กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ทรงให้กำลังใจศิลปิน หลังทรงเปิดงาน BAB 2024
สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ ทรงเปิดงาน เทศกาลศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2024 (BAB2024) พร้อมทอดพระเนตรผลงานศิลปะและทรงให้กำลังใจศิลปิน จากนั้นเสด็จทอดพระเนตรงาน Sustainability Expo 2024 (SX2024)
สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินโดยรถยนต์พระที่นั่งจากวังสระปทุม ไปยังศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ เพื่อทรงเปิดงาน เทศกาลศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ Bangkok Art Biennale 2024 (BAB 2024) ณ พื้นที่จัดแสดง ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ เมื่อวันอังคารที่ 1 ตุลาคม 2567 เวลา 09.00 น.
โดยมีคณะผู้จัดงาน เฝ้าฯ รับเสด็จ ดังนี้ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นาย ฐาปน สิริวัฒนภักดี ประธานกรรมการ และผู้ก่อตั้งมูลนิธิ บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ นางปภัชญา สิริวัฒนภักดี บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) นางอาทินันท์ พีชานนท์ รองประธานกรรมการบริหาร บริษัท ไทยกรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน)
นายปณต สิริวัฒนภักดี รองประธานกรรมการบริษัท เอ็น.ซี.ซี. แมนเนจเม้นท์ แอนด์ ดิเวลลอปเม้นท์ จำกัด หม่อมหลวงตรีนุช สิริวัฒนภักดี บริษัท เอ็น.ซี.ซี. แมนเนจเม้นท์ แอนด์ ดิเวลลอปเม้นท์ ศาสตราจารย์ ดร.อภินันท์ โปษยานนท์ ประธานอำนวยการและผู้อำนวยการศิลป์ บางกอกอาร์ต เบียนนาเล่ ศาสตราจารย์ถาวร โกอุดมวิทย์ นายนิติกร กรัยวิเชียร กรรมการโครงการ บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ นางต้องใจ ธนะชานันท์ ผู้อำนวยการคณะจัดงาน Sustainability Expo 2024 (SX2024)
ฐาปน สิริวัฒนภักดี ทูลเกล้าฯ ถวายสูจิบัตร
ศ.ดร.อภินันท์ โปษยานนท์ ทูลเกล้าฯ ถวายของที่ระลึก
เมื่อ กรมสมเด็จพระเทพรัตนฯ เสด็จพระราชดำเนินเข้าบริเวณอาคารและประทับพระราชอาสน์ นายฐาปน สิริวัฒนภักดี ประธานมูลนิธิบางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ เข้าเฝ้าฯ ทูลเกล้าฯ ถวายสูจิบัตร
ศ.ดร.อภินันท์ โปษยานนท์ ประธานอำนวยการและผู้อำนวยการศิลป์ บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ ทูลเกล้าฯ ถวายของที่ระลึก
เทศกาลศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ จัดโดย มูลนิธิ บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ ร่วมกับ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) โดยการผสานความร่วมมือครั้งสำคัญกับ กรุงเทพมหานคร การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (TCEB) เครือข่ายพันธมิตรภาครัฐ และเอกชนทุกภาคส่วน จัดขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นครั้งที่ 4 ภายใต้แนวคิด "รักษา กายา (Nurture Gaia)”
ฐาปน สิริวัฒนภักดี กราบบังคมทูลรายงาน
