'หอภาพยนตร์' เชิญชม ‘ตลาดพรหมจารีย์’ หนังไทยเรื่องสำคัญแห่งปี 2516
‘ตลาดพรหมจารีย์’ภาพยนตร์ไทยในตำนาน ที่ถ่ายทอดได้สมจริงโดยผู้สร้างคลื่นลูกใหม่ในยุคนั้น ที่พยายามยกระดับหนังไทยให้พ้นจากคำว่าน้ำเน่า นำมาฉายให้ชมฟรีอีกครั้ง ในวันอาทิตย์นี้
ย้อนอดีตกลับไปในช่วงกลางทศวรรษ 2510 วงการภาพยนตร์ไทยได้มีการเปลี่ยนผ่านครั้งสำคัญ ด้วยคนทำหนังกลุ่มหนึ่ง ซึ่งได้รับการยกย่องว่าเป็นคนทำหนัง ‘คลื่นลูกใหม่’
ได้แก่ เปี๊ยกโปสเตอร์, หม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคล และผู้กำกับภาพยนตร์ที่ชื่อว่า ‘สักกะ จารุจินดา’ แม้ไม่ได้รับการกล่าวถึงมากนัก แต่บทบาทและผลงานหลายเรื่องของเขาได้ก่อผลสะเทือนเป็นอย่างยิ่ง
สักกะ จารุจินดา เรียนด้านศิลปะจากโรงเรียนศิลปากร แผนกช่าง (ต่อมาเป็นมหาวิทยาลัยศิลปากร) เป็นลูกศิษย์ของอาจารย์ศิลป์ พีระศรี
ในวัยหนุ่มมีชื่อเสียงในฐานะผู้อยู่เบื้องหน้าและเบื้องหลังของสถานีโทรทัศน์ไทยทีวีช่อง 4 บางขุนพรหม
ก่อนตัดสินใจทิ้งอาชีพทางจอแก้วที่กำลังรุ่งเรือง มาสร้างภาพยนตร์เรื่องแรก ‘วิมานสลัม’ ด้วยทุนทรัพย์ส่วนตัว ในวัยเฉียด 50 ปี เมื่อ พ.ศ. 2514
ผลงานเรื่องสำคัญที่สุดของ สักกะ จารุจินดา คือ ตลาดพรหมจารีย์ (2516) ที่ได้รับคำชื่นชมอย่างมาก ว่าเป็นงานที่พยายามยกระดับหนังไทยให้พ้นจากความเป็นน้ำเน่า
เปรียบได้กับหนังกระแสนีโอเรียลลิสต์ของอิตาลี ที่เกิดขึ้นในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นแนวทางที่เน้นการถ่ายทอดความเป็นไปของคนตัวเล็กตัวน้อยในสังคมอย่างสมจริง ซึ่งหาได้ยากจากหนังไทยในเวลานั้น
ตลาดพรหมจารีย์ แสดงโดย ดวงดาว จารุจินดา (ลูกสาวของสักกะ), สายัณห์ จันทรวิบูลย์, ราชันย์ กาญจนมาศ
และ เปียทิพย์ คุ้มวงศ์ ซึ่งแสดงภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นเรื่องแรก และสามารถคว้ารางวัลตุ๊กตาทอง สาขานักแสดงประกอบหญิงยอดเยี่ยมมาครอง
ภาพยนตร์เล่าเรื่องราวครอบครัวชาวประมงเล็ก ๆ ครอบครัวหนึ่ง เมื่อพ่อตัดสินใจขายเด็กสาวที่ตนเก็บมาเลี้ยงเหมือนลูก เพื่อนำเงินไปซื้อเครื่องยนต์ติดเรือประมงชายฝั่ง ให้สามารถออกไปจับปลานอกชายฝั่งได้
ความสมจริงในการถ่ายทอดชีวิตสามัญชนของ ตลาดพรหมจารีย์ ส่งผลให้ภาพยนตร์ได้รับรางวัลพิเศษ สำหรับการแสดงชีวิตความเป็นอยู่ของคนไทยอย่างสมจริง ในการประกวดรางวัลตุ๊กตาทอง
ทำให้ สักกะ จารุจินดา กลายเป็นหนึ่งในคลื่นลูกใหม่ของวงการหนังไทย และกลายเป็นผู้กำกับภาพยนตร์คนสำคัญในเวลาต่อมา
ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้รับการขึ้นทะเบียนให้เป็นมรดกภาพยนตร์ของชาติ เมื่อ พ.ศ. 2557
สร้างในระบบฟิล์ม 35 มม. แต่ปัจจุบันหลงเหลืออยู่เพียงสำเนาที่พิมพ์ย่อเป็นฟิล์ม 16 มม. ที่หอภาพยนตร์ได้รับมอบมาจากศูนย์เทคโนโลยีทางการศึกษา เมื่อ พ.ศ. 2545
ค่อนข้างชำรุด เต็มไปด้วยรอยขูดขีด มีสีที่ซีดจาง หอภาพยนตร์ได้พยายามฟื้นฟูสภาพด้วยกระบวนการทางดิจิทัล
เพื่อให้ภาพยนตร์เรื่องสำคัญนี้ได้มีโอกาสฉายขึ้นจอใหญ่อีกครั้ง เนื่องในวาระครบรอบ 100 ปี สักกะ จารุจินดา
วันอาทิตย์ที่ 27 พฤศจิกายน 2565
เชิญมาชม ตลาดพรหมจารีย์ ที่หอภาพยนตร์ ศาลายา มาพบกับนางเอกของเรื่อง ‘ดวงดาว จารุจินดา’
และ ‘สมเดช สันติประชา’ หนึ่งในผู้ที่อยู่เบื้องหลัง ที่จะมาร่วมสนทนาถึงความสำคัญและสปิริตของ สักกะ จารุจินดา
ในกิจกรรมภาพยนตร์สนทนา ‘100 ปี สักกะ จารุจินดา ศิลปินผู้วาดชีวิตบนแผ่นฟิล์ม’ เริ่มกิจกรรมตั้งแต่เวลา 13.00 น. เป็นต้นไป
นอกจากนี้ หอภาพยนตร์ยังได้นำผลงานของ สักกะ จารุจินดา ที่สร้างโดยบริษัท ไฟว์สตาร์ โปรดักชัน มาจัดฉายไปจนถึงกลางเดือนธันวาคม 2565 ได้แก่
ขุนศึก (2519) เพื่อนรัก (2520) กัปตันเรือปู (2522) ผู้ใหญ่ลีกับนางมา (2528) และ หวานมันส์...ฉันคือเธอ (2530)
สอบถามได้ที่ 02-482-2013-15 หรือ www.fapot.or.th