12 พรรณไม้เทิดพระเกียรติ กรมสมเด็จพระเทพรัตนฯ 70 พรรษา 2 เม.ย.68

12 พรรณไม้เทิดพระเกียรติ กรมสมเด็จพระเทพรัตนฯ 70 พรรษา 2 เม.ย.68

พระราชกรณียกิจและความผูกพันระหว่าง กรมสมเด็จพระเทพรัตนฯ กับพรรณไม้ ปรากฏเป็นชื่อพันธุ์ไม้พระนาม ชื่อพันธุ์ไม้พระราชทาน และต้นไม้ประจำพระองค์ มีแห่งเดียวในโลก

สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี  ทรงเจริญพระชนมายุครบ 70 พรรษา วันที่ 2 เมษายน 2568

นับเป็นเจ้านายพระองค์แรกที่ได้รับพระราชทานพระเกียรติยศที่ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า และยังทรงพระอิสริยยศ ‘กรมสมเด็จพระ’ และ ‘สยามบรมราชกุมารี’ ตามที่ได้รับพระราชทานจาก ‘พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร’ จากพระวิริยะอุตสาหะในการทรงศึกษาหาความรู้และบำเพ็ญพระราชกิจนานัปการ

12 พรรณไม้เทิดพระเกียรติ กรมสมเด็จพระเทพรัตนฯ 70 พรรษา 2 เม.ย.68

กรมสมเด็จพระเทพรัตนฯ ตามเสด็จพระบรมราชชนก ทรงงานอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ

12 พรรณไม้เทิดพระเกียรติ กรมสมเด็จพระเทพรัตนฯ 70 พรรษา 2 เม.ย.68

หนึ่งในพระราชกิจที่ กรมสมเด็จพระเทพรัตนฯ ทรงเจริญรอยตามพระบรมราชชนกเสมอมา  คือพระราชกรณียกิจด้านการอนุรักษ์พืชพรรณของประเทศไทยและแนวทางการพัฒนาพรรณไม้ด้วยนวัตกรรมเพื่อเพิ่มมูลค่าอย่างสร้างสรรค์

พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงมีสายพระเนตรกว้างและยาวไกล ทรงเห็นความสำคัญของ การอนุรักษ์พันธุกรรมพืช นับตั้งแต่ปีพ.ศ.2503 ทรงอนุรักษ์ ต้นยางนา ในปีพ.ศ.2504 และโปรดให้นำ พรรณไม้จากภูมิภาคต่างๆ มาปลูกไว้ในแปลงป่าสาธิต ‘สวนจิตรลดา’ เพื่อเป็นแหล่งศึกษา

ทั้งยังทรงโปรดให้มี การอนุรักษ์พันธุ์ไม้ในพระบรมมหาราชวัง ด้วยวิธีการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ พระราชทานโครงการพระราชดำริที่เกี่ยวกับการอนุรักษ์พัฒนาทรัพยากร พัฒนาแหล่งน้ำ การพัฒนาและการอนุรักษ์ดิน อนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ อันเป็นการพัฒนาและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ

12 พรรณไม้เทิดพระเกียรติ กรมสมเด็จพระเทพรัตนฯ 70 พรรษา 2 เม.ย.68 77 พรรษา กรมสมเด็จพระเทพรัตนฯ 2 เม.ย.2568

ต่อมาในเดือนมิถุนายน พ.ศ.2535 กรมสมเด็จพระเทพรัตนฯ ขณะทรงดำรงพระราชอิสริยยศ ‘สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี’ ได้ทรงสืบทอดพระราชปณิธาน ‘รักษาฐานทรัพยากรแผ่นดิน’ ของพระบรมราชชนก 

ทรงมีพระราชดำริให้ดำเนินการอนุรักษ์พืชพรรณของประเทศ โดยพระราชทานให้โครงการส่วนพระองค์ฯ สวนจิตรลดา เป็นผู้ดำเนินการจัดตั้ง ธนาคารพืชพรรณ สำหรับการเก็บรักษาพันธุกรรมพืชที่เป็นเมล็ดและเนื้อเยื่อ

