เบื้องหลัง 177 ปี ‘Cartier’ แบรนด์หรูคู่ใจราชวงศ์
“Cartier” ไม่ได้เป็นแค่เพียงแบรนด์เครื่องประดับสุดหรูที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานเท่านั้น แต่ยังเป็นแบรนด์ที่บรรดาราชวงศ์ต่างชื่นชอบ และแม้เวลาจะผ่านมาเกือบ 200 ปี ก็ยังคงได้รับความนิยม จนกลายเป็นแบรนด์ที่มีมูลค่าสูง 1.2 หมื่นล้านดอลลาร์
KEY
POINTS
- “Cartier” แบรนด์หรูเก่าแก่อายุ 177 ปี สัญชาติฝรั่งเศส มีความโดดเด่นด้าน “เครื่องประดับ” และ “นาฬิกา”
- สิ่งที่ทำให้ Cartier เป็นตัวแทนของความหรูหราแบบชนชั้นสูงก็เพราะมีสมาชิกราชวงศ์ทั่วโลกให้ความสนใจ โดยเฉพาะ “ราชวงศ์วินด์เซอร์”
- ปัจจุบัน Cartier อยู่ภายในการบริหารของ ซีริลล์ วิญเญอรอง และมีมูลค่าตลาดสูงถึง 1.2 หมื่นล้านดอลลาร์ ในปี 2020 (อ้างอิงข้อมูล businessinsider)
หากพูดถึงแบรนด์เครื่องประดับสุดหรูที่อยู่คู่แวดวงชนชั้นสูงมาอย่างยาวนาน ต้องมีชื่อของ “Cartier” หรือ คาร์เทียร์ จากกรุงปารีสติดโผมาด้วยแน่นอน เพราะปัจจุบันเป็นแบรนด์ที่มีอายุมากถึง 177 ปี แต่ยังขายดีจนมีมูลค่าตลาดสูงถึง 1.2 หมื่นล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 438,000,000,000 บาท ในปี 2020 (อ้างอิงข้อมูล businessinsider) แถมยังเป็นที่ถูกอกถูกใจราชวงศ์ในหลายประเทศโดยเฉพาะ “ราชวงศ์อังกฤษ” ที่แม้แต่ “ควีนเอลิซาเบธที่สอง” ยังทรงสวมสร้อยคอเพชรของ Cartier ในการฉายพระบรมฉายาลักษณ์อย่างเป็นทางการครั้งแรกหลังเสด็จขึ้นครองราชย์
บางคนอาจมีคำถามว่าทำไม “Cartier” แบรนด์หรูอายุเกือบ 200 ปี ถึงประสบความสำเร็จจนถึงปัจจุบัน ทั้งที่สินค้าหลายชิ้นมีราคาสูงถึงหลักแสนดอลลาร์ ?
แม้ส่วนหนึ่งจะเป็นเพราะได้รับความนิยมจากราชวงศ์ในฝั่งยุโรป แต่แบรนด์มีจุดเด่นมากกว่านั้น ไม่ว่าจะเป็นหน้าร้านที่มีความสวยงามจนกลายเป็นสถานที่เช็กอินของเหล่าแฟชั่นนิสต้าและถูกบรรจุให้เป็นโบราณสถานแห่งชาติ รวมถึงการเป็นเครื่องประดับที่ดาราและศิลปินหลายคนเลือกไปใส่เดินงานพรมแดงระดับโลก เช่น Oscars และ Met Gala
จุดเริ่มต้นของ “Cartier” แบรนด์หรูจากกรุงปารีส
เรื่องราวของ “Cartier” เริ่มต้นขึ้นในกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส โดย หลุยส์-ฟรองซัวส์ คาร์เทียร์ (Louis-François Cartier) ในขณะที่เขามีอายุ 28 ปี ที่เขาได้ทำงานอยู่ในร้านเครื่องประดับ “Picard” และที่นั่นเองทำให้เขามีโอกาสได้ทำงานกับ อดอล์ฟ พิการ์ด (Adolphe Picard) ที่ถือว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการทำนาฬิกาในขณะนั้น
หลังจากพยายามทำงานอย่างหนักและเรียนรู้การทำงานด้วยความตั้งใจจนเขาทำงานมากถึง 15 ชั่วโมงต่อวัน ท้ายที่สุดแล้วหลุยส์ ฟรองซัวส์ร์ ก็ได้รับช่วงต่อในการดูแลร้าน Picard ด้วยความไว้วางใจของ อดอล์ฟ และต่อมาเขาก็ได้เปลี่ยนชื่อร้านเป็น Cartier ในปี 1847 ซึ่งกลายเป็นจุดเริ่มต้นของตำนานแห่งความหรูหราในวงการนาฬิกาและเครื่องประดับในเวลาต่อมา
