ที่มาคำเรียกพระนาม ‘สมเด็จย่า’ น้อมรำลึกพระมหากรุณาธิคุณ 21 ตุลาคม
ท่านผู้หญิงบุตรี วีระไวทยะ เผยทำไมปีนี้นิทรรศการ “คิดถึงสมเด็จย่า” เนื่องในโอกาสวันคล้ายวันพระราชสมภพ 21 ตุลาคม นำเสนอเรื่องราว ตชด. และ พล.ต.อ.สมศักดิ์ บุบผาสุวรรณ เล่าที่มาคำเรียกพระนาม ‘สมเด็จย่า’
สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี พสกนิกรชาวไทยมักเอ่ยถึงพระองค์ท่านด้วยคำลำลองว่า สมเด็จย่า เป็นพระนามที่ปรากฏในการสนทนา ข้อเขียน และสื่อสิ่งพิมพ์ต่างๆ เป็นที่แพร่หลาย
แม้พระองค์ทรงเป็นพระบรมราชชนนีของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 8 รัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์
แต่คำว่า สมเด็จย่า เป็นที่เรียกขานก่อนพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 จะทรงมีพระราชนัดดาเสียอีก
สมเด็จย่า ทรงฉายพระรูปร่วมกับ ตชด.
พล.ต.อ. สมศักดิ์ บุบผาสุวรรณ อดีตรองผู้บัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน
พล.ต.อ.สมศักดิ์ บุบผาสุวรรณ อดีตรองผู้บัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน และอดีตผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 8 ผู้เคยถวายงานสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี เล่าถึงที่มาของคำเรียกขาน ‘สมเด็จย่า’ ก่อนถึงเวลาพิธีเปิด นิทรรศการ “คิดถึง...สมเด็จย่า ครั้งที่ 27 : ตชด. รฦก” ณ เจริญนคร ฮอลล์ ชั้น M ไอคอนสยาม เมื่อวันพุธที่ 16 ตุลาคม 2567 ไว้ว่า
“เริ่มจากปีพ.ศ.2507 สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีเสด็จพระราชดำเนินแปรพระราชฐานไปประทับแรมที่พระตำหนักภูพิงคราชนิเวศน์ (จังหวัดเชียงใหม่) ท่านอยากขึ้นไปดอยอินทนนท์ ตอนนั้นไม่มีถนน ต้องเดินเท้าขึ้นไป ท่านให้ ตชด. (ตำรวจตระเวนชายแดน) พาขึ้นดอยอินทนนท์ ต้องประทับแรมในเตนท์ที่บ้านผาหมอน 2 คืน ทำให้ทรงรู้จักการทำงานและชีวิต ตชด. หลังจากนั้นท่านทรงออกเยี่ยมฐาน ตชด."
วันหนึ่ง ผู้บังคับบัญชาไปตรวจฐานเพื่อเตรียมความพร้อมรับเสด็จ ถาม ตชด. ในฐาน รู้มั้ยใครจะเสด็จมา ตชด.ไม่รู้ราชาศัพท์ ก็อึ้งอยู่ แล้วบอกว่า ‘สมเด็จย่า’ จะมา คือใช้ความรู้สึกแบบคนธรรมดา นับถือว่าท่านมีอายุแล้ว
ผู้บังคับบัญชาก็นำเรื่องนี้มากราบทูลสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ว่า ตชด. เรียกท่านว่า ‘สมเด็จย่า’ ท่านชอบใจนะ ท่านก็บอกว่า ‘ดีสิ ฉันจะได้มีหลานเยอะๆ’ พระองค์ท่านทรงเป็นห่วง ทรงรัก ตชด. เหมือนลูกเหมือนหลาน หลังจากนั้น ตชด. ก็เลยเรียกท่านว่า ‘สมเด็จย่า’ มาตลอด และคำนี้ก็เผยแพร่ออกไปข้างนอกจนกระทั่งทุกวันนี้”
สมเด็จย่า ในฉลองพระองค์ตำรวจพลร่ม ทรงฉายที่พระตำหนักภูพิงคราชนิเวศน์
