4 เรือพระที่นั่ง ในพระราชพิธีถวายผ้าพระกฐินโดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารค

4 เรือพระที่นั่ง ในพระราชพิธีถวายผ้าพระกฐินโดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารค

ลวดลายประดับ - ความหมายชื่อ เรือพระที่นั่ง 4 องค์ ในขบวนเรือพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลถวายผ้าพระกฐิน โดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารค 27 ต.ค. เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ เรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ ๙, เรือพระที่นั่งอเนกชาติภุชงค์ เรือพระที่นั่งอนันตนาคราช

หนึ่งในวัฒนธรรมอันงดงามแห่งสายน้ำที่ถือเป็นมรดกอันล้ำค่าของประเทศไทย และหาชมที่อื่นไม่ได้ คือ ริ้วขบวนเรือพระราชพิธี ซึ่งจัดขึ้นสำหรับพระมหากษัตริย์เสด็จพระราชดำเนินไปในการต่างๆ ด้วยเส้นทางลำน้ำ

‘ริ้วขบวนเรือพระราชพิธี’ เป็นมรดกทางวัฒนธรรมและพระราชพิธีสำคัญที่สืบทอดตั้งแต่สมัยสุโขทัย กรุงศรีอยุธยา กรุงธนบุรี และกรุงรัตนโกสินทร์ สะท้อนวิถีชีวิตคนไทยที่ผูกพันกับสายน้ำมาตั้งแต่อดีต

4 เรือพระที่นั่ง ในพระราชพิธีถวายผ้าพระกฐินโดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารค ซ้อมฝีพายเรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ ๙ และเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์

โดยในปีพ.ศ.2567 นี้ พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมกำหนดการ ทรงบำเพ็ญพระราชกุศลถวายผ้าพระกฐิน โดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารค ในวันอาทิตย์ที่ 27 ตุลาคม 2567 ณ วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567

ในการนี้ ริ้วขบวนเรือพระราชพิธีฯ ประกอบด้วยเรือจำนวน 52 ลำ ใช้กำลังพลประจำเรือในขบวนเรือพระราชพิธี รวมทั้งสิ้น 2,200 นาย 

ริ้วกระบวนเรือพระราชพิธีฯ มีความยาว 1,280 เมตร กว้าง 90 เมตร จัดเป็น 5 ริ้ว 3 สาย ดังนี้

 

ริ้วสายกลาง 

ประกอบด้วยเรือพระที่นั่ง 4 ลำ โดย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ทรงพระกรุณาฯ ประทับ เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์

ทรงโปรดเกล้าฯ ให้ เรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ ๙ และ เรือพระที่นั่งอเนกชาติภุชงค์ เป็นเรือพระที่นั่งรอง

และทรงโปรดเกล้าฯ ให้ เรือพระที่นั่งอนันตนาคราช เป็นเรือเชิญผ้าพระกฐิน 

การเรียงลำดับเรือริ้วสายกลาง เริ่มด้วย เรืออีเหลือง (เรือกลองนอก) เรือตำรวจ 1(นอก) เรือตำรวจ 2 (ใน) เรือพระที่นั่งอนันตนาคราช  เรือแตงโม(เรือกลองใน) เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ เรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ ๙ เรือพระที่นั่งอเนกชาติภุชงค์ เรือตำรวจ 3(กรมวัง) ปิดท้าย ‘ริ้วสายกลาง’ ด้วย 'เรือแซง'

 

ริ้วสายใน

4 เรือพระที่นั่ง ในพระราชพิธีถวายผ้าพระกฐินโดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารค เรือรูปสัตว์ใน 'ริ้วสายใน'

คือเรือซึ่งขนาบข้างสายเรือพระที่นั่ง (ริ้วสายกลาง) ริ้วสายในจึงมีด้วยกัน 2 สาย ประกอบด้วย เรือคู่หน้าสุดคือเรือทองขวานฟ้าและเรือทองบ้าบิ่น เป็นเรือประตูหน้า, คู่ถัดมาคือเรือเสือทยานชลและเรือเสือคำรณสินธุ์เป็นเรือพิฆาต

ต่อด้วยเรือรูปสัตว์ 8 ลำ เรียงลำดับเป็น 4 คู่ ดังนี้ เรืออสุรวายุภักษ์และเรืออสุรปักษี เรือกระบี่ปราบเมืองมารและเรือกระบี่ราญรอนราพณ์  เรือพาลีรั้งทวีปและเรือสุครีพครองเมือง เรือครุฑเหินเห็จและเรือครุฑเตร็จไตรจักร