อันเป็นจุดเริ่มต้นของการก่อตั้ง โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (อพ.สธ.) ในปีพ.ศ.2535 ซึ่งดำเนินงานต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน

กรมสมเด็จพระเทพรัตนฯ ทรงเป็นผู้นำในการส่งเสริมและพัฒนาพรรณไม้ต่างๆ ที่หายากและมีคุณค่าทางการแพทย์ รวมถึงการใช้พรรณไม้ในโครงการต่างๆ ที่ช่วยเสริมสร้างความยั่งยืนด้านเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประเทศชาติ  รวมถึงเพื่อให้ประชาชนทั่วไปได้เรียนรู้และนำไปต่อยอดสร้างสรรค์

12 พรรณไม้เทิดพระเกียรติ กรมสมเด็จพระเทพรัตนฯ 70 พรรษา 2 เม.ย.68

พระราชกรณียกิจและความผูกพันระหว่าง กรมสมเด็จพระเทพรัตนฯ กับ ‘พรรณไม้’ ปรากฏเป็นชื่อพันธุ์ไม้พระนามและชื่อพันธุ์ไม้พระราชทาน ต้นไม้ประจำพระองค์ จัดแสดงไว้ในนิทรรศการ “รัตนแห่งจุฬาฯ จากพรรณไม้ สู่นวัตกรรม เพื่อความยั่งยืน” ให้ประชาชนได้เข้าชมอย่างใกล้ชิด

ซึ่ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับบริษัทไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) และศูนย์การค้าสามย่านมิตรทาวน์ ร่วมกันจัดขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในโอกาสทรงเจริญพระชนมายุ 70 พรรษา 2 เมษายน 2568 

ต้นไม้ประจำพระองค์

จำปีสิรินธร

12 พรรณไม้เทิดพระเกียรติ กรมสมเด็จพระเทพรัตนฯ 70 พรรษา 2 เม.ย.68

พ.ศ.2543 ดร.ปิยะ เฉลิมกลิ่น นักวิชาการ 10 สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย ได้สำรวจพบพันธุ์ไม้ชนิดหนึ่งเป็นครั้งแรกในประเทศไทย เป็นพันธุ์ไม้วงศ์จำปา มีอยู่แห่งเดียวในโลกที่ป่าพรุน้ำจืด ตำบลซับจำปา อำเภอท่าหลวง จังหวัดลพบุรี 

จึงได้นำความกราบบังคมทูล พล.อ.หญิงสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และได้รับพระมหากรุณาธิคุณพระราชทานนามพันธุ์ไม้ชนิดนี้ให้ว่า จำปีสิรินธร และยังได้พระราชทานให้พันธุ์ไม้ 'จำปีสิรินธร' เป็นต้นไม้สัญลักษณ์ประจำโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า เพื่อความเป็นสิริมงคล

จำปีสิรินธรมีวิสัยเป็นไม้ต้นขนาดกลางถึงใหญ่ ลำต้นสูงประมาณ 20 – 30 เมตร ใบใหญ่กว่าจำปีทั่วไป ดอกสีขาวนวล กลีบดอก 12 -15 กลีบ มีกลิ่นหอมเฉพาะตัว สามารถนำมาร้อยเป็นพวงมาลัย ใช้เป็นยาสมุนไพรหรือสกัดเป็นน้ำมันหอมระเหยได้

ดอกบานระหว่างเดือนมิถุนายนถึงกรกฎาคม เมื่อดอกโรยจะมีเมล็ดเป็นช่ออยู่รวมเป็นกลุ่ม ปัจจุบันนำมาปลูกเป็นไม้ประดับ

 

ม่วงเทพรัตน์

12 พรรณไม้เทิดพระเกียรติ กรมสมเด็จพระเทพรัตนฯ 70 พรรษา 2 เม.ย.68

เมื่อวันที่ 27 มีนาคม พ.ศ.2551 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้พระราชทานพันธุ์พืชจำนวนหนึ่งให้ อพ.สธ. ดำเนินการขยายพันธุ์และเก็บรักษาพันธุ์โดยการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อตามศักยภาพ

