‘Yves Saint Laurent’ แบรนด์แห่งการปฏิวัติแฟชั่น และผลักดันสิทธิ LGBTQ+
นอกจาก “YSL” จะเป็นแบรนด์หรูที่โด่งดังจากความแปลกใหม่ล้ำสมัยแล้ว ผู้ก่อตั้งอย่าง “Yves Saint Laurent” ก็มักแสดงออกเรื่องสิทธิและความเท่าเทียมผ่านงานดีไซน์ของเขาเสมอ รวมถึงมีส่วนผลักดันสิทธิ LGBTQ+ อีกด้วย
Key Points:
- “YSL” แบรนด์ระดับไฮเอนด์ที่เกิดจาก “Yves Saint Laurent” ดีไซเนอร์ดาวรุ่งมากความสามารถแห่งยุค 60 ที่สร้างความเปลี่ยนแปลงในแวดวงแฟชั่นได้อย่างน่าทึ่ง
- ผลงานที่โด่งดังของ YSL คือการนำเสื้อผ้าของผู้ชายมาดัดแปลงให้ผู้หญิงใส่ได้ โดยเฉพาะชุด “Le Smoking” สูทกางเกงสำหรับผู้หญิงอันเลื่องชื่อ และทำให้ผู้หญิงเริ่มหันมาใส่กางเกงในชีวิตประจำวันมากขึ้น
- ไม่ใช่แค่เรื่องเสื้อผ้าเท่านั้น แต่โลรองต์ และอดีตคนรักของเขา ปิแอร์ แบร์เช ยังร่วมกันผลักดันสิทธิและความเท่าเทียมของ “LGBTQ+” ไปจนถึงส่งเสริมงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับโรคเอดส์
“Yves Saint Laurent” หรือ “YSL”เป็นแบรนด์แฟชั่นระดับไฮเอนด์ (High-End) จากฝรั่งเศสที่ได้รับการยอมรับไปทั่วโลก ด้วยดีไซน์ที่ทันสมัย หลากหลาย มีการตลาดที่ดี โดยเฉพาะการดึงเซเลบริตี้ชื่อดังมากมายมาเป็นพรีเซนเตอร์ของแบรนด์ เพื่อขยายฐานลูกค้าไปทั่วโลก
นอกจากความปังของสินค้าหรู ประวัติความเป็นมาของแบรนด์ก็ไม่ธรรมดา เพราะกว่าจะมาเป็น “YSL” อันโด่งดังได้ ตัวของ Yves Saint Laurent ผู้ก่อตั้งแบรนด์ที่ได้รับการขนานนามว่าเป็นอัจฉริยะแห่งวงการแฟชั่น ก็ต้องฝ่าฟันมรสุมใหญ่มากมาย ทั้งโรคซึมเศร้า ยาเสพติด และการที่เขาเป็น “LGBTQ+”
- “Yves Saint Laurent” เด็กหนุ่มที่เข้ามาปฏิวัติโลกของ “แฟชั่น”
คำว่า “Yves Saint Laurent” มาจาก อีฟส์ มาติเออร์ แซงต์ โลรองต์ (Yves Mathieu Saint Laurent) ชื่อของเด็กหนุ่มสัญชาติแอลจีเรีย-ฝรั่งเศส วัย 18 ปี ที่เข้าสู่วงการแฟชั่นจากเวทีการประกวด The International Wool Secretariat (IWS) และได้รับรางวัลการออกแบบสาขาเสื้อผ้าสตรียอดเยี่ยม
ความโดดเด่นจากผลงานของโลรองต์ในครั้งนั้น ก็ได้ไปเข้าตา คริสติยอง ดิออร์ (Christian Dior) ดีไซเนอร์ชื่อดังแห่งยุค และโลรองต์ก็ได้เข้ามาเป็นที่ปรึกษาของดิออร์ หลังจากนั้นไม่นานจุดเปลี่ยนสำคัญในชีวิตของโลรองต์ก็มาถึง เมื่อดิออร์เสียชีวิตอย่างกะทันหันในปี 1957 ทำให้โลรองต์ก้าวขึ้นเป็นนักออกแบบหลักของดิออร์ในขณะที่มีอายุเพียง 21 ปี
