19 ก.ย. วันพิพิธภัณฑ์ไทย กรมศิลป์ชวนร่วมงาน 150 ปี พิพิธภัณฑ์ไทย สยามซิวิไลซ์
กรมศิลปากร รำลึก 19 ก.ย. 'วันพิพิธภัณฑ์ไทย' จัดเต็มกิจกรรม “150 ปี พิพิธภัณฑ์ไทย สยามซิวิไลซ์ A Passage to Wisdom” หลากหลายการบรรยาย-เสวนาเรื่องพิพิธภัณฑ์ไทย, นำชมพิพิธภัณฑ์ยามค่ำ Night Museum เปิดกรุพิศวง, ช้อปสินค้าพิพิธภัณฑ์ในเครือข่าย ตลาดอาร์ตทอย 18-22 ก.ย.2567
นายพนมบุตร จันทรโชติ อธิบดีกรมศิลปากร กล่าวว่า พ.ศ.2567 เป็นปีครบรอบ 150 ปีที่ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้ง มิวเซียม ณ หอคองคอเดีย (ปัจจุบันคือ ศาลาสหทัยสมาคม ภายในพระบรมมหาราชวัง) หรือ 'พิพิธภัณฑสถาน' และเปิดให้ประชาชนทั่วไปเข้าชมเป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2417
ในวาระครบรอบ 150 ปี แห่งการเริ่มต้น พิพิธภัณฑสถาน สำหรับประชาชนครั้งแรกในประเทศไทย, กรมศิลปากร โดยสำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ จึงกำหนดจัดกิจกรรมเนื่องใน ‘วันพิพิธภัณฑ์ไทย’ 19 กันยายน ประจำปี 2567 ในหัวข้อ “150 ปี พิพิธภัณฑ์ไทย สยามซิวิไลซ์ A Passage to Wisdom” ณ พระที่นั่งศิวโมกขพิมาน พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร
พระที่นั่งศิวโมกขพิมาน
หอคองคอเดีย สถานที่จัดตั้งหอมิวเซียม ต้นกำเนิดพิพิธภัณฑ์ไทย
“พิพิธภัณฑ์ไทย” ถือเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์ชาติ ที่สะท้อนภาพ ‘ชาวสยาม’ ในการศึกษาหาความรู้ในกิจการต่าง ๆ และร่วมกันพัฒนาบ้านเมืองสู่ความ “ซิวิไลซ์” ทัดเทียมนานาอารยประเทศ
ในปีนี้จึงเป็นโอกาสพิเศษที่คนพิพิธภัณฑ์ และผู้ที่ชื่นชอบการท่องเที่ยวพิพิธภัณฑ์ จะได้มาร่วมกันแลกเปลี่ยนความรู้และถ่ายทอดประสบการณ์สร้างสรรค์จากพิพิธภัณฑ์ผ่านมุมมองที่หลากหลายอีกครั้ง
กรมศิลปากรมุ่งหมายว่ากิจกรรมในครั้งนี้จะเป็นประโยชน์ต่อสังคม เพื่อให้พิพิธภัณฑ์เป็นสถาบันแห่งองค์ความรู้สำหรับประชาชนและสังคมไทยอย่างยั่งยืน
วิทยากรเสวนาเรื่อง “150 ปี พิพิธภัณฑ์ไทย สยามซิวิไลซ์ A Passage to Wisdom”
กิจกรรมภายในงาน “150 ปี พิพิธภัณฑ์ไทย สยามซิวิไลซ์ A Passage to Wisdom” ประกอบด้วย 4 กิจกรรมใหญ่
1. การเสวนาและการบรรยาย
การเสวนาและการบรรยายจากผู้บริหารองค์กรด้านพิพิธภัณฑ์ของไทย รวมถึงผู้ปฏิบัติงาน
พิพิธภัณฑ์ที่จะมาร่วมกันบอกเล่าเรื่องราวความรู้ต่าง ๆ สู่สาธารณชน อาทิ
การเสวนา “150 ปี พิพิธภัณฑ์ไทย สยามซิวิไลซ์ A Passage to Wisdom” พาทุกท่านไปรู้จักกับ “พิพิธภัณฑ์” ที่ถือกำเนิดขึ้นในประเทศไทยภายใต้บริบททางสังคมที่เปลี่ยนแปลง สู่การพัฒนาเป็นพิพิธภัณฑ์สาขาวิชาต่างๆ นับพันแห่งทั่วประเทศในปัจจุบัน และบทบาทของ “พิพิธภัณฑ์ไทย” กับการเรียนรู้ในอนาคต : วันพฤหัสบดีที่ 19 ก.ย. เวลา 10.00-12.00 น.
