ไขข้อสงสัย ทำไมเสื้อผ้า ‘แบรนด์เวียดนาม’ มาแรงแซงโค้ง ?
เทรนด์แฟชั่นที่มาแรงสุดๆ ในเวลานี้ คงหนีไม่พ้นเสื้อผ้า “แบรนด์เวียดนาม” หลากหลายสไตล์ มาพร้อมราคาที่เอื้อมถึง ศิลปินชื่อดังหันมาใส่กันเพียบ จนตีตลาดแฟชั่นได้หลายประเทศโดยเฉพาะในไทย บางคนลงทุนบินไปซื้อถึงโฮจิมินห์
Key Points:
- กระแสเสื้อผ้า “Fast Fashion” ยังคงได้รับความนิยมจากเหล่าบรรดาผู้ชื่นชอบการแต่งตัวและอัปเดตเทรนด์แฟชั่นสไตล์มาไวไปไว ในยุคปัจจุบัน เนื่องจากมีราคาสบายกระเป๋า มีสีสันและดีไซน์หลากหลาย ไม่ทำให้ผู้สวมใส่ตกกระแส
- เสื้อผ้า “แบรนด์เวียดนาม” ถือเป็นอีกหนึ่ง Fast Fashion ที่ได้รับความนิยมในหลายประเทศ จุดเริ่มต้นมาจากการที่ศิลปินดังหันมาสวมใส่เป็นจำนวนมาก และมีการทำตลาดบนโซเชียลมีเดีย
- ผลจากกระแสเสื้อผ้า Fast Fashion อันโด่งดัง ทำให้เวียดนามมีรายได้จากการส่งออกเสื้อผ้าและเครื่องนุ่งห่มเป็นจำนวนมาก ทั้งยังได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลอีกด้วย จนก้าวขึ้นมาอยู่แถวหน้าในวงการเสื้อผ้าแฟชั่น
ช่วงหนึ่งปีที่ผ่านมา เหล่าแฟชั่นนิสต้าอาจสังเกตเห็นว่าเหล่าศิลปิน ดารา หรือเซเลบริตี้ชื่อดังในหลายประเทศ นิยมสวมใส่เสื้อผ้าแฟชั่น “แบรนด์เวียดนาม” กันเป็นอย่างมาก ทั้งใส่ออกงาน ใส่ขึ้นแสดงบนเวที หรือใส่ถ่ายรูปลงโซเชียลมีเดีย แม้แต่ศิลปินเกิร์ลกรุ๊ประดับโลกอย่าง “BLACKPINK” ก็สวมใส่ขึ้นเวทีคอนเสิร์ตมาแล้ว
ด้วยความที่เสื้อผ้าเหล่านั้นมีดีไซน์ แปลกตา โดดเด่น ราคาไม่แพง อัปเดตตามเทรนด์แฟชั่นทันกระแสอยู่ตลอด และสามารถสวมใส่ได้หลายโอกาส ส่งผลให้คนไทยหลายคนเริ่มหันมาสนใจเสื้อผ้าแบรนด์เวียดนามกันมากขึ้น จนกลายเป็นเทรนด์ฮิต ถึงขนาดว่ามีการสั่งซื้อล่วงหน้าในแพลตฟอร์มช้อปปิ้งต่างๆ บนโลกออนไลน์ แม้กระทั่งบางคนยอมลงทุนบินไปเวียดนามแบบเช้าไป-เย็นกลับ เพื่อขนเสื้อผ้าเวียดนามกลับมาแบบเหมาๆ เลยก็มี
Lisa BLACKPINK ใส่ชุดแบรนด์ Fanci Club
ในทัวร์คอนเสิร์ต BORN PINK ที่ปารีส ฝรั่งเศส (IG : fanci.club)
ความจริงแล้วกระแส “แบรนด์เวียดนาม” ไม่ได้เพิ่งจะมาแรงในปีนี้ แต่อุตสาหกรรมสิ่งทอและแฟชั่นของ “เวียดนาม” เริ่มได้รับความสนใจตั้งแต่ปี 2017 โดยเฉพาะเสื้อผ้าแบบ “Fast Fashion” หรือ เสื้อผ้าตามกระแส ซื้อง่าย ขายเร็ว
- แบรนด์ “Fast Fashion” เคยบุกตลาดเวียดนามเมื่อ 7 ปีก่อน