อีฟส์ แซงต์ โลรองต์ ในปี 1957 (Medium)
คริสติยอง ดิออร์ และ อีฟส์ แซงต์ โลรองต์ (Musee YSL Paris)
การทำงานภายใต้แบรนด์ดิออร์ของโลรองต์เป็นไปได้ด้วยดี ต่อมาในงานแฟชั่นโชว์ปี 1958 เขาได้พบกับ ปิแอร์ แบร์เช (Pierre Bergé) นักธุรกิจหนุ่มชาวฝรั่งเศสและพัฒนาความสัมพันธ์ไปในระดับคนรักที่คอยช่วยเหลือกันในหลายเรื่อง
แม้ว่าผลงานของโลรองต์ภายใต้ชายคา “ดิออร์” จะได้รับการยอมรับในช่วงแรก แต่หลังจากนั้นเขาก็ต้องเผชิญกับขาลง บางคอลเลกชันถูกวิพากษ์วิจารณ์ในแง่ลบอย่างกว้างขวาง รวมถึงความกดดันในการแข่งขันอย่างรุนแรงของอุตสาหกรรมแฟชั่น ประกอบกับโลรองต์ถูกทางการเรียกตัวไปเกณฑ์ทหารช่วงสงครามแอลจีเรีย ทำให้ดิออร์ใช้โอกาสนี้หาคนมาทำงานแทนเขา
เหตุการณ์เหล่านี้ทำให้โลรองต์รู้สึกแตกสลายเป็นอย่างมากจนต้องเข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลจิตเวช (สื่อนอกบางสำนักอ้างว่าเขาได้รับการรักษาด้วยการช็อตไฟฟ้า ร่วมกับการใช้ยากล่อมประสาท)
แต่ในยามวิกฤติโลรองต์ก็ยังมีแบร์เชอยู่เคียงข้าง หลังจากเขาออกจากโรงพยาบาล พวกเขาก็ร่วมกันเปิดตัวแบรนด์ของตัวเองขึ้นมาในชื่อ “YSL” ที่ย่อมาจากชื่อของโลรองต์ และมีโลโก้แบรนด์ที่โดดเด่นด้วยการนำตัวหนังสือมาเรียงเป็นแนวตั้ง ในปี 1961
โลโก้ดั้งเดิมของ YSL (Medium)
กระแสตอบรับการเปิดตัวคอลเลกชันแรกของ “YSL” ในปี 1962 แม้จะอยู่ในระดับปานกลางไม่หวือหวามากนัก แต่หลังจากนั้นไม่นานโลรองต์ก็สร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับโลกของแฟชั่นด้วยไอเดียที่ไม่เคยมีใครทำมาก่อน และยังคงอยู่มาจนถึงทุกวันนี้ เช่น ชุดโมนดรียาน (Mondriaan) และ แจ็กเกตซาฟารี (Saharienne) ในปี 1965 ที่นำเสนอภาพลักษณ์เรียบหรูของผู้หญิงสมัยใหม่ แต่สิ่งที่ถูกจับตามองมากที่สุด คือ การทำลายกรอบทางเพศที่ถูกจำกัดด้วยเครื่องแต่งกาย เพื่อสร้างความเท่าเทียมทางเพศและสร้างภาพลักษณ์ใหม่ให้กับผู้หญิงในยุคนั้น
- “YSL” ไม่ใช่แค่แฟชั่น แต่ยังเป็นสัญลักษณ์ของความเท่าเทียม และสิทธิทางเพศ
ชุดที่สร้างความฮือฮาที่สุดของ “YSL” ก็คือ “Le Smoking” หรือ เลอ สโมกิง ในปี 1966 เป็นการนำชุดทักซิโด้ของผู้ชายมาดัดแปลงให้เป็นสูทแบบกางเกงสำหรับผู้หญิง (Pants Suit) ที่ถือว่าเป็นขบถต่อขนบแนวคิดเรื่องเพศในวงการแฟชั่น ก่อนจะมีคอลเลกชันในลักษณะเดียวกันตามออกมาอีกมากมาย