ต้นปีพ.ศ.2507 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ทรงเชิญ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี เสด็จฯ แปรพระราชฐานประทับแรมที่พระตำหนักภูพิงคราชนิเวศน์ ซึ่งสร้างเสร็จได้ประมาณปีเศษ เพื่อทรงพักพระราชอิริยาบทและทรงเยี่ยมราษฎร
พ.ศ.2507 จึงนับเป็นครั้งแรกที่สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีเสด็จประพาสหัวเมืองในประเทศไทย และทำให้ทรงรู้จักหน่วยงาน ตำรวจตระเวนชายแดน ทั้งในด้านการทำงานและชีวิตความเป็นอยู่ ขณะนั้นพระองค์ทรงมีพระชนมายุ 64 พรรษา
ในช่วงที่ ‘สมเด็จย่า’ เสด็จเยี่ยม ตชด. โดยเฮลิคอปเตอร์ ในพื้นที่ภาคเหนือ ทรงพบเห็นความยากลำบากทั้งของ ตชด. และราษฎรในพื้นที่
ในปีนั้น นอกจากได้ทรงขึ้นดอยอินทนนท์ตามที่ตั้งพระทัยไว้ การทอดพระเนตรความทุกข์ยากของราษฎร โดยเฉพาะความเจ็บไข้ได้ป่วย จึงเป็นที่มาของการจัดตั้งหน่วยแพทย์อาสาเคลื่อนที่ในพระองค์
โดยทรงจัดตั้งที่จังหวัดเชียงใหม่เป็นแห่งแรกในปี 2512 และพระราชทานนามว่า ‘หน่วยแพทย์อาสาสมเด็จพระราชชนนีศรีสังวาลย์’ อักษรย่อ พอ.สว. (ต่อมาจดทะเบียนชื่อเป็น มูลนิธิแพทย์อาสาสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี)
จากนั้น ตชด. ได้ถวายงานต่อเนื่องในการหาพื้นที่เป้าหมายสำหรับการออกหน่วยแพทย์อาสาฯ และจัดเฮลิคอปเตอร์รับส่งหมอ-พยาบาลอาสาไปยังพื้นที่เป้าหมาย เพื่อตรวจรักษาอาการเจ็บไข้ได้ป่วยของชาวบ้านในถิ่นทุรกันดารและพื้นที่ห่างไกลที่เข้าถึงยาก
คิดถึง...สมเด็จย่า ครั้งที่ 27 : ตชด. รฦก
“คิดถึง...สมเด็จย่า ครั้งที่ 27 : ตชด. รฦก” เป็นชื่อนิทรรศการซึ่งไอคอนสยาม, มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ และพันธมิตร จัดขึ้นเนื่องในโอกาส วันคล้ายวันพระราชสมภพ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี 21 ตุลาคม ประจำปี 2567
“สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีทรงเห็นว่า ความมั่นคงของประเทศ ความมั่นคงของมนุษย์ เป็นสิ่งสำคัญ และ ตชด. มีบทบาทสำคัญมากในเรื่องนี้ที่ต้องดูแลตะเข็บชายแดน เพราะตามเงื่อนไขและพันธะสัญญาระหว่างประเทศ ทหารอยู่ตรงชายแดนไม่ได้ รัฐบาลจึงตั้ง ตชด. ขึ้นมาเพื่อให้ดูตรงพื้นที่ที่ทหารไม่ควรเข้า ก็ให้ ตชด. ดำเนินงานอยู่ตามตะเข็บชายแดน"
ท่านผู้หญิงบุตรี วีระไวทยะ ประธานคณะกรรมการมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ ให้สัมภาษณ์ถึงการตัดสินใจนำเสนอเรื่องราวของ ตชด. ในนิทรรศการ “คิดถึงสมเด็จย่า ครั้งที่ 27” ปีนี้
“นิทรรศการนี้เราทำให้เห็นเหมือนเป็นบังเกอร์ของ ตชด. มองออกไปเห็นภูเขา เห็นชายแดน รวมทั้งจำลองห้องเรียนโรงเรียน ตชด.”