ย้อนกลับไปในปี 2016 เสื้อผ้าสัญชาติอเมริกันแบรนด์ “Old Navy” ได้เปิดตัวสาขาแรกที่ศูนย์การค้าขนาดใหญ่ใจกลางเมืองโฮจิมินห์อย่าง Vincom บนถนน Dong Khoi ที่เรียกได้ว่าเป็นถนนสายแฟชั่นที่นักช้อปแวะเวียนไปเยือนเสมอ ต่อมาในปี 2017 แบรนด์แฟชั่นจากสวีเดน “H&M” ก็ได้เข้ามาเปิดสาขาแรกที่ห้างแห่งเดียวกัน ตามมาด้วย “Uniqlo” จากญี่ปุ่น
นอกจากนี้แบรนด์ที่เคยอยู่ในเวียดนามมาแล้วก่อนหน้านี้ เช่น Mango หรือ Topshop ต่างก็เริ่มขยายสาขาออกไปมากขึ้น ในขณะที่แบรนด์ Zara นั้น ไปเปิดสาขาใหม่ไกลถึงกรุงฮานอย
ห้างสรรพสินค้า Vincom (Sherwood Suites)
สิ่งที่ทำให้เสื้อผ้า Fast Fashion เหล่านี้สร้างยอดขายได้ดีในเวียดนาม ส่วนหนึ่งมาจาก ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมาเวียดนามเป็นประเทศที่แบรนด์ต่างชาตินิยมเข้ามาจ้างแรงงานผลิตสินค้าให้กับแบรนด์เหล่านั้น เพราะมีค่าจ้างค่อนข้างถูกหากเทียบกับประเทศอื่นในภูมิภาคเดียวกัน และฝีมือของแรงงานเวียดนามอยู่ในระดับที่ค่อนข้างได้มาตรฐาน
หลังจากนั้นผู้บริโภคชาวเวียดนามเองเริ่มมีรายได้เพิ่มมากขึ้น ทำให้หันมาสนใจแบรนด์เสื้อผ้ามากขึ้นตามไปด้วย โดยเฉพาะเสื้อผ้าแบบ “Fast Fashion” ซึ่งมีกลุ่มคนรุ่นใหม่เป็นฐานลูกค้าสำคัญ เพราะพวกเขามองว่าเสื้อผ้าเหล่านี้เป็นหนึ่งในสิ่งที่ใช้บ่งบอกสถานะทางสังคม และความทันสมัยเกาะกระแสโลกไม่แพ้ชาวตะวันตก
นอกจากนี้การเข้าถึงโซเชียลมีเดียแพลตฟอร์มต่างๆ ในสังคมเวียดนาม ก็มีส่วนกระตุ้นให้คนรุ่นใหม่สนใจซื้อเสื้อผ้า Fast Fashion มากขึ้น จะเห็นได้ว่าช่วงหลังๆ มานี้ เวียดนามมีอินฟลูเอนเซอร์จำนวนมากที่นิยมสวมใส่เสื้อผ้าแฟชั่นแล้วถ่ายรูปตามสถานที่สวยๆ มาลงโซเชียลมีเดีย ทำให้กระแสแฟชั่นในเวียดนามมีความตื่นตัวมากขึ้น (ส่วนหนึ่งมาจากการที่แบรนด์ส่งเสื้อผ้าไปให้อินฟลูเอนเซอร์ใส่โปรโมต)
Van Mai Huong ศิลปินชาวเวียดนาม
ใส่ชุดแบรนด์ Dao Minh Nhat (IG : daominhnhatdmn)
สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ นครโฮจิมินห์ เปิดเผยว่า ตั้งแต่ในปี 2016 “เวียดนาม” มีการเติบโตของเศรษฐกิจมากถึง 6.21% มีฐานค่าครองชีพสูงขึ้น ซึ่งกลุ่มเป้าหมายสำคัญของอุตสาหกรรมแฟชั่นคือประชากรที่มีอายุน้อยกว่า 35 ปี ซึ่งถือเป็น 36% ของประชากรทั้งหมดในประเทศ
