เส้นทาง ‘มวยไทย’ จากขอบสนามสู่โลกออนไลน์ และหนทางอีกยาวไกลใน 'ลีกมวยไทย'
พื้นที่ 'มวยไทย' ไม่ได้อยู่แค่สังเวียนมวย ยังมีอยู่ในโลกออนไลน์ โลกบันเทิง ส่วนลีกมวยไทย เพื่อเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจยังเป็นเส้นทางอีกยาวไกล
มวยไทย เป็นมากกว่าศิลปะการป้องกันตัว และการต่อสู้ที่ใช้หมัด เข่า ศอก เท้า และไหวพริบความว่องไว ศิลปะแขนงนี้ถือกำเนิดมาเกือบ 800 ปี ทำให้คนทั้งโลกประจักษ์ต่อสายตาว่า ศิลปะแขนงนี้ไม่ธรรมดา มูลค่าทางเศรษฐกิจจึงมีอยู่ ไม่ว่ารูปแบบการแข่งขัน การพนัน ความบันเทิง ทั้งในภาพยนตร์ ละคร และเกมออนไลน์
เส้นทางที่ยาวไกลของมวยไทย ก่อเกิดกระบวนท่าแม่ไม้มวยไทย และลูกไม้มวยไทย สืบทอดมาจนถึงทุกวันนี้ ไม่ว่ากลยุทธ์การจู่โจม หลบหลีก การสวนกลับ
ยกตัวอย่างกระบวนท่าจระเข้ฟาดหาง ฟาดยังไงให้สลบคาเวที ,ท่าตาเถรค้ำฝัก ซัดยังไงให้อยู่หมัด ,ท่านาคาบิดหาง จะถีบยังไงให้ตั้งตัวไม่ทัน รวมถึงหมัดเด็ดที่หลากหลาย
โดยก่อนหน้านี้เรื่องหมัดๆ มวยๆ ที่สนามมวยราชดำเนิน เป็นเรื่องของผู้ชายล้วนๆ กระทั่งปี 2565 มีการปรับรูปแบบให้ทันสมัย ยกระดับมวยไทยสู่ระดับสากล เพื่อทำให้คนทั้งโลกรู้จักมวยไทยมากขึ้น ไม่ว่าเพศชาย เพศหญิง และเพศสภาพ ต่างชาติต่างภาษา สามารถเข้าถึงการชกมวยในสนามมากขึ้น
โดยแบ่งออกมาเป็น 2 รายการคือ One Championship และ RWS(Rajadamnern World Series-ราชดำเนินเวิลด์ซีรีส์) มีการบรรจุพิธีไหว้ครูมวยไทย ประกอบวงปี่พาทย์ที่เร้าใจไว้ในวันเสาร์ก่อนการชกมวยแต่ละคู่
มวยไทย : มากกว่าศิลปะการต่อสู้
ว่ากันว่า สิ่งที่วงการมวยไทยจะขาดไม่ได้เลย ก็คือ คนเชียร์มวยหรือเซียนมวย มีทั้งกลุ่มที่ดูเอามันส์ เพื่อความบันเทิง และเพื่อการพนัน อานันท์ นาคคง อาจารย์คณะดุริยางคศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร เล่าในการเสวนาเรื่อง “ใดใดในทางมวย ว่าด้วยสังเวียนมิวสิกแบบมวยไทย ณ มิวเซียมสยาม ว่า
"โลกของมวย แค่ระฆังครั้งเดียว ทุกอย่างต้องหยุดหมด"
นอกจากเสียงระฆัง บอกสัญญาณแต่ละยก ระหว่างการชกยังมีเสียงเชียร์ เสียงโห่ร้อง เสียงกรรมการนับ เสียงปี่พาทย์มวย และภาษาที่ไม่มีเสียงในสนาม ทั้งหมดล้วนมีนัยแฝงสำหรับเซียนพนันมวย