ของพระราชทานให้ ตชด. จากสมเด็จย่า
นอกจากนี้มีจัดแสดงสิ่งของที่ ‘สมเด็จย่า’ ทรงจัดเตรียมไปพระราชทานแก่เป็นขวัญกำลังใจแก่ ตชด. 3 สิ่งสำคัญคือ
- ธงชาติไทย
- พระพุทธรูปปางประทานพร จารึกพระปรมาภิไธยย่อ ภปร ประดับผ้าทิพย์
- พระบรมฉายาลักษณ์ รัชกาลที่ 9
นอกจากนี้ ในถุงพระราชทานยังมี ‘วิทยุทรานซิสเตอร์’ เพื่อให้ ตชด. ซึ่งปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่ห่างไกลได้รับฟังข่าวสารและความบันเทิงตามสมควร
ถุงพระราชทาน พระนามาภิไธยย่อ "ส"
รูปแบบการจัด นิทรรศการ "คิดถึงสมเด็จย่า ครั้งที่ 27" ยังคำนึงถึง ความยั่งยืน (Sustainability) โดยการนำ 'กล่องกระดาษ' มาเป็นวัสดุหลักในการนำเสนอนิทรรศการ
กล่องกระดาษเหล่านี้สามารถนำไปใช้ประโยชน์ตามวัตถุประสงค์ดั้งเดิมได้ตามปกติหลังรื้อถอนนิทรรศการ และทำให้นิทรรศการดูมีความคล้าย 'บังเกอร์' ตามที่ตั้งใจไว้
ท่านผู้หญิงบุตรี วีระไวทยะ ประธานคณะกรรมการมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ
“คิดถึงพระมหากรุณาธิคุณที่ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ทรงมีโดยตลอด พระเมตตาของท่านมีให้ทุกคน ตั้งแต่เด็กไปถึงผู้ใหญ่ ท่านไม่เคยเลือกปฏิบัติ ไม่เคยที่จะบ่น ไม่เคยได้ยินคำว่าเหนื่อยจากท่านเลย ทุกอย่างที่ทำไปเพื่อพสกนิกรของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทำเพื่อความอยู่รอดของคนที่อยู่ในประเทศไทย ความรักที่ท่านมีต่อพวกเรา เราถวายคืนโดยไม่คิดอะไรเลยด้วยใจจริง”
ท่านผู้หญิงบุตรี วีระไวทยะ กล่าวถึงความรู้สึกที่มีต่อชื่อนิทรรศการ “คิดถึงสมเด็จย่า”
โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน
การจำลองห้องเรียนของโรงเรียน ตชด. ในนิทรรศการฯ
ในอดีต เนื่องจากราษฎรตามตะเข็บชายแดนส่วนใหญ่เป็นชาวไทยภูเขา มีภาษาเป็นของตนเอง ไม่ได้พูดภาษาไทย เพื่อให้บรรลุความสำเร็จในภารกิจด้านความมั่นคงของประเทศ ตำรวจตระเวนชายแดนจึงได้จัดสร้าง โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน (โรงเรียน ตชด.) ขึ้นเพื่อให้สามารถสื่อสารกับประชาชนในพื้นที่
พล.ต.อ.สมศักดิ์ บุบผาสุวรรณ กล่าวว่า “ในเวลานั้น ราษฎรในพื้นที่ชายแดน ส่วนใหญ่เป็นชนกลุ่มน้อย พูดภาษาไทยไม่ได้เลย เพราะไม่เคยมีข้าราชการเข้าไป เมื่อตชด.เข้าไปทำงาน ก็สื่อสารกันไม่ได้
เริ่มแรกจึงต้องสอนให้เขาพูดภาษาไทยให้ได้ก่อน ต่อมาสอนอ่านเขียนเบื้องต้น แล้วจึงพัฒนามาเป็นโรงเรียนตชด. ครั้งแรกที่จังหวัดเชียงราย ปี 2499”
รัชกาลที่ 9 พระราชทานทรัพย์สร้างโรงเรียน ตชด. ในพระอุปถัมภ์โรงเรียนแรก คือ โรงเรียนเจ้าพ่อหลวงอุปถัมภ์ 1 และทรงสร้างต่อเนื่องเป็นลำดับอีก 9 แห่ง จนถึงโรงเรียนเจ้าพ่อหลวงอุปถัมภ์ 10 เมื่อ พ.ศ.2518
