อยากสวยต้องรู้! ทำ “หัตถการใบหน้า” แบบไหน? มีผลข้างเคียงมากกว่าที่คิด
ปัจจุบัน “หัตถการใบหน้า” เพื่อ “ความงาม” ได้รับความนิยมในกลุ่มหนุ่มสาวยุคใหม่ เพราะหลายคนต้องการสร้างความมั่นใจให้ตัวเองมากขึ้น แต่รู้หรือไม่? แม้การทำหัตถการจะเป็นแค่การฉีดสารต่างๆ เข้าผิวหน้า (ไม่ใช่การผ่าตัด) แต่นั่นก็มีผลข้างเคียงที่หลายคนไม่เคยรู้มาก่อน
โบท็อกซ์, เมโสแฟต, ฟิลเลอร์, เลเซอร์, HIFU ไปจนถึงการ “ดริปวิตามิน” หรือการฉีดวิตามินเข้าเส้นเลือดดำ แม้ว่าจะไม่ใช่การทำศัลยกรรม แต่ก็เป็นหัตถการใบหน้าเพื่อความงามที่ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายในปัจจุบัน เพราะราคาจับต้องได้ มีคลินิกและแพทย์ผิวหนังผู้เชี่ยวชาญมากมาย เรียกได้ว่าเป็นตัวเลือกลำดับต้นๆ สำหรับคนอยากสวยอยากหล่อแบบเร่งด่วนในราคาไม่แรงมาก อีกทั้งมีผลข้างเคียงหรือโอกาสผิดพลาดได้น้อยกว่าการทำศัลยกรรม และแม้ว่าจะเกิดข้อผิดพลาดก็สามารถแก้ไขได้ง่ายกว่าศัลยกรรม
แต่เดี๋ยวก่อน! ขึ้นชื่อว่าเป็นการฉีดสารแปลกปลอมเข้าร่างกาย แม้จะมีข้อดีก็ย่อมต้องมีข้อเสียหรือข้อควรระวังพ่วงมาด้วย เพราะแม้แต่ HIFU ที่ถือว่าเป็นหัตถการที่เกือบจะปลอดภัยที่สุด ก็ยังสามารถเกิดผลข้างเคียงร้ายแรงจนทำให้ผิวไหม้ได้เลยทีเดียว
ก่อนอื่นต้องทำความใจก่อนว่า “ศัลยกรรม” และ “หัตถการเพื่อความงาม” นั้น แตกต่างกัน ดังนี้
- ศัลยกรรม
เป็นการผ่าตัด ไม่ว่าจะนำออก เช่น กรีดไขมันบนชั้นตาออกเพื่อทำตาสองชั้น หรือ นำเข้า เช่น ผ่าตัดเสริมจมูก เสริมหน้าอก ที่จำเป็นต้องใส่ซิลิโคนหรือวัสดุแปลกปลอมเข้าไปในร่างกาย สำหรับเคสที่เป็นผ่าตัดใหญ่จำเป็นต้องดมยาสลบ
- หัตถการเพื่อความงาม
ทำด้วยฝีมือ เป็นงานที่เล็กกว่าผ่าตัด เช่น ร้อยไหม ฉีดโบท็อกซ์ ยิงเลเซอร์ ไม่จำเป็นต้องวางยาสลบ แต่จำเป็นต้องใช้แพทย์ที่มีฝีมือและชำนาญการสูง
แม้ว่าปัจจุบัน “หัตถการเพื่อความงาม” จะได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย เพราะช่วยปรับรูปหน้าและผิวหน้าให้ดูดีขึ้น ทำให้ใบหน้าดูอ่อนเยาว์ จึงช่วยเสริมสร้างความมั่นใจให้หนุ่มสาวหลายคนได้ แต่หัตถการเพื่อความงามแม้จะมีข้อดีแต่ก็มีผลข้างเคียงไม่น้อย หากทำบ่อยเกินไปหรือใช้บริการคลินิกหรือโรงพยาบาลที่ไม่ได้มาตรฐาน “กรุงเทพธุรกิจออนไลน์” รวบรวมผลข้างเคียงจากการทำหัตถการเพื่อความงามบางส่วน ดังนี้
- ผลข้างเคียงจากการฉีดโบท็อกซ์