โอกาสนี้ นายฐาปน สิริวัฒนภักดี ประธานกรรมการและผู้ก่อตั้งมูลนิธิบางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ ขอพระราชทานกราบบังคมทูลรายงาน ความว่า
“ข้าพระพุทธเจ้า นายฐาปน สิริวัฒนภักดี ประธานกรรมการมูลนิธิ บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ รู้สึกสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ที่ใต้ฝ่าละอองพระบาทเสด็จพระราชดำเนินมาทรงเป็นองค์ประธานเปิดงาน เทศกาลศิลปะร่วมสมัยนานาชาติบางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2024 ในวันนี้ ยังความปลาบปลื้มแก่ข้าพระพุทธเจ้าทั้งปวงที่เฝ้าทูลละอองพระบาทอยู่ ณ ที่นี้โดยทั่วกัน
เทศกาลศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ จัดขึ้นครั้งแรกเมื่อปี 2018 เพื่อเสริมสร้างพลังเศรษฐกิจสร้างสรรค์ และต้นทุนทางวัฒนธรรมของกรุงเทพมหานคร และโลกเข้าด้วยกัน
ทั้งยังเป็นการสร้างรายได้ในเชิงการท่องเที่ยวและสร้างโอกาสให้ศิลปินไทยได้แสดงผลงานร่วมกับศิลปินที่มีชื่อเสียงระดับโลก
และยังเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้ชมงานทั้งชาวไทยและต่างชาติ ได้ชมงานศิลปะร่วมสมัยที่โดดเด่นในระดับสากลโดยไม่ต้องเดินทางไกลไปถึงต่างประเทศ
การจัดงานดำเนินมาอย่างต่อเนื่องทุก 2 ปี จนถึงครั้งนี้ นับเป็นครั้งที่ 4 ซึ่งจะจัดแสดงในสถานที่สำคัญ 11 แห่งในกรุงเทพมหานคร ตั้งแต่วันที่ 24 ตุลาคม พ.ศ. 2567 ถึง 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2568
การจัดงานเทศกาลศิลปะร่วมสมัยนานาชาติบางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2022 ที่ผ่านมานั้น มีผู้เข้าร่วมชมงานทั้งชาวไทย และชาวต่างชาติจำนวนถึง 17,592,321 คน แบ่งเป็นผู้เข้าร่วมงานนิทรรศการจำนวน 992,321 คน และผู้เข้าร่วมชมงานทางออนไลน์จำนวน 16,600,000 คน
สามารถกระตุ้นให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจจากการจัดงานเป็นจำนวนมูลค่าถึง 6,298 ล้านบาท โดยอ้างอิงข้อมูลจากสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (TCEB) นับว่ามีกระแสการตอบรับดีเป็นที่น่าพอใจยิ่ง
สำหรับปีนี้ มูลนิธิ บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ ร่วมกับ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด(มหาชน) ได้ผสานความร่วมมือกับ กรุงเทพมหานคร การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (TCEB) กรุงเทพมหานคร เครือข่ายพันธมิตรภาครัฐ และเอกชนทุกภาคส่วน ร่วมกันจัดงานแสดงผลงานศิลปะกว่า 200 ชิ้น โดยศิลปิน 76 ท่าน จาก 39 สัญชาติ ภายใต้หัวข้อ รักษา กายา (Nurture Gaia) ที่มุ่งเน้นที่จะถ่ายทอดความหมายที่แตกต่างของธรรมชาติ การเลี้ยงดู ความเป็นผู้หญิง และการครุ่นคิดเกี่ยวกับนิเวศวิทยา การเมือง หรืออำนาจเหนือธรรมชาติต่าง ๆ
เพื่อสะท้อนให้เห็นถึงสภาพปัจจุบัน กระตุ้นให้ฉุกคิด รวมทั้งมองหาวิธีใหม่ในการจัดการกับประเด็นปัญหาทางสังคม และสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน
บัดนี้ ได้เวลาอันเป็นมงคลแล้ว ข้าพระพุทธเจ้าขอพระราชทานพระราชานุญาตฉายวิดีทัศน์ประมวลภาพการจัดเทศกาลศิลปะร่วมสมัยนานาชาติบางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ทั้ง 3 ครั้งที่ผ่านมา รวมถึงรายละเอียดการจัดงานในครั้งนี้
และขอพระราชทานกราบบังคมทูลเชิญใต้ฝ่าละอองพระบาท ทรงตัดแถบแพรเปิดงานเทศกาลศิลปะร่วมสมัยนานาชาติบางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2024 และเสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตร งานศิลปะที่จัดแสดงในลำดับต่อไป ด้วยเกล้าด้วยกระหม่อม”
ทรงตัดแถบแพรเปิดงาน BAB 2024
จากนั้น สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ ลงชั้น B2 ไปยังห้องจัดนิทรรศการฯ ทรงตัดแถบแพรเปิดงานเทศกาลศิลปะร่วมสมัยนานาชาติบางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ ครั้งที่ 4 (BAB2024) และทอดพระเนตรนิทรรศการฯ โดยมี ศาสตราจารย์ ดร.อภินันท์ โปษยานนท์ ประธานอำนวยการและผู้อำนวยการศิลป์ บางกอกอาร์ต เบียนนาเล่ ถวายข้อมูลเกี่ยวกับผลงานศิลปะที่จัดแสดง
กรมสมเด็จพระเทพฯ ทอดพระเนตรผลงานของศิลปินจาก สปป.ลาว
ศ.ดร.อภินันท์ โปษยานนท์ ประธานอำนวยการและผู้อำนวยการศิลป์ บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ ให้สัมภาษณ์กับ ‘กรุงเทพธุรกิจ’ ว่า
“วันนี้พระองค์ท่านได้เสด็จฯ ทอดพระเนตร 1 ใน 11 พื้นที่จัดแสดงงาน เป็นการเปิดพื้นที่แห่งแรกสำหรับปีนี้ มีผลงานที่พระองค์ท่านสนพระทัยเป็นพิเศษที่แน่ๆ เลยคืองานของศิลปิน บุญโปน โพทิสาน จาก สปป.ลาว เราทราบกันดีพระองค์ท่านทรงมีความผูกพันกับ สปป.ลาว ค่อนข้างมาก
ศิลปินได้นำเสนอในเรื่องประวัติความเป็นมาในอดีต โดยเฉพาะในช่วงสงครามเวียดนามที่ลาวได้รับผลพวงจากสงครามถูกกองทัพอเมริกันทิ้งระเบิด เขาก็ได้ไปเก็บเศษระเบิดเหล่านั้นมาทำเป็นงานศิลปะ โดยแกะสลักเจาะตัวระเบิดเป็นลวดลายจิตรกรรมฝาผนังของลาวสอดแทรกเข้าไป เป็นการใช้วัตถุในอดีตมารีไซเคิลใหม่เป็นงานศิลปะ ศิลปินก็ได้เล่าถึงเรื่องที่เขาเดินทางไปตามแคว้นต่างๆ
มูลนิธิบางกอกอาร์ตเบียนนาเล่ได้ว่าจ้างให้เขาสร้างสรรค์งานศิลปะ 1 ชิ้น ต่อ 1 แคว้น ก็จะมีทั้งหมด 17 ชิ้น หรือเศษระเบิด 17 ลูกด้วยกัน เป็นสัญลักษณ์ของแต่ละแคว้น”
อีกหนึ่งผลงานศิลปะที่กรมสมเด็จพระเทพฯ ทรงใช้เวลาทอดพระเนตร คือผลงานศิลปะของศิลปินชาวฝรั่งเศส ‘อับราฮัม พอยน์เชวาล’ ซึ่งจินตนาการถึงการอยู่กับธรรมชาติได้อย่างไร จากทำตัวเสมือนบินได้ด้วยการยึดตัวเองเข้ากับบอลลูน ทำให้ตนเองราวเดินอยู่บนก้อนเมฆ ขณะเดียวกันก็เป่าเครื่องดนตรีไปด้วย
ทอดพระเนตรงานศิลปะของ ประสงค์ ลือเมือง
“อีกชิ้นหนึ่งเป็นผลงานศิลปะของศิลปินไทย ‘ประสงค์ ลือเมือง’ เขียนภาพผลงานชุดใหม่ให้กับบางกอกอาร์ตเบียนนาเล่ งานมีชื่อว่า สังสารวัฏ เป็นเรื่องการเวียนว่ายตายเกิด ศิลปินใช้เรื่องการปฏิบัติธรรมกับการใช้สมาธิและการทำงานศิลปะ ทุกวันตั้งแต่เช้าจรดค่ำปฏิบัติศิลปะปฏิบัติธรรมหมุนเวียนกันไปทุกวัน จนงานของเขา ความยาว 15 เมตร สร้างขึ้นมาสมบูรณ์ งดงาม
อาจารย์กัญญา เจริญศุภกุล กับผลงานศิลปะที่สร้างสรรค์ขณะมือเจ็บ