รายงานจาก Fashion Revolution ระบุว่า การวิจัยตลาดพบว่าขนาดของตลาดแฟชั่นเวียดนามอยู่ที่ประมาณ 5.6 พันล้านดอลลาร์ และคาดว่าจะเพิ่มขึ้น 8.8% ในปี 2019-2022 โดยเฉพาะอย่างยิ่ง 97% ของรายได้ในตลาดมาจากสินค้าที่มีราคาถูกและเข้าถึงได้ง่าย
จากเหตุผลดังกล่าวทำให้เวียดนามกลายเป็นหนึ่งในตลาดที่ดึงดูด “Fast Fashion” มากที่สุดในอาเซียน และผู้บริโภคเองก็มองว่าเป็นสินค้าคุณภาพที่ราคาไม่แพง
- จากผู้บริโภคสู่ผู้ผลิตเสื้อผ้าหลากหลายแบรนด์
หลังจากความนิยมของเสื้อผ้า Fast Fashion ในเวียดนามมีมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะในกลุ่มวัยรุ่น ทำให้เวียดนามเริ่มผันตัวมาเป็น “ผู้ผลิต” และผู้ส่งออกเสื้อผ้า จนกลายเป็นหนึ่งในธุรกิจที่มีการแข่งขันสูง โดยในปี 2022 ที่ผ่านมา อิออนเวียดนาม (AEON Vietnam) ได้เปิดตัว Fast Fashion แบรนด์ My Closet ที่ AEON Binh Tan ในกรุงโฮจิมินห์
หน้าร้าน My Closet ที่ AEON Binh Tan (VIR)
แม้จะเป็นแบรนด์น้องใหม่ในขณะนั้น แต่ Yasuyuki Furusawa ผู้อำนวยการอิออนเวียดนามระบุว่า “My Closet” มีเป้าหมายเข้าสู่วงการ “Fast Fashion” รวมถึงมีแนวทางที่ชัดเจนในการวางแผนพัฒนาสินค้าต่อไปในอนาคต โดยจะเน้นลูกค้าผู้หญิงอายุ 16-24 ปี และมีสินค้าหลักเป็นเสื้อผ้าที่สวมใส่ได้ในชีวิตประจำวัน เช่น เสื้อยืด กางเกง และกระโปรง ที่เน้นไปที่ดีไซน์ สีสันที่หลากหลาย และมีความทันสมัย
“ตลาดแฟชั่นเวียดนามมีศักยภาพมาก เพราะคนรุ่นใหม่มีจำนวนมากขึ้น และชื่นชอบเสื้อผ้าที่อยู่ในกระแสหรือเทรนด์แฟชั่นใหม่ๆ อิออนเวียดนามเลยมองว่าการเปิดตัวแบรนด์ในครั้งนี้ถือเป็นการตอบสนองผู้บริโภครุ่นใหม่ที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม” Yasuyuki Furusawa กล่าว
เนื่องจาก My Closet ต้องการแข่งขันกับเสื้อผ้าแบรนด์ดังที่เข้ามาตีตลาดเวียดนาม จึงตั้งราคาสินค้าเริ่มต้นเพียง 6-9 ดอลลาร์เท่านั้น ซึ่งถูกกว่าแบรนด์ตะวันตกถึงครึ่งหนึ่ง
หลังจากนั้นไม่นาน จึงเกิดปรากฏการณ์เสื้อผ้า “Fast Fashion” ที่เป็น “แบรนด์เวียดนาม” อีกหลากหลายแบรนด์ผุดขึ้นตามมาอีกจำนวนมาก และได้รับความนิยมอย่างรวดเร็ว โดยได้แรงหนุนมาจากโซเชียลมีเดีย และการโปรโมตผ่านเซเลบริตี้ชื่อดังในต่างประเทศ
- “แบรนด์เวียดนาม” ในอุตสาหกรรมแฟชั่นโลก