ภาพชุดทักซิโด้สำหรับผู้หญิงในยุคแรกของ YSL (VOGUE)
แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าสังคมในยุคนั้นจะมองว่าผู้หญิงควรสวมกางเกงออกจากบ้าน เพราะถือว่าเป็นการแต่งกายที่ไม่สุภาพ และเกิดเป็นกระแสตีกลับ สถานที่ทำงานหลายแห่งถึงกับออกกฎระเบียบว่า “ห้ามผู้หญิงใส่กางเกงมาทำงาน” ลามไปถึงภัตตาคารและโรงแรมหรูหลายแห่งในนิวยอร์กก็ไม่อนุญาตให้ผู้หญิงที่สวมกางเกงเข้ามาใช้บริการ (แม้จะเป็นกางเกงขายาว)
ภาพ Le Smoking ที่ถูกถ่ายโดยช่างภาพของ VOGUE ฝรั่งเศส (VOGUE)
YSL ไม่ได้หยุดแค่นั้น เพราะหลังจากนั้นยังออกคอลเลกชันเสื้อผ้าที่ได้แรงบันดาลใจมาจากผู้หญิงขายบริการ และแจ็กเกตหนังที่ผู้ชายใช้สวมเวลาขี่มอเตอร์ไซค์ ที่ค่อยๆ ปลดล็อกความหลากหลายในการแต่งตัวของผู้หญิงมากขึ้น ซึ่งหลายคนมองว่าเป็นปรากฏการณ์ที่ทำให้ผู้หญิงมองเห็นสิทธิของตัวเองมากขึ้น เสื้อผ้าของโลรองต์จึงได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง และทำให้มีรองเท้า กระเป๋า เครื่องประดับ ค่อยๆ ทยอยเปิดตัวตามมา
คอลเลกชัน โมนดรียาน ในปี 1966 (Show Studio)
นอกจากการปฏิวัติเสื้อผ้าผู้หญิงได้สำเร็จจนเป็นที่ยอมรับมาจนถึงปัจจุบัน อีกหนึ่งประเด็นที่ โลรองต์ กับ แบร์เช ผลักดันก็คือ สิทธิเกย์ หรือ Gay Rights (ในยุคนั้นยังไม่ใช้คำว่า LGBTQ+) ด้วยการก่อตั้ง “Sidaction” องค์กรระดมทุนที่อุทิศให้กับการวิจัยและการรักษาโรคเอดส์ในปี 1994 โดยเฉพาะในฝรั่งเศส เพราะพวกเขาเชื่อว่ายังมีคู่รักเพศเดียวกันอีกมากมายที่ไม่กล้าเปิดเผยตัวตน และต้องการที่จะแต่งงานเช่นเดียวกับคู่รักชาย-หญิง
อีฟส์ แซงต์ โลรองต์ และ ปิแอร์ แบร์เช (The New York Times)
แม้ว่าโลรองต์จะเป็นสัญลักษณ์ของแฟชั่นสมัยใหม่ที่เต็มไปด้วยความหลากหลายทางเพศ และยืนอยู่บนยอดพีระมิดในอุตสาหกรรมมาอย่างยาวนาน แต่ด้วยความที่เขาทุ่มเทให้การทำงานแบบเกินร้อยทุกครั้ง นอกจากจะมีความเครียดเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แล้ว “โรคซึมเศร้า” ที่เคยแอบซ่อนอยู่ในอดีตก็เริ่มกลับมาหลอกหลอน ทำให้ชีวิตของเขาเริ่มจมดิ่งลงไปเรื่อยๆ และทำให้เขายอมแพ้ในอาชีพของตัวเองไปในที่สุด
- แม้ยุคเรืองรองของ โลรองต์ จะหมดไป แต่ YSL อาจคงอยู่ตลอดไปในโลกแฟชั่น