ปิดท้ายริ้วสายในด้วย เรือเอกไชยเหินหาว และ เรือเอกไชยหลาวทอง ซึ่งเป็นเรือคู่ชัก

 

ริ้วสายนอก 

มีด้วยกัน 2 สายเช่นกัน แต่ละสายประกอบด้วย เรือดั้ง 11 ลำ และ เรือแซง 3 ลำ 

เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์

4 เรือพระที่นั่ง ในพระราชพิธีถวายผ้าพระกฐินโดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารค

เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ เป็นเรือพระที่นั่งชั้นสูงสุด ซึ่งเป็นที่ประทับของพระมหากษัตริย์และพระบรมราชินี ตั้งชื่อตามเรือพระที่นั่งโบราณของ ‘สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ’ สมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย คือ เรือศรีสุพรรณหงส์

ต่อมาในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ปรากฏชื่อเรือพระที่นั่งสุวรรณหงส์ ในสมัยรัชกาลที่ 1 และปรากฏชื่อเรือพระที่นั่งศรีสุพรรณหงส์ในสมัยรัชกาลที่ 3

เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์องค์ปัจจุบันสร้างขึ้นใหม่ในปลายรัชสมัยรัชกาลที่ 5 โปรดเกล้าฯ ให้สร้างแทนลำเดิมที่สร้างในสมัยรัชกาลที่ 1 มาแล้วเสร็จในสมัยรัชกาลที่ 6 เมื่อพ.ศ.2454 โดยหัวเรือพระที่นั่งมีโขนเรือแกะสลักเป็นรูปหัวของหงส์ 

4 เรือพระที่นั่ง ในพระราชพิธีถวายผ้าพระกฐินโดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารค บริเวณดวงตาของเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ 

บริเวณตาหงส์ ประดับลายกระจัง ไส้ลายทำเป็นลูกตาประดับกระจกสีขาว ใจกลางสีดำ

ลำคอหงส์ ประดับลายดอกซีก นำมาซ้อนเรียงต่อกันเป็นเหมือนขนของหงส์ การวางลายเหมือนลายกระเบื้องปั้นเกร็ด คือมีลักษณะซ้อนทับกันลงมา (ดอกซีกซ้อนชั้น มีลักษณะถ่ายทอดมาตั้งแต่สมัยสุโขทัยเรื่อยมา)

ด้านข้างหัวเรือ ประดับลายเถาก้านขด 2 วง โดยแกะลายเป็นลายก้านขดหงส์ คาบบนด้านมีหัวหงส์คาบลายประกอบ

4 เรือพระที่นั่ง ในพระราชพิธีถวายผ้าพระกฐินโดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารค เหนือรัดอก

4 เรือพระที่นั่ง ในพระราชพิธีถวายผ้าพระกฐินโดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารค รัดอกด้านหน้า

ส่วนเชื่อมต่อโครงสร้างเรือและหัวหงส์ เรียก เหนือรัดอก เป็นลายกาบกนกรัตน์ ไส้ลายประดับกระจกสีแดงและสีเขียว ขณะที่ รัดอกด้านหน้า ออกแบบเป็นลายประจำยามดอกใหญ่, รัดอกด้านใน เป็นลายประจำยามรักร้อย ประดับกระจกแดงและเขียว มีเส้นลาดคั่นขอบนอกของเส้นลวด ประดับกระจกแดง

รัดอกชั้นนอกสุด เป็นลายกระจังรวน ไส้ลายประดับกระจกสีเขียว ช่องไฟด้านหลังประดับกระจกสีน้ำเงิน

4 เรือพระที่นั่ง ในพระราชพิธีถวายผ้าพระกฐินโดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารค

ลำตัวเรือทอดยาวคือส่วนตัวหงส์ จำหลักไม้ลงรักปิดทองประดับกระจก มีพู่ห้อย ปลายพู่เป็นแก้วผลึก 

ท้องเรือทาสีแดง ตอนกลางลำเรือมีที่ประทับเรียก ราชบัลลังก์กัญญา สำหรับพระเจ้าอยู่หัวหรือพระราชวงศ์ชั้นสูง 

เรือมีความยาว 46.15 เมตร กว้าง 3.17 เมตร ลึกจนถึงท้องเรือ 94 เซนติเมตร กินน้ำลึก 41 เซนติเมตร น้ำหนัก 15 ตัน

ใช้กำลังพลประกอบด้วย ฝีพาย 50 คน นายเรือ 2 คน นายท้าย 2 คน คนถือธงท้าย 1 คน พลสัญญาณ 1 คน คนถือฉัตร 7 คน คนขานยาว 1 คน คนขานยาวทำหน้าที่ในการร้องขานเพลงเรือโดยฝีพายจะร้องเห่เรือพร้อมกันไปตามจังหวะร่วมกับเรือลำอื่นๆ

4 เรือพระที่นั่ง ในพระราชพิธีถวายผ้าพระกฐินโดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารค ซ้อมใหญ่เสมือนจริง ครั้งที่ 2 ขบวนพยุหยาตราทางชลมารคเนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 ท่ามกลางสายฝนที่ตกลงมาอย่างหนักเมื่อวันที่ 22 ต.ค.2567 เวลา 15.00 น.
 

