กรมศิลปากร นำหนังสือเก่า-หายาก ร่วมงานมหกรรมหนังสือระดับชาติ ครั้งที่ 29

กรมศิลปากร นำหนังสือเก่า-หายาก ร่วมงานมหกรรมหนังสือระดับชาติ ครั้งที่ 29

กรมศิลปากร นำหนังสือเก่า หนังสือหายาก โปสการ์ดภาพจดหมายเหตุ ร่วมจำหน่ายใน งานมหกรรมหนังสือระดับชาติ ครั้งที่ 29 พร้อมลดราคาสูงสุด 20% ทุกเล่มฐานข้อมูลแน่นระดับผู้ชำนาญการ

กรมศิลปากร โดย 'ศูนย์หนังสือกรมศิลปากร' ร่วมจำหน่ายหนังสือใน งานมหกรรมหนังสือระดับชาติ ครั้งที่ 29 ทั้งหนังสือออกใหม่ หนังสือเก่า และหนังสือหายาก ลดราคาสูงสุด 20%

นายพนมบุตร จันทรโชติ อธิบดีกรมศิลปากร เปิดเผยว่า กรมศิลปากรได้นำหนังสือเผยแพร่องค์ความรู้ศิลปวัฒนธรรมด้านต่างๆ ทั้งจดหมายเหตุ วรรณคดี ประวัติศาสตร์ โบราณคดี ศิลปกรรม สถาปัตยกรรม ที่หน่วยงานในสังกัดกรมศิลปากรจัดพิมพ์ใหม่ และหนังสือยอดนิยม ไปจำหน่ายในราคาลดพิเศษ 10 - 20% ภายในงานมหกรรมหนังสือระดับชาติ ครั้งที่ 29 

เพื่อให้ผู้สนใจสามารถเข้าถึงองค์ความรู้ศิลปวัฒนธรรมของกรมศิลปากรได้ภายในงานเดียว โดยมีหนังสือที่น่าสนใจ

หนังสือ 'เรือพระราชพิธี' จัดพิมพ์โดยสำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ 

กรมศิลปากร นำหนังสือเก่า-หายาก ร่วมงานมหกรรมหนังสือระดับชาติ ครั้งที่ 29 หนังสือ 'เรือพระราชพิธี'

เรือพระราชพิธี เป็นเรือในกระบวนพยุหยาตราทางชลมารค อันเป็นริ้วกระบวนเรือที่จัดขึ้นเมื่อพระมหากษัตริย์ในสมัยโบราณเสด็จพระราชดำเนินไปในการพระราชพิธีหรือเป็นการส่วนพระองค์ในที่ต่างๆ ตั้งแต่สมัยสุโขทัยเป็นต้นมา

แสดงให้เห็นถึงวัฒนธรรมของชาติและขนบธรรมเนียมประเพณีของบ้านเมืองที่ตั้งอยู่ริมน้ำ และพระมหากษัตริย์ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจตามโบราณราชประเพณีสืบเนื่องตลอดมา
หนังสือเล่มนี้นอกจากเผยแพร่อันเป็นประโยชน์และเป็นหลักฐานอ้างอิงทางวิชาการแล้ว ยังสืบทอดภูมิปัญญาของช่างไทย เนื้อหาในเล่มประกอบด้วย

  • ประวัติเรือพระที่นั่งประเภทเรือแจวพายในแม่น้ำของไทย
  • ความเป็นมาของเรือพระราชพิธี
  • การจัดริ้วกระบวนเรือพระราชพิธีในกระบวนพยุหยาตราทางชลมารคในอดีต
  • ลักษณะหน้าที่และความเป็นมาของเรือพระที่นั่งและเรือในริ้วกระบวน
  • หน้าที่ของเจ้าพนักงานในกระบวนเสด็จ
  • การแต่งกายของผู้ประจำเรือในริ้วกระบวนเรือพระราชพิธี
  • ประวัติย่อของเรือพระราชพิธีคราวสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี

หนังสือ 'เทเวศร์ที่(ไม่)รู้จัก' จัดพิมพ์โดยสำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์

กรมศิลปากร นำหนังสือเก่า-หายาก ร่วมงานมหกรรมหนังสือระดับชาติ ครั้งที่ 29

เทเวศร์ เป็นย่านเก่าแก่บริเวณปากคลองผดุงกรุงเกษมด้านทิศเหนือ มีพัฒนาการเป็นแหล่งชุมชนมาตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนปลาย และเจริญเติบโตเป็นย่านการค้าและชุมทางการสัญจรทั้งทางบกแบะทางน้ำที่สำคัญของพระนครภายหลังการขุดคลองผดุงกรุงเกษมนับแต่ปีพ.ศ.2394 เป็นต้นมา

