ถอดแนวคิด “ศรัณญ อยู่คงดี” กับ จุดแข็งวงการจิวเวลรีไทย

ถอดแนวคิด “ศรัณญ อยู่คงดี” กับ จุดแข็งวงการจิวเวลรีไทย

ชวน “ศรัณญ อยู่คงดี” เจ้าของแบรนด์ “SARRAN” พูดคุยถึงทิศทางและจุดแข็งของอุตสาหกรรมเครื่องประดับไทย พร้อมเปิดคอลเล็กชันใหม่ที่สะท้อนแนวคิดการอยู่ร่วมกันโดยจะไม่ทิ้งใครไว้ด้านหลัง โดยได้ “คริสติน่า อากีล่าร์” นักร้องตัวแม่เป็นพรีเซนเตอร์

ศรัณญ อยู่คงดี ศิลปิน นักออกแบบเครื่องประดับ เจ้าของแบรนด์ SARRAN เปิดตัวคอลเล็กชันใหม่ “RAMAYANA” ที่ได้รับแรงบันดาลใจมาจากวรรณคดีเรื่อง “รามายณะ” หรือที่หลายคนรู้จักกันอย่างดีในชื่อ “รามเกียรติ์” ในคอนเซ็ปต์ Art of Coexistence หรือ “ศิลปะเพื่อการอยู่ร่วม” พร้อมได้ “คริสติน่า อากีล่าร์” หรือ “ติ๊นา” ศิลปินตัวแม่ของไทยเป็นพรีเซนเตอร์

กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ ได้สัมภาษณ์พิเศษ กับเจาะลึกถึงที่มาและคอนเซ็ปต์ของคอลเล็กชันใหม่ล่าสุดนี้ พร้อมกับชวนคุยถึงอนาคตและจุดแข็งของวงการเครื่องประดับไทย

 

Q: อะไรคือเสน่ห์ของเครื่องประดับไทย หลังยอดส่งออกเครื่องประดับไทยกลับมาฟื้นตัวอีกครั้ง

ศรัณญ: จุดแข็งที่สุดของวงการเครื่องประดับไทยคือความคิดสร้างสรรค์ครับ งานฝีมือของเราสามารถทำให้ราคาสู้ต่างชาติได้อยู่แล้ว ผมไม่อยากให้มองคุณค่าทางธุรกิจเพียงอย่างเดียว แต่เรื่องราว แนวคิด ทัศนคติการทำแบรนด์ของดีไซเนอร์ไทยในปัจจุบัน มีความดรามาติก อีโรติก สตอรีเทลลิง ทุกอย่างผสานกันหมด มันสนุกมาก 

คนไทยเก่งมากในการใช้อารมณ์และความสุนทรีย์มาเล่าเรื่อง นี่คือจุดแข็งหลักที่ไม่ว่าใครก็สู้การเล่าเรื่องด้วยความธรรมชาติ ซึ่งหล่อหลอมมาตั้งแต่อดีต เรื่องพวกนี้มันเป็นเสน่ห์ที่ไม่มีใครสอนได้ ถึงแม้เขาจะเอาเรื่องของเราไปเล่าซ้ำ แต่เขาจะเป็นที่สองเสมอ

ถอดแนวคิด “ศรัณญ อยู่คงดี” กับ จุดแข็งวงการจิวเวลรีไทย

 

Q: เครื่องประดับไทยโบราณ เช่น อุบะ ทับทรวง รัดแขน สังวาล จะก้าวสู่สากลได้หรือไม่

ศรัณญ: ผมว่ามันเป็นสากลมาตั้งแต่แรก เพียงแต่เรามองข้ามและคิดว่ามันถูกจำกัดไว้กับคนกลุ่มหนึ่ง ถ้าเรามองว่าศิลปะควรเข้าไปอยู่ร่วมกับคนทุกชนชั้นได้ เพราะศิลปะมีหน้าที่ทำให้ชีวิตหรือความรู้สึกของคนดีขึ้น ดังนั้น นี่คือหน้าที่ของเราที่ต้องทำให้ศิลปะเข้าไปถึงคนทุกกลุ่ม ในสมัยก่อนศิลปะอาจถูกจำกัดด้วยขอบเขต แต่ตอนนี้ศิลปะเป็นของทุกคน