หลังจากเวียดนามขยับขึ้นมาเป็นผู้ผลิตสินค้า Fast Fashion ส่งผลให้กลายเป็น “ผู้ส่งออก” ไปด้วย ข้อมูลจาก Vietdata ระบุว่า สิ่งหอและเครื่องนุ่งห่มเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมการผลิตและส่งออกที่สำคัญของเศรษฐกิจเวียดนาม โดยคิดเป็นร้อยละ 12-16 ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมดของประเทศ
แม้ว่าที่ผ่านมาต้องพบกับการแข่งขันจากคู่แข่งหลายประเทศที่เข้ามาตีตลาด แต่หนึ่งในแบรนด์สิ่งทอของเวียดนามอย่าง “May 10” ก็ยังรักษาผลประกอบการที่ดีในปี 2022 ไว้ได้ โดยมีกำไรหลังหักภาษีสูงกว่า 1.23 แสนล้านดองเวียดนาม หรือเกือบสองเท่าของปี 2021 จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ปัจจุบันเสื้อผ้า “แบรนด์เวียดนาม” จะได้รับความนิยม
ปัจจัยสำคัญที่ทำให้เราเห็นเสื้อผ้าแบรนด์เวียดนามตามแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียมากขึ้น ก็คือ เหล่าบรรดาคนดัง ทั้งดารา นักร้อง นางแบบ ในหลายประเทศแถบเอเชียหันมาสวมใส่แบรนด์เวียดนามกันมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น เกาหลีใต้ จีน หรือแม้แต่ไทย
โบกี้ไลอ้อน นักร้องชาวไทย ใส่ชุดแบรนด์ L Seoul (IG : bowkylion)
หนึ่งในศิลปินเกิร์ลกรุ๊ปชื่อดังอย่าง BLACKPINK ก็เลือกที่จะสวมใส่เสื้อผ้าจากแบรนด์ “Cong Tri” และ “Fancì Club” ขึ้นเวทีคอนเสิร์ตและถ่ายทำมิวสิกวิดีโอ นอกจากนี้ศิลปินจากจีนอย่าง Yu Wen Wen ก็เลือกสวมชุดที่ออกแบบโดย Pham Dang Anh Thu ดีไซเนอร์ชาวเวียดนามเจ้าของแบรนด์ “Anh Thư Boutique” ด้านนักร้องสาวไทย โบกี้ไลอ้อน ก็เคยใส่แบรนด์ “L Seoul” ของเวียดนามขึ้นคอนเสิร์ตเช่นกัน
Yu Wen Wen นักร้องชาวจีน
ใส่ชุดที่ออกแบบโดย Pham Dang Anh Thu (VnExpress)
ด้านดาราดังฝั่งฮอลลีวูดอย่าง Karen Gillan ก็ใส่เสื้อผ้าของแบรนด์เวียดนาม Cong Tri ในงานเปิดตัวภาพยนตร์ที่เธอเป็นนักแสดงหลัก เรื่อง Guardians of the Galaxy Vol.3 รอบปฐมทัศน์ในสหรัฐอเมริกา และหลังจากนั้นเธอก็โพสต์รูปที่ใส่เดรสจากแบรนด์ดังกล่าวลงอินสตาแกรมส่วนตัว รวมถึงศิลปินตัวแม่ Rihanna และ Beyoncé ก็ใส่แบรนด์ดังกล่าวเช่นกัน
นอกจากนี้คนดังระดับโลก เช่น Olivia Rodrigo, Doja Cat และ Bella Hadid ก็เลือกใส่เสื้อผ้าจากแบรนด์ Fancì Club เช่นกัน ทำให้แบรนด์เวียดนามเริ่มเป็นที่รู้จักในระดับสากล