ช่วงแรก “โบท็อกซ์” ใช้เพื่อการรักษาทางตา เช่น ตาเหล่ (Strabismus) หรือหนังตากระตุก (Blepharospasm) แล้วพบว่าทำให้ริ้วรอยบริเวณที่ฉีดลดลง ปัจจุบันจึงมีการใช้โบท็อกซ์เพื่อเสริมความงามเพิ่มเข้ามาด้วย เช่น ใช้รักษาเรื่องริ้วรอยที่เกิดจากการเคลื่อนไหว หรือการแสดงอารมณ์ ได้แก่ บริเวณระหว่างคิ้ว, หน้าผาก, หางตา, รอบปาก รวมถึงนำไปใช้ช่วยลดกราม (ลดหน้าเหลี่ยม) ช่วยให้ใบหน้าเรียวขึ้น แต่โบท็อกซ์ก็มีผลข้างเคียงหลักๆ ดังนี้
1. บริเวณริ้วรอยที่ใบหน้าหากฉีดมากเกินไป จะทำให้หน้าแข็งจนขยับใบหน้าและแสดงสีหน้าไม่ได้ รวมถึงบังคับกล้ามเนื้อบนใบหน้าไม่ได้
2. ริ้วรอยตรงหว่างคิ้ว หากฉีดเข้ามัดกล้ามเนื้อผิดจุดอาจจะทำให้โดนกล้ามเนื้อที่เปิดเปลือกตา ทำให้ไม่สามารถเปิดเปลือกตาได้ หรือเรียกว่าปัญหาเปลือกตาตก อาจเป็นข้างเดียวหรือสองข้างก็ได้ขึ้นอยู่กับความผิดพลาด
3. บริเวณใบหน้าหากฉีดไม่ทั่วถึง ไม่กระจายบริเวณหน้าผาก จะทำให้คิ้วยกขึ้น เหมือนคนยักคิ้วตลอดเวลา
4. หากฉีดบริเวณกรามผิดจุด ตัวยาจะกระจายไปโดนกล้ามเนื้อที่ทำหน้าที่ยกมุมปากทำให้มุมปากตกได้
5. การฉีดโบท็อกซ์ปลอมและการฉีดโบท็อกซ์มากเกินไปส่งผลให้เกิดการดื้อยา
6. หากดื้อยาแล้ว ในอนาคตหากจำเป็นต้องใช้ตัวยากลุ่มโบท็อกซ์รักษาโรคเกี่ยวกับกล้ามเนื้อก็จะไม่ได้ผล
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
สายโบท็อกซ์ต้องรู้! ฉีดบ่อยดื้อยาได้ เช็กดื้อยาไหมต้องตรวจเลือดเท่านั้น
- ผลข้างเคียงจากการฉีดเมโสแฟต
“เมโสแฟต” คือ ตัวยาลดไขมันส่วนเกินเพื่อกระชับสัดส่วน ประกอบด้วยสารยาที่มีคุณสมบัติเร่งการเผาผลาญไขมัน รวมถึงช่วยลดกระบวนการเกิดเซลล์ไขมันใหม่ เช่น แอลคาร์นิทีน (L-Carnitine) มีคุณสมบัติช่วยเปลี่ยนเซลล์ไขมันให้กลายเป็นพลังงาน รวมถึงสลายไขมันส่วนเกินใต้ผิวหนัง และ เมโสสตาบิล (Mesostabyl) ลดการเกิดเซลล์ไขมันใหม่และคอเลสเตอรอลในชั้นเนื้อเยื่อ เป็นต้น แต่ก็เช่นเดียวกับหัตถการเพื่อความงามอื่นๆ เมื่อมีข้อดีก็ต้องมีข้อควรระวัง ซึ่งผลข้างเคียงที่พบได้จากการฉีดเมโสแฟตมีดังนี้
1. หากใช้ตัวยาไม่มีประสิทธิภาพอาจทำให้ผิวเป็นคลื่น
2. หากเป็นผู้ที่มีไขมันเยอะ เวลาที่ไขมันลดลงอย่างรวดเร็วจะทำให้หน้าห้อย ตอบ และหย่อนคล้อย
- ผลข้างเคียงจากการฉีดฟิลเลอร์
การฉีด “ฟิลเลอร์” ช่วยเติมเต็มหรือเสริมให้ชั้นผิวหนังเต็มเต่งตึง ช่วยลดและแก้ไขปัญหาผิว ลดริ้วรอยร่องลึกใน บริเวณต่างๆ ของใบหน้า ให้กลับมาดูอ่อนเยาว์ กระชับ เปล่งปลั่ง มี Hyaluronic Acid (HA) เป็นส่วนประกอบหลัก และมีผลข้างเคียงดังนี้
1. หากฉีดตื้นเกินไปหรือผิดชั้นผิวหนัง จะทำให้ฟิลเลอร์มีโอกาสกลายเป็นก้อนได้
2. ติดเชื้อแบคทีเรียจากการฉีดฟิลเลอร์
3. ฟิลเลอร์สามารถอุดตันเส้นเลือดดำได้ และทำให้เนื้อเยื่อบริเวณดังกล่าวมีสีคล้ำ หากปล่อยไว้นานจะทำให้เนื้อเยื่อผิวหนังตาย
