ศ.ดร.อภินันท์ เล่าพระราชดำรัส กรมสมเด็จพระเทพฯ ขณะทอดพระเนตรศิลปะ BAB 2024

ศาสตราจารย์ ดร.อภินันท์ โปษยานนท์ เล่าความสนพระทัย กรมสมเด็จพระเทพฯ ขณะทอดพระเนตรผลงานศิลปะในงาน บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2024 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ หลังทรงเปิดงาน
ศาสตราจารย์ ดร.อภินันท์ โปษยานนท์ ประธานอำนวยการและผู้อำนวยการศิลป์ บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ ให้สัมภาษณ์กับ ‘กรุงเทพธุรกิจ’ ภายหลังเฝ้าฯ รับเสด็จ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดงาน เทศกาลศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ Bangkok Art Biennale 2024 (BAB2024) และทอดพระเนตรงาน BAB 2024 ณ พื้นที่จัดแสดง ชั้น B2 ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ เมื่อวันอังคารที่ 1 ตุลาคม 2567 เวลา 09.00 น.
“วันนี้ (1 ต.ค.) พระองค์ท่านได้เสด็จฯ ทอดพระเนตร 1 ใน 11 พื้นที่จัดแสดงงาน เป็นการเปิดพื้นที่แห่งแรกสำหรับปีนี้ มีผลงานที่พระองค์ท่านสนพระทัยเป็นพิเศษที่แน่ๆ เลยคืองานของศิลปิน บุญโปน โพทิสาน จาก สปป.ลาว เราทราบกันดีพระองค์ท่านทรงมีความผูกพันกับ สปป.ลาว ค่อนข้างมาก
ศิลปินได้นำเสนอในเรื่องประวัติความเป็นมาในอดีต โดยเฉพาะในช่วงสงครามเวียดนามที่ลาวได้รับผลพวงจากสงครามถูกกองทัพอเมริกันทิ้งระเบิด
ศิลปินก็ได้ไปเก็บเศษปลอกระเบิดเหล่านั้นมาทำเป็นงานศิลปะ โดยแกะสลักเจาะตัวปลอกระเบิดเป็นลวดลายจิตรกรรมฝาผนังของลาวสอดแทรกเข้าไป เป็นการใช้วัตถุในอดีตมารีไซเคิลใหม่เป็นงานศิลปะ ศิลปินก็ได้เล่าถึงเรื่องที่เขาเดินทางไปตามแคว้นต่างๆ
มูลนิธิบางกอกอาร์ตเบียนนาเล่ได้ว่าจ้างให้เขาสร้างสรรค์งานศิลปะ 1 ชิ้น ต่อ 1 แคว้น ก็จะมีทั้งหมด 17 ชิ้น หรือเศษปลอกระเบิด 17 ลูกด้วยกัน เป็นสัญลักษณ์ของแต่ละแคว้น”
อีกหนึ่งผลงานศิลปะที่กรมสมเด็จพระเทพฯ ทรงใช้เวลาทอดพระเนตร คือผลงานศิลปะของศิลปินชาวฝรั่งเศส อับราฮัม พอยน์เชวาล (Abraham Poincheval) ซึ่งจินตนาการถึงการอยู่กับธรรมชาติได้อย่างไร จากทำตัวเสมือนบินได้ด้วยการยึดตัวเองเข้ากับบอลลูน ทำให้ตนเองราวเดินอยู่บนก้อนเมฆ ขณะเดียวกันก็เป่าเครื่องดนตรีไปด้วย
อับราฮัม พอยน์เชวาล เป็นศิลปินนักสำรวจชาวฝรั่งเศสผู้ไม่เคยย่อท้อ ไม่ว่าจะเป็นการข้ามเทือกเขาแอลป์ที่ต้องผลักแคปซูลที่พักไปด้วย เขาสนใจเรื่องการเคลื่อนที่
ผลงานศิลปะที่นำมาร่วมจัดแสดงในงาน Bangkok Art Biennale 2024 เป็นวิดีโออาร์ตมีชื่อว่า Walk on Clouds
“อีกชิ้นหนึ่งเป็นผลงานศิลปะของศิลปินไทย ประสงค์ ลือเมือง เขียนภาพผลงานชุดใหม่ให้กับบางกอกอาร์ตเบียนนาเล่