เครื่องแต่งกาย นายเรือ สวมเสื้อผ้าโหมดเทศสีฟ้า นุ่งโจงกระเบนผ้าม่วงเชิง สวมหมวกทรงประพาส คาดเข็มขัดภู่ไหมแดงและสายกระบี่แถบทองเล็ก สวมถุงเท้ายาวสีขาวและรองเท้าหนังสีดำ

เครื่องแต่งกาย นายท้าย สวมเสื้อผ้าโหมดเทศสีเขียว นุ่งโจงกระเบนผ้าเกี้ยวลายรัดประคดโหมดเทศ สวมหมวกทรงประพาสโหมดเทศยอดเกี้ยว สวมถุงเท้ายาวสีขาวและรองเท้าหนังสีดำ

เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ ได้รับรางวัลยกย่องให้เป็นเรือมรดกโลกจากองค์กร  World Ship Trust เมื่อพ.ศ. 2535

 

เรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ ๙

4 เรือพระที่นั่ง ในพระราชพิธีถวายผ้าพระกฐินโดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารค

นารายณ์ทรงสุบรรณ มีความหมายเดียวกันกับ พระวิษณุทรงครุฑ เนื่องจาก นารายณะ (ไทยเรียก นารายณ์) เป็นพระนามหนึ่งของพระวิษณุ ส่วน ‘สุบรรณ’ ก็เป็นชื่อเรียก ครุฑ หรือ พญาครุฑ พาหนะของพระวิษณุ

การเติมสร้อยว่า ‘รัชกาลที่ ๙’ เพื่อสื่อให้ประจักษ์ว่า เรือพระที่นั่งองค์นี้สร้างขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 เนื่องจากชื่อเรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณมีมาแล้วแต่ครั้งสมัยรัชกาลที่ 3 (พ.ศ. 2367 - 2394)

เรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ ๙  เป็นเรือพระที่นั่งองค์แรกที่สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 9 กองทัพเรือ โดยกรมทหารเรือ และกรมศิลปากร สร้างน้อมเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 เนื่องในพระราชพิธีกาญจนาภิเษก พ.ศ.2539 

พระนารายณ์ (หรือพระวิษณุ)  เป็นเทพแห่งการพิทักษ์รักษา ถือกำเนิดบนโลกมนุษย์ในรูปร่างต่างๆ เรียกว่า ‘อวตาร’ เชื่อกันว่าทรงแบ่งภาคลงมากำเนิดเป็นพระราชาได้ในทุกสถานที่และทุกกาลเวลา อาทิ พระราม ซึ่งพระมหากษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรีทุกพระองค์ทรงมีสมมติพระนามตามนามของพระราม คือ ‘รามา’ 

4 เรือพระที่นั่ง ในพระราชพิธีถวายผ้าพระกฐินโดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารค โขนเรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ ๙ 

โขนเรือสร้างด้วยไม้ ลงรักปิดทอง ประดับกระจก จำหลักเป็นรูป พระนารายณ์ 4 กร ทรงถือจักร สังข์ คทา และตรีศูล ประทับยืนบนหลัง ครุฑยุดนาค หรือครุฑที่จับนาค 2 ตัวชูขึ้น 

ตามคัมภีร์ปุราณะ ครุฑกับนาคเป็นศัตรูกัน แต่ทั้งสองก็รับใช้พระนารายณ์ ครุฑคือจ้าวแห่งนกทั้งหลาย เป็นสัญลักษณ์แห่งพลังของท้องฟ้า นาคเป็นสัญลักษณ์แห่งพลังของน้ำ

เมื่อพระนารายณ์อยู่เหนือครุฑและนาค ย่อมแสดงว่าพระองค์ทรงมีพลังในการพิทักษ์ปกป้องโลกทั้งมวล

4 เรือพระที่นั่ง ในพระราชพิธีถวายผ้าพระกฐินโดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารค ช่องปืนใหญ่

ลำเรือเป็นไม้แกะสลักลงรักปิดทอง ประดับกระจกตลอดทั้งลำเรือ ที่หัวเรือเบื้องใต้ครุฑเป็นช่องสำหรับปืนใหญ่ กลางลำเรือทอดบัลลังก์กัญญาและมีแท่นประทับ 

เรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ ๙  มีความยาว 44.30 เมตร กว้าง 3.20 เมตร ลึกถึงท้องเรือ 1.10 เมตร กินน้ำลึก 40 เซนติเมตร น้ำหนัก 20 ตัน 

ใช้กำลังพลประกอบด้วย ฝีพาย 50 คน นายเรือ 2 คน นายท้าย 2 คน คนถือธงท้าย 1 คน พลสัญญาณ 1 คน คนถือฉัตร 7 คน และคนเห่เรือ 1 คน

 

เรือพระที่นั่งอเนกชาติภุชงค์ 

4 เรือพระที่นั่ง ในพระราชพิธีถวายผ้าพระกฐินโดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารค

ชื่อ เรือพระที่นั่งอเนกชาติภุชงค์ มาจากคำภาษาสันสกฤตว่า อเนกะชาตะภุชงฺคะ แปลว่า งูหลากหลายชนิด ซึ่งสอดคล้องกับรูปโขนเรือที่ลงรักปิดทองมีลายรูปงูตัวเล็กๆ จำนวนมาก 

คำภาษาสันสกฤตคือ ภุชงฺคะ มีความหมายเดียวกันกับ ‘นาคะ’ นาคะหรือไทยเรียก ‘นาค’ เป็นเทพในฮินดูปกรณัมปรัมปรา บางครั้งก็ปรากฏในพระพุทธศาสนาด้วย 

นาคที่เป็นเทพหรือทิพยนาคเป็นตัวแทนแห่ง พลังอำนาจ ความรอบรู้ และความอุดมสมบูรณ์

4 เรือพระที่นั่ง ในพระราชพิธีถวายผ้าพระกฐินโดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารค ลายด้านหน้าเป็นลายนาคเกี้ยว โดยมีรูปพญานาคที่มีหัวเป็นมนุษย์ตัวเป็นนาค

4 เรือพระที่นั่ง ในพระราชพิธีถวายผ้าพระกฐินโดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารค ลายด้านข้างโขนเรือ ลายหน้ากระดานนาคเกี้ยวสองเถาวางเรียงซ้อนกัน

เรือพระที่นั่งอเนกชาติภุชงค์ สร้างขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระปิยมหาราช รัชกาลที่ 5 (พ.ศ. 2411 - 2453) 

ลำเรือภายนอกทาสีชมพู ท้องเรือภายในทาสีแดง หัวเรือลงรักปิดทองลายรดน้ำเป็นรูปนาคตัวเล็กๆ จำนวนมาก

ตอนกลางลำเรือมีราชบัลลังก์กัญญา ซึ่งเป็นที่ประทับเปลื้องเครื่องหรือเปลื้องพระชฎามหากฐินของพระเจ้าอยู่หัวก่อนเสด็จขึ้นหรือลงเรือพระที่นั่งอีกลำ 

4 เรือพระที่นั่ง ในพระราชพิธีถวายผ้าพระกฐินโดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารค กองทัพเรือ อัญเชิญเรือพระที่นั่งเอนกชาติภุชงค์ลงน้ำเพื่อเตรียมการจัดขบวนพยุหยาตราทางชลมารค เมื่อวันที่ 7 ก.ค. 2567

เรือมีความยาว 45.67 เมตร กว้าง 2.91 เมตร ลึกถึงท้องเรือ 91 เซนติเมตร กินน้ำลึก 46 เซนติเมตร น้ำหนัก 7.7 ตัน 

กำลังพลประกอบด้วย ฝีพาย 61 คน นายเรือ 2 คน นายท้าย 2 คน คนถือธงท้าย 1 คน พลสัญญาณ 1 คน คนถือฉัตร 7 คน คนขานยาว 1 คน คนขานยาวทำหน้าที่ในการร้องขานเพลงเรือ โดยฝีพายจะร้องเห่เรือพร้อมกันไปตามจังหวะร่วมกับเรือลำอื่นๆ

 

เรือพระที่นั่งอนันตนาคราช 

4 เรือพระที่นั่ง ในพระราชพิธีถวายผ้าพระกฐินโดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารค

เรือพระที่นั่งอนันตนาคราชลำแรกสร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 3 (พ.ศ.2367 - 2394) แต่เริ่มใช้ในกระบวนพยุหยาตราชลมารคในสมัยรัชกาลที่ 4 (พ.ศ.2394 - 2411) ปรากฏชื่อว่า เรือพระที่นั่งบัลลังก์อนันตนาคราช

