าและบริการ กระตุ้นความคิดสร้างสรรค์ สร้างนวัตกรรม และพัฒนาทรัพยากรทางวัฒนธรรมในท้องถิ่นสู่ตลาดในระดับประเทศและระดับสากล
“เราเชื่อว่า TCDC แห่งใหม่จะเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญในการพัฒนาแรงงานสร้างสรรค์ทักษะสูงกว่า 20 ล้านคนทั่วประเทศ ตามเป้าหมายของรัฐบาล ที่จะเป็นเสมือนฟันเฟืองสำคัญในการสร้างระบบนิเวศสร้างสรรค์ ยกระดับเศรษฐกิจสร้างสรรค์และส่งเสริมศักยภาพทุนทางวัฒนธรรมที่โดดเด่นของท้องถิ่นให้เติบโตได้อย่างยั่งยืน ต่อไป” ดร. อรรชกา สีบุญเรือง
การจัดตั้ง TCDC ใน 10 จังหวัดแห่งใหม่ อยู่ในปีงบประมาณ 2568