ระหว่างการชกมวยแต่ละคู่ คนตีกลองแขก วงปี่มวยต้องหูไว ตาไว รู้จังหวะว่า ตอนไหนควรหยุด ตอนไหนควรเร้า นั่นทำให้ สมพงษ์ ภู่สร ครูปี่พาทย์ที่คร่ำหวอดในวงการมวยกว่า 30 ปี รู้ดีว่า มวยคู่ไหนกำลังจะชนะหรือแพ้
เพราะอยู่ขอบเวทีมาเนิ่นนาน จนเกิดความช่ำชองเรื่องหมัดๆ มวยๆ และอดไม่ได้ที่จะพนันขันต่อมวยแต่ละคู่
“นอกจากเสียงดนตรีจากขอบสนาม ยังมีเสียงที่ไม่ได้ยิน เป็นภาษามือในแต่ละยก ภาษาเหล่านี้จะเพิ่มพูนตามลำดับ ทำให้คนเชียร์มวยรู้ว่า มวยฝ่ายไหนจะชนะหรือแพ้” อาจารย์อานันท์ เล่า
“มวยตู้เป็นอีกหนึ่งสนาม นักพนันจะดูและฟัง ทั้งเสียงพากย์มวย เสียงดนตรีที่บอกเป็นนัยๆ ว่า มุมแดงกำลังจะแพ้ มุมน้ำเงินกำลังเสียเปรียบ
แต่ละยกมีภาษาในการต่อรองราคาเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งคนไม่คุ้นเคยอาจไม่เข้าใจ” อานันท์ เชื่อมโยงเสียงที่ไม่ได้ยินในสนามมวยว่า มีมูลค่าทางเศรษฐกิจสูงมาก นักพนัน นักมวย และกรรมการ คนเหล่านี้อ่านภาษามือออกและรู้ว่า ควรเล่นพนันข้างไหน
มวยไทย : ไปไกลแค่ไหน
ถ้าไม่อยากให้มวยไทยอยู่ในรูปแบบเดิมๆ คนที่คลุกคลีในวงการมวยรู้ดีว่า ต้องปรับเปลี่ยนให้เข้ากับยุคสมัย อีกเหตุผลที่ทำให้ ชาตรี ศิษย์ยอดธง ก่อตั้งรายการ ONE Championship ทำให้มวยไทยเป็นที่รู้จักทั่วโลก
และเธียรชัย พิสิฐวุฒินันท์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท โกลเบิล สปอร์ต เวนเจอร์ส จำกัด หรือ GSV มาร่วมปรับโฉมใหม่เวทีมวย จัดแข่งขันรายการมวย RWS(Rajadamnern World Series-ราชดำเนินเวิลด์ซีรีส์)
และล่าสุด ปี 2567 ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เสนอแนวคิดการเพิ่มมูลค่าโครงการมวยไทยซอฟต์พาวเวอร์ ให้มีการปรับรูปแบบการแข่งขันใหม่ จัดเป็นลีกมวยเหมือนการแข่งขันฟุตบอล ซึ่งเรื่องนี้จะไปไกลแค่ไหน ก็ต้องติดตาม
อานันท์ เล่าต่อว่า จา พนม ใช้มวยไทยเป็นซอฟต์พาวเวอร์เพิ่มมูลค่าให้ภาพยนตร์องค์บากทั้ง 3 ภาค เขานำท่ามวยไชยา ท่าหนุมานกระโดดกำแพง ฯลฯ ที่ไม่เคยเกิดขึ้นในประวัติศาสตร์สนามมวยบรรจุไว้ในภาพยนตร์ บางฉากมีการผสมผสานมวยต่างชาติ อาทิ มวยบราซิล
นอกจากนี้มวยไทยยังอยู่ในเกมออนไลน์ ซึ่งหลายคนแทบไม่นึกถึง ทำให้เกิดการพัฒนาเสียงดนตรีสำหรับเกมออนไลน์ที่มีมวยไทยเป็นตัวชูโรง