เครื่องประดับขวัญใจ “ราชวงศ์” และชนชั้นสูง
ด้วยความสวยงามปราณีตของ Cartier ทำให้เครื่องประดับแบรนด์นี้เป็นที่ถูกใจของ “ราชวงศ์” ที่ตามข้อมูลจาก businessinsider ระบุว่าประมาณปี 1850 หลุยส์-ฟรองซัวส์ เปิดหน้าร้านเพิ่มอีก 2 แห่ง และกลายเป็นที่สุดตาของเจ้าหญิงมาทิลด์ (Princess Mathilde) พระญาติของจักรพรรดินโปเลียนที่ 3 และจักรพรรดินีเออเชนี (Empress Eugénie of France) ที่ซื้อสินค้าของ Cartier ไปเมื่อปี 1956 ทำให้นับแต่นั้นเป็นต้นมา Cartier ก็ถูกยกระดับความหรูหราเพิ่มมากขึ้นทันทีและมีราชวงศ์อีกหลายพระองค์ให้ความสนใจสั่งซื้อ โดยเฉพาะหนึ่งในราชวงศ์ที่โด่งดังที่สุดในโลก “วินด์เซอร์“ แห่งสหราชอาณาจักร
ชื่อของ “Cartier” กลายเป็นที่รู้จักในฐานะแบรนด์ของชนชั้นสูงอย่างรวดเร็วหลังจากควีนเอลิซาเบธที่สองทรงสวมสร้อยคอเพชรของแบรนด์ในการฉายพระบรมฉายาลักษณ์แรกอย่างเป็นทางการหลังเสด็จขึ้นครองราชย์ ซึ่งในปัจจุบันจากข้อมูลของ Harper's Bazaar ระบุว่าสร้อยคอเส้นดังกล่าวมีมูลค่าประมาณ 83 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 3,029,500,000 บาท) ประกอบด้วยเพชร 50 เม็ด และแพลตตินัม เป็นเครื่องประดับที่แพงที่สุดชิ้นหนึ่งของราชวงศ์อังกฤษ อีกหนึ่งความสำคัญของสร้อยเส้นนี้ก็คือเป็นของขวัญเพื่อเฉลิมฉลองการหมั้นหมายของพระองค์กับเจ้าชายฟิลิป
ทางด้าน “ไดอานา เจ้าหญิงแห่งเวลส์” ก็ชื่นชอบนาฬิกา Tank และแหวน Trinity ของ “Cartier” ทำให้มีคนเห็นภาพผ่านสื่ออยู่บ่อยครั้ง ส่วนแคเธอริน เจ้าหญิงแห่งเวลส์ ก็ทรงมงกุฎเทียร่า Halo ของควีนเอลิซาเบธที่สองในวันอภิเษกสมรส
ตามข้อมูลของ British Vogue (อ้างถึงโดย businessinsider) ระบุว่ามงกุฎเทียร่า Halo ได้รับการออกแบบโดย Jacques (ฌาคส์ หลานชายของ หลุยส์-ฟรองซัวส์) และถูกซื้อโดยเจ้าชายอัลเบิร์ต ซึ่งต่อมาจะกลายเป็นกษัตริย์จอร์จที่ 6
ไม่ใช่แค่ฝั่งอังกฤษเท่านั้นแต่ Cartier ก็ได้รับความนิยมจากราชวงศ์อื่นๆ เช่นกัน ไม่ว่าจะเป็น เจ้าหญิงเกรซแห่งโมนาโก (Princess Grace of Monaco) กับสร้อยคอเพชรสามเส้น, สมเด็จพระราชชินีมาเรีย คริสตินา แห่งสเปน (María Cristina de Habsburgo-Lorena) ที่ทรงมงกุฎเทียร่า ที่ออกแบบโดย Cartier ในปี 1935 หรือฝั่งราชวงศ์ของไทยเอง เช่น เจ้าจอม หม่อมราชวงศ์สดับ ลดาวัลย์ ในรัชกาลที่ 5
ทายาทรุ่นที่ 3 เบื้องหลังความสำเร็จระดับโลก