ถอดแนวคิด “ศรัณญ อยู่คงดี” กับ จุดแข็งวงการจิวเวลรีไทย

Q: Art to Wear ที่มักใช้เรียกผลงานแต่ละชิ้นคืออะไร

ศรัณญ: ตามความหมาย Art to Wear คือศิลปะที่สวมใส่ได้ เราทำงานศิลปะออกมา ในรูปแบบที่สามารถสวมและบ่งบอกได้ว่าเรากำลังครอบครองงานศิลปะชิ้นหนึ่ง เป็นส่วนหนึ่งของไลฟ์สไตล์และชีวิต งานศิลปะอาจจะไม่ได้เป็นการเฝ้ามองแล้วรู้สึกสวยอย่างเดียว แต่ศิลปะจะต้องสื่อสารหรือสะท้อนการเปลี่ยนแปลงอะไรบางอย่างกับสังคมได้ 

ผมมองว่า Art to Wear ในปัจจุบันคือศิลปะที่ผู้สวมใส่บอกอะไรบางอย่างที่ตัวเองคิด อยาก Call out กับสังคม หรือพูดอะไรที่อยู่ในใจของตัวเอง

ถอดแนวคิด “ศรัณญ อยู่คงดี” กับ จุดแข็งวงการจิวเวลรีไทย

 

Q: แรงบันดาลใจในออกแบบคอลเล็กชันล่าสุด

ศรัณญ: หัวใจหลักของคอลเล็กชันนี้ เราพูดถึง Art of Coexistence หรือ “ศิลปะเพื่อการอยู่ร่วม” เป็นการเดินหน้าไปพร้อมกัน โดยไม่ทิ้งใครไว้ด้านหลัง ผมได้แรงบันดาลใจจาก รามายณะ หรือ รามเกียรติ์ เพราะในรามายณะ ตัวละครผู้ชายเป็นตัวละครสำคัญที่ทำให้เรื่องดำเนินไปได้ แต่ในตัวละครผู้หญิงกลับถูกบรรยายไว้น้อยมาก ทั้งที่มีความเป็นไปของผู้หญิงที่ถูกซุกซ่อนอยู่ในจิตใจของผู้ชาย ถ้าไม่มีผู้หญิง เรื่องทั้งหมดก็ไม่เกิดขึ้น 

ดังนั้น ผู้ชายและผู้หญิงมีบทบาทเท่ากัน ฝ่ายผู้ชายอาจเป็นตัวขับเคลื่อน แต่ผู้หญิงเป็นตัวกล่อมเกลาที่แฝงอยู่กับผู้ชาย ความหมายของเรา ไม่ได้ให้ทุกคนมายืนอยู่แถวหน้า แต่การเป็นผู้นำที่ดีและผู้ตามที่ดีช่วยให้สังคมขับเคลื่อนได้ง่ายกว่า

รวมถึงเรื่อง LGBTQ+ และปัญหาสังคมที่ยังแก้ไขไม่ได้ ทั้งเรื่องการใช้ความรุนแรงกับผู้หญิง การทำร้ายร่างกาย การไม่เกียรติกับทุกเพศ ผมจึงอยากดึงบางเรื่องและสะท้อนออกมาในงาน

ถอดแนวคิด “ศรัณญ อยู่คงดี” กับ จุดแข็งวงการจิวเวลรีไทย

Q: นี่จึงเป็นสาเหตุที่ได้ คริสติน่า อากีล่าร์ มาเป็นพรีเซนเตอร์

ศรัณญ: ใช่ครับ แนวความคิดของเราคือการไม่ทิ้งกัน เราไปเจอเพลง “ประวัติศาสตร์” ที่เราฟังมาตั้งแต่เด็ก ยิ่งฟังยิ่งรู้สึกถึงความหมาย เราอยากให้ความหมายของการเดินทางร่วมกันชัดเจนมากยิ่งขึ้น เราเลยขอเชิญคุณติ๊นามาเป็นมิวส์ (Muse) ในฐานะเป็นเจ้าของเพลงและผู้ถ่ายทอดเพลงนี้ มันน่าจะทำให้ได้อะไรมากขึ้น

คุณติ๊นาให้มุมความคิดของผู้หญิงที่มีประสบการณ์การใช้ชีวิตมา ซึ่งบางอย่างเราไม่สามารถพูดแทนได้ เราเป็นผู้ชายที่เฝ้ามองผู้หญิง แต่คุณติ๊นาคือผู้หญิงที่เฝ้ามองโลกใบนี้ในมุมของผู้หญิง เพราะฉะนั้นการที่เราได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์กัน เราได้หยิบบางอย่างมาใช้ มันเลยสนุกที่เอามุมมองหรือทัศนคติการใช้ชีวิต การพูดเรื่องการเดินหน้าต่อ หรือตัวเพลงที่อยู่เหนือกาลเวลา มาตีความ

