‘สาธุ’ แบรนด์เสื้อผ้าที่ว่าด้วยธรรมชาติและความยั่งยืน
‘เดี๋ยวก็ตาย’ เป็นคอลเลคชั่นใหม่ล่าสุดของแบรนด์ ‘สาธุ’ ของ ศักดิ์สรัญ ดวงอินทร์ หนุ่มดอยเต่า ผู้สร้างฝันในการกลับมาอยู่บ้างสร้างงานให้ครอบครัวและชุมชนมีรายได้อย่างยั่งยืน
‘สาธุ’ สร้างชื่อด้วยสไตล์เสื้อผ้าที่ตัดเย็บจากผ้าใยกัญชงและผ้าฝ้ายย้อมสีธรรมชาติที่มีความดิบ เถื่อน รูปทรงเสื้อผ้ามีแขนขาสั้นยาวไม่เท่ากัน แถมด้วยความเร้าใจในการตั้งชื่อคอลเลคชั่นที่ไม่ออกตามฤดูกาลเหมือนชาวบ้าน
หากตั้งชื่อตามสถานการณ์แวดล้อม เช่น มือใครยาวสาวได้สาวเอา (สะท้อนการคอรัปชั่นในการสร้างถนน) แพงมาก (เสียดสีสังคม) และล่าสุด คือ 'เดี๋ยวก็ตาย'
แบงค์ – ศักดิ์สรัญ ดวงอินทร์ กับเสื้อแพงมาก (ภาพ : อนุตรา อึ้งสุประเสริฐ)
กว่าจะมาเป็น ‘สาธุ’ แบรนด์เสื้อผ้าที่ใครบางคนบอกว่า “แพงมาก” และแหวกแนวจนสร้างฐานลูกค้าในประเทศและต่างประเทศได้เป็นที่น่าพอใจ มีความเป็นมาอย่างไร
แบงค์ - ศักดิ์สรัญ ดวงอินทร์ เปิดบ้านที่อำเภอดอยเต่า จังหวัดเชียงใหม่ พร้อมบอกเล่าที่มาของ ‘สาธุ’ ให้ฟังเราอย่างเป็นกันเอง
“แบงค์เรียนปริญญาตรีสาขาส่งเสริมการเกษตร คณะผลิตกรรมการเกษตร มหาวิทยาลัยแม่โจ้ เป้าประสงค์คือ อยากกลับมาอยู่บ้าน เพราะแบงค์เชื่อว่าบ้านเราเป็นหมู่บ้านที่มีอาชีพเป็นเกษตรทำนา ทำสวนลำไย อยากกลับมาใช้ความรู้ที่เรียนมาพาคนดอยเต่าให้กินดีอยู่ดี
เรียนจบไปเรียนรู้ทักษะการทำงานกับชุมชนที่มูลนิธิไทยรักษ์ป่า ด้านการพัฒนาชุมชนในการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่เพื่อสร้างอาชีพ ตรงกับที่เราอยากจะกลับมาพัฒนาบ้าน ตอนแรกคิดว่าจะทำ 2 ปีก็จะออก ปรากฏว่าเกิดอุบัติเหตุรถชน เลยทำงานอยู่ต่อรวม 4 ปี ทำให้ได้เรียนรู้ทักษะการประสานงานระหว่างหน่วยงานราชการ เอกชนและคนในชุมชน ถือว่าเป็นพื้นฐานที่เพียงพอในการมาสู่เป้าประสงค์ในการกลับบ้านของเรา”
แบงค์ กลับมาบ้านพร้อมพลังอันล้นเหลือ เริ่มต้นด้วยการทำเครื่องประดับไปจำหน่ายที่ตลาดจริงใจในตัวเมืองเชียงใหม่ ควบคู่ไปกับการทำกิจกรรมเพื่อสังคมร่วมกับเยาวชนในดอยเต่าในนาม กลุ่มกระบือเสรี
เครื่องประดับของสาธุ (ภาพ : สาธุ-Satu)
“การกลับบ้านครั้งแรกไม่สวยงามนะครับ ทุกคนปฏิเสธเรา เพราะว่าเราคิดต่าง ทุกคนเป็นห่วงว่ากลับมาอยู่บ้านแล้ว ไม่มีเงินเดือน จะอยู่ยังไง
แบงค์เริ่มต้น 'สาธุ' จากงานที่ชอบ คือ เครื่องประดับ แรกๆ ใช้เถาวัลย์มาตกแต่งกับหินและขนไก่ เพราะแบงค์เป็นคนชอบแต่งตัว หาซื้อเสื้อผ้าแบบที่ชอบไม่ได้เลย แม่เป็นช่างเย็บผ้าอยู่แล้ว เลยไปหาผ้าใยกัญชงให้แม่เย็บ
ประกอบกับตอนที่เราทำงานชุมชนได้เห็นภูมิปัญญาที่หลากหลาย จึงนำมาประยุกต์ทำเสื้อผ้ามาใส่คนเดียวก่อน ตอนไปขายเครื่องประดับคนชอบถามว่าเสื้อผ้าซื้อมาจากที่ไหน”
เสื้อผ้าไหม แพทเทิร์นไม่สมบูรณ์ ปักเดินเส้นแบบบิดเบี้ยว ความงามที่ไม่สมบูรณ์แบบของสาธุ (ภาพ : สาธุ-Satu)
เสื้อสี่แขนย้อมสีธรรมชาติ (ภาพ :สาธุ-Satu)
จากเสื้อผ้าใยกัญชงที่แม่ตัดให้ตามแบบที่ไม่เหมือนใคร พัฒนามาเป็นเสื้อผ้าแบรด์ ‘สาธุ’ ที่แปลกกว่าใครด้วยความดิบ เถื่อน และ รูปทรงบิดเบี้ยว