- วิทยากรโดย สมลักษณ์ เจริญพจน์, ผศ.ดร. รวิน ระวิวงศ์, สุขุมาล ผดุงศิลป์, นิตยา กนกมงคล
ศ.พิเศษ ดร.นพ.สรรใจ แสงวิเชียร
การบรรยายเรื่อง “พิพิธภัณฑ์การแพทย์ศิริราช” โดย ศ.พิเศษ ดร.นพ.สรรใจ แสงวิเชียร ที่ปรึกษาคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล : 19 ก.ย. เวลา 13.00 น.
การบรรยายเรื่อง “20 ปี พิพิธภัณฑ์ภาพยนตร์ไทย” โดย สุชีรา เทวะ นักจัดกิจกรรมภาพยนตร์ หอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) : 19 ก.ย. เวลา 13.20 น.
การบรรยายเรื่อง “กว่าจะมาเป็นพิพิธภัณฑ์กรมที่ดิน” โดย ชัยวัฒน์ ไชยประเสริฐ ภัณฑารักษ์ พิพิธภัณฑ์กรมที่ดิน : 19 ก.ย. เวลา 13.40 น.
ชัยนุพล สุวรรณกุลไพศาล
การเสวนาประกอบการแสดงแบบเสื้อผ้า “เรื่องเล่าตามเนื้อผ้า” ประกอบด้วยเรื่อง “พหุพัสตราภรณ์ ความหลากหลายแห่งแพรพรรณ” โดย ชนะภพ วัณณโอฬาร, เรื่อง “150 ปี วิวัฒนาการผ่านผืนผ้า From westernized สู่ไทยพระราชนิยม” โดย ณชนก วงศ์ข้าหลวง, เรื่อง “ผ้าราชสำนักในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร” โดย ยุทธนาวรากร แสงอร่าม : วันที่ 19 ก.ย. เวลา 14.00-15.30 น.
การบรรยายเรื่อง “จากสะสมสู่มิวเซียม: จุดเริ่มต้นของพิพิธภัณฑ์วังสวนผักกาด” โดย นิภาพร บุญทองใหม่ : 19 ก.ย. เวลา 16.10 น.
การบรรยายเรื่อง “กองทัพอากาศในกระแสการเปลี่ยนแปลงทางสังคม” โดย นาวาอากาศเอกวีระชน เพ็ญศรี ผอ.กองประวัติศาสตร์และพิพิธภัณฑ์ทหาร กรมสารบรรณทหารอากาศ : 19 ก.ย. เวลา 16.30 น.
การบรรยาย “สิ่งสะสมส่วนตัวสู่คลังสมบัติชาติ: นายแพทย์บุญส่ง เลขะกุล กับการวางรากฐานพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยาไทย” เรื่องราวของผู้บุกเบิกและวางรากฐานการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ป่าไม้ และสัตว์ป่า ในประเทศไทย และตัวอย่างสัตว์ชุดตั้งต้นของ “พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา” : 19 ก.ย. เวลา 16.50 น.
- วิทยากรโดย ชัยนุพล สุวรรณกุลไพศาล นักวิชาการ คลังตัวอย่าง สำนักวิชาการพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ
นวภู แซ่ตั้ง
การบรรยาย “พิพิธภัณฑ์จ่าง แซ่ตั้ง กับการจัดการผลงานโดยครอบครัวศิลปิน” เรื่องราวผลงานของหนึ่งศิลปิน ผู้ริเริ่มสร้างสรรค์งานศิลปะรูปแบบนามธรรม (Abstract Art) ยุคแรกเริ่มของประเทศไทย สู่การจัดการมรดกผลงานศิลปะโดยทายาทของตระกูล : 19 ก.ย. เวลา 17.10 น.