ต่อมาในปี 1894 อัลเฟรด คาร์เทียร์ (Alfred Cartier) ลูกชายคนเดียวของ หลุยส์ ฟรองซัวส์เข้ามารับช่วงต่อ เขาเริ่มออกแบบโลโก้ใหม่ให้แบรนด์พร้อมกับย้ายร้านไปยังจุดที่เป็นทำเลทองในย่าน Rue de La Paix ที่เรียกได้ว่าเป็นทำเลแพงที่สุดในตอนนั้น แต่ก็ทำให้แบรนด์กลายเป็นที่รู้จักและเข้าถึงผู้คนได้มากขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มชนชั้นสูง แต่หลังจากนั้นไม่นาน หลุยส์ ฟรองซัวส์ ก็เสียชีวิตลงในปี 1942
หลังจากนั้นลูกๆ ทั้ง 3 คนของอัลเฟรดก็เริ่มเข้ามาร่วมทำธุรกิจด้วย ได้แก่ หลุยส์ (Louis), ปิแอร์ (Pierre) และ ฌาคส์ (Jacques) โดยหลุยส์เข้ามาร่วมงานในปี 1898 และทางเว็บไซต์ของ Cartier ก็ได้ระบุเอาไว้ว่า “เขามีบทบาทสำคัญในการพัฒนาแบรนด์” ก่อนที่น้องอีก 2 คนจะเข้ามาร่วมทำธุรกิจด้วยหลังจากนั้นไม่นาน
พี่น้องทั้ง 3 คน มีหน้าร้านที่บริหารจัดการแยกกันไป โดยหลุยส์อยู่ในปารีส ปิแอร์ย้ายไปนิวยอร์ก และฌาคส์ไปลอนดอน ซึ่งทั้ง 3 สาขาของ Cartier ก็กลายเป็นบริษัทที่แยกจากกัน แต่ละสาขามีผู้จัดการ การออกแบบ และลูกค้าเป็นของตัวเอง
ในปี 1917 ปิแอร์ได้ซื้อบ้านเลขที่ 653 บนถนน Fifth Avenue ย่านช้อปปิงชื่อดังของแมนฮัตตันในสหรัฐ ซึ่งทำให้อาคารแห่งนี้เป็นที่รู้จักในชื่ออาคารคาร์เทียร์ และที่สำคัญในปี 1970 อาคารดังกล่าวถูกกำหนดให้เป็นสถานที่สำคัญของเมือง และต่อมาในปี 1983 ก็ได้รับการเพิ่มเข้าไปในทะเบียนโบราณสถานแห่งชาติ
ขณะเดียวกันในลอนดอน ฌาคส์ ก็ย้ายสำนักงานใหญ่ของ Cartier ไปที่ Bond Street และที่สำคัญ ฌาคส์ ในฐานะหัวเรือใหญ่ของ Cartier ลอนดอน ก็ถือว่าเป็นบุคคลสำคัญที่พัฒนาความสัมพันธ์ของแบรนด์กับราชวงศ์วินด์เซอร์ และก็กลายเป็น “ผู้จัดส่งอย่างเป็นทางการให้กับราชสำนักหลายแห่ง” ตั้งแต่สหราชอาณาจักร สเปน และรัสเซีย แม้ว่า ฌาคส์ จะเสียชีวิตลงในปี 1941 แต่ร้านก็ยังคงเปิดให้บริการมาจนถึงปัจจุบัน
อีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้ Cartier ได้รับความนิยมมานานหลายปีก็เพราะการที่คนดังหลายคนสวมใส่ออกสื่อทั้งงานประกาศรางวัลใหญ่ๆ งานสังคม หรือรายการโทรทัศน์ชื่อดัง เช่น Lily Collins สวมสร้อยคอที่ทำจากแพลทินัม มรกต เพชร และคริสตัล ในงาน Met Gala ในปี 2019 หรือระหว่างการออกรายการ The Late Late Show
ปัจจุบัน “Cartier” อยู่ภายใต้การดูแลของ ซีริลล์ วิญเญอรอง (Cyrille Vigneron) ซึ่งตามรายงานของ Forbes ในการจัดอันดับเมื่อปี 2020 พบว่า มูลค่าแบรนด์ของ Cartier อยู่ที่ 1.2 หมื่นล้านดอลลาร์ จัดอยู่ในอันดับที่ 56 ในรายชื่อแบรนด์ที่มีมูลค่ามากที่สุดใน ซึ่งมีมูลค่าเพิ่มขึ้นจาก 7.8 พันล้านดอลลาร์ เมื่อปี 2017 และแม้ว่าปัจจุบันแบรนด์จะทำรายได้ได้เป็นจำนวนมาก แต่ ซีริลล์ กล่าวว่าเขายังคงรู้สึกเหมือนกับว่าเป็นธุรกิจขนาดเล็กที่ดำเนินการโดยครอบครัวอยู่
นอกจากนี้ Cartier ยังกลายเป็นผู้ผลิตนาฬิการายใหญ่อันดับ 2 ของโลก เป็นรองเพียงแค่เจ้าตลาดอย่าง Rolex เท่านั้น
อ้างอิงข้อมูล : businessinsider