Thailand Phil โชว์เพลงลาวดวงเดือน เรียกเสียงปรบมือกึกก้อง ในเทศกาลดนตรีโลก
เมื่อ"Thailand Phil" กว่า 100 ชีวิตเดินทางไปร่วมแสดงดนตรีคลาสสิก ประเทศสโลวีเนีย และตบท้ายด้วยการบรรเลงเพลง"ลาวดวงเดือน" ที่ไพเราะจนคนฟังต่างชาติต้องลุกขึ้นตบมือสนั่นฮอลล์
อีกเรื่องน่ายินดี วงดุริยางค์ฟีลฮาร์โมนิกแห่งประเทศไทย(Thailand Philharmonic Orchestra) หรือThailand Phil สร้างปรากฏการณ์ในเทศกาลดนตรีคลาสสิกลูบลิยานา ครั้งที่70 ในยุโรป หลังบรรเลงเพลงลาวดวงเดือน ปิดท้ายผู้ชมชาวต่างชาติถูกอกถูกใจ ตบมือลั่นฮอลล์
โดยวงThailand Phil ภายใต้การนำของ คุณหญิงปัทมา ลีสวัสดิ์ตระกูล และ วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้รับเชิญเป็นตัวแทนวงออร์เคสตราในเซาท์อีสต์เอเซีย ร่วมแสดงในงานเทศกาลดังกล่าว
ดร.ณรงค์ ปรางค์เจริญ คณบดีวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล เล่าว่า เทศกาลดนตรีลูบลิยานามีชื่อเสียงมายาวนาน จัดขึ้นทุกปี จัดตั้งแต่เดือนมิถุนายนถึงกันยายน ที่เมืองลูบลิยานา ประเทศสโลวีเนีย
ในปีนี้ มีนักดนตรีที่มีชื่อเสียงระดับโลกเข้าร่วมงาน อาทิ Riccardo Muti, Daniel Barenboim, Plácido Domingo, Anna Netrebko, Lang Lang ส่วนวงออร์เคสตรา เช่น Royal Philharmonic Orchestra of London, Pittsburgh Symphony Orchestra และ Vienna Philharmonic Orchestra
และเป็นครั้งแรกที่วง Thailand Phil ได้รับเกียรติให้เป็นหนึ่งในวง highlight ที่ได้แสดงใน Main Concert Hall ภายหลังจบงาน ยังได้รับเชิญให้ทัวร์คอนเสิร์ตยุโรป - European Tour 2022 ในอีก 3 ประเทศ ได้แก่ ฮังการี สโลวีเนีย และโปแลนด์ ระหว่างวันที่ 27 ส.ค.-2 ก.ย. ที่ผ่านมา
"การมีวงออร์เคสตราที่ได้มาตรฐาน แสดงว่าเราเท่าเทียมกับยุโรป อเมริกา เป็นการประกาศศักยภาพของประเทศว่า เรามีวัฒนธรรมเป็น Global Culture แต่กว่าจะมาถึงจุดนี้ได้ เราทำงานหนักมาก เพื่อพิสูจน์ตัวเองจนเป็นที่ยอมรับ”
ล่าสุดวง Thailand Phil เรียบเรียงเพลง “ลาวดวงเดือน” เป็นเพลงอังคอร์ (encore) ไปแสดงให้ผู้ชมนานาชาติได้ฟังเพลงไทยเดิม
เพลงนี้ประพันธ์เพลงโดย พันเอกดร.ประทีป สุพรรณโรจน์ เป็นเพลงที่โชว์เมโลดี้แบบไทยๆ บรรเลงสไตล์คลาสสิก คอนดักเตอร์ปรับเพลงให้โทนออกมานุ่มนวล ผสมผสานฮาร์โมนีได้ไพเราะ กลมกลืน เปรียบเสมือนตัวแทนแห่งสยาม
ดร.ณรงค์ บอกว่า ทุกคนต่างชื่นชอบ ลุกขึ้นยืนปรบมืออย่างยาวนาน จนต้องประกาศว่าเราจบการแสดงแล้ว
“ เราอยากให้ภาครัฐใช้โอกาสนี้ ส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัยของไทยให้เป็นที่รับรู้ในระดับนานาชาติ เป็นการสร้าง Soft Power ให้กับประเทศไทย เพื่อต่อยอดไปสู่ความสำเร็จ ”