ผมว่า คนสมัยนี้เก่งเรื่องการหยิบทุกอย่างมาตีความ ถ้าเรามองเพลงในอดีตมันมีคุณค่าในปัจจุบัน เพราะสังคมอาจจะยังต้องการเพลงหรือบทความแบบนี้ในทุกช่วงเวลาโดยที่เราไม่รู้ตัว เราอาจจะมองเป็นความบันเทิง แต่มีประโยชน์ มีการพูดอะไรบางอย่างเพียงแต่เราอาจจะละเลยมันไป

ถอดแนวคิด “ศรัณญ อยู่คงดี” กับ จุดแข็งวงการจิวเวลรีไทย

 

Q: คอลเล็กชันนี้มีอะไรบ้าง

ศรัณญ: คอลเล็กชันนี้แบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือ Master of Art เป็นงานศิลปะที่เราทำสำหรับนักสะสมที่ซีเรียล นัมเบอร์ แต่สามารถสวมใส่ได้จริง

ส่วนที่ 2 คือ Precious of Art เราทดลองเล่นกับอัญมณีที่มีคุณค่าทางจิตใจ (precious stones) มากกว่ามูลค่าของหิน

ส่วนสุดท้ายเป็น Live of Art เราอยากให้งานศิลปะใช้ได้ในชีวิตประจำวัน ตื่นนอนมาแล้วอยากนำมาสวมใส่ให้ชีวิตสนุกยิ่งขึ้น ดังนั้น ทั้ง 3 ส่วนนี้จะเป็นอนาคตของแบรนด์ SARRAN ที่ทำให้เราสามารถพูดคุยกับลูกค้าได้ทุกกลุ่ม ต่อไปงานของเราจะไม่ได้เรียกว่าเครื่องประดับ แต่เป็น Art to Wear ที่บอกความเป็นตัวเองได้ผ่านงานศิลปะ

ถอดแนวคิด “ศรัณญ อยู่คงดี” กับ จุดแข็งวงการจิวเวลรีไทย

 

Q: ตอนนี้เทรนด์เสื้อผ้าแบบไม่ระบุเพศกำลังมา สำหรับเครื่องประดับแล้วยังมีกรอบเรื่องเพศอยู่หรือเปล่า

ศรัณญ: รามายณะอาจพูดถึงผู้ชายผู้หญิงอย่างชัดเจน แต่ในปัจจุบันผู้หญิงเป็นผู้นำได้ ผู้ชายเป็นผู้ตามได้ วันนี้เราไม่พูดถึงเพศสภาพ เมื่อจิตใจเราอยากจะเป็นผู้นำหรือพร้อมผู้ตาม พร้อมซัพพอร์ตกันและกัน เมื่อนั้นการสวมใส่ของทุกอย่างจะเป็นการสวมใส่เพื่อความรู้สึกของตนเองเป็นที่ตั้ง เราจะไม่สนใจว่าเราเป็นใคร 

ทุกคนเป็นมนุษย์เท่ากัน และมนุษย์ต้องได้รับเกียรติอย่างเท่าเทียมกัน เราไม่เคยมองเรื่องของเพศสภาพมาตั้งแต่แรก ทุกคนสามารถใส่งานของเราได้ ขอเพียงงานของเราสร้างความสุขได้ นั่นคือจุดประสงค์หลัก

ถอดแนวคิด “ศรัณญ อยู่คงดี” กับ จุดแข็งวงการจิวเวลรีไทย

 

Q: ก้าวต่อไปของวงการเครื่องประดับไทยและแบรนด์ SARRAN จะเป็นไปในทิศทางใด

ศรัณญ: แบรนด์ SARRAN จะทำงานศิลปะต่อไปเรื่อย ๆ และพูดถึงบทบาทหรือปัญหาในสังคม สำหรับผม หลังจากนี้งานแฟชั่นหรืองานศิลปะจะไม่ได้เป็นแค่สิ่งที่สวยงามอย่างเดียว แต่จะเป็นสิ่งที่บอกอะไรบางอย่างในตัวเราและสะท้อนเรื่องในสังคม งานศิลปะต้องช่วยเปลี่ยนแปลงทั้งตัวเรา สังคมและสิ่งแวดล้อมให้น่าอยู่ยิ่งขึ้น เพราะฉะนั้น การคอลเอาท์ผ่านการออกแบบของนักออกแบบจะเกิดขึ้นเรื่อย ๆ และนั่นคือจุดแข็งที่ทำให้แฟชั่นไทยมีหมุดหมายที่บอกได้ว่า เราเจ๋ง เรามีจุดเด่นด้านอะไร

ถอดแนวคิด “ศรัณญ อยู่คงดี” กับ จุดแข็งวงการจิวเวลรีไทย