“แบงค์ สื่อถึงความเข้าใจธรรมชาติ ความไม่สมบูรณ์แบบ ความสวยแบบธรรมชาติที่แบบไม่สม่ำเสมอบางทีแขนยาวขายาวผิดปกติ ทุกคนพยายามตัดเสื้อตามแพทเทิร์น แต่สาธุทำตรงกันข้ามหลายคนบอกว่าใส่ไม่ได้จริง
แบงค์ไม่ได้ทำเสื้อผ้าอย่างเดียว แบงค์บอกเรื่องราวของสังคมด้วย เคยมีคนมาถามว่าทำไมเสื้อของสาธุถึงแพงจัง ใส่แล้วใครจะรู้ได้ยังไงว่าเสื้อตัวนี้แพง ช่วงแรกแบงค์ไม่พอใจนะครับเลยกลับไปทำเสื้อปักด้วยดิ้นเงินดิ้นทองคำว่า “แพงมาก” ลงไปกลายเป็นว่าขายดีขึ้นไปอีก
เสื้อแพงมากปักดิ้นทองที่เกิดจากการประชดประชัน(ภาพ : อนุตรา อึ้งสุประเสริฐ)
แต่แบงค์มาคิดแล้วเสียใจนะครับที่คิดอย่างนั้น เพราะว่าเป็นธรรมชาติของคนเราที่ชอบอวด เราต้องทำความเข้าใจมากกว่า ส่วนคนที่ถามว่าเสื้อผ้าของสาธุทำไมราคาแพงจัง ลองคิดต้นทุนจริงๆ แบงค์ขายถูกมากถ้าเทียบกับสินค้าที่เราซื้อทั่วไปในตลาด
ยกตัวอย่างเช่น เดรสผ้าไหมเส้นใยธรรมชาติทอกี่เอว บวกลบการใช้ต้นทุนที่ไม่รวมอะไรสักอย่างเฉพาะค่าแรงในการกับวัตถุดิบอยู่ที่ 5,000 กว่าบาทเฉพาะต้นทุน ยังไม่รวมค่าย้อมสี ค่าปัก ค่าตัดเย็บ อีกนะครับ”
ห้องตัดเย็บที่บ้านดอยเต่า ช่างกำลังตัดเย็บชุด “เศษสวะ” ที่เกิดจากการนำผ้าที่เหลือมาวางเรียงลายขึ้นมาใหม่
แบงค์อธิบายถึงกลไกการทำงานเบื้องหลังกว่าจะมาเป็นเสื้อผ้าแต่ละชุด จากเดิมที่มีเพียงแม่คนเดียวที่เป็นช่างตัดเย็บ ปัจจุบันได้กลุ่มแม่บ้านและผู้สูงวัยในชุมชนมาร่วมเป็นเครือข่ายในการตัดเย็บ ปัก ย้อม และ ทอตามความถนัด สร้างงานสร้างรายได้ให้กับชาวดอยเต่าและหมู่บ้านใกล้เคียงหลายครอบครัว
“ล่าสุดแบงค์กำลังทำเรื่องของการตาย พูดถึงการเข้าใกล้ความตาย ระลึกถึงความตายในทุกขณะลมหายใจ เวลาที่เราพูดถึงความตายทุกคนจะกลัว วิตกกังวล ถ้าเราเข้าใจ เราสามารถใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุข มีสติ
เดรสรูปทรงจากโลงศพในคอลเลคชั่น เดี๋ยวก็ตาย (ภาพ : สาธุ-Satu)
ลายปักสติและลมหายใจที่ปักไว้ให้ผู้สวมใส่ได้อ่าน (ภาพ : สาธุ-Satu)
เสื้อผ้าในคอลเลคชั่น ‘เดี๋ยวก็ตาย’ จะมีการนำรูปทรงของโลงศพมานำเสนอผ่านเสื้อผ้า มีการปักคำว่าสติ ลมหายใจ เป็นการกลับหัวเมื่อสวมใส่ แต่อยู่ในตำแหน่งที่ผู้สวมใส่อ่านได้สะดวก”
8 ปีในการกลับบ้านมาสร้างแบรนด์ สาธุ เสื้อผ้าที่ตัดเย็บจากผ้าใยกัญชง ผ้าไหม ผ้าฝ้ายย้อมสีธรรมชาติที่มีเอกลักษณ์และแนวคิดไม่เหมือนใคร แบงค์บอกกับเราว่า
“ทางจิตใจเกินเป้าหมายที่ตั้งใจไว้เยอะมากครับ ตั้งใจกลับบ้านมีครอบครัวเล็กๆ มีอยู่มีกินแค่นี้ได้ทำประโยชน์ให้กับชุมชนบ้างถ้ามีโอกาสไม่เบียดเบียนธรรมชาติ
ตอนนี้มันเกินกว่าที่เราตั้งใจไว้เยอะมาก เราได้สร้างอาชีพให้ชุมชนมากกว่าที่คิด มีหลายหมู่บ้านที่เราเข้าไปช่วยสร้างงาน คนสูงอายุ แม่บ้านมีรายได้เพิ่มขึ้น วันละ 300 – 400 บาท ทุกคนแฮปปี้มากครับ”
มุมห้องเสื้อที่บ้านสาธุ อ.ดอยเต่า จ.เชียงใหม่
ใครชอบเสื้อผ้าแนวดิบ เถื่อน มีสาระ เอกลักษณ์ และเรื่องราวของความยั่งยืน พบกับเสื้อผ้าแบรนด์สาธุได้ทุกวันเสาร์-อาทิตย์ที่ ตลาดจริงใจ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ และ facebook/สาธุ-Satu IG sathu.doitao โทร. 08 6910 1999