งานมีชื่อว่า สังสารวัฏ เป็นเรื่องการเวียนว่ายตายเกิด ศิลปินใช้เรื่องการปฏิบัติธรรมกับการใช้สมาธิและการทำงานศิลปะ ทุกวันตั้งแต่เช้าจรดค่ำปฏิบัติศิลปะปฏิบัติธรรมหมุนเวียนกันไปทุกวัน จนงานของเขา ความยาว 15 เมตร สร้างขึ้นมาสมบูรณ์ งดงาม"
"อีกหนึ่งผลงานที่พระองค์ท่านทรงสนพระทัยเป็นอย่างมาก คือผลงานของ อาจารย์กัญญา เจริญศุภกุล พระองค์ท่านทรงมีพระราชดำรัสเกี่ยวกับงานของอาจารย์กัญญา
ทรงกล่าวว่าน่าจะขยายให้ใหญ่กว่านี้ เพราะขณะที่อาจารย์กัญญาทำผลงานศิลปะชิ้นนี้ซึ่งความยาวประมาณ 15-16 เมตร อาจารย์มือเจ็บ
เหมือนพระองค์ท่านทรงให้กำลังใจ ถ้าทำได้ขนาดนี้ขณะมือเจ็บ เมื่อหายแล้วก็น่าจะทำได้ใหญ่กว่านี้” ศ.ดร.อภินันท์ กล่าว
Whitewash for Mother Earth หรือ ความเจ็บปวดรวดร้าวของพระแม่ธรณี
อาจารย์กัญญาสร้างสรรค์ผลงานศิลปะชื่อ Whitewash for Mother Earth หรือ ความเจ็บปวดรวดร้าวของพระแม่ธรณี สื่อผสมบนผ้าใบ ขนาด 317 x 1,446 เซนติเมตร เป็นผลงานขนาดใหญ่ที่สุดที่ศิลปินเคยสร้างมา
'ความเจ็บปวดรวดร้าวของพระแม่ธรณี' เกิดจากการผสมผสานของ สี น้ำ และทราย อันเป็นองค์ประกอบของธรรมชาติ และชี้ให้เห็นถึงการทำลายล้างพืชพันธุ์ธรรมชาติและชั้นบรรยากาศโดยมนุษย์
“มนุษย์เราขุดเจาะผืนโลกหาพลังงาน ตัดไม้ทำลายป่าที่ปกคลุมพื้นผิวของโลก และเพิกเฉยแม้กระทั่งคุณภาพอากาศ ซึ่งเป็นลมหายใจแห่งชีวิตของพวกเราเอง
มนุษย์เราคือผู้อกตัญญูที่ทำลายพระแม่ธรณีผู้เป็นแม่ผู้ให้ชีวิต ภาพที่ปรากฏบนผืนผ้าใบ จึงเป็นตัวตนแทนเรือนกายอาบโลหิตของพระแม่ธรณีที่รอการเยียวยารักษา”
อ.กัญญา ให้สัมภาษณ์ว่า จริงๆ ผลงานสื่อผสมชิ้นนี้เป็นสีแดงฉานทั้งผืน เปรียบโลหิตที่อาบแผ่นดิน ให้ความรู้สึกที่รุนแรงมาก แต่ที่เห็นผลงานเป็นสีขาวขณะนี้ คือการชโลมสีขาวลงบนผืนผ้าใบ เป็นตัวแทนการเยียวยารักษาแผ่นดิน หากเข้าไปชมใกล้ๆ จะเห็นการซ้อนทับของสีสันชั้นต่างๆ
ภายในพื้นที่จัดแสดงชั้น B2 ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ จัดแสดงผลงานศิลปะบางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2024 ของศิลปินจาก สปป.ลาว, ฝรั่งเศส 2 คน, นิวซีแลนด์, สิงคโปร์, รัสเซีย, อิหร่าน และ ไทย 2 คน รวมผลงานศิลปะ 17 ชิ้น
ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ เป็น 1 ใน 11 สถานที่จัดงาน BAB2024 ในกรุงเทพฯ เปิดให้เข้าชมแล้ววันนี้-25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2568
ส่วนพื้นที่จัดแสดงแห่งอื่นๆ ในกรุงเทพฯ กำหนดเปิดให้เข้าชมได้ตั้งแต่วันที่ 24 ตุลาคม พ.ศ. 2567