เมื่อเข้าสู่ช่วงปี 1970 เริ่มมีผู้คนจากหลายแวดวงเข้าหาโลรองต์มากขึ้น (ภายหลังเขามองว่าส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะผลประโยชน์) หนึ่งในนั้นก็คือ ฌากส์ เดอ บาสแชร์ (Jacques de Bascher) ที่พาเขาเข้าสู่วังวนของยาเสพติด แอลกอฮอล์ ไปจนถึงการมีเพศสัมพันธ์กับคนแปลกหน้ามากมาย จนเกิดรอยบาดหมางในความสัมพันธ์กับแบร์เช และเลิกรากันไปในที่สุด แต่พวกเขายังคงเป็นหุ้นส่วนทางธุรกิจกันไปจนถึงวาระสุดท้ายของชีวิต
ต่อมาในปี 2017 มีหนังสือที่ชื่อว่า Saint Laurent et Moi - Une Histoire Intime ที่เขียนจากประสบการณ์ของคนใกล้ตัวโลรองต์ในช่วง ปี 1990-1992 โดยอ้างว่า บ่อยครั้งที่โลรองต์ตกอยู่ในสภาพเมายาเสพติด เมาเหล้า และมีพฤติกรรมเปลี่ยนคู่นอนบ่อยครั้ง รวมถึงมีอาการซึมเศร้าอย่างต่อเนื่อง ทั้งจากปัญหาในช่วงวัยรุ่นที่เคยพบเจอ และความเครียดในการทำงาน
ในที่สุดโลรองต์ก็ตัดสินใจเกษียณตัวเองจากวงการแฟชั่นในปี 2002 เพื่อไปใช้ชีวิตในบั้นปลายที่คฤหาสน์ในปารีส ซึ่งเขาได้ขอขอบคุณทุกคนที่คอยอยู่เคียงข้างและสนับสนุนเขาเสมอมา และเขาจะไม่มีวันลืมใครไปแน่นอน ก่อนจะเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งสมองในปี 2008 ในวัย 71 ปี
แฟชั่นโชว์ครั้งสุดท้ายของ อีฟส์ แซงต์ โลรองต์ กรุงปารีส ฝรั่งเศส ปี 2002 (SCPM)
สุดท้ายนี้แม้ว่า “Yves Saint Laurent” หรือ “YSL” จะมีการรีแบรนด์ครั้งใหญ่ในปี 2012 โดย เอดี สลิมาน (Hedi Slimane) ผู้อำนวยการฝ่ายสร้างสรรค์ของแบรนด์ในตอนนั้น มาใช้ชื่อว่า “Saint Laurent Paris” ที่แม้ว่าจะถูกวิจารณ์แต่ก็ยังประสบความสำเร็จและยังคงอัตลักษณ์ของแบรนด์ไว้ได้
หนึ่งในกระเป๋า YSL จากคอลเลกชัน Fall 2023 (YSL)
ก่อนจะเปลี่ยนมือมาอยู่ภายใต้การบริหารของ ฟรานเชสกา เบลเลตตินี (Francesca Bellettini) และมี แอนโทนี วัคคาเรลโล (Anthony Vaccarello) เป็นดีไซเนอร์หัวเรือใหญ่ของแบรนด์ แต่ด้วยกลยุทธ์ที่วางไว้อย่างมั่นคงสร้างรากฐานที่แข็งแรงมาตั้งแต่สมัยก่อตั้งแบรนด์ ทำให้หลายคนยังมั่นใจว่า YSL จะยังเติบโตต่อไปในศตวรรษที่ 21 ด้วยความชัดเจนของภาพลักษณ์ที่โลรองต์สร้างสรรค์ไว้ เหมือนกับประโยคสุดคลาสสิกที่เขาเคยพูดไว้ว่า “Fashions fade. Style is eternal.”
อ้างอิงข้อมูล : BBC (1), BBC (2), VOGUE, Kering, Lovehappens, The Guardian (1), The Guardian (2), SCPM, The New York Times, Independent, Archive Avenue และ Medium