- วิทยากรโดย นวภู แซ่ตั้ง นักวิชาการศิลปะ ทายาทรุ่นที่ 3 ของศิลปิน จ่าง แซ่ตั้ง และผู้ร่วมก่อตั้งพิพิธภัณฑ์จ่าง แซ่ตั้ง
การบรรยายเรื่อง Museum as Soft Power โดย Ms.Lee Sunju ผู้อำนวยการ Korean Culture Center Thailand : วันที่ 20 ก.ย. 10.00 น.
การบรรยายเรื่อง “บอร์ดเกมจากพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สมเด็จพระนารายณ์” โดย ชนน วัฒนกูล : 20 ก.ย. เวลา 11.30 น.
ดร.วิจิตร อภิชาติเกรียงไกร
การบรรยาย ”จากศิลปะ สู่เศรษฐกิจสร้างสรรค์“ กระบวนการทำงานแบบมีส่วนร่วมกับชุมชนที่ ”หอศิลป์ศาลเจ้า“ กับแนวคิด “นิเวศน์สุนทรีย์” ในการพัฒนาเมืองและชุมชน ที่ทำให้ศิลปะเป็นเรื่องของการใช้ชีวิต : วันศุกร์ที่ 20 ก.ย. เวลา 14.00 - 15.00 น.
- วิทยากรโดย ดร.วิจิตร อภิชาติเกรียงไกร (Ph.D in Visual Art) หอศิลป์ศาลเจ้า
วิทยากรการเสวนา “บทเรียนจากพิพิธภัณฑ์...สู่การสร้างสรรค์เมืองแห่งการเรียนรู้”
การเสวนา “บทเรียนจากพิพิธภัณฑ์...สู่การสร้างสรรค์เมืองแห่งการเรียนรู้” ชวนฟังประสบการณ์ จากคนทำงานออกแบบการเรียนรู้สาธารณะ ที่เชื่อมการเรียนรู้ในพิพิธภัณฑ์ หอสมุด ผู้คน เมือง และเรื่องประวัติศาสตร์เข้าไว้ด้วยกัน : วันศุกร์ที่ 20 ก.ย. เวลา 15.00 – 16.30 น.
- วิทยากรโดย ทวีศักดิ์ วรฤทธิ์เรืองอุไร, อัศรินทร์ นนทิหทัย, พีรัช ษรานุรักษ์, ชนน์ชนก พลสิงห์ (ผู้ดำเนินรายการ)
การบรรยายเรื่อง “เทคโนโลยีกับการสร้างภาพจำใหม่ของโบราณวัตถุ” โดย นัยนา มั่นปาน ภัณฑารักษ์ชำนาญการ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พิมาย : 20 ก.ย. เวลา 11.30 น.
วิทยากรการเสวนาเรื่อง “พิพิธภัณฑ์บันดาลไทย”
การเสวนาเรื่อง “พิพิธภัณฑ์บันดาลไทย” การค้นหาแรงบันดาลใจและการเรียนรู้จากโบราณวัตถุในพิพิธภัณฑ์ ร่วมกับกระบวนการออกแบบกราฟิกตามแนวคิด “แวดล้อมคือตัวตน” สู่ผลิตภัณฑ์สร้างสรรค์จากมรดกศิลปวัฒนธรรมที่โดดเด่นจาก “พิพิธภัณฑ์ไทย” : วันเสาร์ที่ 21 ก.ย. เวลา 13.00 - 14.00 น.
- วิทยากรโดย อ.ไพโรจน์ ธีระประภา, ผศ.ธีรวัฒน์ พจน์วิบูลศิริ, ทานตะวัน วัฒนะ, ธนพล โลหชิตพิทักษ์, วัชรี ชมภู
การบรรยายเรื่อง “พิพิธภัณฑ์แหล่งเรียนรู้ของอนาคต” โดย พลาดิศัย สิทธิธัญกิจ พิพิธภัณฑ์นักเขียนไทย : 21 ก.ย. 15.30 น.
การเสวนาเรื่อง “ศิลปะชุมชน พื้นที่ของวัฒนธรรมและความคิดสร้างสรรค์” โดย อ.ชุมพล อักพันธานนท์ บ้านศิลปินคลองบางหลวง และ ดร.ไพโรจน์ ทองคำสุก ศูนย์ฝึกโขนวัดสุวรรณาราม : 21 ก.ย.เวลา 16.00 น.