หลัง ‘สมเด็จย่า’ ทรงทราบ ตชด. ทำโรงเรียนเพื่อสอนคนกลุ่มน้อย พระองค์ท่านก็ได้พระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์เพื่อจัดตั้ง ‘โรงเรียน ตชด.’ อีกหลายแห่ง รวมทั้งยังทรงชักชวน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถในรัชกาลที่ 9 ให้มาทรงร่วมสร้างโรงเรียนด้วย
‘โรงเรียน ตชด.’ ที่รัชกาลที่ 9 พระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์มาให้สร้าง ใช้ชื่อว่า โรงเรียนเจ้าพ่อหลวงอุปถัมภ์ และโรงเรียนมหาราช
โรงเรียนที่ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระราชทานทรัพย์ให้สร้าง ใช้ชื่อว่า โรงเรียนเจ้าแม่หลวงอุปถัมภ์
ส่วนโรงเรียน ตชด. ที่ ‘สมเด็จย่า’ พระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์ให้สร้าง ใช้ชื่อว่า ‘โรงเรียนสังวาลย์วิท’ มีด้วยกัน 8 โรงเรียน แห่งสุดท้ายอยู่ที่เชียงราย สมเด็จย่าเสด็จฯ ไปทรงเปิดโรงเรียนด้วยพระองค์เองเมื่อปี 2534 และเป็นพระราชภารกิจสุดท้าย เพราะหลังจากนั้นพระองค์ทรงเริ่มมีพระอาการประชวร
สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง พระราชทานทรัพย์สร้างโรงเรียน ตชด. ในพระอุปถัมภ์โรงเรียนแรก คือ 'โรงเรียนเจ้าแม่หลวงอุปถัมภ์ 1' ต่อมาทรงสร้างโรงเรียนเพิ่มเติมอีก 1 แห่ง ในพ.ศ.2509
“ผมมีโอกาสไปสร้างโรงเรียนที่สมเด็จย่าพระราชทานทรัพย์มาให้ จำได้ว่าเป็นเงินสี่หมื่นบาท คือ ‘โรงเรียนสังวาลย์วิท 7’ ที่นครศรีธรรมราช เมื่อปี 2514 ผมลงไปควบคุมการก่อสร้าง” พล.ต.อ.สมศักดิ์ บุบผาสุวรรณ กล่าว
นอกจากนี้ยังมี โรงเรียน ตชด. ที่ชื่อโรงเรียนเป็นภาษาอังกฤษ ภาษาญี่ปุ่น ภาษาจีน เนื่องจากพระสหายของสมเด็จย่าซึ่งเป็นชาวต่างชาติเห็นความสำคัญของการศึกษา จึงร่วมมอบทุนทรัพย์สร้างโรงเรียน
พล.ต.อ. สมศักดิ์ บุบผาสุวรรณ และ ท่านผู้หญิงบุตรี
สมเด็จย่าทรงมีพระเมตตาและห่วงใย ‘ตำรวจตระเวนชายแดน’ มาโดยตลอด หลังทรงพระประชวร ทรงมีรับสั่งฝาก ตชด. ไว้กับสมเด็จพระเทพรัตนฯ (พระราชอิสริยยศขณะนั้น)
“สมเด็จพระเทพฯ ทรงเล่าให้ฟังเองภายหลัง คือในปี 2534 สมเด็จพระเทพฯ เสด็จไปเยี่ยมโรงเรียนตชด.ที่จังหวัดสงขลา ทรงเล่าให้ผู้บัญชาการ ตชด. ฟังว่า ก่อนมาสงขลา ได้ไปเฝ้าสมเด็จย่า ทรงฝากให้ดูแล ตชด. และโรงเรียนตชด. แทนสมเด็จย่าด้วย"
ถึงวันนี้ กรมสมเด็จพระเทพฯ เสด็จฯ ไปทรงเยี่ยมโรงเรียนตชด. และทรงติดตามผลการดำเนินโครงการพระราชดำริที่พระราชทานไว้ในโรงเรียนตชด. เกิน 1,101 ครั้งแล้ว”
น้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ ‘สมเด็จย่า’ เนื่องในวันคล้ายวันเสด็จพระราชสมภพ 21 ตุลาคม