พันธุ์พืชดังกล่าวเป็นพืชที่พระองค์ทรงได้รับจากการทูลเกล้าฯ ถวายในวันเสด็จเปิดงานนิทรรศการเทิดพระเกียรติฯ ณ ศูนย์ประชุมอุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี 

อพ.สธ. พบว่าในพืชหลายชนิดนั้น มีพืชชนิดหนึ่งที่สามารถขยายพันธุ์ต่อได้ดีและออกดอกในสภาพเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อได้สม่ำเสมอ 

พืชชนิดนั้นคือ Exacum affine Balf.f. ex Regel หรือ Persian Violet เป็นไม้ล้มลุกและเป็นพืชท้องถิ่นของเกาะ Socotra ในหมู่เกาะ Yemen ในมหาสมุทธอินเดีย ใบมีสีเขียวเข้ม รูปไข่ ยาวไม่เกิน 4 ซม.  ความสูงในสภาพธรรมชาติประมาณ 60 ซม. 

โดยทั่วไปออกดอกในช่วงหน้าร้อนและฤดูใบไม้ผลิ ดอกมีสีม่วงอมฟ้า รูปร่างของดอกเมื่อบานเต็มที่แล้วมีทรงคล้ายดาว มีเกสรตัวผู้สีเหลืองสามารถเห็นได้ชัดเจน มีกลิ่นหอมอ่อนๆ

อพ.สธ. เห็นศักยภาพในการผลิตพืชชนิดนี้เพื่อเป็นไม้ดอกไม้ประดับที่สามารถออกดอกได้แม้อยู่ในภาพเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ 

จึงได้จัดทำโครงการผลิตและจำหน่าย exacum เพื่อเฉลิมพระเกียรติเนื่องในวันคล้ายวันพระราชสมภพสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระชนมายุ 55 พรรษา พ.ศ.2553 

เป้าหมายในการจัดจำหน่าย คือ 155,555 ขวด ในราคาขวดละ 155 บาท และนำรายได้หลังจากหักค่าใช้จ่ายในการดำเนินการ  เพื่อเป็นทุนในการก่อตั้งมูลนิธิอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี 

อพ.สธ. จึงได้ขอพระราชทานชื่อ exacum จาก สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เพื่อเป็นให้เป็นที่เรียกขานเป็นชื่อสามัญเป็นภาษาไทย

สมเด็จพระเทพฯ พระราชทานนามให้ไม้ชนิดนี้ว่า ม่วงเทพรัตน์ ในวันที่ 29 กันยายน 2552

ต้นม่วงเทพรัตน์สามารถขยายพันธุ์โดยการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อและออกดอกในขวดสวยงาม ผู้ซื้อสามารถนำไปปลูกในสภาพธรรมชาติเพื่อเป็นไม้ประดับได้ต่อไป

ปัจจุบัน ‘ม่วงเทพรัตน์’ ยังเป็นสัญลักษณ์ประจำอาคารสมเด็จพระเทพรัตน์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดีอีกด้วย

 

ไอยริศ

12 พรรณไม้เทิดพระเกียรติ กรมสมเด็จพระเทพรัตนฯ 70 พรรษา 2 เม.ย.68

เป็นพรรณไม้ในวงศ์ขิง มีอยู่แห่งเดียวในโลกและเป็นพืชถิ่นเดียวของไทย จัดเป็นพืชหายาก โดยมีถิ่นกำเนิดบริเวณเขาหินปูน ในอำเภอหนองหิน จังหวัดเลย ค้นพบเมื่อปีพ.ศ.2550 โดย ดร.ปราโมทย์ ไตรบุญ นักวิจัยจากกรมวิชาการเกษตร (ในขณะสำรวจพบ)

ดร.ปราโมทย์ ไตรบุญ กราบบังคมทูลขอพระบรมราชานุญาตตั้งชื่อเป็นพรรณไม้ในพระนามของ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โดยตั้งชื่อส่วนของคำระบุชนิดว่า sirindhorniae เพื่อเทิดพระเกียรติฯ