"อุตสาหกรรมเกมออนไลน์ก้าวหน้ามาก ไม่ได้อยู่แค่ในประเทศไทย เสียงประกอบมวยไทย เปลี่ยนจากปี่กลองไปสู่โลกดนตรีอิเล็กทรอนิกส์ เคยได้ยินเพลงฟ้าคำรามไหม คนที่มาช่วยทำเพลงคือ ภาธร ศรีกรานนท์ ผู้เชี่ยวชาญดนตรีแจ๊ส หรือแบดบอย เกมขวัญใจสาวๆ ทำให้ผู้หญิงทั่วโลกสนใจมวยไทย
ฮีโร่จากมวยไทยเปลี่ยนจากสนามมวยไปสู่สนามมือถือ ช่วยสนับสนุนมวยไทยในอีกด้าน มีคนรุ่นใหม่หันมาทำดนตรีอิเล็กทรอนิกส์ ทำให้ทิศทางมวยไทยออกไปสู่โลกออนไลน์ มีชุมชนทั่วโลก มวยไทยเป็นสิ่งที่คนทั่วโลกรักมาก แล้วดนตรีมวยไทยในเกมออนไลน์ ไม่จำเป็นต้องเป็นปี่พาทย์มวยแบบเดิมๆ
อย่าลืมว่า คนเล่นเกมออนไลน์มีสมาธิในการฟังเสียงมากกว่าคนทั่วไป อย่างเพลงฟ้าคำรามในโลกเกมออนไลน์ไปไกล และวัฒนธรรมทางเสียงดนตรีสามารถเปิดบทสนทนากับสังคม
ถ้าเทียบระหว่างคนเสพมวยไทยในโลกออนไลน์กับคนที่ซื้อตั๋วไปดูมวยไทยในสนาม คนในโลกออนไลน์มีมากกว่าหลายเท่า "
หมัดมวยไทยดังทั่วโลก
ในอดีตกาลมวยไทยเกิดจากสนามรบ เพื่อใช้ป้องกันตัวในยามที่ไม่มีอาวุธ โดยใช้หมัด เท้า เข่า ศอก เป็นเครื่องมือในการต่อสู้กับข้าศึกจนพัฒนาเป็นท่าแม่ไม้มวยไทย และลูกไม้มวยไทย ไม่ว่าท่าจระเข้ฟาดหาง ,ปักลูกทอย,มอญยันหลัก ,สลับฟันปลา ,ปักษาแหวกรัง ฯลฯ
และในสมัยกรุงสุโขทัย มวยไทยเป็นศาสตร์ชั้นสูงถูกบรรจุไว้ในหลักสูตรการศึกษาพระมหากษัตริย์ ในพงศาวดารพบว่า พ่อขุนศรีอินทราทิตย์ ทรงส่งโอรสองค์ที่สองไปฝึกมวยไทยที่สำนักสมอคอน แขวงเมืองลพบุรี ในยุคนั้นมีการประลองมวยไทยแล้ว
และในสมัยอยุธยา ซีมง เดอ ลา ลูแบร์ ราชทูตฝรั่งเศส บันทึกไว้ว่า มีการจัดแข่งมวยในงานสมโภชวัด
ส่วนมวยหญิงมีการชกกันตั้งแต่สมัยต้นรัตนโกสินทร์ ราวๆ ปีพ.ศ.2352 ปรากฏในวรรณกรรมสิงหไกรภพ และในสมัยรัชกาลที่ 5 ถือเป็นยุคทองมวยไทย มีการแข่งมวยหน้าพระที่นั่ง ทั่วพระนคร และภูธร
ก่อนจะมีสนามมวยราชดำเนินที่ถือกำเนิดในปี พ.ศ.2488 เคยมีสนามมวยประจำแห่งแรก ก็คือ สนามมวยสวนกุหลาบ ปี พ.ศ.2463 เป็นเสมือนทัวร์มาเมนต์มวยประจำยุคนั้น เป็นการชกบนพื้นดิน โดยขีดเส้นกำหนดเขตสังเวียน สามารถจัดแมตช์พิเศษเก็บค่าตั๋ว ระดมเงินซื้อปืนให้กองทหารเสือป่าได้
การพัฒนาต่อยอดของมวยไทยอย่างต่อเนื่อง แม้ไม่ทำให้หายไปจากสังคม แต่มาตรฐานมวยไทยก็เป็นไปอย่างเชื่องช้า และที่ผ่านมายังไม่สามารถเทียบเท่าระดับโลก