Karen Gillan นักแสดงฮอลลีวูดใส่ชุดแบรนด์ Cong Tri (VnExpress)
อีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เสื้อผ้าแบรนด์เวียดนามประสบความสำเร็จ มาจากการมีดีไซเนอร์หน้าใหม่ที่มีความสามารถเพิ่มมากขึ้น เช่น Duy Tran วัย 24 ปี เจ้าของแบรนด์ Fancì Club
เรียกได้ว่ากระแสเสื้อผ้า “แบรนด์เวียดนาม” กำลังได้รับความนิยมในวงกว้าง แม้แต่ประเทศไทยเองก็เริ่มให้ความสนใจเสื้อผ้า “Fast Fashion” เหล่านี้ จนเริ่มมีร้านค้าออนไลน์หลายร้านหันมารับหิ้วเสื้อผ้าแบรนด์เวียดนามมากขึ้น และบางคนก็ลงทุนบินไปซื้อเองที่เวียดนาม เนื่องจากมองว่าคุ้มค่ามากกว่า เพราะสามารถซื้อกลับมาได้เยอะ ไม่ต้องรอของนาน และไม่ต้องเสียค่าหิ้ว
นอกจากนี้ในโซเชียลมีเดียหลายแพลตฟอร์มของเหล่าอินฟลูเอนเซอร์เมืองไทยก็หันมารีวิวเสื้อผ้าแบรนด์เวียดนามกันมากขึ้น ทำให้สร้างความนิยมได้ไม่ยาก
ผลจากกระแสความนิยมใน “Fast Fashion” ของ “แบรนด์เวียดนาม” ทำให้การส่งออกส่งทอและเสื้อผ้าของเวียดนามประสบความสำเร็จค่อนข้างมากในช่วงหลายปีที่ผ่านมา โดยในปี 2019 เวียดนามกลายเป็นผู้ส่งออกรายใหญ่อันดับสองของโลก (อันดับหนึ่งคือจีน) ส่วนในปี 2022 พบว่าการส่งออกดังกล่าวเพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่า 469% และที่สำคัญรัฐบาลเวียดนามก็มีนโยบายส่งเสริมภาคเอกชนและดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศในอุตสาหกรรมนี้เพิ่มขึ้นอีกด้วย
แม้ว่าเสื้อผ้าแนว Fast Fashion จากแบรนด์เวียดนาม จะได้รับกระแสตอบรับเป็นอย่างดีในวงการแฟชั่น แต่ก็ยังมีหลายฝ่ายตั้งคำถามว่าเสื้อผ้ารูปแบบดังกล่าวจะมีความยั่งยืนหรือไม่ และการที่เสื้อผ้าเหล่านั้น “ซื้อง่าย ขายเร็ว” ทำให้หลายคนใส่เพียงไม่กี่ครั้ง แต่กลับหาซื้อสินค้ารุ่นใหม่ๆ มาแทนอย่างรวดเร็ว จึงมีคำถามตามมาว่าจะเป็นการทำลายสิ่งแวดล้อมและสร้างขยะเพิ่มขึ้นหรือไม่ เช่นเดียวกับกระแสวิพากษ์วิจารณ์เสื้อผ้าแบบเดียวกันนี้ของจีน ที่เคยสร้างความฮือฮามาก่อนหน้านี้แล้วเช่นกัน
อ้างอิงข้อมูล : Fashion Revolution, Vietdata, Vietnam Investment Review, Hyphenated, VnExpress (1), VnExpress (2), VnExpress (3), South China Morning Post (1), South China Morning Post (2), Knitting Industry และ สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ นครโฮจิมินห์