4. สิ่งที่น่ากลัวที่สุดคือการฉีดเข้าเส้นเลือดแดง ทำให้เกิดการอุดตันของเส้นเลือดแดงที่ตา เสี่ยงทำให้ตาบอด และหากรักษาไม่ทันจะทำให้ตาบอดถาวร นอกจากนี้หากไปอุดตันเส้นเลือดในสมอง จะทำให้มีอาการแบบ Stroke และการฉีดฟิลเลอร์ไม่ว่าจะบริเวณไหนมีความเสี่ยงโดนเส้นเลือดแดงได้หมด
- ผลข้างเคียงจากการดริปวิตามิน หรือ ฉีดวิตามินเข้าเส้นเลือด
วิตามินดริป (Vitamin Drip) เป็นการเสริมสุขภาพผิวผ่านการให้สารน้ำทางหลอดเลือดดำ ซึ่งมีส่วนผสมของยาหรือวิตามินบำรุงผิวประกอบอยู่ และยังเป็นทางเลือกแบบเร่งรัดในการกระตุ้นความกระจ่างใสให้ผิว แม้จะเป็นการเพิ่มวิตามินแต่ก็ยังมีผลข้างเคียงที่ต้องระวัง
1. อาจจะทำให้เกิดอาการแพ้แบบรุนแรงจนถึงขั้นเสียชีวิตได้ ขึ้นอยู่กับวิตามินแต่ละสูตรที่เลือกใช้
2. ส่งผลให้เกิดภาวะเม็ดเลือดแดงแตก
3. เสี่ยงทำให้เกิดภาวะเลือดเป็นกรด
- ผลข้างเคียงจากการทำ HIFU
การทำ “HIFU” หรือ High Intensity Focus Ultrasound คือการนำคลื่น Ultrasound ซึ่งเป็นคลื่นที่ปลอดภัยสูง นำมาใช้ในการยกกระชับใบหน้า โดยพลังงานที่ยิงจะลงลึกถึงโครงสร้างเนื้อเยื่อชั้นในที่มีหน้าที่ยึดโครงสร้างใบหน้า (SMAS) แม้จะมีผลลัพธ์ที่เห็นได้ชัดเจนโดยไม่ต้องรอนาน แต่การทำ HIFU ก็อาจมีผลข้างเคียงได้ เช่น
1. หากใช้พลังงานมากเกินไปอาจทำให้ผิวหน้าเบิร์นได้
2. บางส่วนของใบหน้าไม่สามารถทำได้เพราะเสี่ยงต่อการโดนเส้นประสาท
- ผลข้างเคียงจากการทำเลเซอร์ผิวหนัง
เลเซอร์ผิวหนัง (Laser Skin) เป็นการรักษาผิวหนังซึ่งช่วยปรับสภาพผิวให้ดีขึ้นด้วยเลเซอร์ โดยยิงแสงเลเซอร์ไปตรงบริเวณที่เกิดความผิดปกติ และลอกชั้นผิวหนังออกทีละชั้น เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า การกรอผิวด้วยแสงเลเซอร์ สำหรับผลข้างเคียงจะเกิดขึ้นจากการดูแลตัวเองหลังทำเลเซอร์เป็นส่วนใหญ่ ไม่ได้เกิดจากการทำเลเซอร์โดยตรง เช่น หลังทำแล้วไม่มีเวลาพักฟื้น ไม่เลี่ยงแสงแดด ไม่ทาครีมกันแดด จะส่งผลให้ผิวเบิร์น ผิวด่าง เป็นฝ้าและรอยดำ
สำหรับคนที่สนใจจะทำหัตถการเพื่อความงามนั้น ข้อมูลเป็นเรื่องสำคัญ นอกจากต้องหาข้อมูลจากสถานพยาบาลแล้ว ประวัติของแพทย์และรีวิวจากผู้ที่มาใช้บริการก็สำคัญ อีกทั้งผู้ที่อยากเสริมความงามด้วยหัตถการเหล่านี้ ก็ต้องยอมรับความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นด้วย เพราะไม่มีใครสามารถรับรองได้ว่าทำแล้วจะประสบความสำเร็จทุกเคส เพราะเคสที่เกิดความผิดพลาดหรือมีผลข้างเคียงรุนแรงนั้นก็ยังมีให้เห็นในทุกวันนี้
อ้างอิงข้อมูล : Linna Clinic, Sowon Group, HD Mall, พบแพทย์, รพ.ศครินทร์ และ รพ.พญาไท