บัลลังก์ สุวรรณโชติ อาจารย์สาขาวิทยาศาสตร์การกีฬาและการออกกำลังกาย มหาวิทยาลัยปทุมธานี เล่าในเวิร์กชอป กินอยู่อย่างนักมวย ว่า เมื่อไม่นานเริ่มมีการนำวิทยาศาสตร์การกีฬามาใช้กับมวยไทย ทั้งเรื่องการออกแบบการฝึกซ้อม พัฒนาฝึกความแข็งแกร่ง การเสริมสร้างกล้ามเนื้อ ให้ครอบคลุมทุกส่วนของร่างกาย
และยังต้องฝึกฝนจิตใจ สมาธิ และความอดทน รวมถึงโภชนาการของนักมวย ยกตัวอย่างจะลดน้ำหนักไม่ให้เสียสุขภาพอย่างไร
“ทำไมนักมวยไทยต่อยกับนักมวยต่างชาติแล้วแพ้ เพราะนักมวยต่างชาติฝึกตามแนวทางวิทยาศาสตร์การกีฬามานาน เรื่องนี้สำคัญ เวลาที่ร่างกายเมื่อยล้าจะต่อสู้อย่างไร การฝึกจิตใจก็สำคัญ นักชกต่างชาติเก่งเรื่องสเต็ปและจังหวะเท้ามากกว่านักชกไทย เพราะฝึกมาตั้งแต่เด็ก”
5 เรื่องเล่าหมัดๆ มวยๆ
1. ตำนานนายขนมต้ม
ปีพ.ศ.2317 นายขนมต้ม เชลยศึกจากกรุงศรีอยุธยาที่ย่างกุ้ง สามารถเอาชนะนักชกชาวอังวะสิบคนในงานสมโภชพระเจดีย์ที่เมืองย่างกุ้ง
2. ตำรามวยโบราณ
ในสมัยรัชกาลที่ 3 ปี พ.ศ.2367 มีตำรามวยเขียนไว้ในสมุดข่อย มีภาพแม่ไม้ และไม้แก้อย่างละ 12 ท่า เป็นหลักฐานว่า มวยไทยไม่เคยหยุดนิ่ง และในสมัยต่อมา มีครูมวยคิดท่ามวยแยกย่อยไปอีกเป็นกลมวย เชิงมวย และไม้เกร็ด
3. มวยไทย หลักสูตรมาตรฐาน
ปี 2430 เริ่มหลักสูตรมวยไทยให้ชาวสยามในโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้าได้เล่าเรียน และฝึกฝน และมีการตั้งกระทรวงธรรมการ หลักสูตรมวยไทยถูกบรรจุไว้ในโรงเรียนฝึกหัดครูพลศึกษา
4. ยกเลิกมวยคาดเชือก
ปี 2471 สมัยรัชกาลที่ 7 เมื่อมีการชกที่สนามมวยท่าช้าง เกิดเหตุสลดใจ นักมวยชกกันแล้วเสียชีวิต คณะกรรมการจึงลงความเห็นว่า ให้ยกเลิกการคาดเชือกเปลี่ยนเป็นการสวมนวมทั่วประเทศ
5.ปรับสนามมวยราชดำเนิน
ปี 2565 มีการปรับสนามมวยราชดำเนินให้มีความทันสมัย สามารถดูมวยได้ทุกเพศทุกวัยจากทุกมุมโลก เข้าถึงมวยไทยได้ง่ายขึ้น นอกจากการแข่งขันยังมีการไหว้ครูของนักชกทุกคน ไม่เว้นแม้กระทั่งนักชกต่างชาติ โดยยกให้วงปี่พาทย์มวยไทยโดดเด่นในแสงไฟสปอตไลต์ ทุกวันเสาร์ ถ่ายทอดสด 200 ประเทศทั่วโลก
(ข้อมูลล้อมกรอบ : นิทรรศการทางมวย อวยไทย มิวเซียมสยาม)
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์