เรือพระที่นั่งอนันตนาคราชองค์ปัจจุบันสร้างขึ้นใหม่ในสมัยรัชกาลที่ 6 (พ.ศ. 2453 - 2468) เริ่มใช้ครั้งแรกเมื่อวันที่ 14 เมษายน 2457

ชื่อ เรือพระที่นั่งอนันตนาคราช มาจากคำภาษาสันสกฤตว่า ‘อนนฺตนาคราชะ’ มาจากคำ 3 คำ คือ 

  • อนนฺตะ แปลว่า ไม่สิ้นสุด นิรันดร
  • นาคะ แปลว่า นาค หรือ งู
  • ราชะ แปลว่า เจ้านาย หรือพระราชา

ดังนั้น ‘อนนฺตนาคราชะ’ คำนี้จึงแปลได้ว่า อนันตะราชาแห่งนาคหรืองูทั้งหลาย ในฮินดูปกรณัมปรัมปรา อนันตะ หมายถึง งูเทพ หรือ งูทิพย์ ผู้มีพลังยิ่งใหญ่ รู้จักกันในชื่อ เศษะ หรือ อาทิเศษะ ผู้มีเศียรหนึ่งพัน และ (ประดับด้วย) อัญมณีหนึ่งพันที่ส่องประกายสว่างจ้าไปทุกหนแห่ง 

4 เรือพระที่นั่ง ในพระราชพิธีถวายผ้าพระกฐินโดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารค

คัมภีร์ปุราณะของอินเดียกล่าวว่า ‘อนันตะ’ อาศัยอยู่ลึกลงไปกว่าโลกบาดาลทั้ง 7 ชั้น และแบกโลกทั้งหมดไว้บนเศียร คราใดที่อนันตะหาว โลกก็สั่นไหว 

บางคัมภีร์อธิบายว่า ‘อนันตะ’ มีชื่ออีกอย่างว่า วาสุกิ (ไทยเรียกวาสุกรี) ซึ่งมีเจ็ดเศียรและอยู่ในโลกบาดาลชั้นที่ 7 อนันตะปกครองนาคทั้งหลาย 

ยังมีความเชื่ออีกว่า พญานาคเจ็ดเศียรบันดาลให้เกิดฝน ความเชื่อที่ว่าพระเจ้าแผ่นดินของไทยเป็นอวตารของพระวิษณุลงมาเกิดบนโลกมนุษย์ ดังนั้นพระองค์จึงควรมีเรือพระที่นั่งเป็นพญาอนันตนาคราชซึ่งสอดคล้องกับเรื่องราวที่ว่า พระวิษณุประทับบรรทมบนพญาอนันตนาคราชในช่วงกาลดับสลายและเริ่มต้นการสร้างโลกและจักรวาลขึ้นใหม่

4 เรือพระที่นั่ง ในพระราชพิธีถวายผ้าพระกฐินโดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารค การประดับโขนเรือพระที่นั่งอนันตนาคราช 

หัวเรือพระที่นั่งอนันตนาคราช จำหลักรูป พญานาคเจ็ดเศียร ลงรักปิดทองประดับกระจก ท้องเรือภายในทาสีแดง ภายนอกทาสีเขียว กลางลำเรือเป็นบุษบกประดิษฐานพระพุทธรูปหรือผ้าพระกฐิน 

เรือมีความยาว 44.85 เมตร กว้าง 2.58 เมตร ลึกถึงท้องเรือ 87 เซนติเมตร กินน้ำลึก 31 เซนติเมตร ใช้กำลังพลประกอบด้วย ฝีพาย 54 คน นายเรือ 2 คน นายท้าย 2 คน คนถือธงท้าย 1 คน พลสัญญาณ 1 คน คนถือฉัตร 7 คน คนถือบังสูรย์-พัดโบก-พระกลด 3 คน และคนเห่เรือ 1 คน

เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ  28 ก.ค.2567 ขอเชิญประชาชนเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทรับเสด็จและถวายพระพรชัยมงคล พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินไปทรงบำเพ็ญพระราชกุศลถวายผ้าพระกฐินโดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารค ในวันอาทิตย์ที่ 27 ต.ค.2567 ตลอดสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ตั้งแต่สะพานพระราม 8 ถึงวัดอรุณราชวรารามฯ
 

ภาพ: ศูนย์ภาพเนชั่น

อ้างอิง

  • พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เรือพระราชพิธี
  • กรมประชาสัมพันธ์
  • นิทรรศการสี สรรค์ สะท้อนศิลป์ เนื่องในพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลถวายผ้าพระกฐินโดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารค ณ วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร 27 ตุลาคม 2567