2. นิทรรศการพิเศษ
การจัดแสดงนิทรรศการพิเศษกับวัตถุสะสมชิ้นพิเศษจากพิพิธภัณฑ์เครือข่าย 24 แห่ง อาทิ ศึกษาเรียนรู้ศาสตร์พระราชา ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงด้านการเกษตร จาก พิพิธภัณฑ์การเกษตรเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พบกับกิจกรรม พับลูกบอลกระดาษ สร้างการเรียนรู้เรื่องพันธุกรรมพืชและสัตว์
ร่วมด้วยนิทรรศการพิเศษจาก พิพิธภัณฑ์กรมที่ดิน พิพิธภัณฑ์ตำรวจ วังปารุสกวัน พิพิธบางลำพู กรมธนารักษ์ พิพิธภัณฑ์วังสวนผักกาด เป็นอาทิ
สินค้าและผลิตภัณฑ์ของพิพิธภัณฑ์ทหารสรรพาวุธและพิพิธภัณฑ์โรงหลอมรีด
ผลิตภัณฑ์จากกระดาษรีไซเคิลของ พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านวัดสำโรง
กระเป๋าจากพิพิธภัณฑ์กองทัพอากาศและการบินแห่งชาติ
3. ออกร้านของที่ระลึก
การออกร้านกิจกรรมพิเศษและการจำหน่ายของที่ระลึกจาก พิพิธภัณฑ์เครือข่าย อีก 20 แห่ง อาทิ บูธนวัตกรรมและสินค้าของ พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยาเทพรัตนราชสุดาฯ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กาญจนาภิเษก, พิพิธภัณฑ์ภาพยนตร์ไทย, ศูนย์การเรียนรู้ธนาคารแห่งประเทศไทย, พิพิธภัณฑ์กองทัพอากาศและการบินแห่งชาติ
ผลิตภัณฑ์จากกระดาษรีไซเคิลของพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านวัดสำโรง, สินค้าและผลิตภัณฑ์ของพิพิธภัณฑ์ทหารสรรพาวุธและพิพิธภัณฑ์โรงหลอมรีด
4. ตลาด - อาร์ตทอย
ตลาดสินค้าสร้างสรรค์ประเภทอาร์ตทอย 18-22 ก.ย. เพลิดเพลินกับกิจกรรม เช่น ร้านหัด-ทำ-มือ โดยศิลปินและนักศึกษา, เวิร์คช็อป DIY Curio Box, กาชาปอง NMB Cabinets of Curiousities
พิธีเปิดกิจกรรมเนื่องใน วันพิพิธภัณฑ์ไทย ณ พระที่นั่งศิวโมกขพิมาน พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร วันที่ 19 ก.ย.2567 เวลา 09.00 น. นายเจษฎา ชีวะวิชวาลกุล รองอธิบดีกรมศิลปากร กล่าวรายงานการจัดกิจกรรม
จากนั้นประธานในพิธีฯ นายพนมบุตร จันทรโชติ กล่าวเปิดกิจกรรมและแสดงปาฐกถาพิเศษ เรื่อง "มองอนาคตพิพิธภัณฑ์ในทศวรรษหน้า"
พิเศษ ระหว่างวันที่ 18 - 22 กันยายน 2567 ในช่วงค่ำ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ยังจัดให้มีกิจกรรม Museum Talk ยามค่ำ บอกเล่าเรื่องราวของพิพิธภัณฑ์ผ่าน คน ของ และสถานที่ และ เที่ยวพิพิธภัณฑ์ยามค่ำ Night Museum พร้อมทั้งร่วมกิจกรรมนำชมพิพิธภัณฑ์ในหัวข้อ "เปิดกรุพิศวง : ปริศนาที่มาโบราณวัตถุในพิพิธภัณฑ์ Cabinets of Curiosities"
- รอบเวลา 18.00 น. เพียงวันละ 1 รอบ
ลงทะเบียนเข้าร่วมกิจกรรมได้ ณ จุดลงทะเบียนศาลาลงสรง (อาคารหมายเลข 13) ตั้งแต่เวลา 17.00 น. ของแต่ละวัน (ไม่รับลงทะเบียนล่วงหน้า)