19 ก.ย. วันพิพิธภัณฑ์ไทย ถอดรหัสความหมายตราสัญลักษณ์งาน 150 ปี พิพิธภัณฑ์ไทย
ส่องความหมายและเรื่องราว ‘พิพิธภัณฑ์ไทย’ ที่ซ่อนอยู่ในตราสัญลักษณ์กิจกรรมเนื่องใน 19 ก.ย. ‘วันพิพิธภัณฑ์ไทย ประจำปี 2567’ ภายใต้แนวคิด '150 ปี พิพิธภัณฑ์ไทย สยามซิวิไลซ์ : A Passage to Wisdom'
ลายเส้นในภาพซึ่งดูเรียบง่ายนี้ คุณมองเห็นอะไรบ้าง?
ตราสัญลักษณ์กิจกรรมเนื่องใน ‘วันพิพิธภัณฑ์ไทย ประจำปี 2567’
นี่คือภาพตราสัญลักษณ์กิจกรรมเนื่องใน ‘วันพิพิธภัณฑ์ไทย ประจำปี 2567’ ภายใต้แนวคิด “150 ปี พิพิธภัณฑ์ไทย สยามซิวิไลซ์ : A Passage to Wisdom”
สำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กรมศิลปากร ได้ออกแบบขึ้นเพื่อเป็นการเฉลิมฉลองมหกรรม 19 ก.ย. วันพิพิธภัณฑ์ไทย ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 18 – 22 กันยายน 2567 ณ พระที่นั่งศิวโมกขพิมาน พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร
โดยซ่อนความหมายและเรื่องราวของ พิพิธภัณฑ์ไทย ที่เดินทางผ่านกาลเวลามาแล้วกว่า 150 ปีไว้ใน ตราสัญลักษณ์ นี้มากมาย
ในตราสัญลักษณ์งาน ‘150 ปี พิพิธภัณฑ์ไทย’ ประกอบด้วยเส้นสายลายเส้นส่วนต่างๆ ที่มีความหมายดังนี้
“ช้าง” สัตว์มงคลจากมิวเซียมหลวง
ช้าง เป็นสัตว์ประจำชาติไทยที่มักพบในตราสัญลักษณ์ของหน่วยงานต่างๆ โดยช้างที่ปรากฏบนสัญลักษณ์นี้ ได้ถอดแบบมาจากช้างที่อยู่บนตรามิวเซียมหลวง ณ หอคองคอเดีย (The Royal Siamese Museum)
เพื่อสื่อถึงความเป็นพิพิธภัณฑ์ไทย และเป็น Mascot หลักของกิจกรรม วันพิพิธภัณฑ์ไทยของทุกปี
โค้งประตูอาคารคองคอเดีย พิพิธภัณฑ์แห่งแรกในสยาม
“คองคอเดีย” ถือเป็นพิพิธภัณฑสถานแห่งแรกในสยามที่เปิดให้ประชาชนเข้าชม
พระบาทสมเด็จจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) ทรงโปรดเกล้าฯ ให้เปิดมิวเซียมหลวง ณ หอคองคอเดีย ซึ่งเป็นพิพิธภัณฑสถานแห่งแรกของประเทศไทยที่เปิดให้ประชาชนเข้าชมอย่างเป็นทางการ และเป็นวิเทโศบายสำคัญในการเสริมสร้างภาพลักษณ์ของสยามประเทศให้มีความทันสมัย (ซิวิไลซ์)
ในงานเฉลิมพระชนมายุครบ 20 พรรษา รัชกาลที่ 5 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างอาคารสโมสรทหารมหาดเล็กตามอย่าง ‘คลับคองคอเดีย’ ซึ่งเป็นสโมสรทหารบกในเมืองปัตตาเวีย เรียกว่า “หอคองคอเดีย”
จากนั้นทรงโปรดเกล้าฯ ให้ย้ายวัตถุจากพระที่นั่งประพาสพิพิธภัณฑ์มาจัดแสดง มีเจ้าพระยาภาสกรวงศ์ และนายเฮนรี อาลาบาสเตอร์ (Henry Alabaster) เป็นผู้อำนวยการ
พิธีเปิดหอมิวเซียมจัดขึ้นใน วันเสาร์ที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2417 กรมศิลปากรจึงถือว่าวันนี้เป็นวันกำเนิดพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติแห่งแรกของราชอาณาจักรไทย
ต่อมารัฐบาลได้ประกาศให้วันที่ 19 กันยายน ของทุกปี เป็น “วันพิพิธภัณฑ์ไทย”
“Passage” การเดินทางผ่านกาลเวลาของพิพิธภัณฑ์ไทย
ลายเส้น Passage มีความหมายถึง ‘เส้นทางที่เชื่อมต่อ’ จากวันแรกของมิวเซียมหลวงจนถึงวันนี้ พิพิธภัณฑ์ไทย แสดงให้เห็นว่า ตลอดการเดินทางผ่านกาลเวลามาแล้วกว่า 150 ปี พิพิธภัณฑ์ไม่ได้เป็นเพียงแหล่งสะสม
แต่เป็นแหล่งเรียนรู้ที่หลากหลาย บอกเล่าเรื่องราวและความเป็นมาของตนเอง นับตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน อันเป็นสะพานที่เชื่อมโยงภูมิปัญญากับสังคมเข้าด้วยกัน
“Wisdom” แหล่งสะสมความรู้ มุ่งหมายให้เกิดปัญญา
ปัจจุบัน พิพิธภัณฑ์ ยังคงทำหน้าที่เป็นแหล่งเรียนรู้ เปรียบดั่งแสงสว่างของดวงอาทิตย์เพื่อมุ่งหมายให้ผู้คนเกิดปัญญา เป็นสถาบันที่ให้บริการทางการศึกษา มีส่วนร่วมในการพัฒนาสังคมได้อย่างยั่งยืน และพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ
พระที่นั่งศิวโมกขพิมาน
ผู้สนใจชมพิพิธภัณฑ์ สามารถเข้าร่วมกิจกรรมมากมายในงาน “150 ปี พิพิธภัณฑ์ไทย สยามซิวิไลซ์ A Passage to Wisdom” ณ พระที่นั่งศิวโมกขพิมาน ภายในบริเวณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร วันนี้-22 ก.ย.2567
ซึ่งประกอบด้วยการบรรยาย-เสวนามากมายหลายประเด็นเกี่ยวกับพิพิธภัณฑ์ไทย การออกร้านสินค้าที่ระลึกจากพิพิธภัณฑ์ในเครือ สินค้าอาร์ตทอย
พิเศษกับการ เที่ยวพิพิธภัณฑ์ยามค่ำ Night Museum กิจกรรมนำชมพิพิธภัณฑ์ในหัวข้อ "เปิดกรุพิศวง : ปริศนาที่มาโบราณวัตถุในพิพิธภัณฑ์ Cabinets of Curiosities" รอบเวลา 18.00 น. เพียงวันละ 1 รอบ
ลงทะเบียนเข้าร่วมกิจกรรมได้ ณ จุดลงทะเบียนศาลาลงสรง (อาคารหมายเลข 13) ตั้งแต่เวลา 17.00 น. ของแต่ละวัน (ไม่รับลงทะเบียนล่วงหน้า)
อ้างอิง : facebook/Thai Museum Day