เบื้องหลังชุดสุดเท่ในงาน Met Gala ของ Lewis Hamilton ที่มาจาก ‘การค้าทาส’
แฟชั่นในงาน Met Gala ไม่ได้มีแค่ความสวยงามแปลกตาเท่านั้น แต่เบื้องหลังของบางชุดก็มีเรื่องราวซ่อนอยู่ด้วย เช่นชุดจากแบรนด์ Burberry ของ Lewis Hamilton ที่มีแรงบันดาลใจจากการค้าทาส
แม้ว่างาน “Met Gala 2024” จะจบลงไปแล้วแต่ควันหลงเกี่ยวกับแฟชั่นในงานยังคงอยู่ ส่วนมากแล้วแฟชั่นของเซเลบริตีฝ่ายหญิงนั้นมักจะได้รับการพูดถึงมากเป็นพิเศษ แต่ครั้งนี้ทางฝั่งผู้ชายก็มีหลายคนที่ตีโจทย์ธีมงานออกมาได้เป็นอย่างดี หนึ่งในนั้นก็คือ ลูอิส แฮมิลตัน (Lewis Hamilton) แชมป์แข่งรถ F1 7 สมัยที่คราวนี้ได้ไปปรากฏตัวอยู่บนพรมแดงของงาน Met Gala เป็นครั้งที่ 5 พร้อมกับเสื้อผ้าจากแบรนด์ดังฝั่งอังกฤษ “Burberry”
หากดูเพียงผิวเผินแล้วเสื้อผ้าของลูอิสอาจจะดูเรียบง่ายเพราะใช้สีดำเป็นหลัก แต่หากมองให้ลึกลงไปในรายละเอียดจะพบว่ามีลายดอกไม้อยู่บนเสื้อโค้ตเป็นจำนวนมากคล้ายกับว่าเป็นสวนดอกไม้ขนาดย่อม ซึ่งก็สอดกล้องกับธีมเสื้อผ้าของปีนี้ “Garden of Time” หรือ สวนแห่งกาลเวลา
ลูอิส แฮมิลตัน (IG : burberry)
แต่สิ่งที่ดึงดูดความสนใจของผู้คนก็คือการที่ลูอิสเปิดเผยว่าแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์เสื้อผ้าสุดเท่ครั้งนี้ของเขาและแบรนด์ Burberry นั้นเกี่ยวข้องกับชาวแอฟริกันคนหนึ่งที่ถูกลักพาตัวไปตั้งแต่ยังเด็กเมื่อศตวรรษที่ 18 และได้เติบโตขึ้นมาในเมืองของอังกฤษ ก่อนที่จะกลายเป็นคนสวนผิวสีคนแรกของแคว้นเวลส์ในเวลาต่อมา โดยชื่อของเขาก็คือ จอห์น อิสตุมลิน (John Ystumllyn)
“ผมได้ค้นคว้าเรื่องราวที่เกี่ยวกับธีมงานมากมาย และได้พบกับคนทำสวนในศตวรรษที่ 18 คนนี้ (จอห์น) ผ่านเรื่องราวในยุคค้าทาส ที่ข้ามจากแอฟริกาไปยังเวลส์ และกลายเป็นคนสวนผิวดำคนแรกในเวลส์ เขาผ่านความยากลำบากมามาก และเขาก็ได้รับชัยชนะจริงๆ ดังนั้นนั่นคือที่มาของแรงบันดาลใจ” ลูอิสให้สัมภาษณ์กับ Vogue ขณะเดินทางเข้าร่วมงาน Met Gala (อ้างอิงจาก BBC)
เรื่องราวของ จอห์น นั้นเริ่มต้นจากแอฟริกาตะวันตกในศตวรรษที่ 18 เขาถูกลักพาตัวออกไปจากบ้านของเขาเองตั้งแต่อายุประมาณ 8 ขวบ และคาดว่าถูกส่งตัวไปยังเวลส์เพื่อทำหน้าที่เป็นคนรับใช้ของกลุ่มชนชั้นสูงในตอนนั้นที่มองว่าการใช้แรงงานมนุษย์ยังเป็นเรื่องปกติ แต่แน่นอนว่าในยุคสมัยดังกล่าวเรียกได้ว่า “การค้าทาส” คือความโหดร้ายสำหรับมนุษย์ด้วยกันเองมากที่สุดรูปแบบหนึ่ง
ด้วยความที่จอห์นทำงานอย่างขยันขันแข็งประกอบกับมีพรสวรรค์ในการจัดสวนทำให้เขากลายเป็นที่ยอมรับในฝีมือและกลายเป็นคนทำสวนผิวสีคนแรกในเวลส์ ตามชีวประวัติของจอห์นที่เขียนขึ้นในปี ค.ศ. 1888 ซึ่งเป็นเวลาหนึ่งศตวรรษหลังจากการเสียชีวิตของเขาระบุว่า คนผิวขาวมาถึง จับตัวเขา และพาเขาไป…