ต่อมา กรมสมเด็จพระเทพรัตนฯ ทรงโปรดเกล้าฯ พระราชทานชื่อภาษาไทยว่า ไอยริศ เมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2553

ไอยริศ เป็นไม้ล้มลุกหลายฤดู ลำต้นเป็นเหง้ากลม ใบเดี่ยวปลายแหลมเรียงสลับระนาบเดียว ช่อดอกเป็นช่อเชิงลด เกิดที่ปลายลำต้นส่วนเหนือดิน กลีบดอกสีขาว โคนเชื่อมติดกันเป็นหลอด ปลายแยกเป็น 3 แฉกมีลักษณะคล้ายดอกไอริส (Iris) เกสรตัวผู้ที่เป็นหมัน จำนวน 5 เกสร เปลี่ยนรูปคล้ายกลีบดอกสีม่วงเข้มลายขาว

 

พรรณไม้เทิดพระเกียรติ

กุหลาบพระนามสิรินธร

12 พรรณไม้เทิดพระเกียรติ กรมสมเด็จพระเทพรัตนฯ 70 พรรษา 2 เม.ย.68

เป็นกุหลาบพันธุ์ใหม่ กลายพันธุ์มาจากพันธุ์ Madras นับเป็นพรรณไม้หายาก เพราะเป็นกุหลาบพุ่มชนิดดอกโต สีชมพูเหลืองเหลือบ กลีบซ้อนแน่น ส่งกลิ่นหอมอ่อนๆ มีความสวยงามโดดเด่น

เจ้าของฟาร์มผู้ค้นพบสายพันธุ์ได้ขอพระราชทานนามกุหลาบพันธุ์นี้ว่า พระนามสิรินธร เมื่อได้รับพระราชทานพระราชานุญาตแล้วจึงจดทะเบียนชื่อภาษาอังกฤษว่า Princess Maha Chakri Sirindhorn

 

เครือเทพรัตน์

12 พรรณไม้เทิดพระเกียรติ กรมสมเด็จพระเทพรัตนฯ 70 พรรษา 2 เม.ย.68

เป็นไม้เถาเนื้อแข็ง ใบรูปฝ่ามือ 3-5 พู ขอบจักฟันเลื่อย ดอกช่อห้อยลง สีเหลืองครีมแต้มแดง กลีบดอก 5 กลีบ ปลายพับงอ เป็นพืชถิ่นเดียวของไทย พบเฉพาะในภาคเหนือ ที่จังหวัดตากและเชียงใหม่ ขึ้นตามหุบเขาลาดชัน ใกล้ลำธารในป่าดิบแล้งที่มีความสูง 300 – 700 เมตร

ชื่อสกุลตั้งตามพระนามาภิไธย โดยสกุลนี้มีเพียงชนิดเดียว

 

ช้องเจ้าฟ้า

12 พรรณไม้เทิดพระเกียรติ กรมสมเด็จพระเทพรัตนฯ 70 พรรษา 2 เม.ย.68

เป็นพันธุ์ไม้ชนิดใหม่ของโลก พบที่เขาหินปูนดอยหัวหมด อำเภออุ้มผาง จังหวัดตาก มีลักษณะเป็นไม้ต้นทรงสวยงาม เปลือกสีเทา หนา 

ชนิดนี้มีรังไข่ 2 ช่อง ต่างจากพืชสกุลช้องทั่วไปที่รังไข่มี 3 ช่อง มีการกระจายพันธุ์ห่างๆ ตั้งแต่ดอยเชียงดาว เชียงใหม่ ถึงแจ้ซ้อน ลำปาง ดอยหัวหมด ตาก และ ด่านเจดีย์สามองค์ กาญจนบุรี

คำระบุชนิด ‘sirindhorniana’ ตั้งขึ้นเพื่อเทิดพระเกียรติ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

 