กรมศิลปากรหวังเป็นอย่างยิ่งว่าหนังสือเล่มนี้จะช่วยเพิ่มพูนองค์ความรู้และอำนวยประโยชน์ในการศึกษา ค้นคว้า อ้างอิง แก่นักเรียน นักศึกษา นักวิชาการและผู้สนใจโดยทั่วกัน

เนื้อหาในหนังสือเล่มนี้ประกอบด้วยเรื่องราวต่างๆ อาทิ ย่านเทเวศร์ ขอบเขต พัฒนาการ และการเปลี่ยนแปลง, วัดและศาลเจ้าย่านเทเวศร์, วัง กับความเปลี่ยนของย่านเทเวศร์, อาหารการกินย่านเทเวศร์, ตามรอยประวัติศาสตร์กับตลาด(ย่าน)เทเวศร์

 

หนังสือ 'ตามรอยฝรั่งเล่าความหลังเมืองพริบพรี (เพชรบุรี) จัดพิมพ์โดยสำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ 

กรมศิลปากร นำหนังสือเก่า-หายาก ร่วมงานมหกรรมหนังสือระดับชาติ ครั้งที่ 29

ในเล่มประกอบด้วยเอกสารที่ชาวต่างชาติหลายคนได้เขียนบันทึกเรื่องราวที่เกี่ยวกับ เพชรบุรี ไว้ในคราวที่ได้เดินทางมาเยือนเพชรบุรีในช่วงเวลาต่าง ๆ 

เมืองเพชรบุรีนี้เป็นเมืองสำคัญที่มีความเจริญทางด้านวัฒนธรรมและเศรษฐกิจการค้าที่เชื่อมโยงกับเมืองต่าง ๆ มาตั้งแต่สมัยอยุธยาเรื่อยมาจนถึงสมัยปัจจุบัน ทั้งยังปรากฏชื่อเมืองอยู่ในเอกสารประวัติศาสตร์ทั้งที่บันทึกโดยฝ่ายไทยและชาวต่างชาติด้วย 

บันทึกของชาวต่างชาติที่ได้เคยมาเยือนเมืองเพชรบุรีดังกล่าวได้ให้ภาพและข้อมูลของเมืองเพชรบุรีในอดีตได้อย่างชัดเจน นับว่าเป็นประโยชน์ต่อการศึกษาค้นคว้าเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ของไทยอย่างกว้างขวาง

หนังสือ การเสด็จประพาสยุโรป ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ร.ศ.116 เล่ม 1-2 จัดพิมพ์โดยสำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ 

กรมศิลปากร นำหนังสือเก่า-หายาก ร่วมงานมหกรรมหนังสือระดับชาติ ครั้งที่ 29

การเสด็จประพาสยุโรป ร.ศ.116 ของ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นการดำเนินพระราชกิจที่จะช่วยให้เกิดความปลอดภัยแก่ชาติ ดังคำปฏิญาณของพระองค์ก่อนเสด็จประพาสว่า 

“การที่ข้าพเจ้าคิดจะไปประเทศยุโรป ณ ครั้งนี้ ด้วยข้าพเจ้ามุ่งต่อความดีแห่งพระราชอาณาจักร” (คำนำในการพิมพ์ครั้งที่ 1 พ.ศ.2540)

หนังสือชุดนี้มีเรื่องการติดต่อต่างๆ กับประเทศที่เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยือน การเตรียมการก่อนการเสด็จประพาสหลายเรื่อง เช่น การแต่งตั้งที่ปรึกษาราชการแผ่นดิน การเตรียมเรือพระราชพาหนะ การเตรียมเครื่องแต่งกาย การเตรียมของที่ระลึก ฯลฯ

เอกสารจดหมายเหตุที่สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติคัดเลือกนำมาจัดพิมพ์ส่วนใหญ่เป็นพระราชโทรเลขที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีโต้ตอบกับสมเด็จพระศรีพัชรินทรา บรมราชินีนาถ ผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน รวมทั้งสิ้นกว่า 100 ฉบับ

กรมศิลปากร นำหนังสือเก่า-หายาก ร่วมงานมหกรรมหนังสือระดับชาติ ครั้งที่ 29 ประทับในเรือกอนโดลา

กรมศิลปากร นำหนังสือเก่า-หายาก ร่วมงานมหกรรมหนังสือระดับชาติ ครั้งที่ 29 ประทับรถม้าพระที่นั่งพร้อมด้วยเอมเปอเรอแห่งออสเตรีย

กรมศิลปากร นำหนังสือเก่า-หายาก ร่วมงานมหกรรมหนังสือระดับชาติ ครั้งที่ 29 ทรงฉายร่วมกับพระเจ้าซาร์นิโคลัส แห่งรัสเซีย ที่ตำหนักอเลกแซนเดรีย