อีกหนึ่งผลงานที่พระองค์ท่านทรงสนพระทัยเป็นอย่างมากคือผลงานของอาจารย์กัญญา เจริญศุภกุล พระองค์ท่านทรงมีพระราชดำรัสเกี่ยวกับงานของอาจารย์กัญญา ทรงกล่าวว่าน่าจะขยายให้ใหญ่กว่านี้ เพราะขณะที่อาจารย์กัญญาทำผลงานศิลปะชิ้นนี้ซึ่งความยาวประมาณ 15-16 เมตร อาจารย์มือเจ็บ เหมือนพระองค์ท่านทรงให้กำลังใจ ถ้าทำได้ขนาดนี้ขณะมือเจ็บ เมื่อหายแล้วก็น่าจะทำได้ใหญ่กว่านี้”
ภายในพื้นที่จัดแสดงชั้น B2 ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ จัดแสดงผลงานศิลปะบางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2024 ของศิลปินจาก สปป.ลาว, ฝรั่งเศส 2 คน, นิวซีแลนด์, สิงคโปร์, รัสเซีย, อิหร่าน และ ไทย 2 คน
ทอดพระเนตรงาน SX2024
หลังจากนั้น สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรงาน Sustainability Expo 2024 (SX2024) ซึ่งมีกำหนดจัดงานในวันที่ 27 กันยายน - 6 ตุลาคม 2567 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ซึ่งเป็นงานนิทรรศการด้านความยั่งยืนที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคอาเซียน
โดยน้อมนำพระปฐมบรมราชโองการตามพระราชปณิธานในการสืบสาน รักษา ต่อยอด ของหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศรมหาภูมิพล อดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มาเป็นแนวทางการจัดงานสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของโลก (Sustainabilities Development Goals)
พาวิลเลียนจัดแสดง SX Prologue ‘Planet & People’
กรมสมเด็จพระเทพรัตนฯ ทอดพระเนตรการจัดแสดง SX Prologue ‘Planet & People’ สำรวจโลกแห่งการเปลี่ยนแปลงในรูปแบบ Immersive Experience ซึ่งใช้เวลาแสดง 15 นาที/รอบ
จากนั้นเสด็จฯ ทอดพระเนตรพาวิลเลียน มูลนิธิชัยพัฒนา ปีนี้จัดแสดง ‘9 เรื่องราวตัวอย่างความสำเร็จสู่ชัยชนะแห่งการพัฒนา’ และพาวิลเลียน มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ จัดแสดงความสัมพันธ์ของป่าไม้กับการรักษาสมดุลของโลก
เสด็จฯ ต่อไปยังพาวิลเลียน ศาสนาสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน นำเสนอเรื่องราวของศาสนาต่างๆ กับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน
ภายในพาวิลเลียน 'ศาสนาสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน'
ทรงฉายพระรูปในบริเวณการจัดงาน Sustainability Expo 2024
จากนั้นเสด็จฯ ไปยังบริเวณคูหาของประเทศต่างๆ ที่เข้าร่วมงาน SX2024 อาทิ ประเทศ อิตาลี ที่นำเสนอการออกแบบระบบอุตสาหกรรมขนส่งในอนาคตด้วยนวัตกรรมใหม่สำหรับระบบนิเวศที่ยั่งยืนของบริษัทเอกชน แต่เป็นการส่งวิศวกรมาถ่ายทอดองค์ความรู้และร่วมผลิตในประเทศซึ่งเป็นลูกค้า ไม่ใช่นำเข้าจากประเทศอิตาลีทั้งหมด
ก่อนเสด็จพระราชดำเนินกลับ กรมสมเด็จพระเทพฯ ทรงฉายพระรูปกับคณะผู้จัดงาน บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2024, งาน Sustainability Expo 2024 และ หุ่นจำลอง 'หมูเด้ง' ซึ่งเป็นมุมกิจกรรมหนึ่งในงาน Sustainability Expo 2024