ชมพูสิริน หรือ เทียนสิรินธร

12 พรรณไม้เทิดพระเกียรติ กรมสมเด็จพระเทพรัตนฯ 70 พรรษา 2 เม.ย.68

จัดอยู่ในวงศ์เทียน (Balsaminaceae)  เป็นพืชถิ่นเดียวและหายากของไทย มีเขตการกระจายพันธุ์ทางภาคใต้ พบเฉพาะตามหน้าผาหินปูนในจังหวัดกระบี่และสุราษฎร์ธานี

วิสัยเป็นไม้ล้มลุกหลายฤดู ลำต้นเกาะเลื้อย มักห้อยลง แผ่นใบหนา ดอกสีชมพูอมม่วง กลีบปากเป็นถุงโค้งเรียวยาวเป็นเดือย กลีบดอกกลีบกลางรูปไข่กลับ กลีบปีกคู่ในยาวเท่าๆ คู่นอก ออกดอกเดือนพฤษภาคม-พฤศจิกายน

คำระบุชนิด ‘sirindhorniae’ ตั้งเพื่อเทิดพระเกียรติ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และพระองค์ได้พระราชทานชื่อภาษาไทยว่า ชมพูสิริน

 

รักตสิริน

12 พรรณไม้เทิดพระเกียรติ กรมสมเด็จพระเทพรัตนฯ 70 พรรษา 2 เม.ย.68

เป็นกล้วยไม้ในสกุลหวาย (Dendrobium) ซึ่งเป็นกล้วยไม้สกุลใหญ่ที่สุด ดอกสีแดงกำมะหยี่ ขอบสีขาว มีสีสดสวยงาม

สวนกล้วยไม้แอร์ออร์คิด จังหวัดนครปฐม เป็นผู้ผสมและพัฒนาสายพันธุ์จากกล้วยไม้สายพันธุ์ Dendrobium Thailand เป็นพ่อพันธุ์ ผสมกับแม่พันธุ์ Dendrobium Airy Red Bull เหมาะกับการใช้เป็นไม้ดอกตัดก้านที่มีอายุการใช้งานยาวนาน

ต่อมาได้ขอพระราชทานชื่อกล้วยไม้ใหม่ชนิดนี้ และได้รับพระมหากรุณาธิคุณจาก สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในปีพ.ศ.2557 พระราชทานชื่อกล้วยไม้ลูกผสมใหม่ชนิดนี้ว่า รักตสิริน

 

สิรินธรวัลลี หรหือ สามสิบสองประดง

12 พรรณไม้เทิดพระเกียรติ กรมสมเด็จพระเทพรัตนฯ 70 พรรษา 2 เม.ย.68

เป็นพืชถิ่นเดียวหายาก พบเฉพาะในภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนของไทย คือที่จังหวัดหนองคาย มีวิสัยเป็นไม้เลื้อยมีมือเกาะ ออกดอกและติดผลช่วงมิถุนายน-กันยายน

ช่อดอกแน่นเป็นกระจุก มีขนสีน้ำตาลแดงปกคลุม กลีบดอกสีเหลืองหรือส้มแดง ลักษณะเด่นคือกลีบเลี้ยงห่อคล้ายกาบ ทำให้กลีบดอกไม่สามารถกางออกได้เต็มที่ แตกต่างจากพืชในสกุลเสี้ยว (Bauhinia) อื่นอย่างมาก

ค้นพบครั้งแรกเมื่อปีพ.ศ.2538 และได้รับการยืนยันว่าเป็นพืชชนิดใหม่ของโลก จึงขอพระราชทานพระราชานุญาตอัญเชิญพระนามาภิไธย เพื่อเฉลิมพระเกียรติที่ทรงสนพระทัยและทรงให้การสนับสนุนงานด้านพฤกษศาสตร์มาโดยตลอด

โดยตั้งชื่อพรรณไม้นี้ว่า สิรินธรวัลลี ซึ่งมีความหมายว่า “วัลยชาติแห่งองค์สมเด็จพระเทพฯ” ปัจจุบันมีการขยายพันธุ์เพื่ออนุรักษ์ในสวนพฤกษศาสตร์ สามารถนำมาใช้เป็นไม้ประดับ รวมถึงมีสรรพคุณทางสมุนไพร