นอกจากนี้ยังมี ประมวลภาพจดหมายเหตุ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จประพาสยุโรป ร.ศ.116 อาทิ

  • พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประทับในเรือกอนโดลา กับ ดุ๊กออฟเยนัว ที่เมืองเวนิซ ประเทศอิตาลี วันที่ 15 พฤษภาคม ร.ศ.116 (สะกดตามจดหมายเหตุ)
  • ประทับพร้อมด้วยเปรสิเดนท์และเคาน์ซิลแห่งเฟดเดอราล ที่ปาร์คเตโชวีฟ (Park de Sovieer) เมืองเยนีวา วันที่ 27 พฤษภาคม ร.ศ.116
  • พระเจ้าแผ่นดินอิตาลีทรงม้าในริ้วขบวนทหาร ที่กรุงโรม วันที่ 6 มิถุนายน ร.ศ.116
  • ประทับรถพระที่นั่งกับพระราชินีอิตาลี ทอดพระเนตรริ้วขบวนทหารที่กรุงโรม วันที่ 6 มิถุนายน ร.ศ.116
  • ประทับรถม้าพระที่นั่งพร้อมด้วยเอมเปอเรอแห่งออสเตรีย ที่พระราชวังเชินบรูน วันที่ 24 มิถุนายน ร.ศ.116
  • พระราชวังลาเซนกิ (Lazenki) ที่ประทับแรม เมืองวอร์ซอ ทรงฉายร่วมกับนายพลเรือ อาร์เซนเนียฟ (Arsenieff) สมุทราชองครักษ์ของพระเจ้าซาร์ และเจ้าชายโอโบเลนสกี้ (Obolenski) วันที่ 1 กรกฎาคม ร.ศ.116
  • ทรงฉายร่วมกับพระเจ้าซาร์นิโคลัส แห่งรัสเซีย ที่ตำหนักอเลกแซนเดรีย พระราชวังซาร์วิกเชโล ที่ประทับของเอมเปรสมาลีฟิโอ โคลอฟนา เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม ร.ศ.116 ฉายพระบรมรูปโดยแกรนดุ๊กไบกัล ช่างถ่ายรูปหลวงสำหรับราชสำนักกรุงสยาม และเขียนแต่งเติมที่เมืองอังกฤษ
  • ทรงฉายกับพระเจ้าซาร์นิโคลัสแห่งรัสเซีย ที่พระราชวังซาร์วิกเชโล ใกล้กรุงเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก เดือนกรกฎาคม ร.ศ.116

 

หนังสือ 'วัวในวัฒนธรรมไทย' จัดพิมพ์โดย กรมศิลปากร

กรมศิลปากร นำหนังสือเก่า-หายาก ร่วมงานมหกรรมหนังสือระดับชาติ ครั้งที่ 29

กรมศิลปากร ตระหนักถึงคุณค่าและความสำคัญของ ‘วัว’ ทั้งในฐานะองค์ความรู้ทางประวัติศาสตร์และจารีตประเพณีที่ควรเผยแพร่ในวงกว้าง จึงมอบหมายนางสาวรุ่งนภา สงวนศักดิ์ศรี นักอักษรศาสตร์ชำนาญการ กลุ่มจารีตประเพณี สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ ดำเนินการศึกษาค้นคว้าและจัดทำหนังสือเล่มนี้

หนังสือ 'วัวในวัฒนธรรมไทย' มีเนื้อหาว่าด้วยวัวในหลักฐานทางประวัติศาสตร์ไทย วัวในฐานะสัตว์ศักดิ์สิทธิ์ในศาสนาพราหมณ์และศาสนาพุทธ วัวในพระราชพิธี และวัวในวิถีชีวิตของคนไทย

นอกจากนี้ ยังมีหนังสือที่น่าสนใจอีกหลายเล่ม อาทิ เวตาลปกรณัม (จัดพิมพ์โดยสำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์), ศาลาไทยในต่างประเทศ (จัดพิมพ์โดยสำนักสถาปัตยกรรม), ช่างศิลป์ไทยเทิดไท้องค์ราชัน (จัดพิมพ์โดยสำนักช่างสิบหมู่), นิตยสารศิลปากร และสื่อสิ่งพิมพ์ เช่น โปสการ์ดภาพจดหมายเหตุ โปสการ์ดที่ระลึก

ขอเชิญผู้สนใจเยี่ยมชมและเลือกซื้อหนังสือได้ที่ 'ร้านหนังสือกรมศิลปากร' ภายใน งานมหกรรมหนังสือระดับชาติ ครั้งที่ 29 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ฮอลล์ 5 - 7 ชั้น LG บูธ H18 ระหว่างวันที่ 10 – 20 ตุลาคม 2567 เวลา 10.00 – 21.00 น.