นอกจากนี้ ดร. แมเรียน กวิน (Marian Gwyn) จาก Race Council Cymru เคยให้สัมภาษณ์กับ BBC Wales ว่า การถูกลักพาตัวในครั้งนั้นถือเป็นประสบการณ์ที่เลวร้ายที่สุดครั้งหนึ่งในชีวิตของจอห์น แต่แม้ว่าเขาจะต้องเจ็บปวดกับบาดแผลทางจิตใจ เขาก็พยายามตั้งรกรากที่เวลส์และทำให้ที่นั่นกลายเป็นบ้านของเขา หลังจากนั้นเขาได้แต่งงานกับผู้หญิงที่เคยเป็นสาวใช้ของคฤหาสน์แห่งหนึ่ง และมีลูกด้วยกันทั้งหมด 7 คน แต่มีเพียงแค่ 5 คนเท่านั้นที่มีชีวิตรอดจนเป็นผู้ใหญ่ แต่ถึงอย่างนั้นจอห์นก็ยังเป็นทาสที่มีอิสระมากพอสมควรเพราะเขาสามารถย้ายสถานที่ทำงานไปได้เรื่อยๆ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเขาเป็นอิสระจากความเป็นทาสอยู่ดี
ภาพเขียนของ จอห์น อิสตุมลิน (BBC)
ในปี 2021 ที่ผ่านมามีการตั้งชื่อให้กับดอกกุหลาบที่เชื่อว่าเป็นชนิดแรกๆ ที่เขาได้ปลูกไว้ที่พระราชวังบักกิงแฮมในชื่อ The John Ystumllyn Rose ซึ่งเป็นดอกกุหลาบที่มีสีเหลืองสดใส และถือว่าเป็นดอกไม้ในความทรงจำของจอห์น ซึ่งนั่นก็คือที่มาของลายดอกไม้ที่อยู่บนเสื้อโค้ตของลูอิส
นอกจากดอกกุหลาบของจอห์นแล้วบนเสื้อของลูอิสยังมีต้นไม้และดอกไม้ชนิดอื่นรวมอยู่ด้วย ซึ่งล้วนแล้วแต่มีความหมายแตกต่างกันออกไป ได้แก่ ดอกแพงพวยฝรั่ง (Periwinkle) ที่หมายถึงความอดทน, ต้นยัคคา (Yucca) แสดงถึงความเป็นนิรันดร์, ดอกแดฟโฟดิล (Daffodil) หมายถึง ความแข็งแกร่ง และ ไม้ซีดาร์ (Cedar) ที่แสดงถึงการมีชีวิตอันเป็นนิจนิรันดร์
ดีเทลลายดอกไม้บนเสื้อโค้ต (IG : burberry)
ไม่ใช่แค่รายละเอียดของเสื้อผ้าเท่านั้นแต่ลูอิสยังได้พูดถึงสร้อยคอลักษณะคล้ายลวดหนามที่เขาสวมใส่ด้วยว่าสื่อถึง “ความเจ็บปวดจากค้าทาส”
ที่สำคัญถึงแม้จะเป็นเพียงดีเทลเล็กๆ น้อยๆ ที่อาจจะไม่สามารถสังเกตเห็นได้ แต่ “Burberry” ก็ได้ตัดเย็บบทกวีเพื่อระลึกถึงจอห์นเอาไว้ในเสื้อด้วย ดังนี้
I hope the sun pours light upon our skin.
And we melt into each other, into everything.
Maybe the trees will speak, as they sometimes do.
Whispers from the shade.
ที่มีความหมายโดยประมาณว่า “ฉันหวังว่าดวงอาทิตย์จะสาดแสงมาสู่ผิวของเรา และเราหลอมละลายเข้าหากัน เข้าไปในทุกสิ่ง บางครั้งต้นไม้ก็อาจจะพูด แต่ในบางครั้งก็เป็นเสียงกระซิบจากที่ร่ม”
บทกลอนที่เย็บไว้ด้านในเสื้อ (IG : burberry)
เรียกได้ว่าการเดินพรมแดงในงาน Met Gala ของลูอิสในครั้งนี้ตีโจทย์แตกเป็นอย่างมาก เพราะไม่ใช่แค่รายละเอียดของเสื้อผ้าเท่านั้นที่บ่งบอกถึงความเป็นสวนดอกไม้ แต่เรื่องราวที่อยู่เบื้องหลังการออกแบบเสื้อผ้าต่างหากที่ทำให้ชุดของเขากลายเป็น “สวนแห่งกาลเวลา” อย่างแท้จริง เพราะไม่ว่าจะผ่านมากี่ปีแต่ชื่อของจอห์นและดอกกุหลาบที่เขาเคยปลูกก็ยังเป็นที่จดจำมาจนถึงทุกวันนี้ แม้ว่าการค้าทาสจะหายไปจากสังคมยุคใหม่แล้วก็ตาม