 

เอื้องศรีอาคเนย์

12 พรรณไม้เทิดพระเกียรติ กรมสมเด็จพระเทพรัตนฯ 70 พรรษา 2 เม.ย.68

เป็นกล้วยไม้ขึ้นบนพื้นดินหรือหินปูน ส่วนมากมีใบเดียวออกที่โคนต้น ตรงกับคำระบุชนิดว่า monophylla ที่แปลว่า “หนึ่งใบ” แผ่นใบมีปื้นสีเข้มกระจาย ด้านล่างมีสีม่วง

ดอกสีชมพูอมม่วง กลีบปากคล้ายรูปสามเหลี่ยม มี 3 พูตื้นๆ มีปื้นสีม่วง ดอกพลิกกลับ โคนดอกมีเดือยเรียว ยาวเท่าๆ กลีบปาก

สกุล sirindhornia เป็นกล้วยไม้สกุลใหม่ของโลก แยกมาจากสกุล habenaria มีทั้งหมด 3 ชนิด โดย เอื้องศรีอาคเนย์ เป็นชนิดที่พบได้ในมณฑลยูนนาน ประเทศจีน และประเทศอินโดนีเซีย 

ชื่อสกุลตั้งเพื่อเทิดพระเกียรติ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี  ส่วนอีก 2 ชนิด คือ เอื้องศรีเชียงดาว และ เอื้องศรีประจิม 

 

เอื้องศรีเชียงดาว

12 พรรณไม้เทิดพระเกียรติ กรมสมเด็จพระเทพรัตนฯ 70 พรรษา 2 เม.ย.68

เป็นพืชถิ่นเดียว พบที่ดอยเชียงดาวจังหวัดเชียงใหม่ประเทศไทยเท่านั้น เอื้องศรีเชียงดาว มีดอกสีชมพูประสีชมพูเข้ม กลีบข้างเป็นสีชมพูแกมขาว แผ่คล้ายหู ค่อนข้างกลม สีเขียวแกมชมพู กลีบปากมีจุดประสีแดง หรือสีออกแดงแกมชมพู บานช่วงเดือนเมษายน-มิถุนายน

ดอกที่มีลักษณะสวยงามนี้ เป็นที่มาของคำระบุชนิดว่า puchella ในภาษาละตินแปลว่า “สวยงาม”

 

เอื้องศรีประจิม

12 พรรณไม้เทิดพระเกียรติ กรมสมเด็จพระเทพรัตนฯ 70 พรรษา 2 เม.ย.68

กล้วยไม้ดิน พืชถิ่นเดียวของประเทศไทย พบที่ดอยหัวหมด จังหวัดตาก ใบมีจุดประสีแดงอมม่วงทั้งใบ ดอกสีชมพู กลีบข้างแผ่ออกสีอมเขียว กลีบปากสีชมพูแกมชมพูอ่อน ส่วนโคนแผ่เป็นปีก ส่วนกลางคอดแล้วแผ่เป็นหยักเว้า 2 พู โคนเป็นหลอดงอ ดอกบานช่วงเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน

ลักษณะแปลกตาเช่นนี้จึงเป็นที่มาของคำระบุชนิด mirabilis ในภาษาละตินหมายความว่า “มหัศจรรย์” หรือ “น่าทึ่ง”

 

อ้างอิง - ภาพ

  • “รัตนแห่งจุฬาฯ จากพรรณไม้ สู่นวัตกรรม” นิทรรศการเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ในโอกาสทรงเจริญพระชนมายุ 70 พรรษา พ.ศ.2568 ระหว่างวันที่ 28 มีนาคม ถึง 3 เมษายน 2568 ณ ลานกิจกรรม ชั้น G ศูนย์การค้าสามย่านมิตรทาวน์ 
  • โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
  • หนังสือทรัพยากรไทย ศักยภาพมากล้นมีให้เห็น
  • กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช
  • ศูนย์องค์ความรู้ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
  • หมอชาวบ้าน